ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
ในปีนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในวงกว้าง สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรหลายจังหวัด ขณะนี้หลายพื้นที่น้ำท่วมลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถเริ่มต้นเพาะปลูกพืชได้อีกครั้ง กรมส่งเสริมการเกษตรมีคำแนะนำสำหรับการปลูกผักหลังจากน้ำลด รวมทั้งวิธีปรับปรุงดินอย่างไรให้ผักที่ปลูกปลอดโรค นอกจากนี้ ชนิดของผักที่จะปลูกหลังจากน้ำลด ควรเป็นผักที่มีอายุสั้น เก็บผลผลิตได้เร็ว และตลาดนิยมบริโภค และพันธุ์พืชที่ใช้ควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ควรเป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
การเตรียมดิน
ระยะแรกที่ดินยังเปียกอยู่ ไม่ควรให้คน สัตว์เลี้ยง และเครื่องจักร เข้าไปในพื้นที่ จะทำให้โครงสร้างของดินจับตัวกันแน่น ทำให้ยากต่อการปรับปรุงดิน กรณีที่มีน้ำขังควรหาทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ให้ขุดดินและตากดินไว้ 2-3 วัน และควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่าคลุกเคล้าดินเพื่อให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพในการปลูกพืชดีขึ้น หรือใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ช่วยปรับปรุงดินด้วย เพื่อป้องกันปัญหาโรครากเน่า
วิธีการปลูกผัก
หากสภาพพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่หรือสภาพดินยังแฉะมาก ควรใช้วิธีการปลูกด้วยต้นกล้า จะทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดีกว่า จะลดความเสี่ยงต่อโรครากเน่าและโคนเน่าในระยะกล้าได้ด้วย หากพื้นที่เริ่มมีสภาพที่แห้งและสามารถขุดดินได้ ควรเตรียมดินปลูกแล้วใช้วิธีหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ดลงแปลงปลูก ควรใช้น้ำปูนใสรดต้นกล้าและต้นผัก สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จะช่วยลดการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ การดูแลรักษา ควรมีการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ และดูแลป้องกันกำจัดโรคแมลงอย่างสม่ำเสมอ
ข้อควรระวังการปลูกผักหลังน้ำลด
หากดินมีสภาพพื้นที่ชื้นแฉะมากเกินไป ต้นกล้าอาจเกิดปัญหาโรครากและโคนเน่า จึงต้องมีการปรับปรุงดินด้วยปูนขาวเพื่อปรับปรุงดินให้สภาพเป็นด่างเล็กน้อย ควรระมัดระวังดูแลเรื่องการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ดินรัดต้นกล้ามากจนเกินไป อาจทำให้ตายได้ หากมีความชื้นในอากาศสูงมากอาจประสบปัญหาเชื้อราได้ ดังนั้น ไม่ควรปลูกผักหนาแน่นเกินไป หากเกษตรกรท่านใดมีข้อสงสัยหรือคำถาม สามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ใกล้บ้านได้ในวันและเวลาราชการ