เผยแพร่ |
---|
“ไส้เดือน” สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรามักพบเห็นได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ตั้งแต่ในป่าใหญ่ไปจนถึงในสวนหลังบ้าน และแม้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะตัวเล็กแต่ประโยชน์นั้นกลับไม่ได้เล็กอย่างตัว เพราะไส้เดือนจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตจำพวกผู้ย่อยสลายซากอินทรีย์ในระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตจิ๋วเหล่านี้จึงมีความสามารถในการปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นดิน อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นดัชนีวัดความปนเปื้อนของสารพิษในดินได้อีกด้วย
ไส้เดือน สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ไส้เดือนที่อาศัยอยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์ ซึ่งจะมีความสามารถในการย่อยสารอินทรีย์ในดิน และขยายพันธุ์ด้วยความรวดเร็ว ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือ ไส้เดือนที่อาศัยอยู่ใต้ดินโดยใช้การขุดรู ไส้เดือนในกลุ่มนี้จะมีอายุอยู่ที่ราวๆ 4-10 ปี แต่หากนำไส้เดือนชนิดนี้มาเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรจะมีอายุอยู่ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
แล้วประโยชน์ในภาคการเกษตรของไส้เดือนล่ะคืออะไร ? วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วและประโยชน์อันหลากหลายของพวกเขาที่จะช่วยให้การทำการเกษตรนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น !
การเลี้ยงไส้เดือน
ก่อนที่จะเริ่มใช้ประโยชน์จากบรรดาสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างไส้เดือน เราจะต้องเริ่มจากการเพาะเลี้ยงไส้เดือนเสียก่อน โดยในประเทศไทยนั้นมีไส้เดือนที่นิยมเพาะเลี้ยงอยู่ทั้งสิ้น 4 สายพันธ์ุ คือ แอฟริกัน ไนท์ ครอเลอร์ (African Night Crawler) สายพันธุ์ไทเกอร์ (Tiger Worm) สายพันธุ์ บลูเวิร์ม (Blue worm) และสายพันธุ์ขี้ตาแร่ โดยวิธีการเลี้ยงนั้นจำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมด 4 อย่าง คือ กะละมัง มูลวัวหรือมูลกระบือ เศษพืชผักหรือเศษอาหารสำหรับใช้เป็นอาหารของไส้เดือน และอย่างสุดท้ายคือพันธุ์ไส้เดือนที่ต้องการเพาะเลี้ยง โดยมีขั้นตอนในการเตรียมการ ดังนี้
- นำมูลวัวหรือมูลกระบือมาแช่น้ำเป็นเวลา 74 ชั่วโมง
- เมื่อแช่น้ำจนครบเวลาแล้ว ให้นำมูลวัวหรือมูลกระบือมาผึ่งให้แห้ง จากนั้นใส่ลงในภาชนะสำหรับเลี้ยงไส้เดือน
- นำไส้เดือนลงในมูลวัวหรือมูลกระบือ
- คอยให้อาหารไส้เดือนเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
- หมั่นตรวจดูความชื้นไม่ให้มูลสัตว์แห้งจนเกินไป โดยเมื่อครบ 45 วันปริมาณของไส้เดือนจะเพิ่มเป็นเท่าตัว
และเมื่อไส้เดือนเจริญเติบโตจนได้ในปริมาณที่ต้องการแล้ว มูลของไส้เดือนก็ยังสามารถไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ทางการเกษตร
ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน
ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน คือการใช้มูลของไส้เดือนในการเป็นปุ๋ยให้กับพืชพันธุ์ต่างๆ โดยในมูลของไส้เดือนนั้นมีโมเลกุลที่มีขนาดเล็กทำให้พืชสามารถดูดซับอาหารจากมูลของไส้เดือนไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งในมูลของไส้เดือนยังมีสารอาหารที่ครอบคลุมต่อความต้องการของพืชแทบทุกชนิด จึงทำให้ให้ปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรอินทรีย์เป็นอย่างมาก และนอกจากสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว มูลไส้เดือนยังมีผลทำให้พืชเติบโตได้อย่างแข็งแรงสมบูรณ์ และมีความต้านทานทั้งโรคพืชและโรคแมลงอีกด้วย โดยขั้นตอนในการทำปุ๋ยหมักนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ ใช้วัตถุดิบเพียง 2 อย่าง คือ ขี้วัวแห้งและแม่พันธุ์ไส้เดือน โดยสามารถทำปุ๋ยหมักได้ด้วยการนำขี้วัวแห้งมาแช่น้ำให้ชุ่ม จากนั้นนำขี้วัวที่ชุ่มน้ำแล้วมาใส่ในกะละมังที่เจาะรูด้านล่าง โดยต้องเจาะให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 หุน 16 รู จากนั้นให้นำไส้เดือนที่เตรียมไว้ใส่ลงไป และปล่อยให้บรรดาไส้เดือนอยู่ในกะละมังเป็นเวลา 30 วัน และเมื่อครบ 30 วันแล้วจึงค่อยนำไส้เดือนมาร่อนบนตะแกรงเพื่อแยกปุ๋ยกับไส้เดือนออกจากกัน เพียงเท่านี้เราก็จะได้ปุ๋ยจากมูลของไส้เดือนเพื่อใช้ในการบำรุงพืชพันธุ์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
น้ำหมักมูลไส้เดือน
ในการทำน้ำหมักมูลไส้เดือนนั้นจะมีความยุ่งยากมากกว่าการทำปุ๋ยหมักอยู่สักหน่อย เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่า โดยน้ำหมักมูลไส้เดือน คือ การนำน้ำที่ได้จากผลิตปุ๋ยหมักมาใช้ในการเกษตรอีกทอดหนึ่ง ซึ่งน้ำหมักจากมูลไส้เดือนนั้นจะมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลและไม่มีกลิ่นเหม็น โดยมีข้อแนะนำในการใช้น้ำหมัก คือ
- หากต้องการพ่นน้ำหมักทางใบ ควรที่จะผสมน้ำเปล่า 10 ลิตร ต่อน้ำหมักมูลไส้เดือน 1 ลิตร และจะต้องพ่นตอนที่มีแสงแดดอ่อนๆ เท่านั้น
- ถ้าต้องการใช้น้ำหมักในการรดบริเวณโคนต้น ให้ใช้น้ำหมักมูลไส้เดือน 1 ลิตร ผสมเข้ากับน้ำเปล่า 20 ลิตรจะได้ผลดี
- หากใช้คู่กับปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจะได้ผลดีมากยิ่งขึ้นไปอีก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.rakbankerd.com/agriculture/hilight-view.php?id=117&s=tblheight
https://aopdh02.doae.go.th/wp-content/uploads/2021/10/AF.pdf
https://esc.doae.go.th/wp-content/uploads/2018/10/earthworm.pdf
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_252590#google_vignette