น้อยหน่าพันธุ์ใหม่ “ฝ้ายเขียวเกษตร 2” ผลดก อร่อยถูกปากคนซื้อ ผลสุกเก็บได้นาน ถูกใจแม่ค้า

“ปากช่อง” จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งปลูกน้อยหน่าที่มากสุดของไทย และคุณภาพดีที่สุดของประเทศ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาคุณภาพ การผลิต สายพันธุ์ สายพันธุ์น้อยหน่าที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง น้อยหน่าหนัง และน้อยหน่าฝ้าย ฯลฯ หน่วยงานท้องถิ่นได้จัดงาน “น้อยหน่าและของดีเมืองปากช่อง” ต่อเนื่องเป็นประจำในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลผลิตน้อยหน่า และไม้ผลอื่นๆ ของอำเภอปากช่อง

โดยทั่วไป น้อยหน่าสามารถจำแนกตามลักษณะต่างๆ เช่น สีผิวของผล สีเนื้อและชนิดของเนื้อ ได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ  คือ

  1. น้อยหน่าพื้นเมือง หรือ น้อยหน่าฝ้าย แบ่งออกได้ 2 สายพันธุ์ ตามลักษณะของสีผล คือน้อยหน่าฝ้ายเขียว ซึ่งมีผลสีเขียว กับน้อยหน่าฝ้ายครั่งมีผลสีม่วงเข้ม น้อยหน่าฝ้าย น้ำหนักเฉลี่ย ผลละ 2-3 ขีด รสไม่หวานมากนัก เสียหายง่าย ผลผลิตเฉลี่ย ไร่ละ 800-1,000 กิโลกรัม น้อยหน่าฝ้ายมีลักษณะเนื้อหยาบเป็นทราย เปลือกไม่ล่อน เมื่อปอกเปลือกเนื้อกับเมล็ดมักติดเปลือก เนื้อยุ่ยไม่จับตัวเป็นก้อน น้อยหน่าฝ้ายเขียวมีเนื้อในสีขาว และน้อยหน่าฝ้ายครั่ง มีเนื้อสีขาวอมชมพู มีกลิ่นหอม รสหวาน เปอร์เซ็นต์น้ำตาล เฉลี่ย 17.2% เมล็ดสีดำเป็นมัน เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาล จำนวนเมล็ดเฉลี่ยต่อผล 50 เมล็ด การสุกประมาณ 1 วัน
  2. น้อยหน่าหนัง หรือ น้อยหน่าญวน แบ่งได้ 3 สายพันธุ์ คือ น้อยหน่าหนังเขียวมีผลสีเขียว น้อยหน่าหนังทองเกิดจากการเพาะเมล็ดของน้อยหน่าหนังเขียวแล้วกลายพันธุ์ ผลมีสีเหลืองทอง และน้อยหน่าหนังครั่งเกิดจากการเพาะเมล็ดของน้อยหน่าหนังเขียวแล้วมีการกลายพันธุ์เช่นเดียวกับหนังทอง แต่มีผลสีม่วงเข้มคล้ายน้อยหน่าฝ้ายครั่ง โดยทั่วไป น้อยหน่าหนังเขียว มีเนื้อสีขาว น้อยหน่าหนังครั่ง มีเนื้อสีขาวอมชมพู และน้อยหน่าหนังทองมีเนื้อสีขาวอมเหลือง เนื้อละเอียด เปลือกล่อนเป็นแผ่นล่อนจากเนื้อได้ เนื้อมาก เนื้อเหนียว กลิ่นหอม รสหวาน มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลเฉลี่ย 17.9% เมล็ดสีดำเป็นมัน จำนวน 41 เมล็ด ต่อผล การสุกประมาณ 2 วัน
น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 เนื้อหวานพอดี ไม่มีทราย

น้อยหน่าพันธุ์ลูกผสม ของ ม. เกษตรศาสตร์

สถานีวิจัยปากช่อง ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รวบรวมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 24 ปี โดยสำรวจและเก็บตัวอย่างน้อยหน่าพันธุ์ดีจากแหล่งปลูกทั่วประเทศ มีแปลงรวบรวมพันธุ์ขนาดใหญ่มากกว่า 100 สายพันธุ์ ที่นำมาพัฒนาปรับปรุง จนได้น้อยหน่าพันธุ์ลูกผสม ที่มีลักษณะโดดเด่นตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยทยอยเปิดตัวน้อยหน่าพันธุ์ลูกผสมพันธุ์ดีเด่นและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเชิงการค้าหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์เพชรปากช่อง เนื้อทอง ปากช่อง 46 ปากช่องเคยู 1 ปากช่องเคยู 2 หนังเขียวเกษตร 1 ฝ้ายเขียวเกษตร 1 เป็นต้น

เพชรปากช่อง เป็นพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง “ลูกผสมของเซริมัวย่ากับน้อยหน่าหนังครั่ง” เป็นพันธุ์แม่ ผสมกับพ่อ “น้อยหน่าหนังเขียว” มีลักษณะลำต้น ใบ ดอก และผล ใหญ่กว่าน้อยหน่าทั่วไป ผิวเรียบ ร่องตาตื้น เนื้อเหนียวติดกันไม่แยกพู ลักษณะเด่นคือ ติดผลดก ผลใหญ่ มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 436.8 กรัม ต่อผล เนื้อมาก เมล็ดน้อย อายุหลังการสุกยาวนาน สุกช้าเฉลี่ย 4.9 วัน น้อยหน่าเพชรปากช่องมีขนาดผลโต เนื้อหนา รสหวาน ผิวมันวาว ที่สำคัญขายได้ราคาดี  น้อยหน่าพันธุ์ “เพชรปากช่อง” ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวอ่อนถึงขาวนวล ผลไม่แตกเมื่อแก่ เปลือกบางลอกออกจากเนื้อได้เมื่อสุกจัด เนื้อเหนียวคล้ายน้อยหน่าหนัง หลังจากปลูก 2 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต เพชรปากช่องเป็นพันธุ์น้อยหน่าที่เกษตรกรให้ความสนใจปลูกอย่างแพร่หลาย เพราะให้ผลผลิตสูง ขายได้ราคาดี ผลผลิตส่วนใหญ่บริโภคภายในและส่งออกประเทศใกล้เคียง เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และฮ่องกง ฯลฯ

น้อยหน่าพันธุ์เนื้อทอง เกิดจากลูกผสม ระหว่าง (เซริมัวย่า x หนังเขียว) ลักษณะผลใหญ่รูปหัวใจ กว้าง 8.8 เซนติเมตร ยาว 9.9 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 504.8 กรัม ต่อผล ผิวผลเรียบไม่มีร่องตา ผลอ่อนสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จัดสีขาวนวล การแตกของผลปานกลางเมื่อสุก เปลือกหนามีส่วนของเมล็ดทรายอยู่ระหว่างเปลือกด้านในติดกับเนื้อ เนื้อสามารถแยกออกเป็นพูๆ ได้ไม่ติดกัน ความหวาน 18.9 บริกซ์ การสุกเฉลี่ย 4.5 วัน อายุหลังการเก็บเกี่ยวยาวนาน เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2 ปี หลังปลูก เมื่อตัดแต่งสามารถออกดอกติดผลได้ตลอดปี การติดผลดกกระจายทั่วต้น แต่ในบางฤดูมีการติดผลค่อนข้างยาก มีขนาดผลสม่ำเสมอไม่แตกต่างกันมาก อายุ 2 ปี ผลผลิตเฉลี่ย 1.78 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี อายุ 3 ปี เฉลี่ย 2.14 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี และอายุ 4 ปี เฉลี่ย 13.62 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี

 

น้อยหน่าลูกผสมพันธุ์ใหม่ “ฝ้ายเขียวเกษตร 2”

อาจารย์เรืองศักดิ์ กมขุนทด รศ. ฉลองชัย แบบประเสริฐ และ นายกวิศร์ วานิชกุล นักวิจัยของสถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงน้อยหน่าลูกผสมพันธุ์ใหม่ “ฝ้ายเขียวเกษตร 2” ซึ่งเป็นลูกผสมของพันธุ์เพชรปากช่องกับฝ้ายเขียวเกษตร 1 และเปิดตัวน้อยหน่าพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ ในงานเกษตรแฟร์ 2558

ฝ้ายเขียวเกษตร 2 เป็นไม้ผลที่มีศักยภาพทางการค้า เพราะเป็นพันธุ์น้อยหน่าที่ปลูกง่าย ทนแล้ง ให้ผลผลิตเร็ว บังคับให้ออกดอกติดผลได้ง่าย และต้นทุนการผลิตต่ำ กล่าวได้ว่า ฝ้ายเขียวเกษตร 2 มีอัตราการเจริญเติบโตของลำต้นดี ให้ผลผลิตสูง และมีลักษณะเด่นแตกต่างจากพันธุ์การค้าเดิม เพราะฝ้ายเขียวเกษตร 2 มีกลิ่นหอม หวาน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของน้อยหน่าพันธุ์ฝ้าย มีเนื้อเนียนนุ่ม ติดผลง่าย ให้ผลดก ขนาดผลปานกลาง ซึ่งเป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ เปลือกหนาติดกันเป็นแผ่นไม่แยกตา ปริมาณเนื้อมากเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค

น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 ติดผลดก เนื้อมาก เมล็ดน้อย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 เป็นไม้ผลขนาดเล็ก ทรงพุ่มเป็นรูปทรงกรวยแผ่กว้าง ขนาดสูง 200 เซนติเมตร กว้าง 198 เซนติเมตร ผิวเปลือกของลำต้นเรียบ สีเปลือกด้านนอกมีสีน้ำตาล ด้านในมีสีเขียว แตกกิ่งมาก ทรงพุ่มหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีแกมขอบขนาน ยาว 14.95 เซนติเมตร กว้าง 6.88 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียว เนื้อใบละเอียด เป็นมัน ดอกเดี่ยว ดอกเมื่อแก่เต็มที่ก่อนบานมีรูปกรวย ผลรูปทรงกลมกึ่งไข่ ผลอ่อนสีเขียวอ่อน เมื่อแก่สีเขียวเข้ม ผิวผลเป็นร่องลึกปานกลางสีครีม ลักษณะเนื้อร่วนการแยกของเนื้อผลย่อยแยกออกจากกันได้ง่าย เนื้อมากสีขาว กลิ่นหอม แกนผลสีขาว เมล็ดเล็กรูปทรงส่วนมากมีลักษณะรูปไข่เกือบกลม สีน้ำตาล จำนวนเมล็ดเฉลี่ย 26.4 เมล็ด ต่อผล

 

เยี่ยมชมแปลงปลูก “ฝ้ายเขียวเกษตร 2” ไม้ผลทำเงิน ของ สมเกียรติ บุตรบำรุง  

คุณชลธิชา กันตะวงศ์ (ตาล) นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พาผู้เขียนไปเยี่ยมชมแหล่งผลิตน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 ของ คุณสมเกียรติ บุตรบำรุง โทร.(081) 494-0823 ประธานชมรมผู้ปลูกน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร อำเภอปากช่อง อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 98/1 หมู่ที่ 4 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

คุณสมเกียรติ เป็นเกษตรกรรายแรกๆ ที่บุกเบิกการปลูกน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 และสวนแห่งนี้เป็นแปลงใหญ่สุดที่ปลูกน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 เชิงการค้าในขณะนี้ คุณสมเกียรติตัดสินใจเริ่มปลูกน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน หลังจากได้มีโอกาสชิมรสชาติน้อยหน่าฝ้ายเขียว 2 ที่ปลูกภายในสถานีวิจัยปากช่อง ซึ่งน้อยหน่าพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือ มีรสชาติอร่อย ปลูกง่าย ทนแล้ง ให้ผลดก

คุณสมเกียรติ บุตรบำรุง กับ คุณชลธิชา กันตะวงศ์ (ตาล) นักวิชาการ สนง. เกษตรอำเภอปากช่อง

“คนไทยนิยมซื้อน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียว เพราะเป็นน้อยหน่าเนื้อร่วน กระแสตลาดนี้ยังมาแรงต่อเนื่อง ซึ่ง “ฝ้ายเขียวเกษตร 2” มี “เนื้อร่วน” ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างชัดเจน และมีรสชาติความอร่อยของน้อยหน่าฝ้ายเขียว และเพชรปากช่องอย่างครบถ้วน ทุกวันนี้ ปลูกน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 มากเท่าไร ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ซื้อ แถมมีอายุหลังการสุกยาวนาน มีศักยภาพในการขยายตลาดทั้งในประเทศและส่งออก” คุณสมเกียรติ กล่าว

น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 ติดผลดก เนื้อมาก เมล็ดน้อย
น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 เเกนในเป็นสามเหลี่ยม แกะออกได้ง่าย

คุณสมเกียรติ ตั้งใจปลูกน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 เชิงการค้าอย่างเต็มตัว จึงติดต่อขอซื้อกิ่งพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 จำนวน 300 กิ่ง จากสถานีวิจัยปากช่อง ในราคากิ่งละ 500 บาท เพื่อนำมาปลูกในพื้นที่อำเภอปากช่อง   ฝ้ายเขียวเกษตร 2 เป็นไม้ผลพันธุ์เบา ให้ผลผลิตเร็วหลังปลูก บังคับให้ออกดอกติดผลได้ง่าย ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ  น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 เริ่มติดผลได้ตั้งแต่อายุ 1-2 ปี สามารถบังคับให้ออกดอกและติดผลได้ทั้งในและนอกฤดูกาลโดยการตัดแต่งกิ่ง ออกดอกง่าย ติดผลดก เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 100-110 วัน หลังดอกบาน น้อยหน่าพันธุ์นี้มีขั้วผลใหญ่และสั้น แกนผลเป็นรูปสามเหลี่ยมปิระมิด ซึ่งแตกต่างจากพันธุ์อื่นที่เป็นรูปกรวยกลม

น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 น้ำหนัก เฉลี่ยผลละ 8 ขีด

ฝ้ายเขียวเกษตร 2 มีลักษณะ ลำต้น ใบ ดอก และผล ใหญ่กว่าน้อยหน่าฝ้ายที่เป็นพันธุ์แม่ แต่เล็กกว่าเพชรปากช่อง ซึ่งเป็นพันธุ์พ่อ ผิวค่อนข้างเรียบ เนื้อร่วนไม่ติดกันแยกเป็นพู เหมือนน้อยหน่าฝ้าย ลักษณะเด่นคือ ติดผลดก ผลปานกลาง น้ำหนักผลเฉลี่ย 302.50 กรัม ต่อผล เนื้อมาก เมล็ดน้อย สุกช้า เฉลี่ย 4.50 วัน และอายุหลังการสุกยาวนาน ลักษณะพิเศษของน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 คือ ผลสุกช้า เปลือกไม่เละ ไม่แตกง่าย เหมาะสำหรับการขนส่ง มีอายุหลังการสุกยาวนาน สามารถยืดอายุการขายได้นานเป็นสัปดาห์ ถือเป็นเสน่ห์สำคัญที่ผูกมัดใจแม่ค้าได้มากที่สุด

โปรดติดตาม เรื่องการปลูก การดูแล และการตลาด ของ “น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2” ในฉบับต่อไป