“เพาะเลี้ยงไข่ผำ” สไตล์ป้าน้อย สูงวัยทำได้ สร้างรายได้ไม่ขาดมือ

“ผำ” หรือ “ไข่น้ำ” จากพืชพื้นบ้าน สู่พืชโปรตีนสูงติดทำเนียบอาหาร super foods ของโลก ที่อุดมไปด้วยวิตามิน โปรตีน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สอดรับกับกระแสรักสุขภาพที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่พืชอาหารแห่งอนาคตสร้างมูลค่าราคาสูง ซึ่งในปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลายและมีปริมาณเพิ่มขึ้น ด้วยวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่มือใหม่หัดเลี้ยง เริ่มต้นจากการเลี้ยงในกะละมังเล็กๆ เลี้ยงในบ่อพลาสติกขนาดกลาง และการยกระดับสู่มาตรฐานสินค้าปลอดภัยด้วยวิธีการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดแนวตั้ง เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ป้าน้อย-เมธาพร เข็มทอง เจ้าของบ้านสวนหนูดี จังหวัดนครนายก อดีตข้าราชการเกษียณ ที่ผันตัวมาทำอาชีพเกษตรเต็มตัว ปลูกพืชผสมผสาน พร้อมกับการริเริ่มเพาะเลี้ยงไข่ผำไว้เป็นอาหาร สู่การขยายพื้นที่เลี้ยงสร้างรายได้ไม่ขาดมือ

ป้าน้อย เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นการเพาะเลี้ยงไข่ผำเริ่มต้นหลังจากเกษียณอายุราชการ เรียกว่าเป็นการต่อยอดจากเดิมที่เคยทำสวนผสมผสานปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง ประกอบกับที่บ้านมีบ่อน้ำที่เคยขุดไว้เลี้ยงเป็ดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นบ่อดินที่มีขนาดความกว้าง 1 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร สำหรับไว้ให้เป็ดได้เล่นน้ำและปล่อยเลี้ยงแหนแดงไว้เป็นอาหารเป็ดแล้วบังเอิญมีไข่ผำติดมาด้วย

“ตอนนั้นป้าตักแหนแดงขึ้นมาเพื่อจะเอาไปเป็นอาหารเป็ดก็ได้สังเกตเห็นว่ามีไข่ผำติดมากับแหนแดง แต่ยังไม่ได้คิดอะไรจนกระทั่งเราเลิกเลี้ยงเป็ดไป ป้าก็เห็นว่าบ่อน้ำที่เคยขุดไว้พอถึงหน้าแล้งน้ำก็แห้ง พอถึงหน้าฝนน้ำก็เต็มบ่อ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราแปลกใจ คือ ผำ เพราะว่าไม่ว่าน้ำจะแห้ง หรือน้ำจะเต็มบ่อ ผำก็ยังคงอยู่ จึงเป็นจุดที่น่าสนใจว่าไข่ผำน่าจะเป็นพืชที่เลี้ยงง่าย โตไว เป็นที่มาของการทดลองเลี้ยงและพัฒนาเป็นรายได้”

เริ่มต้นทดลองเลี้ยงไข่ผำ 1 กะละมัง
ขยายสู่การสร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน

ป้าน้อย บอกว่า การเลี้ยงไข่ผำ ของป้าเริ่มขึ้นจริงๆ คือช่วงหลังวัยเกษียณ เพราะตอนที่ทำงานอยู่ไม่มีเวลา แต่ตอนนี้มีเวลาแล้วจึงอยากนำเอาไข่ผำพืชที่เราเคยสนใจมาเริ่มต้นทดลองเลี้ยง โดยเริ่มจากการทดลองเลี้ยงในกะละมังเล็กๆ เพียง 1 กะละมัง เพื่อศึกษาธรรมชาติการเลี้ยงการดูแล จากนั้นเมื่อเริ่มชำนาญจึงได้ขยายการเลี้ยงเพิ่มจาก 1 เป็น 2 กะละมัง และขยายมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 63 จนถึงปี 64 เริ่มเลี้ยงอย่างจริงจัง เพราะเริ่มมองเห็นว่าไข่ผำน่าจะเป็นพืชที่สร้างรายได้ดีในอนาคต ซึ่งมาประจวบเหมาะกับที่ในปีนั้นกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงเพราะเริ่มมีงานวิจัยคุณค่าโภชนาการของไข่ผำขึ้นมา จึงเดินหน้าขยายการเลี้ยงให้เพียงพอต่อการสร้างรายได้เพื่อสอดคล้องกับความต้องการในอนาคต


“จากที่ป้าเริ่มต้นเลี้ยงในกะละมัง ก็เริ่มขยายมาเลี้ยงในกระบะผสมปูนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วพัฒนามาเลี้ยงในบ่อพลาสติก จนถึงปัจจุบันได้มีการขยายทำเป็นโรงเรือนเพาะเลี้ยงไข่ผำระบบปิดแนวตั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าไข่ผำของฟาร์มเรา สะอาด ปลอดภัย ทานแล้วสบายใจ”

ภาชนะแบบไหน?
เพาะเลี้ยงไข่ผำได้บ้าง

เมื่อถามป้าน้อยว่าภาชนะแบบไหนที่ใช้เพาะเลี้ยงไข่ผำได้บ้าง ป้าน้อย บอกว่า ไข่ผำเป็นพืชที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกังวลกับภาชนะที่ใช้เพาะเลี้ยงเลย เทคนิคง่ายๆ คือที่บ้านเรามีอะไรก็ใช้อันนั้น เพราะอย่างที่สวนของป้าก็สามารถเพาะเลี้ยงไข่ผำได้ในหลายรูปแบบ ดังนี้

Advertisement

1. เพาะเลี้ยงในกะละมัง หรือกระบะผสมปูน
การเพาะเลี้ยงไข่ผำในกะละมังถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่น้อยกำลังเริ่มต้นหัดเลี้ยง เพื่อศึกษา ลองผิดลองถูก ใช้เงินลงทุนไม่มาก เริ่มต้นด้วยเงิน 20 บาท ก็สามารถเพาะเลี้ยงไข่ผำไว้ทานเองในครัวเรือนได้ หากท่านใดสนใจวิธีการเพาะเลี้ยงไข่ผำที่บ้านสวนหนูดี มีหลักสูตรอบรมการเพาะเลี้ยงไข่ผำทุกอาทิตย์แรกของเดือน สามารถติดต่อที่สวนได้เลย


2. เพาะเลี้ยงในบ่อดินที่ปูด้วยพลาสติก และบ่อพลาสติก
สำหรับขนาดของบ่อดิน กว้าง 3 เมตร ยาว 9 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร ส่วนขนาดของบ่อพลาสติก กว้าง 4 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นรูปแบบการเลี้ยงที่เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มชำนาญ ต้องการเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 15-20 กิโลกรัมต่อ 7 วัน

Advertisement

3. เพาะเลี้ยงแนวตั้งในโรงเรือนระบบปิด

ประหยัดพื้นที่ เก็บผลผลิตได้เยอะ และเป็นวิธีการเลี้ยงที่สะอาดปลอดภัยมากที่สุด เหมาะสำหรับการต่อยอดเป็นอาหาร super foods ด้วยกรรมวิธีเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด เลี้ยงในระบบน้ำวน

โดยที่สวนได้เริ่มต้นการเพาะเลี้ยงด้วยวิธีนี้มาประมาณ 3 เดือน ในขนาดความกว้างของราง 34 เซนติเมตร ยาว 3 เมตร ปริมาณผลผลิตที่เก็บได้ 1 กิโลกรัมต่อ 1 ราง เพาะเลี้ยงทั้งหมด 24 ราง ใช้พื้นที่เพียง 5×6 ตารางเมตร ถือเป็นวิธีช่วยประหยัดพื้นที่มากๆ

ขั้นตอนการเลี้ยงไข่ผำ
เก็บขายได้ทุก 7 วัน

ป้าน้อย บอกว่า ไข่ผำถือเป็นพืชมหัศจรรย์มากๆ เนื่องจากเป็นพืชที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เพาะเลี้ยงครั้งเดียวสามารถเก็บขายได้ทุก 7-15 วัน สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงจะคล้ายกันเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเลี้ยงในภาชนะอะไร ต่างกันที่การดูแลเพียงเล็กน้อย

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยง
ขั้นตอนที่ 1
ให้เริ่มจากการเตรียมบ่อหรือภาชนะที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไข่ผำ หากเพาะเลี้ยงในกะละมังให้ใส่น้ำลงไปครึ่งกะละมัง หากเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อพลาสติก ให้ใส่น้ำลงบ่อความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ในกรณีที่เริ่มต้นเลี้ยงครั้งแรกให้ทำการล้างทำความสะอาดพลาสติกรองบ่อก่อน โดยน้ำที่ใส่จะเป็นน้ำประปา หรือน้ำบาดาลก็ได้ หากใช้น้ำประปาแนะนำให้พักน้ำไว้สัก 2-3 วันก่อนปล่อยพันธุ์ผำลงไปเพาะเลี้ยง

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงผำเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการผสมปุ๋ย โดยที่นี่จะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 เป็นปุ๋ยเม็ดปริมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงไปในขวดผสมกับน้ำเปล่าเขย่าให้ปุ๋ยละลายแล้วเทปุ๋ยลงไปในบ่อที่เตรียมไว้


ขั้นตอนที่ 3 ปล่อยพันธุ์ผำที่เตรียมไว้ลงในบ่อ หากเพาะเลี้ยงในกะละมังให้ปล่อยพันธุ์ผำประมาณ 1 ขีด คนให้กระจาย จากนั้นนำไปตั้งไว้ที่แสงแดดรำไร แล้วใช้ตาข่ายมาคุมทับกะละมังเพื่อป้องกันแมลงต่างๆ มาวางไข่ แต่ถ้าหากเพาะเลี้ยงในบ่อที่มีขนาดใหญ่หน่อย ให้คิดอัตราส่วนง่ายๆ คือ พื้นที่ 1 ตารางเมตรต่ออัตราไข่ผำ 2 ขีด

ขั้นตอนการดูแล
ในขั้นตอนการดูแล ป้าน้อย บอกว่า ไม่ยุ่งยาก หลักๆ ขอแค่มีเวลาว่างช่วงเช้าเดินมาเปิดบ่อคนเพื่อให้เกิดออกซิเจนในบ่อแค่นั้นเอง จากนั้นไม่เกิน 7-15 วัน ไข่ผำจะขยายพันธุ์ขึ้นเต็มบ่อสามารถตักออกมารับประทาน หรือตักไปจำหน่ายได้ โดยวิธีการตักให้ตักขึ้นมาประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลือทิ้งไว้ให้ขยายพันธุ์ให้เก็บในครั้งถัดไป

“จะเห็นได้ว่าการเพาะเลี้ยงไข่ผำของป้าตั้งแต่เริ่มจนถึงเก็บป้าใส่ปุ๋ยแค่รอบเดียวพร้อมกับการเตรียมบ่อ แต่ถ้าหากใครเลี้ยงไป 2-3 ครั้งแล้วเริ่มรู้สึกว่าไข่ผำเริ่มขยายพันธุ์ได้ช้าลง ให้เราผสมปุ๋ยเทลงไปในบ่อเพาะเลี้ยงเพิ่มเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ส่วนเรื่องของน้ำสังเกตดูจากตะกอน ถ้าน้ำเริ่มมีตะกอนเยอะให้ตักไข่ผำไปพักไว้ในบ่ออื่น แล้วถ่ายน้ำทิ้ง พอเปลี่ยนน้ำแล้วเอาผำที่ตักออกมาใส่ลงไปใหม่ ก็เท่ากับว่า น้ำ 1 ครั้งใช้เลี้ยงได้ 2-3 ครั้ง ค่อยเปลี่ยนน้ำใหม่ แต่ถ้าเกิดไม่มีตะกอนก็ไม่ต้องเปลี่ยน เพราะอย่าลืมว่าทุกครั้งที่เราเปลี่ยนน้ำเท่ากับเรามีต้นทุนค่าน้ำ ค่าปุ๋ยเพิ่มเข้ามา”

วิธีการเก็บ
วิธีการเก็บไข่ผำสามารถเก็บได้หลายวิธีแต่สำหรับที่บ้านสวนหนูดี ป้าน้อย อธิบายให้ฟังว่า ที่สวนได้ทำการประดิษฐ์เครื่องล้างไข่ผำขึ้นมาเอง ซึ่งมั่นใจได้ว่าการล้างโดยใช้เครื่องของสวนสะอาดแน่นอน ด้วยวิธีการตักผำเข้าเครื่องล้างให้สะอาด จากนั้นนำไข่ผำที่ล้างจนสะอาดไปลอยไว้ในอ่างน้ำขนาดใหญ่อีกครั้ง เพื่อให้ตะกอนตกลงไปในน้ำอีกครั้ง ทิ้งไว้สัก 10-15 นาที แล้วช้อนขึ้นมาสะเด็ดน้ำ จากนั้นทำการบรรจุใส่ถุงส่งลูกค้า โดยใช้ขนส่งห้องเย็น

ลูกค้าหลากหลายช่องทาง
มีผลผลิตเก็บขายได้ทุกวัน

สำหรับไข่ผำของที่สวนป้าน้อย มีผลผลิตเก็บขายได้ทุกวัน คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อวันประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อวัน โดยปกติแล้วลูกค้าของที่สวนจะแบ่งออกเป็น 1. ลูกค้าออนไลน์ที่จะมีการรับและส่งของทุกวันจันทร์ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 50-100 กิโลกรัม 2. ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมสวน และขอซื้อพันธุ์ไข่ผำ มีทั้งเพื่อนำไปรับประทาน และนำไปขยายพันธุ์สร้างอาชีพต่อ 3. รายได้จากการเปิดหลักสูตรอบรมวิธีการเพาะเลี้ยงไข่ผำสร้างรายได้ 4. การขายพันธุ์ไข่ผำ หลัก 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์โกลโบซ่าเม็ดเล็กเขียวธรรมดา จำหน่ายในราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม และพันธุ์อาร์ไรซ่าเม็ดใหญ่สีเข้ม จำหน่ายในราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม ไม่รวมค่าจัดส่ง 5. ผลิตภัณฑ์แปรรูป ไข่ผำอบแห้ง และผงโรยข้าวจากไข่ผำอบแห้ง จำหน่ายในราคา 2,500 บาทต่อกิโลกรัม แบ่งขายขีดละ 300 บาท ซึ่งสาเหตุที่มีราคาสูงเพราะกรรมวิธีกว่าจะได้ผำอบแห้ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้ปริมาณผำสดมากถึง 30 กิโลกรัม


“ที่เห็นว่าป้ามีตลาดมากมายขนาดนี้ คืออย่างแรกต้องเริ่มจากความกล้าที่จะก้าวข้ามผ่านอุปสรรคเรื่องของอายุ เพราะกว่าจะมีคนรู้จักป้าขนาดนี้ ป้าก็เริ่มทำตาดออนไลน์ด้วยตัวเอง โพสต์เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ป้าทำเองหมด จากเริ่มต้นเราได้หลักร้อย จนถึงปัจจุบันมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน งานไม่หนัก เพาะเลี้ยงไปพอถึงเวลา 7-10 วันถึงจะถึงรอบตัก เลี้ยงง่าย ใช้ต้นทุนไม่เยอะ ที่สำคัญเป็นพืชที่มีอนาคต” ป้าน้อย กล่าวทิ้งท้าย
หากท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 089-541-3301 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : Baan Suan Noo Dee บ้านสวนหนูดี นครนายก