ทุเรียนเมืองแพร่ สวน ลุงสงบ ธรรมณี สุดยอดความอร่อย ได้รับรางวัล ระดับ Best Fruit

มีผู้คนจำนวนไม่มากนักที่จะรู้ว่า จังหวัดแพร่ มีการปลูกทุรียนกันในหลายพื้นที่ ทั้งที่ อำเภอเมือง เด่นชัย ลอง และวังชิ้น

ที่อำเภอวังชิ้น มีสวนทุเรียนของ ลุงสงบ ธรรมณี ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกทุเรียนในท้องถิ่นแห่งนี้ ที่มีฝีมือการผลิตไม่ธรรมดาเพราะไปคว้ารางวัลสุดยอดของความอร่อยในงาน Best Fruit Export Gateway 2017 จัดโดยสวนนงนุชพัทยา

การเดินทางไปที่สวนทุเรียนของลุงสงบ เริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ด้วยรถยนต์ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 ถึงสี่แยกแม่แขม ขับรถตรงไปทางอำเภอวังชิ้น จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 70 อีกเส้นทางหนึ่งผ่านอำเภอเด่นชัย เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 11 เด่นชัย-ลำปาง ถึงสี่แยกแม่แขม เลี้ยวซ้าย ถึงหลักกิโลเมตรที่ 70 ด้านซ้ายมือจะเห็นแผงขายผลไม้ นั่นแหละสวนทุเรียนของลุงสงบ

ลุงสงบ ธรรมณี และรางวัลที่ได้รับ

ทำความรู้จัก ลุงสงบ ธรรมณี

ลุงสงบ อยู่บ้านเลขที่ 142 หมู่ที่ 5 บ้านแม่จอก ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ 096-459-9784 ภรรยาชื่อ คุณพิน ธรรมณี มีบุตร 4 คน ชาย 2 คน หญิง 2 คน สวนผลไม้ลุงสงบมี 2 แปลง คือ 6 ไร่ และ 10 ไร่ ใช้แรงงานในครัวเรือนทั้งหมด ไม่ได้จ้างแรงงานจากภายนอกแต่อย่างใด

ลุงสงบ เป็นหมอดินอาสา จึงมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการผลิตและใช้ปุ๋ยหมัก สารชีวภัณฑ์ ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเป็นอย่างดี

ลุงสงบเคยเข้าอบรมเรื่องการปลูก ดูแลไม้ผล คิดในใจว่าพื้นที่ดินของลุงไม่น่าจะปลูกไม้ผลได้ แต่อยากทดลองปลูกจึงนำเมล็ดทุเรียนไปเพาะไว้ในสวน ผ่านไป 2-3 ปี ต้นทุเรียนดังกล่าวเจริญงอกงามดี ลุงสงบจึงมุ่งมั่นปลูกไม้ผลให้ได้ โดยซื้อกิ่งพันธุ์ไม้ผลหลายชนิดมาปลูกดังที่เห็น

ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ลุงสงบยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกเกษตรผสมผสานหลายชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด กล้วยหอม มะยงชิด  กระท้อน ลางสาด มะไฟ และส้มโอ ทั้งยังมีบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ อีกด้วย

ลุงสงบตั้งใจเพาะปลูกไม้ผลไปเรื่อยๆ อย่างละเล็กละน้อย ลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง จึงมีไม้ผลผสมผสานกันไป ไม่ได้วางแผนผังการปลูกแต่อย่างใด รายได้เงินจากการขายผลไม้ก็นำไปซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูกเพิ่ม โดยเน้นปลูกทุเรียน ตอนแรกๆ ปลูกเพื่อกินเป็นหลัก เมื่อผลผลิตมากขึ้นก็ขาย ชีวิตความเป็นอยู่ของลุงและครอบครัวก็ราบรื่นดี ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ประหยัด ไม่มีขัดสน อยู่กับธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ของกินก็ไม่ได้ซื้อจากภายนอกมากนัก ในสวนลุงก็มีให้เก็บกินหลายอย่าง ผลไม้ก็มีให้กินตลอดฤดูกาล

เบื้องหลังความสำเร็จ “สวนทุเรียน”

ลุงสงบ เริ่มปลูกทุเรียนจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยนำเมล็ดทุเรียนพื้นเมืองเพาะไว้ในสวน ต่อมาญาติได้ซื้อกล้าพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจากจังหวัดจันทบุรีจำนวน 10 ต้นมาให้ทดลองปลูก ปรากฎว่า ต้นทุเรียนเจริญงอกงามดี จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนมากขึ้นทุกปีๆ จนปัจจุบันมีต้นทุเรียนกว่า 160 ต้น มีหลายสายพันธุ์ เช่น ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ชะนี ก้านยาว หลงลับแล แต่ที่มีมากที่สุดคือ พันธุ์หมอนทองมีมากกว่า 100 ต้น ทุเรียนที่ชนะการประกวด เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมือง ที่ได้จากการเพาะเมล็ดนั่นเอง

การปลูกดูแลทุเรียน

ลุงสงบ ใส่ใจดูแลทุเรียนทุกต้นว่ามีโรคและแมลงมารบกวนหรือไม่ เน้นใช้วิธีป้องกันไม่ให้เกิดศัตรูแก่ทุเรียนมากกว่า การกำจัด หากเกิดปัญหาโรคพืชระบาดในแปลงปลูกทุเรียนจะใช้วิธีฉีดพ่นเชื้อราไตรโค  เดอร์มาและน้ำหมักชีวภาพเป็นหลัก

หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนรุ่นที่ 2 เสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม จะพักต้นไว้ 1-2 เดือน เริ่มตัดแต่งกิ่งในเดือนตุลาคม โดยตัดจากปลายกิ่งเข้าหาลำต้น 1-2 เมตร ไม่ให้มีกิ่งแขนง กำจัดวัชพืช โดยการตัดหญ้าแล้วกองทิ้งไว้ให้กลายเป็นปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อต้น โดยดูจากขนาดของลำต้นและทรงพุ่มเป็นหลัก ใส่ปุ๋ยหมัก ต้นละ 10 กิโลกรัมแล้วให้น้ำทันที ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองจากหอยเชอรี่ ทั้งทางใบและพื้นดินรอบๆ ทรงพุ่ม

ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ลุงสงบใช้ระบบน้ำประปาภูเขา โดยลงทุนวางท่อน้ำพีวีซีขนาด 4 นิ้ว จากแหล่งน้ำบนภูเขาแล้วทดลงมาเรื่อยๆ เป็น 3 นิ้ว และ 2 นิ้ว ด้วยระยะทางไกลถึง 3 กิโลเมตร จากนั้นจะใช้สายยางเดินรดทุกต้น ดูว่ารอบๆ ต้นมีความชื้นเพียงพอหรือไม่ พร้อมดูแลต้นทุเรียนไปด้วย

แต่ละปี สวนทุเรียนของลุงสงบจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2 รุ่น คือช่วงเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ได้ผลผลิตประมาณ 3 ตัน

ดูแลเอาใจใส่ที่ดี ผลผลิตจึงได้รับรางวัล ในงาน Best Fruit Export Gateway 2017

ทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองของลุงสงบ ถูกส่งเข้าประกวด ในงาน Best Fruit Export Gateway 2017 ที่สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้รับการตัดสิน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 และได้รับรางวัลระดับ Best Fruit โดยนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี ได้ลิ้มชิมรสและยกให้เป็นสุดยอดของความอร่อย

เมื่อถามถึงเคล็ดลับความอร่อยของทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่ชนะการประกวด ลุงสงบกล่าวว่า “อยู่ที่การเอาใจใส่ดูแลที่ดีแล้ว ส่วนหนึ่งได้จากธรรมชาติเป็นตัวช่วย เพราะดินในสวนทุเรียนแห่งนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุโดยเฉพาะแร่กำมะถันพาดผ่านเป็นบริเวณยาวและกว้าง ลักษณะดินจึงเหมาะกับการปลูกทุเรียน ทำให้เนื้อทุเรียนมีรสชาติอร่อย ทุเรียนดังกล่าวเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีเนื้อเหลืองละเอียด ไม่มีเส้น ไม่หวานจัด มีกลิ่นเฉพาะตัว ผลขนาดไม่ใหญ่มากประมาณ 1-2 กิโลกรัม เท่านั้น

ตลาดทุเรียน

ลุงสงบตัดทุเรียนวางขายที่แผงร้านหน้าสวน ในราคาไม่แแพง ตามแต่ชนิดของสายพันธุ์ทุเรียน แต่ละปีทุเรียนก็ไม่พอขายอยู่แล้ว แต่ละปี มีรายได้จากการขายทุเรียนไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท โดยนับรวมรายได้จากการขายผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น เงาะ ขายวันละ 200 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 30 บาท มังคุด และลองกอง ขายได้กิโลกรัมละ 40 บาท เป็นต้น และยังมีกระท้อน กล้วยหอม ลางสาดอีก

หลังจากทุเรียนของลุงสงบชนะรางวัลการประกวด ทำให้สวนแห่งนี้เป็นที่รู้จักทั้งจากสื่อท้องถิ่น สื่อทางออนไลน์ มีลูกค้าติดต่อสั่งซื้อทุเรียนทางโทรศัพท์และขอมาดูสวนทุเรียนสม่ำเสมอ

ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น ยกย่อง สวนทุเรียนของลุงสงบ ว่า เป็นสวนไม้ผลนำร่องของอำเภอวังชิ้น และเป็นเกษตรกรรายแรกที่นำทุเรียนมาปลูกจนได้ผลผลิตที่ดี ได้แนะนำการตัดแต่งกิ่ง การพัฒนาคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานของเกษตรกรรายอื่นๆ พื้นที่ภายในสวนทุเรียนของลุงสงบ มีน้ำดี ชุ่มชื้น ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง และอยู่ในพื้นที่สูง การปลูกทุเรียนในพื้นที่อำเภอวังชิ้น มีอยู่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่ป้าก แม่เกิ๋ง วังชิ้น นาพูน และแม่พุง มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมากกว่า 134 ราย เนื้อที่ปลูกกว่า 274 ไร่

สำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น  แนะนำเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ขายทุเรียน โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมืองว่าให้ใช้วิธีตัดผล ไม่ปล่อยให้ร่วงแล้วนำมาขายเหมือนแต่ก่อน แนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกใช้วิธีนับวันตั้งแต่ทุเรียนออกดอกจนถึงตัดผลได้ใช้เวลา 5 เดือน ซึ่งทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองจะมีทั้งเนื้อขาวและเนื้อเหลือง รสชาติต่างกัน จึงให้แยกผลให้ชัดเจน ปีไหนฝนฟ้าอากาศดี เอื้อให้ทุเรียนติดผลเป็นจำนวนมาก

 หากมีใครขอเข้ามาดู มาชมสวนผลไม้ ลุงสงบยินดีและเต็มใจ โดยแจ้งไปตามหมายเลขโทรศัพท์ข้างต้น การเดินทางไปยังสวนของลุงก็ไม่ยากนัก มาได้โดยทางรถยนต์ทั้งจากจังหวัดสุโขทัย ลำปาง และแพร่

เผยแพร่ทางระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  7 ก.ย. 2017