ซันสวีท เปิดหลักสูตรข้าวโพดหวานแห่งแรกในไทย

การเข้าออกของเกษตรกรและนักศึกษา บริเวณหมู่บ้านแพะประทานพร อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นเรื่องประจำไปแล้ว หลัง บริษัท ซันสวีท จำกัด ปรับระบบภายในให้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาดูงาน และสร้างฐานการเรียนรู้ในการทำโครงการ Smart farm

เนื่องจากการสนับสนุนและให้ความรู้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ในการเปลี่ยนแปลงเกษตรยุค 4.0

ดร. องอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด เปิดเผยอย่างเป็นกันเอง ถึงโครงการ Smart farm ที่กำลังดำเนินอยู่ว่า เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ปี 2555 เพื่อเป็นฟาร์มต้นแบบให้เกษตรกรได้นำองค์ความรู้ที่ได้เข้าช่วยควบคุมการเพาะปลูกให้มีความแม่นยำ และมีคุณภาพ จนสามารถเพิ่มจำนวนผลผลิตให้มากขึ้นในแต่ละปี เช่น การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย การจัดการระบบน้ำ การให้ปุ๋ย การวัดอุณหภูมิความชื้น ความร้อน แสงแดด การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการขนส่ง เมื่อเกษตรกรมีความเข้าใจในระบบบริหารจัดการเป็นอย่างดีแล้ว จะสามารถนำองค์ความรู้ไปเป็นต้นแบบในการเพาะปลูกได้

ดร. องอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด

“เราส่งเสริมเกษตรกรสองหมื่นรายเกี่ยวกับการทำเกษตร แบบ contract farming ในพื้นที่ภาคเหนือเนื้อที่แสนไร่ จากที่แต่เดิมเกษตรกรที่นี่ส่วนมากจะปลูกข้าวโพดพืชผลกันเองตามธรรมชาติ แต่เมื่อเราเข้าไปส่งเสริมด้วยการทำเกษตรแบบ smart farm และ contract farming ด้วยการนำความรู้ด้านต่างๆ เข้าไปแนะนำการใช้เทคโนโลยีน้ำหยด การบริหารจัดการดิน การวัดความชื้นในดิน ในช่วงหน้าแล้งจะมีการทำปั๊มน้ำ การจัดการดินที่ถูกต้อง ด้วยการลงทุนในระยะเริ่มต้น 15,000 บาท ต่อไร่ แต่เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต จะพบว่า สามารถลดต้นทุนได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์”

ปัจจุบัน มีเกษตรกรที่เข้าร่วมทำ contract farming กับซันสวีทมากกว่า 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและล่าง จำนวน 50,000-100,000 ไร่ ต่อปี

และการทำ contract farming ยังถือเป็นจุดแข็งที่โดดเด่น โดยบริษัทดูแลเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรนำไปปลูก มีการตรวจสอบผลระหว่างปลูก และรับซื้อเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว

“แปลงที่ทำการเกษตร แบบ smart farm แม้ว่าจะลงทุนอยู่ที่ 15,000 บาท ต่อไร่ แต่ก็สามารถจัดระบบแปลงได้ดีกว่า ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี ของการเพาะปลูก จะมีต้นทุนเรื่องของการทำระบบน้ำหยด ประมาณ 560 บาท แต่รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่มีคุณภาพ 85-96 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโดยทั่วไปรายได้ต่อไร่ของเกษตรกรอยู่ที่ 8,000 บาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 บาท”

คุณมานพ ซ้อนฝั้น ผู้จัดการฝ่าย smart farm

การรับซื้อ คุณมานพ ซ้อนฝั้น ผู้จัดการฝ่าย smart farm บอกว่า บริษัทรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร ฝักละ 3 บาท หรือ 5 บาท ในเกรดเอ น้ำหนัก 4 ขีด เกรดบี หรือ 4 ขีด ลงมา รับซื้อ 3.6-4 บาท โดยข้าวโพดที่ปลูกคือ ไฮบริกซ์ 53 และพันธุ์ซูการ์สตาร์

อาจารย์ออมสิน บุญวงษ์ ผอ. กศน. แม่วาง

นอกจากนี้ ซันสวีทยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทำหลักสูตรวิชา ได้แก่ วิชาปลูกข้าวโพดหวานคุณภาพ และวิชาปลูกข้าวโพดหวานเพื่อสร้างอาชีพ โดย อาจารย์ออมสิน บุญวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. อำเภอแม่วาง เป็นผู้นำหลักสูตรบรรจุเข้าในการสอน เริ่มที่อำเภอแม่วางเป็นแห่งแรก และคาดว่าจะขยายต่อไปยังอำเภออื่นในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฝาง และอำเภอเชียงดาว

นางสาวอรทัย พรหมเดช นักศึกษา กศน. อำเภอแม่วาง

นางสาวอรทัย พรหมเดช นักศึกษา กศน. อำเภอแม่วาง กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เลือกศึกษาหลักสูตรวิชาการปลูกข้าวโพดหวานเพื่อสร้างอาชีพ และได้ลงมือปฏิบัติจริงในแปลงข้าวโพดที่บ้าน ในหมู่ที่ 6 บ้านแม่มุต ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

“ได้เข้าเรียนรู้กับ บริษัท ซันสวีท เป็นเทอมแรก ได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำแปลง ผ่านการอบรมเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำการเกษตรและนำมาปฏิบัติจริง แต่ในช่วงที่มีการปลูกในแปลงจริงมีปัญหาสภาพอากาศ เนื่องจากฝนตก ระยะการเติบโตของต้นกล้าข้าวโพดไม่เสมอกัน แต่ก็ต้องดูแลต้นต่อไป ทั้งนี้การปลูกในช่วงแรกทาง บริษัท ซันสวีท สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และยาฆ่าแมลง ปลูกตามระบบที่บริษัทกำหนด พร้อมปรับให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และเพิ่งทำเป็นครั้งแรกโดยมีเจ้าหน้าที่มาติดตามอย่างต่อเนื่อง”