หนุ่มสุรินทร์ จบปริญญาโท ปลูกมะเดื่อฝรั่ง ขายผลสด แปรรูป กิ่งพันธุ์ รายได้งาม

ในอดีตผู้คนมักคุ้นชินกับประโยคที่ว่า อีสานแห้งแล้งปลูกอะไรไม่ค่อยได้ แต่ในยุคนี้หากติดตามข่าวคราวในแวดวงเกษตรจะพบว่าพืชผักผลไม้จำนวนไม่น้อยสามารถปลูกได้ในพื้นที่นี้ อย่าง มะเดื่อฝรั่ง ซึ่งเป็นผลไม้ที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก แต่ คุณนัฐกร มาลัย วัย 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 112 หมู่ที่ 4 บ้านโชคใต้ คุ้มทุ่งเศรษฐี ตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ที่มีดีกรีปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง นำมะเดื่อฝรั่งมาปลูกเป็นรายแรกและรายใหญ่ของจังหวัดสุรินทร์ กระทั่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนทำให้ใครต่อใครมาศึกษาดูงานที่นี่ “สวนมะเดื่อฝรั่งสุรินทร์” 

 

ผลไม้เพื่อสุขภาพ

ทำไม ถึงปลูกมะเดื่อฝรั่ง เจ้าตัวเล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า ทำงานประจำอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ทำมาได้ 3 ปีกว่า อยากหาอาชีพเสริม โดยไม่ต้องใช้เวลาดูเยอะ ประกอบกับจบปริญญาตรีด้านการเกษตรมา คิดว่าน่าจะทำด้านเกษตร กระทั่งได้รู้จักมะเดื่อฝรั่งในเฟซบุ๊ก

จากนั้นได้ศึกษา และเริ่มสั่งกิ่งตอนมาปลูก มีรอดบ้างตายบ้าง แต่ก็ไม่ยอมแพ้ โดยมีแนวคิดว่า ถ้าตั้งใจทำอะไรสักอย่างแล้วต้องไปให้สุด ไม่มีอะไรที่เกินความสามารถของคนเรา อยู่ที่การศึกษาเรียนรู้ และพัฒนา พร้อมซื้อต้นพันธุ์มาปลูกเรื่อยๆ จนตอนนี้ที่สวนมีแล้วกว่า 30 สายพันธุ์ มีต้นพันธุ์ 200 กว่าต้น อาทิ สายพันธุ์ BTM 6, แบล็คจีนัว, แบล็คแจ็ค, กรีนอิชชู, โคนาเดีย, อินคาโกล, ไวท์จีนัว และพานาซี เป็นต้น

คุณนัฐกร มาลัย บอกว่า ความจริง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้ปลูกมะเดื่อฝรั่งไว้ที่โครงการหลวงมากว่า 20 ปีแล้ว แต่คนไทยเพิ่งรู้จักประมาณ 4-5 ปีนี้ ซึ่งเป็นผลไม้ติด อันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีโภชนาการสูง มีสรรพคุณ อาทิ ช่วยลดคอเลสเตอรอล มีสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะช่วยให้ปริมาณอินซูลินน้อยลง หยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด ป้องกันโรคไตที่เกิดจากคอเลสเตอรอลสูง หยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด

คุณนัฐกร มาลัย ในโรงเรือน

นอกจากนี้ ในผลมะเดื่อฝรั่งสามารถลดไตรกรีเซอไรด์ได้เป็นอย่างดี สามารถกินผลสุกได้ มีรสชาติหวานหอม ผลดิบสามารถลวกจิ้มน้ำพริกได้ ส่วนใบสามารถนำไปทำชามะเดื่อดื่มได้อีก เรียกว่าสรรพคุณเพียบเลย

เจ้าของสวนมะเดื่อฝรั่งรายนี้เล่าว่า เริ่มปลูกมา 2 ปีแล้ว โดยไม่ได้ทำแบบลงทุนทีเดียวเต็มสวน และไม่ได้ไปกู้เงินมา แต่ใช้วิธีทำไปศึกษาไป พร้อมกับทำงานประจำควบคู่กัน และใช้เงินทุนจากงานประจำมาลงทุนปลูก  ขณะเดียวกันขยายโรงเรือนไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของตลาด

ในสวนมะเดื่อฝรั่งของคุณนัฐกรนั้น ปลูกหลากหลายแบบ จุดประสงค์เพื่อให้คนที่มาศึกษาเรียนรู้สามารถเลือกได้ว่าจะปลูกแบบไหนแล้วแต่ความสะดวกและเงินทุนของแต่ละบุคคล เช่น ปลูกแบบท่อซีเมนต์ แบบกลางแจ้ง ปลูกแบบก่อบล็อกทำเป็นแปลงแล้วปลูก หรือปลูกในยางรถยนต์เก่าๆ แล้วนำโรงเรือนมาลง ส่วนน้ำและปุ๋ยจะใช้ระบบทามเมอร์ (Timer) ตั้งเวลาการเปิด-ปิด ให้ปุ๋ยและน้ำผ่านหัวจ่ายน้ำมินิสปริงเกลอร์เพื่อประหยัดเวลาในการดูแล โดยให้น้ำ วันละ 1 ครั้ง

ปลูกได้หลายแบบ

คุณนัฐกร ให้ข้อมูลว่า ที่สวนมีโรงเรือน 2 โรง

โรงแรกเป็นแบบมุ้งกันแมลง กันฝนไม่ได้ ใช้ทุนสร้าง 3,000-4,000 บาท สำหรับซื้อเหล็กและมุ้งกันแมลง เป็นโรงเรือน ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 10 เมตร ปลูกได้ 25 ต้น ค่าต้นพันธุ์ ประมาณ 7,000 บาท รวมทั้งค่าระบบน้ำโรงเรือนและต้นพันธุ์ไม่เกิน 15,000 บาท

โรงที่สอง เป็นแบบโรงเรือนหลังคาพลาสติกกันน้ำแบบมีมุ้งกันแมลงรอบข้าง ขนาดโรงเรือน กว้าง 6 เมตร x ยาว 12 เมตร จ้างทำ ราคา 35,000 บาท ปลูกแบบระยะชิด ทำแปลงโดยก่อบล็อก จำนวน 5 แปลง ปลูกได้ทั้งหมด 75 ต้น ค่าต้นพันธุ์ 30,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายของโรงเรือน ต้นพันธุ์ วัสดุปลูก ระบบน้ำ ประมาณ 75,000 บาท

ตอนนี้กำลังจะสร้างโรงเรือนที่สาม ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร ระหว่างนี้ปลูกต้นพันธุ์ไว้ก่อน คาดว่าต้นเดือนตุลาคมจะนำโรงเรือนมาตั้ง ราคาที่จ้างทำ 55,000 บาท รวมค่าติดตั้ง ปลูกต้นพันธุ์ได้ประมาณ 150 ต้น ค่าต้นพันธุ์ 40,000-50,000 บาท รวมทั้งหมด 110,000 บาท เป็นโรงขนาดใหญ่ทำให้ใช้เงินทุนเยอะ

สำหรับคนที่จะปลูกเพื่อบริโภคในครอบครัว หนุ่มเจ้าของสวนมะเดื่อฝรั่งรายนี้ ให้คำแนะนำว่า ไม่อยากให้ปลูกในโรงเรือนเพราะการลงทุนสูง ขอให้หาวัสดุที่มีในแถวบ้านมาใช้ ไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะก็สามารถปลูกได้ จะปลูกลงในท่อซีเมนต์วงกลม ในตะกร้า ยางรถยนต์เก่าๆ หรือจะปลูกลงดินเลยก็ได้ แค่พื้นที่ปลูกต้องน้ำไม่ท่วม วัสดุปลูกจะเน้นวัสดุที่โปร่ง น้ำซึมผ่านได้ง่าย เช่น กาบมะพร้าวสับ แกลบดิบ นำมาผสมกับปุ๋ยคอก ดินดี อาจผสม 1:1 หลังจากผสมแล้วนำใส่ลงไปในท่อ จากนั้นนำต้นมะเดื่อฝรั่งมาปลูกได้

 

การดูแล

ให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ในช่วงที่ปลูกใหม่ๆ แต่ขึ้นอยู่กับความชื้นของดินด้วย ในการให้ปุ๋ยเหมือนไม้ผลทั่วไป เช่น ให้ปุ๋ย สูตร 16-16-16 บำรุงต้น และ สูตร 13-13-21 บำรุงผล และฉีดฮอร์โมนพืชตามช่วงการเจริญเติบโต

เทคนิคการปลูกให้ได้ผลผลิตดีนั้น คุณนัฐกร แจกแจงว่า ต้องรู้ธรรมชาติก่อนว่ามะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่ชอบน้ำเยอะ ชอบแดดจัด แต่ไม่ชอบน้ำขังและชื้นแฉะ หมักหมม ชอบดินที่มีการระบายน้ำค่อนข้างดี ดังนั้น การเตรียมวัสดุปลูกและพื้นที่ปลูกต้องนึกถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย ซึ่งการที่จะทำให้มะเดื่อฝรั่งเติบโตไปได้ดี จะต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมดินก่อนเป็นอันดับแรก หากดินมีความสมบูรณ์จะช่วยให้พื้นฐานของมะเดื่อตั้งต้นและไปต่อได้ดี

สำหรับโรคและแมลง มะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่มีแมลงศัตรูพืชรบกวนน้อยมาก ที่พบคือ ต้นมะเดื่อฝรั่งที่ปลูกนอกโรงเรือน เช่น หน้าฝน จะเจอหนอนกินใบ โดยตัวหนอนจะห่อใบมะเดื่อฝรั่งเพื่อเป็นที่หลบซ่อน และกินใบในช่วงกลางคืน วิธีแก้ไขใช้สารสกัดสมุนไพรต่างๆ เช่น น้ำหมักสะเดา น้ำส้มควันไม้ ที่มีขายตามตลาด แต่ถ้าปลูกจำนวนไม่เยอะให้คนจัดการบี้ตรงหนอนม้วนใบก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ปลูกในโรงเรือนจะสามารถกันปัญหาเรื่องโรคและแมลงได้ดี มักไม่ค่อยมีปัญหาเหล่านี้

โรคที่เจอในต้นมะเดื่อฝรั่งหลักๆ คือ ราสนิมที่ใบ จะเจอช่วงหน้าฝน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียหายต่อผลผลิตมากนัก ที่สวนของคุณนัฐกรเองเขาจะปล่อยให้ใบร่วงไป เพราะจากนั้นจะแตกใบใหม่ นอกจากนี้ มีปัญหานกจะมากินผลตอนใกล้สุก แก้ไขโดยห่อผลเมื่อใกล้สุก

 

กิ่งพันธุ์ขายดี ผลิตไม่ทัน

“ที่สวนของผมทำเกษตรแบบปลอดภัย เน้นใส่ปุ๋ยคอกมูลวัวเป็นหลัก และมีการฉีดฮอร์โมนบำรุงพืช ใส่ปุ๋ยเคมีสลับกันและใช้ปุ๋ยไฮโดรบ้าง มะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่สามารถปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ได้ เนื่องจากเป็นพืชที่เจริญเติบโตดี และให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ถ้ามีการดูแลแล้วตัดแต่งกิ่ง จะมีผลผลิตออกมาได้ตลอด”

คุณนัฐกร ให้ข้อมูลอีกว่า มะเดื่อฝรั่ง สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด (บางสายพันธุ์) การตอนกิ่ง การปักชำ การติดตาและต่อกิ่ง แต่ที่สวนเลือกวิธีการตอนกิ่ง เนื่องจากง่ายและเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ใช้เวลาสั้นๆ เพียงแค่ 1 เดือน ก็ออกรากแล้ว และได้ต้นพันธุ์ไว้ปลูก โดยราคากิ่งพันธุ์จำหน่ายตั้งแต่ราคา 180-300  บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย

ยางรถยนต์เก่าที่นำมาใช้ปลูก

ในการตอนกิ่งมะเดื่อฝรั่งนั้น หลังจากที่รากออกแล้ว จะมีการตัดกิ่งตอนไปชำเพื่ออนุบาลในกระถางดำต่อไป ซึ่งเมื่อตัดกิ่งไปแล้วจะทำให้ต้นมะเดื่อฝรั่งแตกกิ่งก้านสาขาได้เยอะมาก ทำให้ได้กิ่งพันธุ์เพิ่มเยอะขึ้น เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อขายกิ่งพันธุ์

มะเดื่อฝรั่งที่ตอนกิ่ง

นับตั้งแต่ปลูกมะเดื่อฝรั่งมา 2 ปี เกษตรกรรายนี้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า บรรดามือใหม่ที่ซื้อกิ่งตอนไปปลูก บางคนจะเจอปัญหารากเน่า โคนเน่าตาย เนื่องจากไม่ได้ศึกษาวิธีการดูแลอนุบาลกิ่งตอนให้ดีก่อน ทำให้มือใหม่เจอปัญหานี้เยอะ บางคนถึงกับท้อ สิ่งที่สวนทำคือ หลังจากนำกิ่งลงกระถางแล้วก็รดน้ำพอชุ่ม วางไว้ในที่ร่มสัก 2-3 ชั่วโมง แล้วนำถุงมาคลุมปิดกระถางไว้เพื่ออบเรียกราก ใช้เวลา 15-20 วัน จะสังเกตเห็นมีรากเดินออกจากก้นกระถาง

ขั้นตอนการอนุบาลกิ่งที่ตอนเสร็จแล้ว

ช่วงที่อบไม่ต้องรดน้ำ จนกว่าจะนำถุงพลาสติกจากกระถางออกเมื่อผ่านการอบแล้ว หลังจากนั้น วางไว้ที่ร่มรำไร เวลารดน้ำให้ดูที่ความชื้นของดิน อาจจะ 2-3 วัน รดต่อครั้ง พอต้นตั้งตัวได้ค่อยๆ ย้ายต้นให้โดนแดด เพื่อให้ต้นปรับตัวได้ ก่อนนำไปปลูก

คุณนัฐกร บอกว่า ที่ผ่านมามีผู้สนใจซื้อกิ่งพันธุ์จำนวนมาก จนผลิตไม่ทัน เนื่องจากกิ่งพันธุ์มีปริมาณน้อย ไม่ทันต่อความต้องการ ตอนนี้เลยใช้วิธีเปิดให้คนที่สนใจลงชื่อจองไว้ก่อน เมื่อกิ่งพร้อมจะแจ้งให้โอนเงิน จากนั้นจะส่งกิ่งทางไปรษณีย์ไปให้

“มะเดื่อฝรั่ง ยังรู้จักกันไม่แพร่หลายนัก มีหลายคนถามว่า จะขายให้ใคร ปลูกอย่างไร ต้องดูแลแบบไหน ใส่ปุ๋ยอย่างไร ขายส่วนไหนของพืชได้บ้าง ในช่วงแรกๆ ผมจะโพสต์ขายกิ่งตอนในกลุ่มของมะเดื่อฝรั่ง และมีลูกค้าคนที่สนใจมาศึกษาวิธีการปลูกที่สวน มีทั้งครู ตำรวจ และกลุ่มคนที่สนใจรักสุขภาพ และตอนนี้สวนที่นี่เป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้ว ทำให้มีกลุ่มคนที่สนใจเดินทางเข้ามาติดต่อชมสวน และซื้อกิ่งพันธุ์เป็นจำนวนมาก หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ เช่น ทีวี และเฟซบุ๊ก”

เขาให้คำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะปลูกเชิงธุรกิจ เพื่อจำหน่ายกิ่งพันธุ์และจำหน่ายผลสดว่า มะเดื่อฝรั่ง สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากชอบอากาศในประเทศไทยและปลูกได้ผลผลิตดีในบ้านเรา สำหรับคนที่จะปลูกเป็นอาชีพควรมองตลาดให้ดี ว่าจะทำการตลาดอย่างไร จะมีการแปรรูปผลผลิตได้ไหม ควรศึกษาสายพันธุ์ที่จะปลูกด้วย และที่ขาดไม่ได้คือ เงินทุน

 

เล็งทำแหล่งท่องเที่ยว

กับคำถามที่ว่า มะเดื่อฝรั่ง ที่สวนมีรสชาติเหมือนหรือแตกต่างจากมะเดื่อฝรั่งที่ปลูกที่เชียงใหม่หรือไม่อย่างไร ประเด็นนี้ คุณนัฐกร ตอบว่า รสชาติไม่แตกต่างกันเท่าไร โดยขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์มากกว่า แต่สำหรับฤดูฝนคนที่ปลูกข้างนอกโรงเรือน อาจจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพเรื่องความหวานได้ เนื่องจากพืชได้รับน้ำในปริมาณที่เยอะ ดังนั้น ความได้เปรียบของการปลูกมะเดื่อฝรั่งในระบบโรงเรือนจะควบคุมคุณภาพได้ และสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี

เจ้าตัววางแผนในอนาคตไว้ว่า จะขยายโรงเรือนไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของตลาด เพื่อจะได้ผลิตให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และในอนาคตถ้ามีโอกาสอยากจะแปรรูป เช่น ทำมะเดื่อฝรั่งอบแห้ง แย้มมะเดื่อฝรั่ง และอยากให้คนไทยรู้จักต้นมะเดื่อฝรั่งมากขึ้น โดยออกแสดงจำหน่ายผลผลิตมะเดื่อฝรั่งตามงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านการเกษตร นอกจากนี้ อยากจะทำให้เป็นแหล่งที่ศึกษาดูงาน สำหรับผู้ที่สนใจ

“ผมอยากทำสวนตรงนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เลยจัดสวนรอบบ้าน และปั้นรูปต่างๆ รอบสวนเพื่อความสวยงาม ทำให้คนที่มาสวนได้มีความสุขกับการถ่ายรูป โดยสวนที่นี่ผมจะเน้นสีชมพู และรูปหัวใจ เพราะหมายถึงสิ่งที่ผมสร้างขึ้นมาด้วยใจรัก และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค”

ใครที่ยังไม่เคยเห็น หรือไม่เคยชิมมะเดื่อฝรั่ง อาจจะมองไม่ออกว่าเจ้าผลไม้ชนิดนี้สามารถแปรรูปอะไรได้บ้าง คุณนัฐกรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แปรรูปได้หลายอย่าง เช่น นำผลสดไปอบแห้ง น้ำมะเดื่อฝรั่ง ทำเป็นแยมมะเดื่อฝรั่ง นำไปแต่งขนมและอาหาร นำใบมาทำเป็นชาใบมะเดื่อฝรั่ง และรับประทานผลสด แต่ที่สวนเริ่มทำคือ ทำชาใบมะเดื่อฝรั่ง ลักษณะการขาย จะนำไปขายโดยการโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก และกลุ่มคนที่สนใจทั่วไป

ชามะเดื่อฝรั่ง

ในการแปรรูปนั้นจะใช้ใบมะเดื่อฝรั่ง โดยเลือกใบที่ 5 ลงมานับจากยอด เพราะเป็นใบที่ไม่อ่อนมาก เหมาะทำชา หลังจากนั้น นำไปล้างและไปหั่นเป็นชิ้นๆ จากนั้นตากให้แห้ง ประมาณ 2 แดด แล้วนำไปคั่วเพื่อให้มีกลิ่นหอม ก่อนนำไปบรรจุในซองชา กล่องละ 30 ซอง ราคากล่องละ 180 บาท

เขามองตลาดของมะเดื่อฝรั่งว่า ในอนาคตตลาดน่าจะเปิดกว้างขยายมากขึ้น คนน่าจะรู้จักมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้คนเริ่มรู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามสื่อต่างๆ ประกอบด้วยกับทุกวันนี้คนหันมาบริโภคผลไม้เพื่อสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็นไม้ผลที่ติดอันดับ 10 ของโลก ที่มีโภชนาการสูง อีกทั้งผลยังสามารถแปรรูปได้หลายอย่าง

สนใจอยากติดต่อเข้าไปชมสวน หรือซื้อกิ่งพันธุ์ติดต่อมาได้ที่ เฟซบุ๊ก ลำดวน สวนมะเดื่อฝรั่งสุรินทร์ แฟนเพจ “สวนมะเดื่อฝรั่งสุรินทร์ คุณนัด หรือที่เบอร์โทร. (091) 056-5672