‘มะม่วงลูกพลับทอง’ ชื่อฟังเป็นไทย แต่นำเข้าจากไต้หวัน

มะม่วงลูกพลับทอง ชื่อฟังเป็นชื่อไทย ซึ่งก็น่าจะเป็นมะม่วงของไทย แต่มะม่วงลูกพลับทองไม่ใช่มะม่วงดั้งเดิมหรือมะม่วงโบราณ หรือเป็นมะม่วงพันธุ์ใหม่ของไทย มะม่วงลูกพลับทองเป็นมะม่วงสายพันธุ์ใหม่อีกสายพันธุ์หนึ่งของไต้หวันที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย

ปัจจุบัน มีมะม่วงจากไต้หวันอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 20 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมักเป็นสายพันธุ์ที่มีผลผิวสวยงามสะดุดตา (สีแดง) ผลมีขนาดใหญ่ และมีรสชาติดี แต่บางสายพันธุ์กลับไม่ได้รับความนิยม เพราะมีคุณสมบัติไม่ดีพอ ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด เช่น ผิวสีไม่สวย รสชาติไม่ดี มีเสี้ยนมาก เปลือกบาง ผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นขี้ไต้ เก็บไม่ได้นาน เน่าเสียง่าย และไม่เหมาะที่จะปลูกเพื่อการค้า เป็นต้น

ดังนั้น สายพันธุ์เหล่านี้จึงไม่ค่อยมีการทำกิ่งออกมาจำหน่าย แต่สำหรับมะม่วงลูกพลับทองแม้ว่าขาดคุณสมบัติที่ดีของมะม่วงไปบางอย่าง แต่ก็มีคุณสมบัติอีกอย่างที่โดดเด่นคือ มีรูปทรงผลที่แตกต่างจากผลมะม่วงอื่นๆ จึงเป็นการขายความแปลกใหม่ให้กับผู้ชอบสะสมพันธุ์มะม่วงและนักสะสมพรรณไม้แปลกใหม่เสียมากกว่าที่จะหวังผลกับการปลูกเพื่อการค้า

ชื่อของมะม่วงลูกพลับทองนั้น ที่ต้องตั้งชื่อเป็นภาษาไทยก็เพื่อให้ง่ายต่อการเรียก โดยยังคงความหมายเดิมไว้ไม่ได้ผิดไปจากชื่อเดิม มะม่วงลูกพลับทอง (Gold persimmon mango) แปลตรงมาจาก คำว่า “หวางจินซื่อจื่อ” (黃金柿子芒果 Huángjīnshìzi) ซึ่งออกเสียงเรียกยาก บางคนจึงอ่านเป็น “หวงจินซื่อจื่อ” คำว่า หวาง หมายถึง สีเหลือง ชื่อ “หวางจินซื่อจื่อ” ถ้าคงความหมายเดิมให้เต็ม น่าจะเป็น “มะม่วงลูกพลับสีเหลืองทอง” หรือ “มะม่วงลูกพลับสีเหลืองดั่งทอง” ทำนองนั้น

ถ้าให้คนไทยตั้งชื่อก็จะเปรียบมะม่วงนี้เหมือนกับลูกจันทน์ อาจตั้งชื่อเป็น มะม่วงลูกจันทน์ ก็ได้ แต่ที่ไต้หวันไม่มีลูกจันทน์ให้เปรียบเทียบ ที่นั่นมีแต่ลูกพลับ ลูกท้อ จึงตั้งชื่อให้สอดคล้องรูปพรรณสัณฐานของมัน เหมือนกับลูกพลับมากกว่าเป็น มะม่วงลูกพลับทอง

ส่วน คำว่า “ซื่อจื่อ” หมายถึง ลูกพลับ คนไทยชอบเรียกให้ง่ายปาก เมื่อเรียกสั้นๆ อาจจะเป็น “มะม่วงลูกพลับ” เหมือนกับ “มะม่วงมะพร้าว” มีชื่อเต็มของมันว่า “มะม่วงมะพร้าวปากีสถาน” (Pakistan coconut mango) คนเรียกกันแต่ “มะม่วงมะพร้าว” จนเป็นที่เข้าใจกัน เพราะมีผลใหญ่ป้อมยาว ขนาดเท่าๆ กับมะพร้าวน้ำหอม รับประทานดิบเนื้อกรอบ รสชาติมันหวาน มะม่วงมะพร้าวกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของชาวสวนมะม่วงบางกลุ่ม เนื่องจากมีผลใหญ่ รสชาติดี

มะม่วงลูกพลับทอง ที่ไต้หวัน

มะม่วงลูกพลับทอง มะม่วงสายพันธุ์ใหม่ของไต้หวันนี้ ไม่ทราบแหล่งที่มาของสายพันธุ์ว่าได้มีการพัฒนาหรือการปรับปรุงพันธุ์มาจากมะม่วงพันธุ์ใดบ้าง หรือเป็นพันธุ์มะม่วงที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ เหมือนกับผลไม้บางชนิด มะม่วงลูกพลับทองนี้ชาวไต้หวันนิยมซื้อผลไปเป็นของฝากหรือใช้รับรองแขกที่มาเยือนที่บ้าน หรือแนะนำให้เพื่อนรู้จักในทางอินเตอร์เน็ต

ผลของมะม่วงลูกพลับทอง มันไม่ได้แบนเป็นจานแบนๆ เหมือนลูกพลับ ดังกับชื่อ มะม่วงลูกพลับทอง จัดเป็นมะม่วงที่มีผลขนาดเล็ก ผลป้อมกลม ที่ส่วนหัวใหญ่ ส่วนก้นปลายงอนเล็กน้อย ส่วนปลายสุดไม่แหลม มีผลขนาดพอเหมาะกับการรับประทานคนเดียวได้หมดผล ดูเผินๆ มีส่วนคล้ายกับมะม่วงแอปเปิ้ลหรือมะม่วงอาร์ทูอีทูหรือมะม่วงตลับนาค จะต่างกันที่ขนาด เพราะขนาดของมะม่วงลูกพลับทองเล็กกว่ามะม่วงดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมะม่วงผลป้อมกลมในลักษณะเดียวกันมีอีกหลายพันธุ์ เช่น มะม่วงแอปเปิ้ลของอินโดนีเซีย (Apel mangga) ผลป้อมกลมแต่ใหญ่กว่า หรือ มะม่วงไข่ของเขมร (ซวายปวงเมือน) ที่มีผลเล็กกลมป้อมเนื้อเหลืองและรสชาติมัน มะม่วงส่วนใหญ่มีทรงผลส่วนมาก หรือมีรูปทรงผลแบนยาวหรือผลป้อม

ผลของมะม่วงลูกพลับทองเมื่อมองจากด้านบนลงมาผลป้อมค่อนข้างกลม เมื่อมองด้านข้างทั่วไปผลป้อมค่อนข้างกลมคล้ายลูกท้อและลูกเซียนท้อมากกว่าจะเหมือนลูกพลับหรือลูกจันทน์

ผลซ้าย ห่อด้วยถุงคาร์บอน สีเหลืองสวย

ลำต้นมะม่วงลูกพลับทอง มีลำต้นตรง ทรงพุ่มต้นค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านแตกแผ่ไม่ทอดเลื้อย เปลือกลำต้นตอนอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา กิ่งก้านยอดที่ยังอ่อนอยู่เป็นสีชมพูเรื่อๆ เมื่อโน้มงอกิ่ง กิ่งไม่เปราะหักง่าย กิ่งที่ไม่แก่สามารถดัดงอโค้งได้มาก

ใบ

ใบมะม่วงลูกพลับทองเป็นใบเดี่ยวเรียงตัวสลับกัน ที่บริเวณปลายกิ่งมักจะมีใบเกิดถี่ โดยทั่วไปใบมีขนาดเล็ก ใบเล็ก ไม่มีหูใบ ใบอ่อนมีสีม่วงอ่อนๆ อมชมพู เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ใบเรียวยาวผิวใบเป็นมัน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นบ้าง ใบห่อขึ้นเล็กน้อย เมื่อแก่ใบจะห่อมากขึ้นและระหว่างเส้นใบย่อยเป็นร่องใบลึก เส้นกลางใบเด่นชัดและมีเส้นใบย่อยไม่เกิน 30 คู่ ใบเล็กจะมีจำนวนเส้นใบน้อยกว่า 10 คู่ ขึ้นไป ใบอยู่ที่ด้านบนและส่วนยอดจะมีขนาดเล็กกว่ามาก ใบยาวเฉลี่ย 16 เซนติเมตร กว้าง 3 เซนติเมตร ส่วนใบที่เจริญสมบูรณ์ดีอยู่ด้านล่างมักมีขนาดใหญ่กว่า แต่ปรากฏเป็นส่วนน้อย โดยมีความยาวประมาณ 24-26 เซนติเมตร และกว้าง 5-6 เซนติเมตร เมื่อขยี้ใบแก่จะไม่มีกลิ่นเปรี้ยว ส่วนใบอ่อนขยี้แล้วมีกลิ่นหอมคล้ายมะม่วงมัน ใบมะม่วงลูกพลับทองจึงมีส่วนคล้ายกับใบมะม่วงตลับนาค

ช่อดอก

ดอกและช่อดอก ออกดอกที่ปลายกิ่งหรือตาตามกิ่งช่อ แต่ละช่อจะมีดอกจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาว ก้านช่อดอกมีสีแดง ก้านดอกสั้นมาก ดอกมีกลิ่นหอม ขั้วผลที่ช่อสั้น ติดผลดกมาก ช่อหนึ่งติดเป็นพวงหลายผล เมื่อยังผลเล็กก็เริ่มปรากฏเป็นผลกลม

ผลมะม่วงลูกพลับทอง ผลมีผิวเรียบ น้ำหนักของผล 400-500 กรัม ความยาวของผล ประมาณ 9 เซนติเมตร (วัดตามแนวดิ่ง) ความกว้างประมาณ 8-9 เซนติเมตร (วัดตามแนวราบ) ที่ส่วนหัว (มองจากด้านบนลงมาผลค่อนข้างเป็นวงรี) วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 8 เซนติเมตร ผลที่ยังไม่แก่หรือผลดิบ ก้านช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนๆ ยางจากขั้วผลไม่มีกลิ่นเปรี้ยว ผลดิบมีรสเปรี้ยวแต่ก็เปรี้ยวไม่มากติดรสมันบ้างเล็กน้อย เนื้อแน่นกรอบ

ผลอ่อน

ผลจะแก่ภายใน 5-6 เดือน หลังจากดอกบานหรือประมาณต้นเดือนมิถุนายนผลจะแก่เต็มที่ เมื่อผลสุกมีผิวผลสีเหลืองเหมือนกับขมิ้นหรือไพล ผลมีผิวสีสวยงามยิ่งประกอบกับผลมีขนาดเล็ก เมื่อวางในอุ้งมือมองดูงดงามน่ารัก การใช้ถุงห่อมีผลต่อสีผิว ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ใช้ถุงห่อผิวผลจะมีสีเขียว เมื่อแก่จึงปรากฏสีเหลืองที่แก้มและส่วนหัว เมื่อบ่มสุกมีสีเหลืองไม่เข้มมาก แต่เมื่อใช้ถุงคาร์บอนห่อจะให้ผิวสีเหลืองอร่าม ใช้เวลาบ่มสุก 4-5 วัน บ่มธรรมชาติห่อด้วยกระดาษ บ่มสุกแล้วมีสีเหลืองทองสวยงามอร่ามตาไม่ค่อยเห็นจุดดำเล็กๆ หรือต่อมน้ำมัน (oil gland) เด่นชัด หากใช้ถุงขาวห่อจะให้ผิวสีเขียวเข้ม ตอนแก่แก้มและหัวมีสีเหลืองเรื่อๆ บ่มสุกแล้วมีสีเหลืองอมเขียว สีผิวไม่เสมอกันทั่วทั้งผล เห็นจุดดำเล็กๆ หรือต่อมน้ำมันกระจายเห็นชัดโดยเฉพาะด้านที่โดนแดดส่อง

เนื้อ

หลังจากปล่อยให้สุกต่ออีกหลายวันไว้ในตู้เย็น 1 สัปดาห์ เมื่อนำออกมาสีผิวจะเหลืองเข้มยิ่งขึ้นหรือมีสีเหลืองส้มสวยงามมาก คล้ายกับผิวเหลืองของมะพูดสุก โดยผลไม่เกิดแผลเน่าเป็นจุดดำของโรคแอนแทรคโนส ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนส ดังนั้น ความสวยงามของผิวผลขึ้นอยู่กับชนิดของถุงที่ใช้ห่อด้วย

วัดความหวาน

ผลมีผิวบาง เนื้อสีเหลืองเข้มจัด หรือเหลืองขมิ้นสีเนื้อจะเหลืองเข้มกว่าสีผิว กลิ่นหอมพอประมาณ มีกลิ่นหอมคล้ายมะม่วงไทยที่มีรสหวานหรือมีกลิ่นหอมคล้ายน้ำหวานอ้อย แต่ทางไต้หวันบอกว่ามันมีกลิ่นคล้ายกับกลิ่นของลำไยหรือน้ำผึ้งจากดอกลำไย ซึ่งไม่ติดกลิ่นขี้ไต้เหมือนกับมะม่วงไต้หวันบางสายพันธุ์ เนื้อละเอียดเนียนฉ่ำน้ำ บีบอาจจะเละได้ง่าย มีเสี้ยนบ้างเล็กน้อย รสชาติอร่อย จัดเป็นมะม่วงที่มีความหวานมากพันธุ์หนึ่ง วัดระดับความหวานได้ระหว่าง 18-20 องศาบริกซ์ (น้ำมะม่วง ทิ้งไว้ข้ามคืน วัดได้ 20 องศาบริกซ์)

เมล็ด

เมล็ดเล็กแบนป้อมโค้งไปตามรูปทรงของผลเล็กน้อย เปลือกชั้นนอกหุ้มเมล็ดแข็งค่อนข้างหนา เปลือกเมล็ดชั้นในเป็นเยื่อหุ้มเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม น้ำหนักของเมล็ดระหว่าง 20-30 กรัม

ในการโฆษณาขายระบุว่า เป็นมะม่วงที่มีความต้านทานโรคสูง อัตราการเจริญเติบโตดี ลำต้นเจริญเติบโตเร็วและลำต้นจะแข็งแรงขึ้นตามอายุ

การมองเห็นมะม่วงเป็นผลแบนเหมือนลูกพลับหรือแบนแบบลูกจันทน์ หรือแบนเป็นมะเขือจาน ดังภาพที่ปรากฏในเว็บไซต์ของไต้หวันนั้น จะเป็นมะม่วงที่มีผลค่อนข้างแบน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมกล้อง ถ้าถ่ายภาพจากด้านบนลงมา จะมองเห็นมะม่วงมีผลแบนจริง เมื่อถ่ายด้านข้างจะไม่แบนเป็นแบบนั้น ดังนั้น ภาพที่ปรากฏทางเว็บไซต์จึงเป็นเทคนิคในการถ่ายภาพ เพื่อใช้ในการโฆษณาที่หวังผลทางการค้า

แต่ภาพส่วนใหญ่ที่ปรากฎอยู่นี้เป็นมะม่วงลูกพลับทองที่ให้ผลแล้วในประเทศไทย จึงถ่ายภาพได้หลายมุม บางมุมจึงมองเห็นเป็นผลแบนจริง เมื่อถ่ายด้านข้างก็ไม่ได้แบนมาก แต่มะม่วงลูกพลับทองก็เป็นมะม่วงที่ผลและสีแปลกแตกต่างจากมะม่วงที่มีผลกลมป้อมทั่วไป

อนึ่ง ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้อ่านหรือชาวสวนมะม่วงเสียก่อนว่า การตั้งชื่อ มะม่วงลูกพลับทอง ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นมะม่วงที่มีผลแบนเหมือนลูกพลับ แต่ตั้งชื่อแปลตามความหมายเดิม สรุปก็คือ ทั้งรูปทรงของผลและรสชาติไม่สร้างความผิดหวังอย่างแน่นอน อีกไม่นานคงมีกิ่งพันธุ์ออกมาจำหน่าย ราคาน่าจะแพงอยู่เพราะเป็นของใหม่  มะม่วงลูกพลับทอง จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับชาวสวนมะม่วงได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคเป็นผู้กำหนด