มะพร้าวเผา ที่สุรินทร์

นึกย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปี ฝนไม่ได้หลงฤดู หนาวยังคงหนาว ร้อนและฝนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและปรวนแปร ก่อนนั้นอาชีพที่หาเลี้ยงชีพในวิถีชนบทนั้นมักจะทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงปู เลี้ยงปลา ตามประสา กินบ้างขายบ้างก็อยู่รอดปลอดภัย ไม่มีอะไรทุกข์ร้อน มีกินมีเก็บไปวันๆ ก็ถือว่ามีความสุขโดยอัตภาพ

มีอยู่อาชีพหนึ่งซึ่งนับวันจะเริ่มจางหายไปบ้างแล้ว นั่นคืออาชีพทำมะพร้าวเผาขาย

เมื่อนึกขึ้นมาได้ก็เริ่มเสาะแสวงหาที่มาที่ไป ว่ามีที่ใดบ้าง ที่ยังเผามะพร้าวขายอยู่ตามวิถีดั้งเดิม พบว่ายังมีคุณป้าท่านหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านตะเคียน ตำบลคอโค อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ชื่อ คุณป้าสมบัติ บุหงา อายุอานามก็ปาเข้าไป 69 ปี แต่คุณป้าก็ยังทำขายอยู่ ซึ่งเหลืออยู่คนเดียวทั้งหมู่บ้าน นอกนั้นก็ไม่มีใครทำแล้ว

คุณป้าสมบัติ เล่าว่า ทุกวันนี้จะมีรายได้เข้าบ้านแทบทุกวัน ก่อนอื่นจะตระเวนหาซื้อมะพร้าวทั้งพันธุ์พื้นบ้านและมะพร้าวน้ำหอม ลูกไม่อ่อนไม่แก่มาตุนไว้ โดยลูกๆ จะพาไปรับซื้อตามละแวกใกล้เคียง

เมื่อได้มะพร้าวมาแล้วก็จะทำการเอาเปลือกมะพร้าวออกให้เหลือหุ้มลูกไว้พอประมาณ จากนั้นก็จะนำไปต้มในหม้อใบใหญ่ คุณป้าสมบัติจะใช้เตาถ่านเพราะหาฟืนได้ง่าย

ต้มจนสุกแล้วนำมาปอกเปลือก ขั้นตอนสุดท้ายเข้าเครื่องเจียเสี้ยนที่มีอยู่ในลูกมะพร้าวออกจนหมดและสามารถนำออกขายได้เลย

คุณป้าสมบัติจะขายมะพร้าวในราคาส่งลูกละ 20 บาท วันหนึ่งๆ จะขายประมาณ 50-60 ลูก โดยไม่ต้องมีใครช่วย

ใครๆ ก็ถามว่าทำไมไม่เลิกทำในเมื่อส่งลูกเรียนจนจบและรับราชการไปแล้วทั้งสองคน คุณป้าสมบัติบอกว่าอยู่เฉยๆ ไม่เป็น ถึงแม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มาก แต่มีเงินเข้าบ้านแทบทุกวัน จึงไม่เดือดร้อนและขัดสนอะไร กลับเป็นความสุขเสียอีก

หากเป็นวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ปริมาณการซื้อขายจะมากกว่าปกติ เพราะแม่ค้ามารับซื้อไปขายตลาดเขียว และตลาดกรีน ม.

คุณป้าสมบัติกล่าวทิ้งท้ายว่า จะทำจนกว่าจะปอกลูกมะพร้าวไม่ไหวนั่นแหละ

หลังจากที่ทราบข้อมูลดังกล่าวแล้วมานั่งคิดดูอีกที มะพร้าวเผากับมะพร้าวต้มหลักการไม่แตกต่างกัน ในปัจจุบันมะพร้าวเผาที่เห็นๆ กันอยู่ส่วนมากจะต้มมากกว่าการนำมาเผาไฟ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะทำกินเองได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องไปซื้อแพงๆ ผู้อ่านสามารถลองทำดูนะครับ คงอร่อยไม่แพ้กัน

ติดต่อพูดคุยซื้อขายกับคุณป้าสมบัติ ได้ที่เบอร์โทร. (089) 992-7057