โปรตีนเกษตร: แหล่งสารอาหารสุดล้ำจากเมล็ดถั่วเหลือง

    “โปรตีนเกษตร” คือ โปรตีนที่ได้จากแป้งถั่วเหลือง โดยผ่านกระบวนการสกัดไขมัน (Defatted soy flour) และนำมาอัดพอง (Extrusion) และนำมาอบแห้งเพื่อให้ได้เป็นโปรตีนในรูปทรงต่างๆ ซึ่งโปรตีนเกษตรแต่ละรูปทรงก็จะเหมาะกับการนำไปประกอบอาหารในประเภทที่แตกต่างกัน แต่โปรตีนคงเป็นชื่อที่ใครหลายๆ คนคงไม่ค่อยคุ้นหูนัก ในขณะที่บางคนคงคุ้นหูเป็นอย่างดี เนื่องจากโปรตีนเกษตรนั้นเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมสำหรับผู้ที่ทานเจหรือกลุ่มผู้ทานวีแกน เนื่องจากเป็นอาหารที่สามารถทานแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ได้เพราะมีโปรตีนที่สูง โดยมีโปรตีนมากถึง 49.47% มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และมีสารอาหารอื่นๆ เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม เหล็ก ไนอะซิน วิตามินบี 1 และบี 2 เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดอาหาร หรือ superfood เลยก็ว่าได้ วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับเจ้าโปรตีนเกษตรนี้ให้มากขึ้น !

โปรตีนเกษตรเกิดขึ้นได้ยังไง ?

    เจ้าโปรตีนเกษตรนี้เกิดจากการวิจัยและศึกษาของ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีเป้าหมายจะสร้างผลิตภัณฑ์โปรตีนสูงเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ และวางจำหนายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 โดยเป็นที่นิยมและมีความต้องการสูงเป็นอย่างมากในช่วงเทศกาลกินเจ และในปัจจุบัน โปรตีนเกษตรก็ได้เป็นวัตถุดิบทดแทนเนื้อสัตว์ที่สามารถหาได้ทั่วไปตามท้องตลาด แม้จะไม่ใช้หน้าเทศกาลกินเจก็ตาม  

การใช้โปรตีนเกษตรในการประกอบอาหาร 

    หน้าตาของโปรตีนเกษตรอาจดูไม่ค่อยคุ้นชินนัก เนื่องจากมักมีลักษณะเป็นแผ่นโปรตีนกลมและแบน โดยวันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านพามาดูขั้นตอนการเตรียมงานๆ ที่จะทำให้การนำโปรตีนเกษตรไปใช้งานนั้นง่ายดายและให้ประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น 

    เมื่อหาซื้อโปรตีนเกษตรได้แล้ว ก่อนที่จะนำไปปรุงอาหารนั้นควรนำโปรตีนเกษตรมาแช่น้ำเย็น ในอัตราส่วนโปรตีนเกษตร 1 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน เป็นเวลาราวๆ 5 นาทีเสียก่อน เพื่อให้โปรตีนเกษตรนั้นพองตัวขยายใหญ่ และแปรสภาพจากแผ่นโปรตีนเกษตรแข็งๆ ให้มีความนิ่มมากยิ่งขึ้น แล้วค่อยบีบน้ำออก เพียงเท่านี้โปรตีนเกษตรแข็งๆ ก็พร้อมสำหรับการปรุงอาหาร 

ประโยชน์ของโปรตีนเกษตร 

  1. โปรตีนสูง 

เนื่องจากโปรตีนเกษตรเป็นการแปรรูปจากถั่วเหลือง จึงให้มีโปรตีนที่สูง นอกจากจะเหมาะกับผู้ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการเพิ่มโปรตีนให้กับร่างกายอีกด้วย  

Advertisement
  1. ไขมันต่ำ ปราศจากคอเลสเตอรอล

แม้ว่าจะสามารถทานโปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ได้ แต่โปรตีนเกษตรกลับมีปริมาณไขมันที่ต่ำกว่าเนื้อสัตว์เป็นอย่างมาก เนื่องจากในการผลิตมีการสกัดเอาไขมันออกไป อีกทั้งยังไม่มีคอเลสเตอรอล 

  1. ไฟเบอร์สูง 

นอกจากโปรตีนแล้ว โปรตีนเกษตรยังเต็มไปด้วยใยอาหาร ช่วยให้อิ่มนาน ลดความอยากอาหาร ชะลอการดูดซึมน้ำตาลในเลือด ลดอาการท้องผูก และกระตุ้นการขับถ่าย

Advertisement
  1. มีสารอาหารหลายชนิด 

ในโปรตีนนั้นเต็มไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ หรือแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็น อย่างวิตามินบี ฟอสฟอรัส แคลเซียม และธาตุเหล็ก อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย 

ข้อควรระวังในการทานโปรตีนเกษตร 

  แม้ว่าโปรตีนเกษตรนั้นจะเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นมากมาย แต่ในการบริโภคโปรตีนเกษตรเองก็มีข้อควรระวังเดียวกัน โดยมีข้อควรระวัง ดังนี้ 

  1. ผู้ที่แพ้ถั่วและแป้งสาลีควรหลีกเลี่ยงการทาน เนื่องจากอาจมีสารก่อภูมิแพ้
  2. มีฟอสฟอรัสสูง ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต 
  3. โดยส่วนมากโปรตีนเกษตรจะมีโซเดียมในปริมาณที่สูง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงควรระมัดระวัง และควรเลือกโปรตีนเกษตรที่มีโซเดียมต่ำแทน 
  4. ในโปรตีนเกษตรบางแหล่งอาจเป็นการแปรรูปจากถั่วเหลืองที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMO (Genetically Modified Organisms) ซึ่งการทานอาหารที่มีการดัดแปลงทางพันธุกรรมอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/4173 

https://health.kapook.com/view282910.htm l