กยท. นำร่องภาคเหนือ ทำเกษตรผสมผสาน ต้นแบบยางครบวงจร

ประเด็นราคายางพาราตกต่ำ จากที่เป็นกระแสความเดือดร้อนของชาวสวนยางพารา ถึงเวลานี้ กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับราคายางพาราที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะขยับขึ้นไปแล้ว ส่งผลให้เกษตรกรที่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐในระยะแรก ต้องปรับการดำรงชีวิตให้อยู่ได้ด้วยการมองตนเอง แล้วนำศักยภาพของสวนยางพาราเท่าที่มีมาประยุกต์ให้เกิดราคาทดแทนรายได้ในส่วนที่หายไป

ปลายฝนที่ผ่านมา คุณธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถือโอกาสในช่วงฝนชุก เข้าติดตามการดำเนินงานพัฒนายางพารา โดยมุ่งไปที่จังหวัดในภาคเหนือ เพราะตั้งใจยกเขตพื้นที่ภาคเหนือเป็นต้นแบบในการพัฒนายางอย่างครบวงจร เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกยางกว่า 20,000 ไร่

การพัฒนายางอย่างครบวงจรคือ การตั้งจุดรวบรวมยางก้อนถ้วย เปิดให้เอกชนมาประมูลยาง และสหกรณ์กองทุนสวนยางแต่ละแห่ง รับซื้อน้ำยางเพื่อแปรรูป ซึ่งการประมูลซื้อขายจะผ่านระบบออนไลน์ในตลาดท้องถิ่น หรือตลาด 108 ซึ่งเป็นตลาดเปิดในแหล่งปลูกยางทั่วประเทศ โดย กยท. ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาระบบ และเงินทุนช่วยเหลือ พร้อมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ราคายางก้อนถ้วย ปัจจุบัน 26 บาท ต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่เกษตรกรสวนยางพาราอยู่ได้ โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ขยับขึ้นมาเป็น 60 บาท ต่อกิโลกรัม และอาจขยับขึ้นได้อีก อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ยาง เฉลี่ยเดือนละ 300,000 ตัน เพราะปริมาณการส่งออกในปัจจุบันสูงถึงปีละกว่า 3 ล้านตันแล้ว

แม้ว่าราคาการซื้อขายน้ำยาง ยางก้อนถ้วย ยางแปรรูป จะขยับตัวขึ้น แต่การส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นระหว่างที่สวนยางพารารอเปิดกรีด ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ที่ถือว่าเป็นเกษตรที่มีความยั่งยืนกว่า

คุณสมจิตร์ บรรณจักร์ เกษตรกรสวนยางพารา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เดิมรับราชการแต่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยเริ่มปลูกพืชเชิงเดี่ยว บนพื้นที่ 60 ไร่ จากสวนลิ้นจี่ สวนส้ม ต่อมาประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประกอบกับ ปี 2547-2549 รัฐบาลมีโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ จึงหันมาปลูกยางพารา โดยขอรับการสงเคราะห์ปลูกแทนด้วยยาง พันธุ์ RRIM 600 จำนวนกว่า 2,000 ต้น และซื้อเพิ่มด้วยทุนของตนเองอีกประมาณ 2,000 ต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 30 ไร่ และครั้งนี้จึงปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกต้นสัก มะม่วง เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา พร้อมการปลูกไม้ใต้ร่มยาง ซึ่งเลือกเป็นปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าเพิ่มเข้ามา เพราะศึกษาแล้วพบว่า การปลูกพืชที่ให้ผลผลิตหมุนเวียนกันในรอบปี และเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย จะเกิดผลที่ยั่งยืนกว่าการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว

“สวนยางพาราเริ่มเปิดกรีดได้เมื่อ ปี 2559 ผลผลิตเป็นยางก้อนถ้วย ส่งขายทุกๆ 7 วัน ปริมาณผลผลิตที่ขายจะประมาณ 2 ตัน ต่อครั้ง ทำให้มีรายได้ต่อเดือนที่รับจากการปลูกยางพารา ประมาณ 60,000 บาท ในส่วนของพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 30 ไร่ ได้ขุดบ่อน้ำเพิ่มเป็น 2 บ่อ เพื่อใช้กักเก็บน้ำ และใช้เป็นบ่อเลี้ยงพันธุ์ปลาสวาย ปลานิล ส่วนอีกบ่อ เลี้ยงปลาเบญจพรรณ โดยใช้เวลาในการเลี้ยง รอบละ 6 เดือน จึงจับขาย นอกจากนี้ ผมยังเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 20,000 ตัว เก็บไข่ได้วันละประมาณ 14,000-15,000 ฟอง ขี้ไก่ยังเก็บขายได้อีก วันละ 40-50 กระสอบ ส่วนกาแฟที่ปลูกใต้ร่มยาง จำนวน 30 ไร่ ก็สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา เก็บจำหน่ายเฉลี่ย 4 เดือน ต่อครั้ง ครั้งละประมาณ 800-900 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 95-100 บาท”

คุณสมจิตร์ บรรณจักร์ บอกด้วยว่า จากการปรับแนวคิดการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นเกษตรผสมผสาน ยึดตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเกิดจากความเชื่อและความรักในการเป็นเกษตรกร พร้อมทั้งจากการศึกษาหาความรู้มาตลอดชีวิตที่ผ่านมา จึงพบว่า การทำเกษตรที่ยั่งยืน ควรเริ่มจากตัวเกษตรกรเองที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่หวังพึ่งจากผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะการทำเกษตรที่ได้ผลผลิตหมุนเวียนตลอดปี จะทำให้เกิดรายได้ที่มั่นคั่ง และทำให้ชีวิตมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน