ทิ้งอาชีพวิศวะในกรุง มาทำนา “ข้าวก่ำดำต้นเดียว” โดยใช้เทคนิคแกล้งข้าวทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว

คุณสาคร ภูผิวผา อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 1 ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โทร. (090) 970-2577, (081) 735-0232 เป็นอีกคนหนึ่งที่หันมาเอาดีด้านการเกษตร จนเป็นผู้นำด้านการเกษตรในชุมชน

คุณสาคร ภูผิวผา เล่าให้ฟังว่า ตนจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปี 2536 ทำงานอยู่กรุงเทพฯ 20 ปี เกิดเบื่อความวุ่นวายสังคมเมือง และพ่อแม่ที่อยู่ทางบ้านเริ่มชราภาพ ควรจะมีลูกหลานดูแล ประกอบกับชื่นชอบการเกษตรจึงลาออกจากงาน กลับมาอยู่บ้านเกิดเพื่อทำการเกษตรใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายให้นาฬิกาชีวิตเดินช้าลง โดยหวังว่าชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม และหวังว่าการทำเกษตรที่ใช้องค์ความรู้ ที่ศึกษามาจะเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านที่ทำการเกษตรแบบเดิมๆ ได้นำไปปรับใช้

คุณสาคร ภูผิวผา กับภรรยา

เนื่องจากที่นาเป็นที่มรดกของภรรยา ที่นา 12 ไร่ และที่สวน 3 ไร่ ซึ่งเห็นว่ากำลังพอดีกับกำลังที่มีอยู่ 2 คน กับภรรยา และคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ได้ผลผลิตมากขึ้นกว่าการทำนาแบบเดิมๆ ที่ต้องพึ่งเคมี จึงค้นคว้าหาความรู้และพบว่า การทำนาแบบดำต้นเดียว โดยใช้เทคนิคแกล้งข้าวทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว จึงทดลองทำดู โดยครั้งแรกทำเพียง 2 งาน เพื่อทดลอง

ลักษณะที่นาเป็นดินปนทราย (นาดอน) ไม่มีปูและหอยเชอรี่ ดำกล้าอายุ 12 วัน ดำแบบต้นเดียว ดำเป็นแถวระยะห่าง 30 เซนติเมตร ปรากฏว่าชาวบ้านที่เห็นก็หัวเราะหาว่าบ้า แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ข้าวเริ่มแตกกอ ปรากฏว่างามกว่านาหว่านที่ใช้ปุ๋ยเคมีมาก จนชาวบ้านที่เห็นสนใจและอยากลองทำดูบ้าง

ปี พ.ศ. 2556 เป็นปีที่นำรูปแบบการดำนาต้นเดียวมาลงพื้นที่แปลงจริง 12 ไร่ ซึ่งลักษณะที่นาเป็นดินเหนียว (นาที่ลุ่ม) มีปู มีหอยเชอรี่เยอะ ดำกล้าอายุ 12-20 วัน เพาะกล้าในกระบะเพาะของรถดำนา ปรากฏว่ากล้าต้นเล็กต้องเตรียมดินให้เป็นเลนและไม่มีน้ำขังก่อนดำนา ไม่เช่นนั้นปูกับหอยจะกินหมด แต่การเอาน้ำออกจากนาก็ทำให้เกิดหญ้า ต้องกำจัดหญ้า ซึ่งกว่าจะขังน้ำในนาได้ต้องรอให้ข้าวอายุประมาณ 1 เดือน ปูและหอยจึงจะไม่ทำลาย จากการทำนาแบบดำต้นเดียวปีแรก ที่ไม่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี ใช้วิธีการไถกลบตอฟาง ใช้ใบไม้แห้งและใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปรากฏว่าข้าวแตกกอดี กอละไม่น้อยกว่า 21 ต้น (ประมาณ 21-30 ต้น)

ปักดำต้นเดียวเป็นแถว

ขั้นตอนการทำนาแบบอินทรีย์

  1. การเตรียมแปลงนา การทำนาแบบอินทรีย์นั้น ปุ๋ยที่ใช้ในการเตรียมดินจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เศษวัชพืช ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อปรับสภาพดินและปรับความอุดมสมบูรณ์ในดิน การปรับปรุงคุณภาพดิน
  2. การไถกลบตอซัง เป็นการหมักปุ๋ยให้ข้าวอีกทางหนึ่ง และยังป้องกันไฟได้อีกด้วย
  3. การทำปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืช เช่น ฟางข้าว ใบไม้ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีมีคุณภาพสูง และปัจจุบันมีวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง ซึ่งทำได้เยอะและไม่เหนื่อย โดยใช้วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1
  4. การใช้ปุ๋ยพืชสด โดยหว่านเมล็ดปอเทือง 5-8 กิโลกรัม ต่อไร่ และไถกลบเมื่อออกดอก (ประมาณ 45 วัน)
  5. การใช้ปุ๋ยชีวภาพ จากการหมักผลไม้
  6. ทำแปลงนาให้ได้ระดับเสมอกันทั่วทั้งแปลง จะดูแลเรื่องการควบคุมระดับน้ำได้ง่าย ข้าวจะเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
ระยะแตกกอ

การเพาะกล้า

นาในที่ลุ่มที่มีศัตรูเยอะ เช่น หอย ปู ควรเพาะกล้าก่อนปลูก ประมาณ 20-25 วัน เพื่อให้กล้าแข็งแรงและโดนทำลายได้ยาก ใช้เมล็ดพันธุ์ 2 กิโลกรัม ต่อไร่ เตรียมแปลงเพาะกล้าและบำรุงดินแปลงเพาะกล้าให้สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว 24 ชั่วโมง เอาขึ้นจากน้ำ เพาะหรือบ่มไว้อีก 2 วัน ข้าวจะงอกพร้อมที่จะเอาไปหว่านในแปลงเพาะกล้าได้

การถอนและย้ายต้นกล้า ถอนกล้าโดยไม่ใช้เท้าเตะกล้า เพราะจะทำให้ต้นกล้าช้ำติดยาก ใช้ระยะเวลาตั้งตัวนาน เลือกเฉพาะต้นที่ไม่มีโรคและแข็งแรง

การปักดำ ให้ดำระยะ 25-30 เซนติเมตร ดำต้นเดียว หรือหากต้นกล้าดูแล้วไม่ค่อยสมบูรณ์ให้ใส่ 2 ต้น แต่โดยปกติทั่วไปจะใส่ต้นเดียว ให้ดำเป็นแถวเพื่อแบ่งพื้นที่ให้ข้าวได้หากินได้เท่าๆ กัน และง่ายในการดูแลรักษา ให้ดำตื้นๆ พอให้ข้าวพยุงตัวไม่ล้ม อย่าปักดำลึกเกินไปข้าวจะแตกกอช้า

แตกกอดีมาก

วิธีดูแลรักษา

การกำจัดวัชพืช หากกำจัดวัชพืชหลังปักดำ 2 สัปดาห์ จะทำได้ง่าย และจะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อาจใช้เครื่องทุ่นแรงช่วย เช่น เครื่องกำจัดหญ้า Rotary Weeder หรือใช้เครื่องตัดหญ้าช่วยพรวนหญ้า จะทำให้ประหยัดเวลา การควบคุมวัชพืชโดยการขังน้ำในแปลงนา ประมาณ 10 เซนติเมตร จะทำให้วัชพืชเกิดน้อยลง การควบคุมและกำจัดศัตรูข้าว ป้องกันโรคไหม้โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ป้องกันหนอนและแมลงด้วย เชื้อราบิวเวอเรียป้องกันหอยเชอรี่ โดยการจับตัวออกจากแปลงนาและทำลายไข่ ป้องกันปูด้วยการจับออกและนำไปทำเป็นอาหาร

ระยะเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยว ข้าวทั่วๆ ไป ให้เก็บเกี่ยวระยะพลับพลึง แต่หากเป็นข้าวสีม่วง และสีดำ ให้เกี่ยวแก่จัด เพราะจะได้ข้าวที่มีสีสวย หากเป็นข้าวสี (สีแดง สีม่วง สีดำ) ควรจะเกี่ยวมือเพื่อลดการปนของข้าว และนวดด้วยมือ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ลดการปนของข้าว เก็บใส่กระสอบแล้วนำไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง เพื่อรอการแปรรูปต่อไป

การแปรรูป แปรรูปเป็นข้าวกล้อง ข้าวกล้องงอก และข้าวฮาง บรรจุแบบสุญญากาศ ถุงละ 1 กิโลกรัม

การตลาด ขายตามตลาดเกษตร และตลาดนัดสีเขียว ขายให้กลุ่มเพื่อนๆ ในกรุงเทพฯ ขายทางอินเตอร์เน็ต จากปี  พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน ยังคงทำนาแบบดำต้นเดียวและปลูกแบบอินทรีย์ ปลูกข้าว 5 ชนิด คือ ข้าวเจ้าหอมมะลิ 105 ข้าวเหนียว (เล้าแตก หอมทวี) ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมะลิแดง (โกเมนสุรินทร์) ข้าวเหนียวก่ำลืมผัว

นวดด้วยมือ เพื่อลดการปน

คุณสาคร บอกอีกว่า การทำนาข้าวก่ำดำต้นเดียว สามารถทำรายได้โดยเฉลี่ย 19,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งพอใจ นอกจากนี้ยังทำการเกษตรอีกหลายอย่าง โดยมีบ่อน้ำ ขนาด 1 ไร่ 2 บ่อ เพื่อเลี้ยงปลาและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ส่วนสวน 3 ไร่ ปลูกพืชผสมผสานและปลอดสารเคมี เช่น ต้นสักทอง ยางนา ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่ซางหม่น ไผ่ด้ามขวาน ไผ่บงหวานเมืองเลย ต้นเพกา มะขามเทศ ผักหวานป่า ขนุน มะม่วง กล้วย ข่าเหลือง ข่าหยวก มะละกอ พริก มะเขือ ฟักทอง ถั่วฝักยาว และมันพื้นเมือง

สีเอง
บรรจุถุงสุญญากาศ ขายในท้องถิ่นและต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม นอกจากได้ศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ แล้ว ตนยังได้เข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการเกษตรของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลักสูตร 15 วัน ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรบ้านดอนมัน ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ต้องการและยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) ด้วย

จะเห็นว่าการทำนาข้าวก่ำดำนาแบบต้นเดียว ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพทำเอง ช่วยลดต้นทุนการทำนา ไม่ใช้สารเคมีก็ลดต้นทุนและยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง และปลอดภัย ข้าวมีคุณภาพดี มีความหอม นุ่ม ยังประหยัดเมล็ดพันธุ์ การดำเป็นแถวสามารถจัดการในแปลงนาง่าย เช่น กำจัดวัชพืช การตัดพันธุ์ปน การตรวจสุขภาพข้าว และรายได้ดีคุ้มค่ากับการทำ ท่านที่สนใจจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ติดต่อ โทร. (090) 970-2577, (081) 735-0232