เผยแพร่ |
---|
“สวนลุงเบิร์ด” ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท สวนฝรั่งและพุทราที่ถูกปลูกและจัดวางระบบอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย รายล้อมไปด้วยภูเขาสูงและไร่ข้าวโพดไกลสุดลูกหูลูกตา นี่เป็นสิ่งแรกที่ปรากฏสู่สายตาของคณะเทคโนโลยีชาวบ้าน เมื่อเราเดินทางไปถึงสวนลุงเบิร์ดเป็นครั้งแรก เมื่อพระอาทิตย์ตรงหัวก็ได้เวลาของการเริ่มสัมภาษณ์
คุณเบิร์ด หรือ ยุทธนา คามบุตร เจ้าของ สวนลุงเบิร์ด อดีตนักวิชาการ และพ่อค้าขายฝรั่งได้เล่าให้เราฟังว่า เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรของครอบครัว คุณเบิร์ดเติบโตมากับครอบครัวที่ทำการเกษตรและคุ้นชินกับพื้นที่ในบริเวณนี้เป็นอย่างดี และเพราะโตมากับการทำการเกษตร คุณเบิร์ดจึงเลือกเรียนต่อที่วิทยาลัยเกษตรในจังหวัด ในสาขาวิชาพืชศาสตร์ จากนั้นก็ได้ไปฝึกงานที่อิสราเอลเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อกลับมายังประเทศไทยคุณเบิร์ดก็เข้าทำงานที่กรมวิชาการ ศูนย์วิชาการวิจัยและพัฒนาการเกษตรในจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งอยู่ไกลออกไป ภายหลังการลาออกจากงานประจำ คุณเบิร์ดก็ได้กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด ณ อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาทแห่งนี้
และด้วยประสบการณ์ที่ผ่านของคุณเบิร์ดก็ได้เกิดเป็นการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรอย่างเป็นระบบและการวางแผนการผลิตอย่างรอบด้านอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ผลไม้ในสวนลุงเบิร์ด
ผลไม้ชนิดหลักๆ ที่ทำรายได้และชื่อเสียงให้สวนลุงเบิร์ด คือ ฝรั่งและพุทรา โดยฝรั่งมีด้วยกัน 2 สายพันธุ์คือกิมจูและหงเป่าสือ กิมจูจะให้ความหวานกรอบอร่อย ด้านในมีไส้สีขาว ส่วนหงเป่าสือนั้นจะรู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ “ฝรั่งเนื้อแดง” จุดเด่นอยู่ผลสีเขียวแต่ข้างในเป็นสีแดง ส่วนพุทราที่สวนลุงเบิร์ดจะปลูกเป็นพันธุ์ไต้หวัน เรียกในอีกชื่อหนึ่งว่าพุทราน้ำอ้อย ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ลูกขนาดใหญ่ รสชาติหอมหวานและหวานฉ่ำน้ำ ผลไม้ทั้งหมดถูกแบ่งในพื้นที่ราวๆ 8 ไร่ท่ามกลางบรรดาพืชไร่ที่ปลูกอยู่พื้นที่ข้างๆ กัน แบ่งเป็นฝรั่งกิมจู 2 งาน ฝรั่งหงเป่าสือ 1 งาน และพุทราน้ำอ้อยอีก 1 งาน โดยผลไม้ทุกอย่างผ่านมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิจัยการเกษตร และผ่านการสุ่มวิเคราะห์สารตกค้าง จึงทำให้มั่นใจได้เลยว่าผลผลิตที่ออกจากสวนลุงเบิร์ดมีทั้งความอร่อยและความปลอดภัยอย่างแน่นอน
หลักสำคัญของการจัดการ “สวนลุงเบิร์ด” ให้เป็นระบบ
การจัดการสวนของคุณเบิร์ดนั้นได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนที่วิทยาลัยเกษตร การฝึกงานที่อิสราเอล และการทำงานในฐานะนักวิชาการในกรมวิชาการเกษตร คุณเบิร์ดได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับใช้ในสวนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดระยะห่าง การวางผังแปลง ตลอดจนการดูทรงพุ่มของพืชแต่ละชนิดให้มีความเหมาะสม เพื่อทำให้การปลูกเป็นระเบียบเรียบร้อยและให้ผลผลิตมีคุณภาพ
การเกษตรที่อิสราเอล
คุณเบิร์ดได้แลกเปลี่ยนกับเราว่า “อิสราเอลการเกษตรทำด้วยวิทยาศาสตร์จริงๆ ทุกระบบถูกคิดค้นและวางแผนมาเป็นอย่างดี สวนที่ผมไปอยู่เป็นทะเลทราย มีการใช้ระบบน้ำหยด เราเห็นแล้วก็ทึ่งว่าพืชขึ้นกลางทะเลทรายได้ยังไง ก็คิดว่าจะเอามาใช้บ้าง ที่บ้านเขา ผมไปอยู่ในสวนพริกหวาน เห็นระบบตั้งแต่ต้นเล็กๆ จนเก็บผลผลิต ทุกๆ อย่างจะมีนักวิชาการมาคุมเกษตรกรอีกทีหนึ่ง คอยเข้ามาตรวจเช็กภายในแปลงว่าเกิดโรคไหม เกิดแมลงระบาดหรือเปล่า คอยควบคุมสารเคมีต่างๆ ในการทำการเกษตร”
เทคนิคจากอิสราเอลที่ปรับใช้ในสวนลุงเบิร์ด
เทคนิคการปลูกจากอิสราเอล ที่ถูกประยุกต์ใช้ในสวนลุงเบิร์ด จะเริ่มจากการไถตากดิน ปรับพื้นที่ให้เรียบก่อนทำการเพาะปลูก โดยบางส่วนจะถูกปรับเป็นร่องลูกฟูก ร่วมด้วย เพราะพื้นที่โดยรอบเป็นภูเขา การปรับดินให้อยู่ในลักษณะลูกฟูกนั้นเป็นไปเพื่อให้น้ำจากภูเขาไหลผ่านได้ดี คุณเบิร์ดเน้นย้ำว่าเราต้องจัดการแปลงให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
เรื่องระยะการปลูก คุณเบิร์ด เล่าว่า ระยะการปลูก 3×3 เมตร จะใช้ในฝรั่ง ในส่วนของพุทราจะใช้ระยะปลูก 5×5 เมตร เนื่องจากพุทรามีพุ่มที่ใหญ่กว่า โดยแนะนำว่าต้องไม่ทำให้พุ่มแน่นเกินไป เพราะจะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคและแมลง
การดูแล ที่สวนลุงเบิร์ด ใส่ปุ๋ยเร่งต้นอย่างเดียวในช่วงแรกของการปลูก เมื่ออายุประมาณ 2 เดือนก็สามารถที่จะตัดยอดออกได้ และเหลือไว้ที่ความสูงจากดินประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นได้แตกทรงพุ่มออก เมื่อครบ 3 เดือนก็จะตัดยอดครั้งหนึ่ง และในระยะ 3-7 เดือนก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้
ระบบจัดการน้ำแบบอิสราเอล
ที่สวนลุงเบิร์ดการดูแลจัดการน้ำจะเป็นแบบทำมินิสปริงเกลอร์ โดยการวางระบบน้ำภายในสวน จะต้องผ่านการคำนวณการไหลของน้ำอย่างถี่ถ้วน ต้องคำนวณว่าพืชหนึ่งต้นใช้น้ำกี่ลิตร ในฤดูแล้งต้องใช้น้ำประมาณเท่าไหร่จึงจะพอต่อการดูแลต้น และน้ำที่ใช้รดจะต้องมีความสม่ำเสมอ ร่วมกับการดูความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น ที่สวนลุงเบิร์ดในฤดูฝนจะมีน้ำไหลผ่านที่แปลง ดังนั้น จึงมีการขุดสระไว้ข้างๆ เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงที่น้ำไหลผ่าน เมื่อฤดูแล้งมาถึง น้ำในสระก็จะถูกใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งจากการที่ได้มีการคำนวณเอาไว้แล้ว ทำให้น้ำฝนในสระนั้นมีปริมาณพอดีต่อการใช้งานใน 1 ปี เมื่อน้ำในสระหมด ฤดูฝนก็จะวนกลับมาอีกครั้งอย่างพอดิบพอดี
ปุ๋ยและการบำรุงต้น
คุณเบิร์ดได้แบ่งปันสูตรปุ๋ยกับเราว่า “ในช่วงแรกจะใส่ปุ๋ยสูตรที่มีตัวหน้าสูง เช่น 16-8-8 หรือ 25-7-7 โดยที่สวนจะใช้ผสมกัน เป็นสูตร 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งจะใส่ต้นละ 200 กรัมต่อต้น ในช่วงอายุ 4-5 เดือนแรก หลังจากนั้นจะเลี้ยงไปเรื่อยๆ พอช่วงที่ฝรั่งใกล้ห่อ เริ่มติดลูกเท่านิ้วโป้งก็จะใช้สูตร 12-6-30 เพื่อให้ผลผลิตขยายลูก และในช่วงใกล้จะเก็บผลผลิตก่อนหน้าซัก 3 สัปดาห์ก็จะให้ปุ๋ยทางใบเพิ่ม เป็นสูตร 0-0-50 เพื่อเร่งความหวาน
ความหวานของผลิต
ความหวานของผลไม้จากสวนลุงเบิร์ด เพิ่มได้ด้วยการเรียนรู้ความต้องการของพืชพันธุ์และการให้ปุ๋ย คุณเบิร์ดได้แนะนำในเรื่องนี้ว่า “ใครก็รู้ว่าปุ๋ยตัวท้ายโพแทสเซียมมันกระตุ้นความหวาน แต่บางทีโพแทสเซียมก็ทำให้ฝรั่งเปรี้ยว เราเลยต้องเปลี่ยนไปใช้ 0-0-0 ที่เป็นโพแทสเซียมซัลเฟต แต่กว่าจะรู้ เราก็ต้องผ่านการทำซ้ำๆ เพื่อเปรียบเทียบและให้รู้ผลลัพธ์ที่ส่งผลดีกับสวนเราที่สุด”
การตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายของสวนลุงเบิร์ด
การเข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer ของจังหวัดชัยนาทเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้สวนลุงเบิร์ดเป็นที่รู้จักในจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งการที่ผลผลิตมีคุณภาพและรสชาติดีก็ได้ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากที่ติดใจและกลายมาเป็นลูกค้าประจำ มีการบอกต่อกันปากต่อปาก นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของช่องทางออนไลน์และเพจเฟซบุ๊กสวนลุงเบิร์ด ที่เข้ามาช่วยให้การติดต่อซื้อขายกับลูกค้านั้นง่ายดายยิ่งขึ้น
ก่อนจากกันไปคุณเบิร์ดได้เน้นย้ำว่า การวางแผนและการทดลองทำซ้ำๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การทำสวนและผลผลิตออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทิ้งท้ายไว้ว่า หากมีข้อสงสัยใดๆ ก็สามารถที่จะเข้ามาเยี่ยมชมและสอบถามที่สวนลุงเบิร์ดได้เช่นกัน