ยุคกล้วยแพง ราคาหวีละเกือบร้อย สาเหตุมาจากอะไรกัน!

ปีนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่แปรปรวน ช่วงฤดูร้อนก็ร้อนมาก ส่งผลกระทบหลายด้านรวมไปถึงการเกษตร ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นจนน่าตกใจ หลายคนอาจจะสงสัยว่าสาเหตุที่ทำให้สินค้าการเกษตรหลายๆ ชนิดทำไมจึงมีราคาที่สูงขึ้น วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะพามาหาคำตอบ

ยุคกล้วยแพง ราคาหวีละเกือบร้อย สาเหตุมาจากอะไรกัน!
ยุคกล้วยแพง ราคาหวีละเกือบร้อย สาเหตุมาจากอะไรกัน!

“กล้วย” ถือเป็นผลไม้ที่หลายๆ คนทานเกือบทุกวัน อีกทั้งยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด จากเดิมราคาต่ำสุดที่หวีละ 10 บาท แต่ปัจจุบันราคาสูงสุดตอนนี้อยู่ที่หวีละ 60 บาท

สาเหตุที่กล้วยราคาแพง

ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ โลกที่ร้อนขึ้นส่งผลกระทบกับ “กล้วย” เนื่องจากมีโรคระบาดเกิดขึ้นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกล้วยยังอ่อนไหวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้บางพื้นที่ที่เคยปลูกได้ ก็ปลูกไม่ได้อีก ผลผลิตลดลง

โรคระบาดที่น่ากังวลมากที่สุดของการปลูกกล้วย คือ โรคเหี่ยวกล้วย หรือ โรคตายพราย ที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา เมื่อเกิดการติดเชื้อนี้ที่สวน เชื้อราชนิดนี้จะทำให้ต้นกล้วยตาย และกำจัดยากอีกด้วย ซึ่งเชื้อราชนิดนี้ยังกลายพันธุ์และคุกคามกล้วยหอม อีกทั้งเกษตรกรยังเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย พลังงาน การขนส่ง รวมถึงการขาดแคลนแรงงาน จากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า กล้วยมีแนวโน้มที่ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และอาจจะมีโอกาสน้อยมากที่ราคาจะกลับลงมา

โรคพืชสำคัญของกล้วย

“โรคกล้วยตายพราย” หรือ “ตายพราย” มักพบได้ในกล้วยเกือบทุกชนิดที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยช่วงแรกควรหมั่นสังเกตตามก้านใบ จะมีสีเหลืองอ่อน ขอบใบแก่ ซึ่งต่อมาเชื้อราจะลุกลาม จะลุกลามไปยังขอบใบ และจะเหลืองทั้งใบ หากป้องกันไม่ทันเชื้อราจะเข้าทำลายเข้าสู่ลำต้น และลุกลามเข้าสู่ก้านใบ โคนใบแก่จะมีสีเหลืองซีด ในที่สุดลำต้นจะยืนต้นตายหรือล้มตาย

Advertisement

เชื้อรา Fusarium oxysporum f.sp. Cubense เข้าทำลายราก และมีการเจริญเข้าไปในท่อน้ำ ท่ออาหาร ทำให้เกิดอุดตัน ใบจึงมีอาการขาดน้ำเหี่ยวเฉา และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หักพับ การเจริญจะชะงัก และตายในที่สุด โรคนี้สามารถระบาดไปทางดิน ต้นที่อยู่ในบริเวณนั้นจะถูกโรคนี้ทำลายและจะลามอย่างรวดเร็ว จึงควรทำความสะอาดโคนกอกล้วย อย่าให้รก ทำทางระบายน้ำให้ดี

ลักษณะอาการ

1. ใบอ่อนจะมีอาการเหลืองไหม้หรือตายนิ่งและบิดเป็นคลื่น ใบกล้วยจะหักพับบริเวณโคนก้าน

Advertisement

2. กล้วยที่ตกเครือแล้วจะเหี่ยว ผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ หรือแก่ก่อนกำหนด เนื้อฟ่ามจืด

3. จะเห็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ก่อน ต่อมาปลายใบหรือขอบใบจะเริ่มเหลือง และขยายออกไปจนเหลืองทั่วใบ

แนวทางป้องกัน

1. เมื่อต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ ควรเลือกแปลงที่ไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน

2. ควรเลือกหน่อกล้วยจากแหล่งปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้ หรือไม่นำหน่อพันธุ์จากกอที่เป็นโรคไปปลูก และใช้หน่อพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ ในกรณีที่ไม่แน่ใจให้ชุบหน่อพันธุ์กล้วยด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช อีไตรไดอะโซล ควินโตซีน 6% 24% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม 50% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล 43% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

3. ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัดโดยใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์

4. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี ควรระมัดระวังการให้น้ำ ไม่ให้น้ำไหลผ่านจากต้นที่เป็นโรคไปต้นปกติ

5. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบกล้วยแสดงอาการของโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วโรยด้วยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดต้นเป็นโรคออกไป

6. อุปกรณ์การเกษตร เมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรค ควรทำความสะอาดก่อนนำไปใช้ใหม่

7. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ และ PPTV