ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงนี้หลายท่านคงคุ้นหน้าคุ้นตากับ “ไข่ผำ” พืชเม็ดเล็กๆ สีเขียวๆ กันพอสมควร หรือถ้าใครยังไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักก็จะได้รู้จักมากขึ้นจากโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะตอนนี้กระแสของพืชจิ๋วแต่แจ๋วอย่างไข่ผำกำลังมาแรง อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย โปรตีนสูง นับเป็นพืชอาหารแห่งอนาคตที่ไม่ควรมองข้าม
ในด้านการเพาะเลี้ยงสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการเพาะเลี้ยงในกะละมัง บ่อดิน บ่อพลาสติก และเพาะเลี้ยงในระบบปิดแนวตั้ง ซึ่งหากใครต้องการเพาะเลี้ยงเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ ว่ากันว่าการเพาะเลี้ยงในระบบปิดแนวตั้งจะตอบโจทย์ที่สุด เพราะมีกระบวนการเพาะเลี้ยงสะอาด และได้มาตรฐาน ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรตามมาหาคำตอบกัน
คุณณัฐ-ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง ชาวสวนรุ่นใหม่ไฟแรง อดีตวิศวกรเคมี ผู้พัฒนาเลี้ยงผำเชิงอุตสาหกรรม ด้วยวิธีการเลี้ยงในระบบปิดแนวตั้ง เพื่อให้ได้ผำที่สะอาด มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สู่การสร้างมูลค่า
คุณณัฐ เล่าว่า ตนเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความสนใจในการเพาะเลี้ยงไข่ผำสร้างรายได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดจากความสนใจในลักษณะของไข่ผำ ที่มีลักษณะเป็นพืชเม็ดเล็กๆ สีเขียวๆ สีสันสวยงาม นำไปสู่การค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมทำให้ได้รู้ว่า “ไข่ผำ”เป็นพืชน้ำที่มหัศจรรย์ โดยเฉพาะในด้านของคุณค่าทางโภชนาการที่สูง จึงเกิดการคิดต่อยอดเพราะมองว่าในอนาคตพืชตัวนี้อนาคตจะเป็นอาหารที่คนทั่วโลกต้องการ
“ตอนแรกผมเริ่มจากการทดลองเลี้ยงแบบทั่วไป คือเลี้ยงในบ่อดิน เลี้ยงในกะละมัง ก็ได้ผลผลิตค่อนข้างดี เพียงแต่ว่าในระหว่างการเลี้ยงรู้สึกว่ายังมีขั้นตอนหลายอย่างที่อาจทำให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัย เพราะจริงๆ แล้วผำเป็นพืชที่ละเอียดอ่อนมาก เนื่องจากเป็นพืชที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำอยู่ในตัวสูง ถ้าเราเลี้ยงแบบทั่วไป บำรุงด้วยปุ๋ยหมักหรือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เราไม่สามารถการันตีความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่าเป็นไข่ผำที่สะอาดจริงๆ ต่อให้ล้างน้ำทำความสะอาดหลายครั้งแล้วก็ตาม เราจึงได้มีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้มาตรฐาน และให้ได้ในปริมาณเยอะ ในพื้นที่จำกัด จึงเกิดเป็นแนวคิดของการเพาะเลี้ยงไข่ผำแนวตั้ง แล้วค่อยๆ พัฒนาระบบน้ำจากธรรมดาเป็นระบบน้ำวน และต่อยอดสร้างโรงเรือนขึ้นมา เป็นการเลี้ยงไข่ผำในระบบปิดแบบแนวตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดส่งออกในอนาคต”
เพาะเลี้ยงไข่ผำระบบปิดแนวตั้ง
ประหยัดพื้นที่ สะอาด ต่อยอดเชิงพาณิชย์ง่าย
คุณณัฐ บอกว่า การที่จะขยายธุรกิจอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของการริเริ่มทำโรงเรือนเพาะเลี้ยงไข่ผำระบบปิดแนวตั้ง เพื่อให้สามารถเพาะเลี้ยงไข่ผำได้ในปริมาณมาก น้ำหนักเยอะ และมีปริมาณโปรตีนสูง ในข้อจำกัดของพื้นที่น้อย และเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าสินค้า จากการขายผำสด เป็นการแปรรูป เพื่อรุกตลาดเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น
ขนาดของโรงเรือนเพาะเลี้ยง ที่ฟาร์มจะใช้ขนาดโรงเรือนเท่าๆ กับการปลูกเมล่อน หรือแตงโม คือโรงเรือนขนาดความกว้าง 6×12 เมตร ภายในจัดสรรพื้นที่วางโต๊ะปลูกได้ประมาณ 10-12 โต๊ะ ผลผลิตที่เก็บได้อยู่ที่ประมาณ 240 กิโลกรัมต่อเดือน เทียบเท่ากับบ่อใหญ่ๆ ที่ต้องใช้พื้นที่ประมาณ 1-2 งาน แต่เราใช้พื้นที่เพียง 6×12 เมตรเท่านั้นเอง ก็จะเป็นการเลี้ยงแบบพื้นที่จำกัด แต่ได้ปริมาณเยอะ รวมถึงการลดการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียหรือโลหะหนัก
ซึ่งภายในโรงเรือนเพาะเลี้ยงไข่ผำของเรา จะใช้น้ำ RO ในการเพาะเลี้ยง น้ำ RO ก็เป็นระบบกรองน้ำซึ่งจะทำให้น้ำที่ได้มานั้นค่อนข้างที่จะมีความบริสุทธิ์สูงมาก เรียกว่าแทบจะไม่มีสารตกค้างอะไรเลยก็ว่าได้ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าน้ำที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสะอาดจริงๆ
ควบคุมค่า PH และค่า EC ผ่านโทรศัพท์มือถือ และคอยมอนิเตอร์ค่าน้ำ ถ้าค่าน้ำไม่เหมาะสมเราก็ปรับ เปรียบเสมือนกับการหว่านพืชหวังผล โดยที่เราไม่ต้องใช้เวลาหมดไปกับส่วนนี้ทั้งวัน เราก็สามารถมีเวลาไปทำสวนทุเรียน สวนมังคุดได้อย่างเต็มที่ พอถึงกำหนด 10 วัน ก็หาเวลาไปตักผลผลิต 1 ครั้ง แล้วก็นำไปจำหน่าย หรือแปรรูปอบแห้ง ซึ่งข้อดีของการอบแห้งคือสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานเป็นปี และแปรรูปได้หลากหลายอย่างของที่ฟาร์ม แปรรูปเป็นผงผำ โปรตีนผงผำ บะหมี่ผำ ไอศกรีมผำ และกัมมี่ผำ เป็นต้น
ปุ๋ย จะใช้เป็นปุ๋ยไฮดรอแกนนิก ใช้แทนธาตุอาหาร A B ช่วยให้พืชโตไว สีสันสวย รสชาติดี สามารถช่วยให้ผลผลิตมีคุณค่าทางโภชนาการสูง 10 วัน บำรุง 1 ครั้ง คือหลังจากเก็บผลผลิตเสร็จ เลี้ยงใหม่ใส่ปุ๋ยใหม่ เดือนหนึ่งใส่ปุ๋ยแค่ 3 ครั้ง เนื่องจากผำเป็นพืชขนาดเล็กอัตราสิ้นเปลืองปุ๋ยน้อยมาก ต้นทุนต่ำ ประโยชน์เยอะ
พืชสังเคราะห์แสงจากหลอดไฟ ไฟมีความสำคัญต่อการเพาะเลี้ยงมากๆ ซึ่งก็ต้องมีการทดลองว่าไฟสีอะไร เหมาะกับการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และทำให้ได้โปรตีนสูงที่สุด โดยที่นี่จะใช้ไฟ LED เปิดไฟวันละ 10-12 ชั่วโมง มีข้อดีกว่าการเพาะเลี้ยงในบ่อทั่วไปคือ กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เป็นกระบวนการสร้างอาหารของพืชสีเขียว ถ้าอยู่ในฤดูฝนแสงไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งการเพาะเลี้ยงในโรงเรือนจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะเราสามารถควบคุมแสงเองได้ทั้งหมดด้วยระบบสั่งการผ่านมือถือสร้างความสะดวกสบาย และเป็นผลดีกับพืชของเราด้วย
อยากต่อยอดเชิงพาณิชย์
มาตรฐานความปลอดภัยสำคัญ
สำหรับอนาคตการตลาดของไข่ผำ คุณณัฐ อธิบายว่า ต่อไปเกษตรกรรวมถึงผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยเป็นสำคัญ เนื่องจากไข่ผำจัดเป็นประเภทของอาหารจึงต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง และสิ่งที่จะการันตีได้ดีที่สุดและสร้างความมั่นใจให้แก้ผู้บริโภคคือมาตรฐานการรับรองสินค้า ทีนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ต้นทางการผลิตแล้วว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราได้รับรองมาตรฐาน
โดยปัจจุบันเริ่มมีการเพาะเลี้ยงไข่ผำสร้างรายได้กันมากขึ้น แต่พอเลี้ยงแล้วจะส่งต่อไปทางตลาดผู้บริโภคยังมีน้อย สาเหตุหนึ่งเกิดจากการเพาะเลี้ยงผำจริงๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด การเลี้ยงจะมีการยุบตายตามกระบวนการธรรมชาติ และอีกปัจจัยคือรูปแบบการเลี้ยงที่อาจยังไม่ได้มาตรฐานทำให้การต่อยอดเชิงพาณิชย์ หรือการเพะเลี้ยงเพื่อส่งออกเป็นไปได้ยาก
ในตอนนี้กระแสคนสนใจเลี้ยงไขผำมีเยอะมาก และส่วนใหญ่คิดว่าเลี้ยงง่ายๆ สามารถเลี้ยงตามบ่อซีเมนต์ บ่อพลาสติก หรือเลี้ยงที่ไหนก็ได้ที่มีแหล่งน้ำ พอถึงเวลา 10-20 วันตักขายก็ทำได้ แต่กระบวนการที่จะการันตีความสะอาดในตัวผำ จำเป็นต้องทำให้ผู้บริโภค ลูกค้า หรือบริษัทเอกชนที่ต้องการผำเชื่อมั่นตรงนี้ จึงเป็นกระบวนการที่ผมคิดระบบเลี้ยงผำแนวตั้งขึ้นมา น้ำสะอาด ปุ๋ยปลอดภัยสกัดจากระบวนการหมักชีวภาพ ซึ่งความต้องการของตลาดหรือในระดับอุตสาหกรรมยังต้องการผำดีๆ มีคุณภาพอีกมาก แต่เกษตรกรยังผลิตได้น้อย เนื่องจากการเพาะเลี้ยงไข่ผำให้ได้คุณภาพหากเริ่มต้นจากศูนย์ค่อนข้างต้องใช้เงินเยอะ ทั้งการลงทุนเรื่องระบบไฟ ระบบน้ำ ระบบราง แนะนำให้วางแผนและค่อยๆ ต่อยอดพัฒนาทีละสเต็ปจะดีกว่า
“อย่างของผมใช้เวลาในการเลี้ยงไข่ผำในกะละมัง ในบ่อพลาสติกมาเป็นเวลากว่า 3 ปี แล้วได้กำไรจากการขายไข่ผำสดมาก่อน เราก็แบ่งกำไรส่วนนี้มาพัฒนารูปแบบการเลี้ยงของเราให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ตอนนี้เริ่มเข้าที่แล้ว ต่อไปคือดันเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป เพราะฉะนั้นเราทำในปริมาณเยอะแบบนี้ แล้วผมมีโครงการที่จะขยายไปอีกโรงเรือน เพราะกว่าเราจะได้ผำแห้ง 1 กิโลกรัม เราต้องใช้ผำสดหลายกิโลมาก หากตลาดมีความต้องการผงผำ 1 ตัน ต้องใช้ผำสดจริงๆ เป็น 10 เป็น 100 ตัน ซึ่งตอนนี้หาไม่ได้นะครับ ถ้าหาได้ต้องเป็นบ่อธรรมชาติที่ใหญ่ๆ แต่บ่อธรรมชาติที่ใหญ่ๆ ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าน้ำที่ใช้หรือผำที่ได้มาสะอาดหรือเปล่า เพราะฉะนั้นกระบวนการเลี้ยงที่ดีจะช่วยป้องกันค่าต่างๆ พวกนี้ได้ ผมเลยมองว่าตลาดของผำยังไปได้อีกไกลขอแค่ทำให้ได้มาตรฐาน”
ซึ่งที่นี่ถือเป็นฟาร์มแรกๆ ที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP โดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมาตรฐานตรงนี้ว่าสำคัญมากๆ ในการช่วยการันตีความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่าที่ฟาร์มของเรามีการเพาะเลี้ยงที่ได้มาตรฐานจริงๆ มีการส่งตรวจน้ำ รวมไปถึงกระบวนการแปรรูปที่นี่ก็มีโรงงานของตัวเองเป็นโรงงานขนาดเล็กที่ได้รับมาตรฐาน GMP และผ่าน อย. เพราะฉะนั้นทำให้เรามีผำ ทั้งในรูปแบบของผำสด ผำแปรรูป เพื่อส่งตลาดอีกระดับและเพื่อการส่งออกในอนาคต
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 085–697–9594 หรือติดต่อได้ที่เพจ : วิถีชาวสวน by สวนจันทร์เรืองพ่อลูก