ผู้เขียน | อัสวิน ภักฆวรรณ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณเปรม สุวรรณรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 บ้านไร่ตก ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รวมตัวกับชาวบ้านในพื้นที่ จัดตั้งกลุ่มเพาะเห็ดโคนน้อยตามโครงการสัมมาชีพชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเสริมสร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งนี้ได้รับงบฯ สนับสนุนงบประมาณจำนวน 16,000 บาท จากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนเพาะเห็ดโคนน้อย เช่น ซื้ออุปกรณ์ และปัจจัยการผลิต และมีผู้เชี่ยวชาญในการเพาะเห็ดโคนน้อย มาแนะนำเทคนิคการเพาะ
ผู้ใหญ่เปรม ในฐานะประธานกลุ่ม เปิดเผยว่า การเพาะเห็ดโคนน้อย จะใช้วัสดุหลักเป็นขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา ซึ่งจะเจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้ดีกว่าขี้เลื่อยจากไม้อื่นๆ
สูตรการทำก้อนเห็ด ใช้ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม รำข้าว 8 กิโลกรัม ยิปซัม ปูนขาว ภูไมท์ ยูเรีย อย่างละ 1 กิโลกรัม ดีเกลือ 200 กรัม โดยนำน้ำมาผสมกับดีเกลือและยูเรียคนให้ละลาย ส่วนขี้เลื่อย รำข้าว ยิปซัม ภูไมท์ ผสมให้เข้ากัน แล้วนำน้ำที่ผสมดีเกลือกับยูเรียค่อยๆ รดลงไป คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทิ้งไว้ 1-2 วัน
จากนั้นนำส่วนผสมที่ได้มาใส่ถุงพลาสติกอัดให้แน่น น้ำหนัก ถุงละ 1 กิโลกรัม มัดปากถุง โดยใช้จุกพลาสติก ซึ่งอัตราส่วนที่ผสมกันจะได้ 120 ถุง แล้วจึงนำไปนึ่งในถังเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ ที่อุณหภูมิ 90 องศา เป็นเวลา 2 ชั่วโมง
รอให้ก้อนเห็ดเย็น แล้วจึงหยอดเชื้อเห็ด ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ เพราะเชื้ออาจตายได้ โดยเชื้อเห็ด 1 ขวด ราคา 10 บาท ใช้หยอดได้ 35-40 ก้อน แล้วนำไปบ่มเชื้อในที่ร่ม 7 วัน คอยสังเกตเมื่อมีเส้นขาวๆ ตามก้อนให้แกะจุกปากถุงออก แล้วนำไปวางในโรงเรือนพ่นน้ำเป็นฝอยๆ ให้ชุ่มแล้วคลุมด้วยผ้าใบให้มิดชิด หลังจากนั้น ประมาณ 7 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้
ผู้ใหญ่เปรม บอกว่า เห็ดโคนน้อย เจริญเติบโตเร็วมาก ประมาณ 10-15 วัน ก็สามารถเก็บขายได้ โดยเก็บวันละ 2 ครั้งเช้าเย็นหากปล่อยไว้นานเห็ดจะบานและเป็นสีดำ ตลาดไม่ต้องการ ซึ่งเห็ดแต่ละรุ่นจะให้ผลผลิตเก็บขายได้ประมาณ 15 วัน หรือเก็บได้ถึง 30 ครั้ง ราคาขายในท้องตลาด กิโลกรัมละ 180-200 บาท
“ทางกลุ่มเริ่มเพาะเห็ดมาประมาณ 2 เดือน ตลาดเริ่มเติบโตขึ้น และขณะนี้มีพ่อค้าแม่ค้าจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาติดต่อนำไปขาย ซึ่งในอนาคต อาจต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น นั่นหมายถึงรายได้ของสมาชิกที่เพิ่มขึ้นด้วย”