แปลงใหญ่ เงาะโรงเรียนนาสาร สุราษฎร์ธานี เผยปฏิทินการดูแลรักษาเงาะโรงเรียนให้มีคุณภาพดี ผลดก รสอร่อย

ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (เงาะโรงเรียน)   เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยมุ่งเป้าลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ต่อยอดสู่การพัฒนาคุณภาพ  ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน กรมพัฒนาที่ดินส่งเสริมการผลิตปุ๋ยน้ำหมักต่างๆ ส่วนสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านนาสาร และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี สนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่ม สำนักงานพาณิชย์จังหวัดช่วยดูแลด้านการตลาด ด้านสำนักงานประมงจังหวัดเข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงปลาในสวน ศูนย์วิจัยพืชสวนส่งเสริมเรื่องการปลูกผักใต้โคนเงาะ เป็นต้น

ปฏิทินการดูแลรักษาเงาะโรงเรียนให้มีคุณภาพ 

มกราคม-มีนาคม…เตรียมการออกดอก

โดยการใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 หรือ 12-24-12 อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่อเงาะมีใบแก่และสมบูรณ์เต็มที่ก็หยุดให้น้ำ โดยให้ผ่านช่วงแล้ง 21-30 วัน เพื่อชักนำการออกดอก ทั้งนี้ เพื่อให้เงาะกระทบแล้งได้เร็วโดยการทำความสะอาดใต้ทรงพุ่ม กวาดเศษวัชพืช เศษใบไม้ออก เมื่อสังเกตเห็นใบแก่ที่อยู่ปลายช่อตั้งชันขึ้น มีอาการใบห่อตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ก็จัดการให้น้ำในปริมาณที่มากทันที แล้วหยุดรอดูอาการ 7-10 วัน

เมษายน…การพัฒนาตาดอก

เมื่อตายอดมีการพัฒนาและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทอง ก็เริ่มให้น้ำปกติ แต่ถ้าสังเกตตายอดพัฒนาและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเขียว หรือสีเขียวน้ำตาลแสดงว่าน้ำมากเกิน ทำให้ตายอดพัฒนาเป็นตาใบแทน ต้องหยุดให้น้ำและปล่อยให้เงาะกระทบแล้งอีกครั้ง

Advertisement

พฤษภาคม…ส่งเสริมการติดผล

เมื่อเงาะดอกบานต้องช่วยผสมเกสร โดยการนำช่อดอกเกสรตัวผู้มาเกาะเกี่ยวกับช่อดอกตัวเมียที่บานแล้ว หรือรวบรวมละอองเกสรตัวผู้มาผสมน้ำแล้วฉีดพ่น หรือใช้สารเคมี NAA ฉีดพ่นให้ทั่วต้น ตัวเมียเมื่อช่อดอกบานได้ 5% บนต้น หรือการเลี้ยงผึ้งชันโรงในสวนเงาะเพื่อช่วยผสมเกสร

Advertisement

มิถุนายน…การพัฒนาของผล

โดยการใช้ปุ๋ยทางดิน สูตร 12-12-17+2 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น หรือใช้ร่วมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ก็ได้ทำให้ผลผลิตเงาะเพิ่มขึ้น และทำให้สัดส่วนเงาะมีคุณภาพมากขึ้นด้วย

กรกฎาคม-กันยายน…เก็บเกี่ยวผลผลิต

อายุที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวเงาะโรงเรียน ประมาณ 16-17 สัปดาห์ หลังดอกบาน หรือประมาณ 20 วัน หลังจากผลเงาะเริ่มเปลี่ยนสี ควรใช้กรรไกรหรือมีดคมๆ ตัดผลทีละช่อ ควรมีผ้าพลาสติกหรือตาข่ายพรางแสงรองเพื่อกันกระแทก ไม่ควรปล่อยให้ผลเงาะร่วงหล่นลงบนพื้นโดยตรง เพราะทำให้ผลช้ำ ขนหักเสียหายได้ก่อนการคัดแยกส่งตลาดโดยการล้างน้ำให้สะอาดด้วย

ตุลาคม-ธันวาคม…เตรียมความพร้อมในปีต่อไป

เตรียมความพร้อมโดยการตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ต้นละ 1-2 กิโลกรัม และปุ๋ยยูเรีย ต้นละ 1 กิโลกรัม พร้อมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพพร้อมกับการให้น้ำปกติ