หนุนปลูก มะพร้าวน้ำหอม สู้น้ำท่วม ปลูกไผ่ ขายหน่อ-ไม้ไผ่ สร้างอาชีพ

ช่วงงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชธานี ครั้งที่ 9 “อุบล บุ๊ก แฟร์” ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้จัดกิจกรรมเสวนาสัญจร เรื่อง “มะพร้าวน้ำหอม…พืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก” และ “ไผ่ พืชเศรษฐกิจ ที่ต้องปลูก” ดำเนินรายการโดย คุณวิไล อุตส่าห์ เกษตรอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมดังกล่าวมีชาวอุบลฯ และพื้นที่ใกล้เคียงสนใจเข้าฟังเสวนากันอย่างคึกคัก และ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ได้ถ่ายทอดสดกิจกรรมเสวนาทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ปรากฏว่ามียอดผู้ชมผู้ฟังทะลุหลักแสนเช่นกัน

คุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี เจ้าของสุนีย์ ทาวเวอร์ ร่วมถ่ายรูปกับวิทยากรและผู้ฟังเสวนา

สร้างเงินล้าน ด้วยการปลูกมะพร้าว

“มะพร้าว” ได้รับการขนานนามว่า เป็นต้นไม้แห่งชีวิต (Tree of Life) มาตั้งแต่สมัยอดีต ประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียและแปซิฟิกต่างใช้น้ำมันมะพร้าวในการปรุงอาหาร ทำยา เครื่องสำอาง มาเป็นเวลานาน เรียกได้ว่า “น้ำมันมะพร้าว” เป็นน้ำมันพืชเก่าแก่ที่สุดในโลก ตามตำราอายุรเวทของอินเดีย ระบุว่า มนุษย์ได้นำน้ำมันมะพร้าวมาใช้เป็นอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องสำอาง มานานกว่า 6,000 ปี

เมืองไทยมีการปลูกมะพร้าวมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ยาวนานกว่า 700 ปี คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากมะพร้าวกะทิ และสกัดน้ำมันมะพร้าวมาใช้ปรุงอาหารหวานคาวอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกนี้ ที่มีการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และคุณภาพน้ำมันมะพร้าวของไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ ขณะนี้มีการสั่งซื้อน้ำมันมะพร้าวจากต่างประเทศเข้ามามาก จนโรงงานที่มีอยู่ผลิตไม่ทัน โดยเฉพาะเมื่อผลมะพร้าวของไทยขาดตลาดและมีราคาแพงมาก

“น้ำมะพร้าว” เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ตามธรรมชาติ ทำให้เกิดกระแสโลกตื่นตัวดื่ม ทำให้ “น้ำมะพร้าว” เพื่อบำรุงสุขภาพเพิ่มมากขึ้นทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และจีน ทำให้น้ำมะพร้าว กลายเป็นสินค้าขายดีทั่วโลก สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุน จาก จีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ หันมาลงทุนในอุตสาหกรรมมะพร้าวในประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อ้างอิงจากรายงาน ของ “FAO Statistics” พบว่า ช่วงปี 2547-2557 พื้นที่ปลูกมะพร้าวของโลกเพิ่มจาก 69 ล้านไร่ เป็น 75 ล้านไร่ ผลผลิตเพิ่มจาก 55 ล้านตัน เป็น 61 ล้านตัน โดย 3 ประเทศ ที่ปลูกมากสุด หรือที่เรียกว่า “Big Three” คือ ฟิลิปปินส์ (29%) อินโดนีเซีย (25%) และอินเดีย (17%) ทั้ง 3 ประเทศ ก็มีการขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้นทุกปี ประเทศไทยปลูกมะพร้าวมากเป็น อันดับที่ 6 แต่ปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาดในแหล่งปลูกมะพร้าว ทำให้พื้นที่ปลูกลดลง จาก 1.6 ล้านไร่ เหลือ 1.2 ล้านไร่

ผศ. ประสงค์ ทองยงค์ และ คุณวิไล อุตส่าห์

“ผศ. ประสงค์ ทองยงค์” อดีตอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์มะพร้าวระดับแนวหน้าของเมืองไทย ครอบครัวของท่านปลูกมะพร้าวแกงและมะพร้าวน้ำหอมมานานกว่าร้อยปี มะพร้าวแกงบางต้นมีอายุกว่า 100 ปี และมีลำต้นสูงมาก มะพร้าวน้ำหอมบางต้น มีลักษณะแปลกและแตกต่างจากถิ่นอื่น เนื่องจากมีผลขนาดใหญ่เหมาะต่อการส่งออก บางต้นมีลักษณะผลขนาดใหญ่ เหมือนมะพร้าวแกง แต่ลำต้นเตี้ยมาก บางต้นผลดกและเป็นกะทิ ผศ. ประสงค์ ได้คัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีลักษณะเด่น จนได้มะพร้าวน้ำหอมลูกผสมพันธุ์ใหม่ จำนวน 4 ชนิด เรียกว่า พันธุ์ รบ.1, รบ.2, รบ.3 และ รบ.4 ซึ่งที่มาของชื่อ “รบ.” ย่อมาจากชื่อ “ราชบุรี” ถิ่นกำเนิดของมะพร้าวนั่นเอง

มะพร้าวน้ำหอม รบ.1 (ลูกผสมราชบุรี 1)

“รบ.1” เป็นมะพร้าวน้ำหอมลูกผสม ต้นเตี้ยเหมือนมะพร้าวน้ำหอมทั่วไป ต้นมีขนาดใหญ่คล้ายพันธุ์หมูสี ผลมีขนาดใหญ่กว่ามะพร้าวน้ำหอม รสชาติและกลิ่นเหมือนมะพร้าวน้ำหอม

“รบ.2” เป็นมะพร้าวแกงลูกผสม ที่ต้นมีขนาดใหญ่ ต้นไม่สูงนัก มีเลือดผสมระหว่างมะพร้าวแกงกับหมูสี เหมาะปลูกเพื่อผลิตน้ำมัน คุณสมบัติทั่วไปคล้ายหมูสี แต่โดดเด่นกว่า

“รบ.3” เป็นมะพร้าวน้ำหอมยุคใหม่ที่มาแรงมาก เพราะรวมเอาคุณสมบัติที่โดดเด่น 3 ลักษณะ ไว้ในสายพันธุ์เดียวกัน คือ น้ำหวาน มีกลิ่นหอม เมื่อเก็บในระยะที่เหมาะสม เนื้อมะพร้าวจะนุ่ม เคี้ยวมัน

“รบ.4” เป็นมะพร้าวลูกผสม จากพ่อแม่พันธุ์คือ พวงร้อยและหมูสีหวาน รบ.4 มีจุดเด่นคือ จั่นยาวใหญ่ ดอกตัวเมียดก เหมาะสำหรับผลิตน้ำตาลมะพร้าว ผศ. ประสงค์ การันตีคุณภาพว่า รบ.4 ให้ปริมาณน้ำตาลมะพร้าวเยอะมากจนล้นกระบอก

ผศ. ประสงค์ กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง “มะพร้าวน้ำหอม…พืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก” ว่า  ยุทธวิธีการปลูกและรักษามะพร้าวน้ำหอมให้ได้คุณภาพดี ต้องดูแลใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ การปลูก การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การเก็บเกี่ยว และด้านตลาด หากใช้มะพร้าวน้ำหอม รบ.1 (ลูกผสมราชบุรี 1) อายุ 10-11 เดือน เข้าสีมันปูเหมาะที่จะนำไปขยายพันธุ์ได้ การขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมคุณภาพ เริ่มจากนำผลแก่มาผึ่งลมในโรงเรือนเพาะชำ คัดเลือกพันธุ์ดีมาเพาะชำจะเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี

ขั้นตอนการบำรุงรักษามะพร้าวน้ำหอม หลังจากปลูก ถึงช่วงต้นมะพร้าวมีอายุ 2.6 ปี ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 3 ครั้ง ต่อปี แบ่งใส่ครั้งละ 10 กิโลกรัม ต่อต้น ในระยะต้นมะพร้าวมีอายุตั้งแต่ 2.6 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 30 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ปัจจัยการผลิตที่จะทำให้ได้มะพร้าวน้ำหอมคุณภาพดี ก็ขึ้นกับสภาพพื้นที่ โดยแหล่งที่ปลูกควรมีความชื้นสัมพัทธ์อย่างน้อย 70% ดินมีความเป็นกรดเป็นด่างปานกลาง pH 7.6

น้ำ นับเป็นปัจจัยสำคัญ ควรมีแหล่งน้ำไหลเวียนดี มีออกซิเจนสูง น้ำบาดาล ไม่ควรใช้ เพราะมีความกระด้างค่อนข้างสูง นอกจากนี้ แหล่งปลูกควรมีอุณหภูมิคงที่ ประมาณ 30 องศาเซลเซียส หรือบวกลบไม่เกิน 7 องศาเซลเซียส และต้นมะพร้าวควรได้รับแสงแดดอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ต่อวัน ต้นมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูก จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ เริ่มเมื่อต้นมะพร้าวที่ปลูกอายุครบ 3 ปี

“จังหวัดอุบลราชธานี และหลายจังหวัดที่อยู่ติดริมโขง เหมาะสำหรับปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ในท้องถิ่น เพราะได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ แม้จะเจอปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งในทำเลดังกล่าว แต่มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ทนทานต่อปัญหาน้ำท่วมได้ดี มะพร้าวน้ำหอมสร้างรายได้ดี สูงกว่า 1 ไร่ 1 แสนบาท ต่อปี จึงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าปลูกสำหรับพื้นที่ภาคอีสานในอนาคต” ผศ. ประสงค์ กล่าว

ปัจจุบัน ผศ. ประสงค์ ทำสวนมะพร้าวแกงและมะพร้าวน้ำหอม อยู่ในพื้นที่ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมสวน หรือสอบถามข้อมูล ติดต่อกับ ผศ. ประสงค์ ทองยงค์ ได้ที่เบอร์โทร. (081) 836-6228

ไผ่ พืชเศรษฐกิจที่ต้องปลูก

เวทีเสวนา ไผ่ พืชเศรษฐกิจที่ต้องปลูก

รศ. ธัญพิสิฐ พวงจิก อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานชมรมคนรักไผ่ ร่วมกับ คุณนิมิตร สื่อเจริญสม เกษตรกรผู้ปลูกไผ่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แบ่งปันข้อมูลด้านวิชาการและประสบการณ์ตรงจากการปลูกไผ่เชิงการค้า กล่าวว่า ไม้ไผ่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงมาก และคนไทยได้ใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่มาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปี ปัจจุบันมีการพัฒนาการใช้ไม้ไผ่ให้มีประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และยังใช้ในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ การแก้ปัญหาโลกร้อน ใช้เป็นไม้ทดแทนไม้จริงในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเฟอร์นิเจอร์ได้

รศ. ธัญพิสิฐ พวงจิก กับไผ่ยักษ์ไจแอ้น

ในอนาคตไม้จริงจะหายากขึ้นและมีราคาแพงมาก ใช้ทำเส้นใยเสื้อผ้าคุณภาพดี เป็นพลังงานทดแทนได้ดี ให้ถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งหน่อไม้ก็เป็นอาหารที่มีรสชาติดี มีราคาถูก เป็นอาหารที่สำคัญของชาวชนบท ซึ่งไม้ไผ่ในประเทศไทยกำลังถูกทำลายอย่างมาก ไม้ไผ่ที่อยู่ในธรรมชาติก็ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร พื้นที่ปลูกลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยประโยชน์อันหลากหลายมากมายของไผ่ จึงถือว่าไผ่เป็นพืชมหัศจรรย์จริงๆ เราจึงต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่การปลูกไผ่ให้มากยิ่งขึ้น และพัฒนาการใช้ประโยชน์ให้สูงยิ่งขึ้นไป เพราะไผ่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายสิบปีกว่าต้นไผ่จะตาย

ไผ่ เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีขนาดลำต้นใหญ่โต ให้น้ำหนักชีวมวลต่อไร่ในระยะเวลาที่เท่ากันสูงกว่าพืชชนิดอื่น เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทุกส่วนของต้นไผ่ประกอบด้วยเซลลูโลสซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นชีวมวลผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนได้หลากหลาย ได้แก่ สกัดเป็นน้ำมันดิบได้ในอนาคต ทุกชิ้นส่วนของต้นสดบดเป็นผง แล้วนำไปหมักจะได้ก๊าซชีวภาพ (มีเทน) ที่มีค่าพลังงานสูงมาก ผลิตเม็ดพลังงานแห้งซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง และยังใช้ผลิตถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น

ข้อดีของการปลูกไผ่คือ ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายและการกัดเซาะหน้าดิน ดูดซึมน้ำลงสู่ใต้ดินได้อย่างรวดเร็วในปริมาณมาก และช่วยลดปัญหาอุทกภัยที่ตามมาด้วย พันธุ์ไผ่ที่ให้ปริมาณชีวมวลในปริมาณมาก ได้แก่ พันธุ์กิมซุ่ง ตงลืมแล้ง ซางหม่น และวะโซ่ เป็นต้น ทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไผ่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการปลูกเป็นพืชพลังงานทดแทนของโลกต่อไปในอนาคต