เผยแพร่ |
---|
เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ บางพื้นที่ฝนตกชุ่มติดต่อกันหลายวัน ซึ่งมีผลกระทบกับการทำเกษตรและพื้นที่ที่มีการปลูกผักหลายชนิด ถ้าไม่มีการดูแลและป้องกันที่ดี อาจก่อให้เกิดโรคพืชที่ตามมา ในช่วงหน้าฝน ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ มาจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความชื้นในอากาศที่สูงและอุณหภูมิที่อบอุ่น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อรา แบคทีเรีย หรือไวรัสต่างๆ สามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจึงรวบรวม “5 โรคพืชยอดฮิต ระบาดช่วงหน้าฝน” ซึ่งเป็นปัญหากวนใจสำหรับเกษตรกรหลายๆ ท่าน ที่ต้องหมั่นสังเกตแปลงของตัวเอง และรีบหาวิธีกำจัด ก่อนที่แปลงจะเกิดความเสียหายตามมา เด้วไปดูกันเลยว่าจะมีโรคอะไรกันบ้าง
1. โรคราน้ำค้าง
สภาพที่เหมาะสมของการเกิดโรค คือ ช่วงที่อากาศค่อนข้างเย็นและความชื้นสูง เชื้อราสาเหตุโรค สามารถแพร่ระบาดโดยลม น้ำ เครื่องมือการเกษตร และการเคลื่อนย้ายพืชปลูก โดยสามารถมีชีวิตอยู่ข้ามปีได้ มักพบในพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบในทุกระยะการเจริญเติบโต
ลักษณะอาการ
พบโรคได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกจะเห็นบริเวณด้านบนใบมีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นแผลสีเหลือง
ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อราลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาตรงแผลบริเวณด้านใต้ใบ ถ้าโรคระบาดรุนแรงแผลจะลามขยายใหญ่ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต่อมาใบจะเหลืองและแห้ง หากเป็นโรคในระยะกล้า จะทำให้ต้นกล้าแคระแกร็นหรือตาย
วิธีการป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี และปราศจากโรค
2. ก่อนปลูกควรแช่แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียสนาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง
4. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบทุก 5-7 วันตามสูตรนี้
• ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
• เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
• แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
• แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
• ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
5. แปลงที่มีการระบาดของโรค หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาดซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
2. โรคใบจุด
มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Alternaria brassicae. มักทำให้เกิดความเสียหายให้กับพืชตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ คะน้า ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี เป็นต้น สภาพอากาศที่มีความชื้นสูงหรือสภาพอากาศร้อนชื้น ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุ
ลักษณะอาการ
ที่ใบเกิดเป็นจุดเล็กและขยายเป็นวงกลมสีน้ำตาลทับซ้อนกันในเวลาต่อมา บริเวณเนื้อเยื่อขอบแผลมีสีเหลืองอ่อน แผลมีทั้งเล็กและใหญ่ ต่อมาแผลขยายชั้นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ
วิธีการป้องกันกำจัด
1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดและปลอดโรค หรือกำจัดเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดด้วยการแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา
2. เมื่อพบต้นพืชที่เกิดโรคให้ถอนทิ้งนอกแปลง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกช่วยลดการสะสมของโรค
3. ปลูกพืชหมุนเวียนกับพืชตระกูลอื่นๆ
4. ใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดพ่น เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (พีพี-ไตรโค) หรือเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทีลีส
(พีพี-บีเค 33, ลาร์มิน่า)
5. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอหากพบการระบาดของโรคใช้สารเคมี เช่น คลอโรธาโลนิลหรือ โพรคลอราช พ่นสลับ กับไดฟีโนโคนาโซล หรือ ไพราโคลสโตรบิน หรือ เบโนมิล
3. โรคราสนิมขาว
เป็นโรคที่ระบาดรุนแรงในฤดูฝน หรือช่วงอากาศชื้น มักพบในผัก เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว และในไม้ดอก เช่น เบญจมาศ
ลักษณะอาการ
พบจุดสีเหลืองซีดที่ด้านบนของใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นเป็นตุ่มนูนสีขาวขนาดเล็ก บางครั้งจะเห็นเป็นปื้นสีขาวขนาดใหญ่ ลักษณะโป่งพองออกเป็นปุ่มปม สามารถเกิดที่ก้านใบและลำต้นได้
วิธีการป้องกันกำจัด
• กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก
• หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ หากพบโรคในปริมาณน้อยให้ถอน หรือตัดเผาทำลาย
• แปลงที่เกิดโรคระบาด ควรงดการให้น้ำแบบพ่นฝอย และไม่ควรให้น้ำจนชื้นแฉะเกินไป
• ใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกเมล็ดหรือหว่านลงแปลงก่อนปลูก หรือฉีดพ่นป้องกันกำจัดโรค อัตราตามคำแนะนำ
4. โรคเน่าคอดิน
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pythium sp. หรือ Phytophthora sp. สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ (Brassicaceae) เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหามักเกิดขึ้นในระยะต้นกล้าในแปลงปลูกหากมีน้ำขังจะเกิดอาการฉ่ำน้ำสีน้ำตาลบริเวณโคนต้นที่ติดกับผิวดิน ทำให้เน่าตายและหัก ล้มก่อนจะแตกใบจริง ถ้าในแปลงมีเชื้อโรคแล้ว
ลักษณะอาการ
ต้นกล้าจะเกิดอาการเป็นแผลช้าที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลจะเน่าและแห้ง ถ้าถูกแสงแดดทำให้ต้นกล้าหักพับ ต้นเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว
วิธีการป้องกันกำจัด
1. ใช้วัสดุเพาะกล้าที่ปลอดเชื้อ
2. เตรียมดินสำหรับปลูกอย่างดี ขุดดินตากแดด ใช้เชื้อเชื้อราไตรโคเดอร์มารองก้นหลุมก่อนปลูก
3. เตรียมแปลงให้มีการระบายน้ำดี อย่าให้น้ำขังแฉะในแปลง ไม่ควรให้น้ำมากเกินไปในช่วงอากาศชื้น มีฝนตก
4. สำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นกล้าที่เป็นโรคให้ถอนและนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที
53. ฉีดพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรค
6. หากพบการระบาดใช้สารเคมี เช่น คาร์เบนดาซิม หรือ เบโนมิล หรือ อีทริไดอะโซล หรือ อีทรีไดอะโซล+ควินโทซีน หรือไทโอฟาเนต-เมทิล เลือกใช้อย่างหนึ่งอย่างใด สลับกับ แคปแทน
5. โรคเหี่ยว
พบในพืชพวกแตงชนิดต่างๆ เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงแคนตาลูป (cantaloup) แตงไทย แตงโม ฟักแฟง ฟักทอง แตงสควอช (squash) เป็นต้น สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูง ดินมีความชื้นสูง และฝนตกชุก จะทำให้โรคนี้ระบาดได้ดี
ลักษณะอาการ
มักเกิดในผักหลายชนิดและพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริก พริกไทย กล้วย ขิง ถั่วลิสง และยาสูบ ฯลฯ โดยจะเกิดอาการเหี่ยวอย่างช้าๆ สังเกตได้ง่าย คือใบเริ่มเหลืองจากใบล่างขึ้นไป ใบและกิ่งก้านเริ่มเหี่ยว ใบร่วง เซลล์ตามขอบใบตาย ต้นตายในที่สุด ผลอาจเน่าและร่วง รากจะเจริญออกทางด้านข้างและเน่าในภายหลัง เมื่อถอนต้นดูรากจะขาดหลุดจากลำต้น เพราะผุเปื่อยเป็นสีน้ำตาล หากตัดลำต้นตามขวางจะเห็นวงแหวนสีนํ้าตาล ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อของกลุ่มท่อลำเลียงตาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
วิธีการป้องกันกำจัด
• หมั่นตรวจแปลงปลูก เมื่อพบโรคให้ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
• หลีกเลี่ยงการปลูกพืชในพื้นที่ที่เคยเกิดการระบาดมาก่อน หรือปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
• แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป
• ทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการเกษตร เพื่อป้องการเชื้อสาเหตุโรคไปยังต้นปกติ
• ก่อนปลูกควรไถกลับหน้าดินตากแดด และใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินก่อนปลูก
• ใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา สำหรับโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส สำหรับโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
• หากพบการระบาดรุนแรงสามารถใช้สารเคมีในกรณีเกิดจากเชื้อรา เช่น เมตตาแลกซิล อัตราตามคำแนะนำ กรณีเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรพักแปลง ตากดิน ใส่ปูนขาว เพื่อลดการสะสมของเชื้อในดิน หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการเกิดโรค
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร, องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน