ปลูกองุ่นไซมัสคัสในไทย หวาน หอม อร่อย ปลอดสารตกค้าง ขายดีสวนกระแส

เรียกว่ากำลังเป็นประเด็นถกเถียงในช่วงนี้สำหรับ “องุ่นไซมัสคัส” ในประเด็นเรื่องของสารเคมีตกค้าง ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบหลังสินค้าจีนทะลักเข้ามา ซึ่งจริงๆ แล้วองุ่นสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น เป็นองุ่นที่มีลักษณะลูกใหญ่ สีสวย รสชาติหวาน กรอบ กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ แต่มีราคาสูง ยิ่งพอนำเข้ามาประเทศไทยแล้วยิ่งทำให้ราคาขององุ่นสายพันธุ์นี้สูงขึ้นไปอีกเป็นหลักพันบาท กลายเป็นสินค้าที่ราคาจับต้องยาก นำไปสู่การนำเข้าสินค้าชนิดนี้จากจีน เพราะได้ราคาถูกผู้บริโภคสามารถจับต้องได้มากกว่า แต่กลับกลายเป็นว่าผู้บริโภคต้องมากังวลว่าจะมีสารตกค้างหรือไม่ ทำให้กระแสนิยมตกลงส่งผลถึงผู้ประกอบการที่ขายสินค้าได้ยากขึ้น บางรายประสบปัญหาสินค้าตกค้าง

ซึ่งในตอนนี้ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับสายองุ่นเลิฟเวอร์ ที่จะไม่ต้องไปหาซื้อองุ่นไซมัสคัสในราคาแพง หรือต้องกังวลเรื่องของสารตกค้าง เพราะในบ้านเราตอนนี้สามารถปลูกองุ่นไซมัสคัสได้ในหลายพื้นที่แล้ว ทั้งภาคเหนือ อีสาน หรือกลาง ก็สามารถปลูกองุ่นไซมัสคัสสร้างรายได้สำเร็จแล้ว และที่สำคัญได้ผลผลิตดี รสชาติ หวาน กรอบ อร่อยไม่แพ้ประเทศต้นกำเนิดแน่นอน

คุณธิติพงศ์ แก้วนวล หรือ พี่ตรี เจ้าของสวนองุ่นธีร์วรา ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งกล้วย ตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นสร้างรายได้บนพื้นที่ 2 งาน พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เมื่อถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย เพื่อมาลิ้มรสองุ่นของที่สวน ทุกวันนี้ผลผลิตไม่พอขาย

สำหรับจุดเริ่มต้นการปลูกองุ่น พี่ตรี เล่าให้ฟังว่า ตนเองเริ่มต้นปลูกองุ่นเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ไปทำงานที่ต่างประเทศเพื่อเก็บเงิน พอเก็บเงินได้ตามจำนวนที่หวังไว้ก็กลับบ้าน แล้วใช้เงินทุนที่มีอยู่มาประกอบธุรกิจที่บ้านเกิดจังหวัดพะเยา แต่ในขณะนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะประกอบอาชีพอะไร จึงได้มีการปรึกษากับภรรยาว่าจะลองทำสวน และได้มาลงเอยที่การทำสวนองุ่น เนื่องจากเห็นข่าวการทำสวนองุ่นจากโทรทัศน์จึงเกิดความสนใจ และการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมสักระยะหนึ่ง จนเริ่มมีความเข้าใจในขั้นตอนการปลูก และลงมือปลูกองุ่นในเวลาต่อมา

โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกองุ่นบนพื้นที่ 2 งาน แบ่งปลูกอยู่ 4 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ เออร์ลี่อดอร์ล่า แรมโบ รูทเพอเรส และไซมัสคัส เป็นพระเอกของสวน

เมื่อถามถึงเหตุผลว่าทำไมพี่ตรีถึงเลือกปลูกไซมัสคัส เพราะหากย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วองุ่นสายพันธุ์นี้ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย พี่ตรี ตอบว่า

“สาเหตุที่เลือกปลูกองุ่นไซมัสคัสตอนนั้นคิดว่าองุ่นไซมัสคัสเป็นองุ่นที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ด้วยเป็นองุ่นที่มีความหอม หวาน กัดเข้าไปแล้วเนื้อเหมือนเยลลี่ รสชาติดี จึงตัดสินใจนำมาปลูก โดยการนำต้นพันธุ์มาจากจังหวัดลำพูน เป็นสายพันธุ์แท้ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น”

Advertisement

เทคนิคการปลูกองุ่นไซมัสคัส
ให้ลูกใหญ่ หวาน กรอบ ถูกใจผู้บริโภค

พี่ตรี บอกว่า หลายคนเข้าใจว่าองุ่นไซมัสคัสจะปลูกได้แค่ในประเทศญี่ปุ่น และต้องปลูกได้ในพื้นที่มีอากาศเย็นเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วองุ่นเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทุกที่ ในประเทศไทยก็สามารถปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ สิ่งที่องุ่นชอบก็คือ ปุ๋ยหมัก แสงแดด อากาศปลอดโปร่ง และสิ่งที่ไม่ชอบคือ ฝน และแมลง ที่สวนจึงเลือกปลูกองุ่นในโรงเรือนเพื่อป้องกันแมลงและลดการใช้สารเคมีลงไปได้เยอะ

และนอกจากเรื่องของโรคแมลงแล้วสิ่งที่เกษตรกรมือใหม่ต้องเข้าใจคือ การปลูกองุ่นในปีแรกเราจะยังไม่ได้ผลผลิตจะต้องเลี้ยงต้นให้โตก่อน พอเข้าสู่ปีที่ 2 องุ่นจะเริ่มให้ผลผลิตแต่ยังออกได้ไม่เต็มที่ เกษตรกรก็ต้องเลี้ยงต้นเลี้ยงกิ่งให้สมบูรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บผลผลิตในปีที่ 3

Advertisement

“ปัจจุบันที่สวนมีพื้นที่เฉพาะปลูกองุ่นไซมัสคัสมีพื้นที่ปลูกประมาณ 1 งาน พร้อมกับแปลงปลูกข้างบ้าน เก็บผลผลิตมีดแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งองุ่นเป็นผลไม้ที่สามารถบังคับผลผลิตให้ออกตอนไหนก็ได้ โดยวิธีการนับวันตัดแต่งกิ่ง จนถึงวันเก็บใช้เวลาประมาณ 4 เดือน แล้วก็นับวันสะสมอาหารอีก 2 เดือน เป็น 6 เดือน ก็คือปีหนึ่งเก็บได้ 2 รอบ สมมุติปีนี้เราอยากเก็บผลผลิตช่วงกุมภาพันธ์ เราก็นับย้อนมา 6 เดือน เริ่มต้นตัดแต่งกิ่ง”

การปลูก เสียบยอดต้นพันธุ์ดีบนตอองุ่นป่า ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้ หรือต้นที่มีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร

การเตรียมดิน ปรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ทำดินให้ร่วน ใช้เศษวัตถุอินทรีย์ จากฟางข้าว ใบฉำฉา ในการปลูก ทำให้ดินโปร่ง เพราะองุ่นไม่ชอบดินแน่น

ขั้นตอนการปลูก ก่อนลงต้นพันธุ์ขุดหลุมไม่ต้องลึกมาก แค่ให้เสมอกับหน้าดินในถุงชำ จากนั้นคลุมฟาง แล้วรดด้วยน้ำหมักผลไม้ หรือน้ำหมักมูลสัตว์ ผสมกับไตรโคเดอร์มาเพื่อฆ่าเชื้อโรค

จากนั้นเลี้ยงต้นให้แข็งแรงสมบูรณ์ ขึ้นค้างติดยอดแตกกิ่งสาขา ใช้เวลาในการเลี้ยงต้นจนเลื้อยขึ้นค้างได้ประมาณ 2 เดือน แล้วมาเลี้ยงกิ่งแขนงต่อ เพราะองุ่นจะติดผลที่กิ่งแขนง ถ้าแขนงเยอะยิ่งได้ผลผลิตเยอะตามไปด้วย

การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย ที่สวนจะรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์ เปิดให้รอบละ 20 นาที เช้า-บ่าย ถ้าหากวันไหนฝนตกงดการให้น้ำ ส่วนการบำรุงปุ๋ยจะใส่ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยหมักควบคู่กัน โดยถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะใส่เดือนละ 3 ครั้ง ใส่ทีละน้อยๆ ด้วยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ตามความสะดวก อัตราการใส่ต้นเล็กใส่ประมาณ 20-30 กรัม จากนั้นค่อยเพิ่มปริมาณการใส่ตามขนาดของต้น ช่วยเสริมให้ต้นแข็งแรง สมบูรณ์ โตเร็ว ส่วนปุ๋ยหมักจะใส่ทุก 10 วันครั้ง หรือเดือนละครั้งก็ได้เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน รวมถึงการฉีดแคลเซียมโบรอนที่ใบอาทิตย์ละครั้ง ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มการผสมเกสร ลดการหลุดร่วงของขั้วดอกและขั้วผล

เทคนิคทำให้องุ่นติดผลดก ลูกใหญ่ รสชาติหวาน การปลูกองุ่นให้ติดผลนั้นไม่ยาก แต่จะทำอย่างไรให้องุ่นติดผลดกต่างหาก เทคนิคก็คือให้ขยันเด็ดกิ่งแขนง และสิ่งที่ไม่สำคัญให้เด็ดออก เพื่อไม่ให้แย่งอาหารกัน วิธีการสังเกตคือ

“ถ้าเราเลี้ยงกิ่งหลักขึ้นมา แล้วจะมีกิ่งออกมาเรียกว่ากิ่งเครนสำหรับไว้ลูก แล้วกิ่งเครนนี้จะมีกิ่งเล็กๆ ออกมาอีก เราก็ต้องเอากิ่งเล็กออก เก็บไว้เฉพาะตาที่จะออกลูก แล้วคอยเก็บยอดไม่ให้ยาวเกินไป หรือหมั่นตรวจแปลงทุก 2-3 วันครั้ง จากนั้นการทำหวาน และทำให้ลูกใหญ่ อยู่ที่จังหวะการทำลูก และความสม่ำเสมอในการใส่ปุ๋ย คือในช่วงหน้าหนาวเราจะเริ่มทำลูก เราจะหมั่นตรวจแปลง ตัดแต่งกิ่ง ตรงไหนใบเยอะจะตัดออกเพื่อให้พืชรับแสงได้เต็มที่”

การดูแลป้องกันโรคและแมลง สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือเพลี้ยไฟ เชื้อรา และแมลงปีกแข็งกินใบ วิธีป้องกันสำหรับแปลงที่ปลูกในโรงเรือนคือ การฉีดพ่นสารป้องกันโรคและแมลง โดยที่สวนจะฉีดพ่นที่ต้นและใบเพียงเดือนละ 2 ครั้ง เพราะการปลูกในโรงเรือนจะช่วยตัดปัญหาเรื่องของโรคเชื้อรา และแมลงปีกแข็งไปได้มากพอสมควร ช่วยลดการใช้สารเคมีจาก 100 เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ และก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 เดือน ที่สวนจะงดใช้สารเคมีทันที

ปริมาณผลผลิต ต่อพื้นที่ 1 งาน ที่ผ่านมาที่สวนสามารถทำผลผลิตได้ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 งาน น้ำหนักโดยเฉลี่ยต่อพวงประมาณ 6-7 ขีด ขนาดลูกใหญ่ประมาณเหรียญสิบ ยังไม่ใหญ่เท่าของญี่ปุ่น และสีที่ไม่เหมือนกันโดยองุ่นไซมัสคัสของญี่ปุ่นจะออกสีเขียว แต่ของที่สวนสีออกเหลือง เนื่องจากปัจจัยทางสภาพอากาศที่ไม่เหมือนกัน แต่เรื่องของรสชาติมีความใกล้เคียงกันคือ หวาน หอม กรอบ อร่อยคล้ายต้นฉบับ และเราขายได้ในราคาที่ถูกกว่า ทุกวันนี้ลูกค้าที่เคยกินองุ่นของเราติดใจ มีติดต่อเข้ามาสอบถามเสมอว่าที่สวนเปิดให้เข้าชมหรือยัง ถือเป็นอีกสิ่งที่การันตีคุณภาพของผลผลิตเราได้

โดยหลักๆ ที่สวนจะบังคับให้ผลผลิตออกในช่วงเทศกาลปีใหม่และวาเลนไทน์ เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอากาศเป็นใจ สำหรับการตัดแต่งกิ่งและการทำดอก และเป็นช่วงที่เหมาะสมในแง่การทำตลาดมากที่สุด ทั้งการท่องเที่ยว และการซื้อเป็นของฝากญาติผู้ใหญ่และคนที่คุณรัก

การตลาด เปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก หากนักท่องเที่ยวเดินชมแล้วถูกใจองุ่นพวงไหนสามารถตัดแล้วมาชั่งกิโลซื้อกันที่สวนสดๆ ได้เลย ควบคู่กับการรับออร์เดอร์จากลูกค้าในละแวกใกล้เคียง เจ้าของสวนปลูกเองส่งเองถึงมือลูกค้าในกิโลกรัมละ 300 บาท ทุกวันนี้ผลผลิตไม่พอขาย

ฝากถึงเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น

ในนามของเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น อยากฝากถึงเกษตรกรด้วยกันเองว่า ให้ยึดมั่นในคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้บริโภคมาเป็นอันดับหนึ่ง หากเราสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ก็ไม่สามารถมีอะไรมาทำลายเราได้

“ยกตัวอย่างประเด็นสารตกค้างในองุ่นตอนนี้ สำหรับคนทำสวนอย่างผมไม่ห่วงเรื่องนี้อยู่แล้วครับ เพราะถ้าเราทำคุณภาพได้ ยังไงลูกค้าก็มาหาเราเอง อย่างที่สวนผมจะบอกผลูกค้าว่าเรามีการเว้นระยะการใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว 2 เดือน ไม่มีสารเคมีตกค้างแน่นอน แล้วผมปลูกเองกินเอง ลูกชายผมเด็ดกินได้คาต้นเลย ก็ถือเป็นสิ่งการันตีได้แล้ว ทำให้ทุกวันนี้ผลผลิตที่สวนมีไม่พอขาย” พี่ตรี กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 095-897-7307 หรือติดต่อได้ที่เพจ สวนองุ่นธีร์วรา