เผยแพร่ |
---|
“แหนแดง” พืชมหัศจรรย์ มีประโยชน์ทางด้านการเกษตร ประมง เลี้ยงสัตว์ เป็นพืชที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในภาชนะขนาดเล็ก วัสดุที่มีอยู่ในบ้าน เช่น กะละมัง กล่องโฟม และการเพาะเลี้ยงในบ่อดินหรือทุ่งนา ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยง สิ่งสำคัญที่ทำให้แหนแดงเจริญเติบโตมีอยู่ 3 อย่าง คือ น้ำ อาหาร และแสงแดด
แหนแดง เป็นพืชตระกูลเฟิร์น เจริญเติบโตบนผิวน้ำ เลี้ยงได้ในบ่อตื้น หากปล่อยลงบ่อในฤดูฝนจะใช้เวลาเติบโตเต็มบ่อ 5 ตารางเมตร ในระยะเวลาเพียง 10-15 วันเท่านั้น
แหนแดง เป็นปุ๋ยพืชสดที่ให้ธาตุอาหารสูงมาก โดยมีสัดส่วนไนโตรเจนสูงถึง 5% ในขณะที่ปุ๋ยพืชสดที่ได้จากพืชตระกูลถั่วมีอยู่เพียง 2.5% ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวทำให้สามารถใช้ปุ๋ยพืชสดจากแหนแดงแทนปุ๋ยยูเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเลี้ยงแหนแดง 1 ไร่จะได้ผลผลิตมากถึง 3,000 กิโลกรัม ซึ่งแหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัมใช้ในพื้นที่ปลูกได้ 2 ตารางเมตร และที่สำคัญธาตุอาหารที่ได้จากแหนแดงแห้ง 6 กิโลกรัม เทียบเท่ากับที่ได้จากปุ๋ยยูเรียประมาณ 10-12 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ใช้แหนแดงแห้งในการปลูกผัก ใช้อัตราส่วน 20 กรัมต่อวัสดุเพาะ 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังใช้แหนแดงเป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย สามารถผลิตเองได้ในครัวเรือน ต้นทุนน้อย ได้ผลผลิตเร็วและดี เมื่อแหนแดงย่อยสลายก็จะเริ่มปลดปล่อยไนโตรเจนออกมา
วิธีการเพาะเลี้ยงแหนแดง
1. เตรียมกะละมังหรือบ่อปูนซีเมนต์สำหรับเพาะเลี้ยงแหนแดง
2. นำขี้วัวมาแช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดแล้วตักน้ำทิ้งแล้วเติมน้ำลงไปใหม่
3. ใส่ดินลงไปผสมกับขี้วัวอัตราส่วน 1 ต่อ 1
4. เติมน้ำสะอาดลงไปให้เหนือจากผิวดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1-2 วัน จึงปล่อยแหนแดงลงไปในบ่อหรือกะละมังเพื่อทำการเพาะเลี้ยง
ข้อดี
- ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยที่ในโพรงใบแหนแดง สามารถดึงเอาไนโตรเจนจาก อากาศมาใช้สำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ แหนแดงมีอัตราส่วนระหว่างคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C : N) อยู่ระหว่าง 8–13 หลังถูกไถกลบ จะย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในระยะเวลาที่สั้นประมาณ 8 สัปดาห์ ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น ลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว แหนแดงจะคลุมผิวน้ำป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องลงไปในน้ำ ทำให้วัชพืชในน้ำเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
- หากมีปริมาณมาก ให้เก็บมากองรวมกันสำหรับทำปุ๋ยหมักใช้ในแปลงพืชผักหรือสวนผลไม้
- เป็นพรรณไม้น้ำประเภทลอยน้ำที่บางครั้งถูกนำมาปล่อยในระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะระบบบำบัดแบบบึงประดิษฐ์หรือบ่อบำบัดแบบเติมอากาศในบ่อสุดท้ายก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำสาธารณะทั้งนี้ แหนแดงที่ใช้บำบัดน้ำเสียจะช่วยลดความสกปรกของน้ำ และไนโตรเจนเป็นหลัก รวมถึงช่วยบำบัดโลหะหนักบางชนิดได้
ข้อมูลจาก : กรมวิชาการเกษตร และองค์ความรู้มหาวิทยาลัยแม่โจ้
#เทคโนโลยีชาวบ้าน #technologychaoban #RUหรือไม่ #รู้หรือไม่ #แหนแดง #ปุ๋ย #ปุ๋ยยูเรีย