ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
น้ำหมักจุลินทรีย์มีชื่อหลากหลาย เช่น น้ำหมักชีวภาพ น้ำเอ็นไซม์ น้ำหมักพืช น้ำหมักไอออนิก ปัจุบันน้ำหมักจุลินทรีย์สามารถพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านปศุสัตว์ เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ด้านประมงช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านสิ่งแวดล้อมช่วยบำบัดน้ำเสียจากการเกษตร ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะ ปรับสภาพของเสีย เช่น เศษอาหารจากครัวเรือนให้ประโยชน์ต่อการเลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูกพืช
เทคโนโลยีชาวบ้านได้มีการรวบรวมสูตรน้ำหมักจุลินทรีย์ต่างๆ มาไว้ที่นี่แล้ว
1.จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง บำรุงพืช แข็งแรง โตไว
ส่วนผสม
– ไข่ไก่ 3 ฟอง
– กะปิ 3 ช้อนโต๊ะ
– ผงชูรส 3 ช้อนโต๊ะ
– น้ำปลา 6 ช้อนโต๊ะ
– น้ำจากแหล่งธรรมชาติ
ขั้นตอนการทำ
- นำส่วนผสมทั้งหมดคนให้เข้ากัน
- โขลกเปลือกไข่ให้ละเอียดใส่ลงไปในส่วนผสม
- เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ตวง 1 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงในน้ำ 1.5 ลิตร
- เขย่าให้เข้ากัน นำไปตากแดด 4-5 วัน จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนเมื่อครบ 15 วัน สามารถนำไปใช้ได้
ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
– ช่วยตรึงไนโตรเจนในดิน เพิ่มไนโตรเจนให้กับพืช
– เร่งการเจริญเติบโต ทำให้พืชแข็งแรงแล้วโตเร็วเป็น 3 เท่า
– เมื่อใช้ทางดินทำให้รากพืชแข็งแรงและหาอาหารได้ดีขึ้น ใช้กับนาข้าวช่วยเร่งการแตกกอของข้าว
– ช่วยในการย่อยธาตุอาหารและอินทรียวัตถุในดิน เพื่อให้พืชดูดซึมไปใช้ได้อย่างง่ายดาย
– ป้องกันพืชโดยการทำลายจุลินทรีย์ไม่ดีในดิน ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพืช
คุณประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งแล้ว จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงยังเหมาะกับการนำมาใช้ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน เนื่องจากจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสามารถทำเองได้โดยง่าย มีราคาถูก และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นอีกด้วย
น้ำเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ดี ควรมีสีน้ำตาลแดงเข้ม ถึงจะแสดงว่า จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงเติบโตเต็มที่แล้ว โดยเคล็ดลับในการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ให้ติดแดง 100% คือ ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง หรือน้ำจากบ่อเลี้ยงปลา เป็นหลัก เพราะจะมีจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงตามธรรมชาติอาศัยเยอะอยู่แล้ว ทำให้เมื่อนำมาเพาะเชื้อแล้ว จะติดแดงได้ง่าย โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก็ได้แล้ว
ที่มา : sgethai.com
2.สูตรน้ำหมักจุลินทรีย์จากมูลไก่
มูลไก่ถือเป็นปุ๋ยคอกที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจน สำหรับนาข้าว และพืชผัก ผลไม้ทุกชนิด เมื่อนำสิ่งเหลือใช้จากธรรมชาติมาปรับใช้เป็นน้ำหมักชีวภาพมูลไก่ จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตเรื่องค่าปุ๋ยเคมีไปได้กว่า 70%
ส่วนผสมการทำปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ขี้ไก่
- ขี้ไก่ จำนวน 1 กระสอบ (30 กิโลกรัม)
- น้ำเปล่า จำนวน 50 ลิตร
- จุลินทรีย์อีเอ็มสูตรขยาย จำนวน 3 ลิตร
- กากน้ำตาล จำนวน 1.5 ลิตร
วิธีการ
นำส่วนผสมทั้งหมดมารวมกัน คนให้เข้ากัน ปิดฝาตั้งไว้ในที่ร่ม นาน 15-30 วัน นำไปใช้ประโยชน์ได้ และควรใช้ให้หมดภายในเวลา 1 เดือน
สูตรขยายจุลินทรีย์อีเอ็ม
– หัวเชื้อจุลินทรีย์อีเอ็มแท้ของบริษัท เอ็มโร เอเชีย จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
– กากน้ำตาล
– ขวดพลาสติกแบบฝาเกลียว
ขั้นตอนการทำ
- ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์อีเอ็ม 2 ช้อนโต๊ะ + กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน
- บรรจุน้ำสะอาดใส่ในขวดพลาสติกเตรียมไว้ขวดละ 1 ลิตร
- จากนั้นเทหัวเชื้อจุลินทรีย์อีเอ็มที่ผสมกากน้ำตาลแล้ว ลงใส่ในขวดพลาสติกที่ใส่น้ำไว้ แล้วเขย่าให้เข้ากัน ปิดฝาให้สนิท ตั้งไว้ในที่ร่ม 7 วัน สามารถนำมาใช้ได้และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับจุลินทรีย์อีเอ็มหัวเชื้อทุกประการ จะเรียกว่า จุลินทรีย์อีเอ็มขยาย ขวดละ 1 ลิตร
เคล็ดลับ
ใช้แทนปุ๋ยขี้ไก่ได้ 100% สูตรนี้จะใช้ได้ดีกว่าเพราะเป็นแบบน้ำ ทำให้พืชสามารถดูดซึมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ไปใช้ในการบำรุงเพื่อการเจริญเติบโตได้ดีกว่า ปุ๋ยขี้ไก่แบบผง หรือปุ๋ยขี้ไก่แบบอัดเม็ด
ที่มา : rakbankerd
3.สูตรน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย
ส่วนผสม
- หน่อกล้วย 15 กิโลกรัม
- สารเร่ง พด.22 ซอง
- กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
- น้ำเปล่า 200 ลิตร
วิธีทำ
- หั่นหรือสับหน่อกล้วยให้เป็นชิ้นเล็กๆ
- กากน้ำตาล ผสมน้ำ 10 ลิตร นำสารเร่ง พด.2 ผสมลงไป คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
- นำหน่อกล้วยสับแล้ว ใส่ในถังพร้อมน้ำเปล่าทั้งหมด และส่วนผสมกากน้ำตาลกับสารเร่ง พด.2 คนส่วนผสมให้เข้ากัน
- ปิดฝาไม่ต้องสนิท ตั้งไว้ในที่ร่ม ระหว่างการหมักคนหรือกวนทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เพื่อการระบายก๊าซและทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดีขึ้น
- หมักนาน 21 วัน กรองน้ำใส่ขวดไว้ใช้ได้
วิธีการใช้
น้ำหมัก 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นลงดิน จะทำให้ดินร่วนซุย ฉีดพ่นทางใบลดปริมาณน้ำหมักลงครึ่งหนึ่ง
ฉีดพ่น ปีละ 2 ครั้ง ช่วงก่อนออกดอกและช่วงหลังตัดแต่งกิ่ง
4.น้ำหมักชีวภาพ (สูตรไข่ไก่)
ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพด้านการเกษตร ใช้ฉีดพ่นหรือเติมในดินหรือน้ำ ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ในดินและน้ำ ช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดินทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี ช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในดิน ช่วยเพิ่มอัตราการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินและน้ำ ใช้รดต้นพืชหรือแช่เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์เพื่อเร่งการเกิดราก และการเจริญเติบโตของพืช เป็นสารที่ทำหน้าที่เหมือนฮอร์โมนพืชกระตุ้นการเกิดราก ใช้ฉีดพ่นในแปลงเกษตรช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ช่วยในการแตกตาดอก เพิ่มความแข็งแรง ช่วยต้านแมลงศัตรูพืช และลดจำนวนแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตและคุณภาพสูงขึ้น ปัจจุบันน้ำหมักชีวภาพที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมในการปลูกผักอินทรีย์
น้ำหมักชีวภาพจากไข่ไก่ ซึ่งมีส่วนประกอบและวิธีการทำดังนี้
ส่วนประกอบ:
- ไข่ไก่ 5 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม
- แป้งข้าวหมาก 1 ก้อน
- ยาคูลท์ 1 ขวด
วิธีทำ:
- ชั่งไข่ไก่ 5 กิโลกรัม
- ใช้เครื่องปั่นน้ำผลไม้ ปั่นไข่ไก่ให้ละเอียด (ปั่นพร้อมเปลือก)
- ชั่งกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม
- นำไข่ไก่และกากน้ำตาลผสมให้เข้ากัน
- เทยาคูลท์ลงไปผสม
- บี้แป้งข้าวหมากลงไปผสม
- คนให้เข้ากัน ปิดฝา แล้วเก็บไว้ในที่ร่ม นาน 14 วัน
ที่มา : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
5.น้ำหมักชีวภาพทำได้ง่ายๆ ด้วยผัก ไม้ผลเหลือใช้
บ้านทุกหลังล้วนมีเศษผัก ผลไม้ที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งถือได้ว่าเป็นขยะที่ต้องส่งไปกำจัดด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเผา หรือฝังกลบ แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เรียกว่าขยะเหล่านี้สามารถนำมาทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ เพื่อช่วยลดการใช้สารเคมีในการปลูกผัก ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับภายในครัวเรือนได้
นอกจากนี้ ขยะสดอินทรีย์เหลือใช้จากครัวเรือนสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพได้ โดยอาศัยจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายเศษพืชให้ได้ธาตุอาหาร ฮอร์โมน และกรดอินทรีย์ที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
วิธีทำปุ๋ยหมักง่ายๆ ในครัวเรือน
ส่วนผสม
- ผัก หรือผลไม้ที่เหลือจากการบริโภคน้ำหนักรวมประมาณ 4 กิโลกรัม
- สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง
- กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
- น้ำเปล่า
โดยผักผลไม้ที่นำมาใช้ทำปุ๋ยหมักควรเป็นผักและผลไม้ที่ไม่เหี่ยวเฉา และผักควรเป็นผักที่อวบน้ำ เพราะจะมีธาตุอาหารไนโตรเจนมากกว่าพืชที่เหี่ยวแล้วนั่นเอง หากบ้านไหนมีพืชผักเหลือใช้ในแต่ละวันไม่มาก ให้เก็บสะสมโดยนำเศษผักใส่ถุงพลาสติกมัดให้แน่น เก็บไว้ในช่องแช่ผักในตู้เย็น วิธีการนี้จะยืดอายุเศษผักเหลือใช้ให้อยู่ได้นานขึ้น โดยพืชที่เหมาะนำมาทำปุ๋ยหมัก อาทิ ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกาด กะหล่ำ รวมทั้งเปลือกผลไม้ต่างๆ
วิธีการทำปุ๋ยหมัก
- นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 กวนในน้ำเปล่าปริมาตร 2 ลิตร 5 นาที เพื่อให้จุลินทรีย์ปรับสภาพ และเป็นการปลุกให้จุลินทรีย์มีชีวิต โดยสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 นี้ เป็นจุลินทรีย์รวม 5 สายพันธุ์ ทั้งยีสต์ที่ผลิตแอลกอฮอล์ ผลิตกรดอินทรีย์ และเป็นแบคทีเรียที่ผลิตกรดอินทรีย์ สลายไขมัน สลายโปรตีน และละลายอนินทรีย์ฟอสฟอรัสรวมอยู่ด้วย
- นำเศษผักและผลไม้ที่ล้างสะอาดมาทำให้ละเอียดมากที่สุดด้วยการสับ และนำไปใส่ในภาชนะสำหรับหมักที่เตรียมไว้ ความละเอียดมีผลต่อระยะเวลาการย่อยสลาย เนื่องจากจะเพิ่มพื้นที่ผิวให้จุลินทรีย์ทำการย่อยได้มากขึ้นส่งผลให้การย่อยสลายเกิดเร็วขึ้นนั่นเอง
- นำกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม มาคลุกเคล้าเข้ากับเศษพืชผัก ผลไม้ที่เตรียมไว้ให้ทั่ว กากน้ำตาลนี้เป็นอาหารเร่งด่วนให้แก่จุลินทรีย์ ทำให้จุลินทรีย์เพิ่มจำนวนเซลล์ได้มากขึ้น เมื่อคนเข้าที่แล้วให้เติมน้ำผสมสารเร่ง พด.2 หรือหัวเชื้อลงไป และคนให้เข้ากัน หากปริมาณน้ำในถังมีความสูงน้อยกว่าเศษวัสดุ ให้เติมน้ำเปล่าจนท่วมผิววัสดุ เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีนั่นเอง
- ปิดฝาแบบหลวมๆ เพื่อให้สามารถระบายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจาการย่อยสลายของจุลินทรีย์ได้ นอกจากนี้ ให้เก็บถังหมักไว้ในที่ร่มและต้องคนปุ๋ยหมักทุกวันเป็นเวลา 7 วัน เพื่อเร่งการย่อยสลายของจุลินทรีย์และเป็นการระบายแก๊ส หลังจากผ่านไป 7 วันจะพบว่าแอลกอฮอล์ลดลง คราบเชื้อบนผิวน้ำหายไป และเศษผักเปื่อยยุ่ย ซึ่งนั่นเป็นสัญญาที่บ่งบอกว่าน้ำหมักพร้อมใช้งานแล้ว
วิธีการใช้
ก่อนอื่นเมื่อกระบวนการหมักเสร็จสิ้นแล้วให้กรองกากทิ้ง น้ำปุ๋ยหมักที่ได้นำไปบรรจุในแกลลอน หรือขวดพลาสติกเก็บไว้ในที่ร่ม มีอายุการเก็บรักษาอยู่ที่ 6 เดือน หลังจาก 6 เดือน คุณภาพของธาตุอาหารและฮอร์โมนของพืชก็จะลดลงไปตามลำดับ
วิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ
อัตราส่วนที่ใช้ น้ำหมักชีวภาพเข้มข้น 2 ช้อนโต๊ะ (200 ซีซี) ละลายน้ำ 20 ลิตร สามารถให้เป็นอาหารพืชได้ทั้งทางใบโดยวิธีการฉีดพ่น และวิธีการรดทางดิน โดยให้แก่พืชเป็นประจำทุก 7-10 วัน ช่วยเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ กระตุ้นการออกดอกและการแตกราก ต้องให้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเป็นประจำเพราะธาตุอาหารในปุ๋ยหมักมีน้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป หากใช้บ่อยจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนจำพวกออกซิน จิบเบอเรลลิน ไซโตไคนิน เสริมให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพยังสามารถนำไปแช่เมล็ดพืชเพื่อช่วยเร่งการเกิดรากได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพก็มีข้อที่ควรระวัง เนื่องจากปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพมีความเป็นกรดสูง มีค่าความเป็นกรดอยู่ในช่วง 3-4 การใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพรดพืชแบบไม่เจือจางน้ำเปล่าก่อนใช้ส่งผลให้พืชตายได้เช่นกัน เปรียบเสมือนยาฆ่าหญ้าแบบอินทรีย์ได้เลย ฉะนั้นก่อนใช้ปุ๋ยหมักต้องศึกษาวิธีการอย่างถี่ถ้วนและมีความเข้าใจอัตราการใช้และช่วงอายุพืชที่นำไปใช้เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรของเรา
ที่มา : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5.สูตรน้ำหมักชีวภาพดับกลิ่น
ส่วนผสม
- ใช้เศษอาหาร พืชผัก ผลไม้ที่เหลือทิ้ง 3 ส่วน
- กากน้ำตาลหรือโมลาส 1 ส่วน
- น้ำ 10 ส่วน
วิธีทำ
ใส่รวมกันในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท โดยให้เหลือช่องว่างไว้ประมาณ 1 ใน 5 ของขวดต่อถัง หมักไว้นาน 3 เดือน ก็จะได้น้ำหมักชีวภาพใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ โถส้วม ท่อระบายน้ำ กลิ่นปัสสาวะสุนัข ฯลฯ ได้อย่างดี
ข้อควรระวังในการใช้น้ำหมักชีวภาพ
- หากใช้น้ำหมักชีวภาพกับพืช ต้องใช้ปริมาณเจือจาง เพราะหากความเข้มข้นสูงเกินไป อาจทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และตายได้
- ระหว่างหมัก จะเกิดก๊าซต่างๆ ในภาชนะ ดังนั้น ต้องหมั่นเปิดฝาออกเพื่อระบายแก๊ส แล้วปิดฝากลับให้สนิททันที
- หากใช้น้ำประปาในการหมัก ต้องต้มให้สุก เพื่อไล่คลอรีนออกไปก่อน เพราะคลอรีนอาจเป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก
- พืชบางชนิด เช่น เปลือกส้ม ไม่เหมาะในการทำน้ำหมักชีวภาพ เพราะน้ำมันที่เคลือบผิวเปลือกส้มเป็นพิษต่อจุลินทรีย์
ที่มา : องค์การบริหารส่วนตำบลนาขมิ้น-ตำบลนาขมิ้น อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม