หว้าขาว ผลไม้แปลกตา น่าปลูก

เมื่อเชิญชวนให้กินหว้าหรือลูกหว้า หลายคนมักปฏิเสธ ได้แต่มองผ่านและเลยไปแทบทุกครั้ง หว้าหรือลูกหว้าผลไม้มีไว้เพื่อกินเล่นเสียมากกว่าที่จะกินกันอย่างจริงจัง ซึ่งหลายคนยังเข็ดหรือฝังใจกับรสเปรี้ยวและรสฝาดของมัน

หว้า หรือ ลูกหว้า จึงเป็นผลไม้ที่ถูกลืม นอกจากผลจะเล็กแล้ว รสชาติก็ไม่ถูกปาก ทั้งยังทำให้ปากติดสีดำจากผลของมัน ปกติผลของหว้าหรือลูกหว้ามีสีดำหรือสีม่วงดำ เช่นเดียวกับผลชำมะเลียงที่มีผลสีดำหรือสีม่วงดำ ในประเทศไทยยังมีผลชำมะเลียงสีขาวอีก

ชำมะเลียงสีขาว จัดเป็นผลไม้หายาก แต่ชำมะเลียงไม่ใช่ผลไม้ที่ทำเงิน เช่นเดียวกับหว้าที่ไม่ใช่ไม้ผลเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้สูงให้กับผู้ปลูก คนไทยจึงไม่ค่อยนิยมปลูกหว้าเพื่อการค้า แต่ในอินเดียมีการปลูกกันเป็นการค้า

คุณประเทือง อายุเจริญ กับชบาที่ปลูก

หว้านอกจากหว้าดำแล้วก็มีหว้าขาวเหมือนกัน แต่ไม่ใช่หว้าขาวของไทย เป็นหว้าขาวของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หว้าขาวจึงกลายเป็นผลไม้แปลกตาสำหรับคนไทย ในทางตรงกันข้ามถ้าในประเทศไทยมีแต่หว้าขาวไม่มีหว้าดำ หว้าดำเป็นพืชของต่างประเทศ หว้าดำก็จะกลายเป็นผลไม้แปลกตาได้เช่นกัน

หว้า มีชื่อเรียกในอินโดนีเซียแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เรียกได้หลายชื่อ เช่น ชวาพลัม (Java plum), แจมโบลัน พลัม (Jambolan plum), แจมบลัง (Jamblang), ดูเวต (Duwet), ซีดดูเวต (Seed Juwet), จัมบุล (Jumbul), จามัน พลัม (Jamun plum), แจมบูล่า (Jambula) ที่ชวาเรียก จูเวต (Juwet), Duwet, ดูเวตแมนติ้ง (Duwet manting) ที่กาโย เรียก แคชชู คลิง (Cashew kling), ที่อาเจาะห์เรียกแจมเบเคลง (Jambe kleng) ที่บาหลีเรียกจูเวต (Juwet) ฯลฯ ในมาเลเซีย เรียก แจมบูลาน่า (Jambulana) ที่ฟิลิปปินส์ เรียก ดูหัต (Duhat) โดยนำไปจากมาเลเซีย ในอินเดีย เรียกว่า รามจามัน (Ram Jamun) หรืออินเดียน แบล๊คเชอรี่ (Indian black cherry)

หว้าขาว พบได้ไม่มากแต่มีกระจัดกระจายได้ทั่วไปในอินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซียเรียกหว้าขาวว่า “แจมบลัง ปูติห์” (Jamblang Putih) คำว่า Putih : หมายถึง สีขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันกับหว้าดำทั่วไปว่า Syzygium cumini  หว้าขาวเป็นพืชที่หายากไม่ค่อยพบได้ง่ายเหมือนกับหว้าดำ

หว้าขาว มีรสชาติหวาน เนื้อฉ่ำน้ำหวานกว่าหว้าดำ ไม่รู้สึกฝาดลิ้น ในอินโดนีเซีย เรียกว่า หว้าขาว แต่ในประเทศไทยได้เรียกเป็น หว้าชมพู และ หว้าเชอรี่ ตามลักษณะรูปร่างและสีผลที่ปรากฏ

หว้า เป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียเขตร้อน จากอินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หว้าถูกนำเข้าไปในรัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา เมื่อ ปี พ.ศ. 2454 ในไทยพบหว้าได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้นและป่าผลัดใบ ลำต้นสูง 10-35 เมตร ใบรูปไข่ หรือรูปรี ยาว 8-14 เซนติเมตร และกว้าง 3-7 เซนติเมตร มีจุดน้ำมันตามขอบใบ ดอกออกเป็นช่อ ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกตามซอกใบหรือปลายยอด มีฐานรองดอกเป็นรูปกรวย ผลรูปรีผสมกับรูปไข่ มีสีม่วงดำ ผิวเรียบมัน ผลขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เนื้อฉ่ำน้ำรสชาติไม่เปรี้ยวมาก ผลมี 1 เมล็ด ผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม

คุณประเทือง อายุเจริญ เสียบยอดมะนาว

มะเกี๋ยง คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นหว้า

มะเกี๋ยง เป็นชื่อคำเมืองภาคเหนือ เกี๋ยง หมายถึง “หนึ่ง” มะเกี๋ยงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cleistocalyx nervosumvar มะเกี๋ยง เป็นผลไม้ป่ายืนต้นที่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์หลายอย่างคล้ายกับหว้า แต่มะเกี๋ยงมีผลป้อมสั้นกว่า

ความแตกต่างของใบระหว่างหว้ากับมะเกี๋ยง ใบหว้ามีสีเขียวเข้มเรียบมัน ก้านใบสีเขียวอ่อน ส่วนใบมะเกี๋ยงมีสีเขียวจางเป็นรูปใบหอก เห็นเส้นใบชัดเจน ก้านใบสีม่วงแดงมีจำนวนใบกิ่งละ 4-6 คู่ ใบมะเกี๋ยงเมื่อยังอ่อน มีสีเขียวอมเหลือง ก้านใบค่อนข้างสั้นสีแดงสด เมื่อขยี้ดมกลิ่น จะมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยออกเปรี้ยวที่เป็นกลิ่นเฉพาะตัว ใบยาว 20-30 เซนติเมตร กว้าง 8-12 เซนติเมตร เริ่มออกดอกเมื่ออายุ 2-5 ปี ดอกเป็นช่อสีขาวนวล ดอกออกตามข้างกิ่งเป็นกระจุก ผลมะเกี๋ยงที่มีขนาดเล็กกว่าหว้า ผลอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว ผลแก่มีสีม่วงแดงอมดำเนื้อสีขาว ในผลมี 1 เมล็ด และมีรสเปรี้ยว ผลจะทยอยสุกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน นิยมกินสดและแปรรูป เช่น ไวน์มะเกี๋ยง มะเกี๋ยงดอง มะเกี๋ยงแช่อิ่ม ซอสปรุงรส เป็นต้น

คุณปิยะ วงศ์จันทร์ กับหว้าขาว

หว้าขาว ถูกนำเข้ามาประเทศไทยเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน โดย คุณประเทือง อายุเจริญ คราวที่ คุณประเทืองได้ไปเที่ยวดูงานเกษตรเป็นคณะใหญ่ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย คุณประเทืองได้นำต้นหว้าขาวนั้นกลับมาปลูกไว้ที่สวน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี คุณประเทืองผู้นี้เป็นผู้สร้างตำนาน “ชมพู่ทับทิมจันท์” ชมพู่พันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่อินโดนีเซีย โดยในปี พ.ศ. 2538 คุณล้ง ทองสามสี และ คุณประเทือง อายุเจริญ ได้นำกิ่งชมพู่พันธุ์ “ซีตร้า” (Citra) เข้ามา โดยคุณล้ง นำไปเสียบกับชมพู่เพชรสามพราน ที่จังหวัดนครปฐม ตั้งชื่อว่า “ทองสามสี” ส่วน คุณประเทืองนำมาเสียบกับชมพู่ทูลเกล้า ปลูกอยู่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จึงตั้งชื่อว่า “ทับทิมจันท์” คนทั่วไปรู้จักกัน แต่ “ชมพู่ทับทิมจันท์” ไม่ใช่เพียงแต่ชมพู่ทับทิมจันท์เท่านั้นที่คุณประเทืองได้สร้างตำนานไว้ ยังมีพืชอย่างอื่นอีกที่คุณประเทืองก็ได้สร้างตำนานขึ้นมา

เนื้อ

ตัวอย่าง เช่น มะเดื่อฝรั่ง (Fig) เมื่อก่อนหน้านั้นร่วม 20 ปี คุณประเทืองได้สร้างตำนานให้กับมะเดื่อฝรั่งเป็นรายแรกของประเทศในส่วนของภาคเอกชน คุณประเทืองได้บอกความรู้สึกที่ประทับใจเมื่อได้เห็นต้นมะเดื่อฝรั่งเป็นครั้งแรกว่า แตกต่างไปจากไม้ผลพันธุ์ใหม่ที่เคยเห็นทั่วไป เมื่อผลสุกเต็มต้นแล้วและดูเหมือนจะสุกไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด ใบที่มีรูปทรงสวยแปลกตา สิ่งที่มีเสน่ห์ของมะเดื่อฝรั่งรู้สึกได้ตรงที่มีกลิ่นของใบ และรสชาติเมื่อได้ชิมในตอนนั้นยอมรับว่าไม่คุ้นเคยกับรสชาติอย่างนี้มาก่อน ซึ่งในประเทศไทยมูลนิธิโครงการหลวงได้มีการศึกษาวิจัยมะเดื่อฝรั่งมานานกว่า 20 ปีแล้ว

พันธุ์มะเดื่อฝรั่งนี้ พี่ชายของคุณประเทืองทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งกิ่งพันธุ์มะเดื่อฝรั่งมาให้ทดลองปลูกที่อำเภอสอยดาว บนพื้นที่ 4 ไร่ ตามเนินเขา มะเดื่อฝรั่งที่ได้รับเป็นกิ่งตอนปรากฏว่าตายไปมาก ช่วงเริ่มต้นจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร ปัจจุบันรวบรวมมะเดื่อฝรั่งไว้หลายสายพันธุ์ ทั้งยังเป็นคนแรกที่นำวิธีการเสียบยอดมาใช้กับทุเรียน ซึ่งแต่ก่อนใช้การทาบกิ่ง

คุณประเทือง ในวัย 73 ปี (พ.ศ. 2560) เกิดที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวัยหนุ่มได้มาทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่สำนักงานพลังงานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างนั้นได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ไปด้วย จนสำเร็จการศึกษาได้รับวุฒิ ป.กศ. สูง (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง) และสอบบรรจุครูได้ในปี พ.ศ. 2513 เนื่องจากมีญาติอยู่ที่จันทบุรี จึงเลือกมาเป็นครูที่จันทบุรี เพื่อหวังจะได้ทำสวนผลไม้ไปด้วย

ใบ

ทำงานได้ 1 ปี ซื้อที่ดินไว้ไม่กี่ไร่ และซื้อกิ่งพันธุ์ทุเรียนมาปลูก กระทั่งทุเรียนให้ผลผลิต จึงต้องการเพิ่มพื้นที่ปลูก แต่เนื่องจากกิ่งทาบทุเรียนในขณะนั้นมีราคาแพงและโตช้า จึงได้ทดลองเสียบยอดทุเรียน ซึ่งไม่เคยมีชาวสวนคนไหนคิดทำกัน

คุณประเทืองใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่ 1 ปี จนเสียบยอดทุเรียนได้เป็นผลสำเร็จ แต่ก็ไม่วายถูกชาวสวนสบประมาทว่าไม่มีทางที่ต้นทุเรียนจะโตได้เหมือนกิ่งทาบ แต่ตรงกันข้ามทุเรียนเสียบยอดกลับเจริญเติบโตได้ดี ต้นแข็งแรงกว่ากิ่งทาบ ในเวลาต่อมาการเสียบยอดทุเรียนจึงเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวาง เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2559) สวนที่อำเภอสอยดาวแห่งนี้ได้ปลูกลำไยไว้ประมาณ 40 ไร่ และเช่าสวนลำไยไว้อีกหลายไร่ แต่ถูกล้งพ่อค้ารับซื้อชาวต่างชาติที่มัดจำเงิน ประมาณ 200,000 บาท ทำพิษ โดยล้งมาเลือกเอาแต่ลำไยผลใหญ่ผลสวยไปเท่ากับราคาที่มัดจำไว้ ไม่ได้เอาหมดทั้งสวน จึงเหลือแต่ลำไยผลเล็ก ต้องจ้างคนมาเก็บเอง ขาดทุนไปมาก

ผลสวย

คุณประเทือง ได้ใช้เวลาว่างศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี จนสำเร็จระดับปริญญาตรี คบ. (เอกเกษตร) คุณประเทืองเป็นครูไปด้วยทำสวนไปด้วยจนอายุได้ 55 ปี จึงลาออกจากครูมาทำสวนอย่างเต็มตัว คุณประเทือง เล่าเอาไว้ว่า เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เคยปลูกชบาเป็นครั้งแรก โดยนำพันธุ์มาจากรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกามากว่า 70 สายพันธุ์ ปลูกได้ 3-4 ปี ต้องยอมแพ้เลิกราไปพักหนึ่ง เนื่องจากถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลายดอกชบาเสียหายเกือบหมดทั้งสวน และได้หันกลับมาลองปลูกใหม่อีกครั้ง เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ได้รวบรวมสายพันธุ์ชบาจากหลายแหล่งทั่วโลก ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากฮาวาย มีมากกว่า 400 สายพันธุ์ ปลูกไว้ที่สวนภูสอยดาวการ์เด้น หมู่ที่ 13 ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และผสมเกสรเพื่อให้ได้ชบาเฉดสีแปลกใหม่ออกมา

สวนที่อำเภอสอยดาว มีพื้นที่กว่า 60 ไร่ แบ่งเป็นส่วนของไม้ผล ประมาณ 40 ไร่ ส่วนของไม้ประดับ ประมาณ 20 ไร่ คุณประเทืองก็ยังเป็นคนแรกอีกที่เพาะเมล็ดสับปะรดสีสำเร็จและนำละมุดยักษ์จากเม็กซิโกเข้ามาเป็นรายแรก นอกจากนี้ คุณประเทืองได้รวบรวมพันธุ์ไม้ผลและพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับไว้หลายชนิด

ผลอ่อน

ปัจจุบัน ได้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อปลูกมะนาวนิ้วมือ ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งไม่มีปัญหาด้านตลาดอย่างแน่นอน เพราะมีตลาดรองรับไว้แล้ว และปลูกพลับกับพลูออต (Pluot เป็นไม้ผลลูกผสมระหว่างplum กับ apricot) ไว้อีกหลายไร่ คุณประเทืองยังคงหาประสบการณ์ด้วยการไปเที่ยวเชิงเกษตรที่ต่างประเทศอยู่ตลอดและมักนำกิ่งพันธุ์พืชใหม่กลับมาด้วยเสมอ

ต้นหว้าขาว คุณประเทือง นำมาจากอินโดนีเซียเพียง 1 ต้น โดยได้ไปเห็นต้นหว้าขาวนี้ที่บู๊ธขายกิ่งพันธุ์ไม้ที่มาออกร้านในงานเกษตรที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีต้นหว้าขาวปลูกในกระถางนำมาแสดงติดผลเต็มต้น คุณประเทือง เห็นว่าหว้าขาวเป็นของแปลกและมั่นใจว่าจะได้ของแท้ จึงซื้อต้นเล็ก ในราคาประมาณ 600 บาท ความสูง ประมาณ 1 เมตร ต้องตัดยอดออกให้สั้นห่อกระดาษใส่กระเป๋าเดินทางกลับเมืองไทย

สวยแปลก

หว้าขาว ปลูกไว้ที่สวนอำเภอสอยดาว หว้าขาวปลูกง่ายไม่ต้องพิถีพิถันอะไรเป็นพิเศษ หว้าขาวสามารถปรับตัวได้ดีเจริญเติบโต แข็งแรง เพียง 1 ปี ก็ออกผล จึงเริ่มขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด แต่เปอร์เซ็นต์การติดต่ำมากประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ จึงเปลี่ยนมาเป็นการทาบกิ่งแบบแขวนตุ้ม ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การติดสูงกว่าอย่างมาก ได้ทาบกิ่งไว้ประมาณ 100 กิ่ง มีลูกค้าสั่งจองไว้หลายราย และได้สั่งหว้าดำผลใหญ่ของอินโดนีเซียจากเพื่อนชาวฟิลิปปินส์เข้ามาอีก 1 ต้น

หว้าขาว เจริญเติบโตขึ้นได้ในพื้นที่ราบทั่วไปถึงระดับความสูง 500 เมตร ปลูกในกระถางก็ออกผล ความสูงของต้นทั่วไปประมาณ 10-20 เมตร ส่วนหว้าขาวในประเทศไทยของ คุณประเทือง มีความสูง ประมาณ 2 เมตร แผ่เป็นพุ่มกว้าง

ใบหว้าขาวมีใบสั้นกว่าหว้าดำทั่วไป ใบหว้าขาวยาว 12-14 เซนติเมตร กว้าง 4-7 เซนติเมตร แต่แข็งและหนากว่า ปลายใบมนปลายสุดเป็นติ่งแหลม ปลายใบไม่แหลมเหมือนหว้าดำทั่วไป และมะเกี๋ยง มีเส้นใบแบบขนนก

ดอกอ่อนเป็นตุ่มคล้ายดอกชมพู่ ดอกออกเป็นกระจุก ช่อดอกสีขาวนวลหรือเหลืองอ่อนๆ ดอกออกตามข้างกิ่งจนถึงปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย ตรงกลางบุ๋มลึกและจะเจริญเป็นผลต่อไป

ผลใหญ่กว่าหว้าดำทั่วไป ผลค่อนข้างป้อม ความยาว 3-4 เซนติเมตร ความกว้าง 2-3 เซนติเมตร น้ำหนักของผล  8-10 กรัม ผลอ่อนสีเขียวอ่อนและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ผลแก่คล้ายกับมีลายเส้นขาวพาดไปตามแนวยาวของผลโดยรอบผล ผลแก่ประมาณ 3 เดือน หลังจากติดดอก ผลแก่จัดจะออกเป็นสีชมพูเรื่อๆ สวยงามน่ารัก และบางผลเมื่อแก่จัดจะปริแตก ผลแก่จัดมีรสชาติหวานสนิทไม่ติดรสฝาดที่ลิ้นที่ปาก และปากจึงไม่ดำเหมือนหว้าดำ    มีเมล็ด 1 เมล็ด รูปไข่ ผลที่ยังอ่อนอยู่จะเปรี้ยวติดฝาดบ้าง

การดูแลรักษา ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรเป็นพิเศษ ปลูกเหมือนไม้ผลทั่วไป ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอบ้างตามโอกาส ระยะติดผลมีการให้ปุ๋ยเพิ่มความหวานบ้าง

ศัตรูที่พบมีแมลงวันทองมาเจาะผลทำให้ผลเป็นจุดดำเสียหาย ป้องกันโดยใช้ถุงพลาสติกห่อ ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงจากแมลงวันทองรบกวน ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ปลูกในโรงเรือนแบบปิด

เมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 กิ่งพันธุ์หว้าขาวได้กระจายออกไปที่จังหวัดลำปางให้กับ คุณปิยะ วงศ์จันทร์ แห่งเซฟตี้ ฟาร์ม (Safety Farm) คุณปิยะปลูกหว้าขาวในโรงเรือนของมะเดื่อฝรั่ง จึงตัดปัญหาเรื่องแมลงรบกวน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เริ่มออกดอกและทยอยออกดอกติดตามกัน ผลเริ่มแก่ในเดือนพฤษภาคมและทยอยแก่เรื่อยๆ

หว้าขาว สามารถปลูกในกระถางเป็นไม้ประดับที่สวยงามแปลกตาให้ผลได้ดี หว้าขาวเป็นพืชที่ปรับตัวได้ดีกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชเขตร้อนเช่นกัน จึงไม่ต้องใช้เวลาเนินนานในการปรับตัวเหมือนกับพืชเมืองหนาวบางชนิดที่นำเข้ามาปลูก ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอดและการทาบกิ่งแบบแขวนตุ้ม การตอนกิ่งมักไม่ออกราก

ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ คุณประเทือง อายุเจริญ โทร. (089) 933-0648 หรือที่ คุณอู๋ ลูกชายของคุณประเทือง โทร. (084) 566-0055 และที่ลำปาง คุณปิยะ วงศ์จันทร์ โทร. (085) 687-8778

_____________________________________

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

http.//www.bibitbunga.com › … › Tanaman Buah › Tanaman Juwet/Jamblang

https://mangkoko.com/kebun_organik/tabulampot-jamblang-putih

http.//www.jualbenihmurah.com/bibit-juwet-putih-70-cm.html

http.//www.rspg.org/makiang/mg2.html   

http.//www.warungbibit.com/…/bibit-jamblang-putih-atau-juwet-putih.ht