สวพ. 2 แนะเทคนิคใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง เพิ่มประสิทธิภาพผลิตพืช

ใส่ปุ๋ยถูกสูตร ถูกเวลา ฝักใหญ่ เมล็ดเต็มฝัก เมล็ดโคนฝักและปลายฝักมีขนาดเท่าๆ กัน

ในขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ และรัฐบาลก็ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการประกันราคา ทางรอดของเกษตรกรจึงมีอยู่ทางเดียวคือ ต้องเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง

ในขณะที่อีกวิธีการหนึ่งที่สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้อย่างเด่นชัดและแน่นอนคือ การใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพราะในปัจจุบันเกษตรกรส่วนมากยังใช้ปุ๋ยไม่ถูกสูตร ไม่ถูกเวลา และปริมาณไม่ถูกต้อง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำและมีต้นทุนการผลิตที่สูง

คุณวีรวัฒน์ นิลรัตนกุล
คุณวีรวัฒน์ นิลรัตนกุล

คุณวีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวว่า การขาดความรู้เกี่ยวกับปุ๋ยและสูตรปุ๋ย ทำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องคือ ผิดชนิด ผิดเวลา และผิดปริมาณ ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง แต่มีผลตอบแทนต่ำ ซึ่งมีตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือ การปลูกข้าวในเขตภาคกลางของประเทศ

“กล่าวคือ ชาวนาในเขตภาคกลางส่วนมากจะใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หรือปุ๋ยรองพื้นด้วยปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ในอัตราที่สูงมาก คือ 25-50 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อเร่งให้ต้นข้าวมีสีเขียวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เป็นปุ๋ยแต่งหน้าด้วยปุ๋ย สูตร 16-20-0 ในอัตราที่สูงมากเช่นกัน คือ 25-50 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งวิธีการเช่นนี้เป็นการใส่ปุ๋ยที่ไม่ถูกต้อง ผลที่ตามมาคือ ใบข้าวจะมีสีเขียวเข้ม เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่จะไม่ค่อยแตกกอ เกิดการระบาดของโรคและแมลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องพ่นสารกำจัดโรคแมลงหลายครั้ง ข้าวออกรวงไม่พร้อมกัน ทำให้ข้าวสุกแก่ไม่พร้อมกัน ต้นล้ม”

“และที่สำคัญผลผลิตต่ำและมีปริมาณเมล็ดลีบมาก เมื่อนำไปจำหน่ายจะถูกตัดราคาเนื่องจากข้าวมีความชื้นสูงและเมล็ดลีบ แต่ถ้าหากใส่ปุ๋ยได้ถูกต้องครบตามความต้องการของข้าวแล้ว คือครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ย สูตร 16-20-0 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับ สูตร 0-0-60 อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ครั้งที่ 2 ใส่เฉพาะ สูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ข้าวจะแตกกอดี ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย ออกรวงพร้อมกัน ต้นไม่ล้ม เมล็ดสุกแก่พร้อมกัน เมล็ดเต็ม แกร่ง มีความชื้นต่ำ และมีผลผลิตสูง” คุณวีรวัฒน์ กล่าว

จะเห็นได้ว่า การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องจะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวได้อย่างมหาศาล ตั้งแต่ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยลงเพราะข้าวแตกกอดีขึ้น การใช้ปุ๋ยปริมาณลดลงมากกว่าครึ่ง พ่นสารป้องกันและกำจัดโรคแมลงน้อยลงหรือไม่ต้องพ่นเลย แต่ได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น เมื่อคิดค่าใช้จ่ายที่ลดลงจะมีมูลค่ามหาศาลนับเป็นหมื่นล้านบาทต่อปี

แปลงอ้อยใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร
แปลงอ้อยใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร

การที่เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ในเบื้องต้นเกษตรกรจะต้องมีความรู้เรื่องปุ๋ยสูตรปุ๋ย ธาตุอาหาร และหน้าที่ของธาตุอาหารพืช การใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกเวลา ถูกวิธี และถูกปริมาณ และสุดท้ายการผสมปุ๋ยใช้เอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปุ๋ย หมายถึง วัตถุหรือสารที่ใส่ลงในดิน หรือพ่นทางใบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช และพืชนำไปใช้ประโยชน์ได้

ธาตุอาหารพืช หมายถึง ธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยหรือในดินที่พืชจำเป็นต้องใช้เพื่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งพืชจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้จนครบชีพจักร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 17 ธาตุ โดยมีอยู่ 3 ธาตุที่พืชได้จากน้ำและอากาศฟรีๆ ไม่ต้องซื้อมาใส่ให้พืช คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ส่วนอีก 14 ธาตุ ได้จากแร่ธาตุในดิน ถ้าขาดต้องเติมให้พืช แบ่งตามความต้องการของพืชได้ดังนี้

ธาตุอาหารหลัก มี 3 ธาตุ คือ ไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) ที่พืชต้องการในปริมาณมาก และดินโดยทั่วไปมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มให้กับพืชในรูปของปุ๋ยสูตรที่เกษตรกรซื้อมาใช้นั่นเอง

ธาตุอาหารรอง มี 3 ธาตุ คือ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน ปริมาณที่พืชต้องการใกล้เคียงหรือมากกว่าฟอสฟอรัส เหตุที่จัดเป็นธาตุรอง เพราะในดินทั่วไปมักมีเพียงพอกับความต้องการของพืช และเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดิน มักมี 3 ธาตุนี้ปนลงไปด้วยเสมอ

จุลธาตุ พืชต้องการเพียงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถขาดได้ ธาตุเหล่านี้ ได้แก่ แมงกานีส เหล็ก ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม คลอรีน และนิเกิล บางครั้งเรียกธาตุเหล่านี้ว่า ธาตุอาหารเสริม เนื่องจากต้องให้เสริมจากธาตุอาหารหลัก

สูตรปุ๋ย ก็คือ ตัวเลข 3 ตัว ที่มีขีดคั่นระหว่างตัวเลข เพื่อแสดงถึงปริมาณธาตุอาหารที่รับรองว่ามีอยู่ในปุ๋ยตามกฎหมาย โดยตัวเลขจะหมายถึงร้อยละโดยน้ำหนักของธาตุอาหารไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) ตามลำดับ ไม่มีการสลับที่ เช่น ปุ๋ย สูตร 16-20-0 หมายความว่า ปุ๋ยน้ำหนัก 100 กิโลกรัม มีธาตุอาหารเอ็น 16 กิโลกรัม พี 20 กิโลกรัม และ เค 0 กิโลกรัม ดังนั้น ปุ๋ย สูตร 16-20-0 หนึ่งกระสอบ ซึ่งมีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม จะมีธาตุเอ็น 8 กิโลกรัม พี 10 กิโลกรัม และไม่มีเค อยู่เลย

ใส่ปุ๋ยถูกต้อง ฝักข้าวโพดกางออกจากต้น
ใส่ปุ๋ยถูกต้อง ฝักข้าวโพดกางออกจากต้น

นอกจากปริมาณธาตุอาหารเอ็น พี เค ที่มีอยู่ในสูตรปุ๋ยแต่ละสูตรแล้ว เกษตรกรควรจะต้องรู้จักหน้าที่ของธาตุอาหารต่อการเจริญเติบโตของพืชด้วย กล่าวคือ ธาตุอาหารเอ็น จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและตั้งตัวได้ไว โดยเฉพาะในระยะแรกของการเจริญเติบโต การเจริญของลำต้น ใบ ทำให้ต้นและใบมีสีเขียว ควบคุมการออกดอก ติดผล เพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะพืชกินใบและต้น ส่วนพี จะช่วยกระตุ้นการสร้างรากในช่วงแรกของการเติบโต การตั้งตัวของพืช การแตกกอ การสร้างตาดอกและเมล็ด ขยายขนาดเมล็ด และการสุกแก่ ในขณะที่เค ช่วยในการดูดน้ำและอาหาร และขนส่งไปส่วนต่างๆ ของลำต้น ทำให้พืชแข็งแรง ต้านทานโรค กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสง ช่วยการสะสมอาหาร เพิ่มน้ำหนักและคุณภาพของผลผลิต

คุณวีรวัฒน์ ยังได้แนะนำวิธีการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญ ที่เกษตรกรควรทราบและนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย 1. ถูกสูตร คือการใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักให้ครบ 2. ถูกเวลา คือใส่ปุ๋ยให้ทันกับความต้องการของพืช จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3. ถูกวิธี ใส่แล้วกลบ หรือใส่เมื่อดินมีความชื้น พืชได้รับปุ๋ยเต็มที่ ลดการสูญเสีย และ 4. ถูกปริมาณ ให้มีปริมาณธาตุอาหารให้พอเพียงกับความต้องการของพืช โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้

  1. 1. ถูกสูตร การใส่ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารเอ็น พี เค ครบทั้ง 3 ตัว เพราะธาตุอาหารแต่ละตัวไม่สามารถทำหน้าที่ทดแทนกันได้ และถ้าใส่ครบทั้ง 3 ตัว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละตัวให้ดีขึ้น
  2. 2. ถูกเวลา การใส่ปุ๋ยให้ทันต่อการเจริญเติบโต หรือทันกับความต้องการของพืชจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยทั่วไปในพืชล้มลุก เช่น พืชไร่หรือพืชผัก จะแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก โดยใส่ปุ๋ยเอ็นครึ่งหนึ่งของคำแนะนำ ปุ๋ยพีใส่รองพื้นครั้งเดียวทั้งหมด ส่วนปุ๋ยเคจะใส่รองพื้นครั้งเดียวทั้งหมดหรือแบ่งใส่ 2 ครั้งก็ได้ ครั้งที่ 2 เมื่อพืชมีอายุประมาณ 25-30 วัน หรือพร้อมกับการกำจัดวัชพืช โดยใส่เฉพาะเอ็น และเค ที่เหลือ

เหตุผลที่ต้องแบ่งใส่ปุ๋ยเอ็น 2 ครั้ง เนื่องจากพืชต้องการใช้เอ็นตลอดระยะเวลาการเจริญเติบโต และสูญเสียไปกับน้ำได้ง่าย จึงควรแบ่งใส่เท่าๆ กัน ในขณะที่ปุ๋ยพี พืชต้องการใช้ในการสร้างราก การตั้งตัว การแตกกอ การสร้างรวงและเมล็ด โดยพืชจะค่อยๆ ดูดไปสะสมในลำต้นและใบก่อนนำไปใช้ ในขณะเดียวกัน ปุ๋ยพีเคลื่อนย้ายได้น้อยและสะสมในดิน จึงไม่ต้องห่วงว่าจะสูญเสียไปกับน้ำ ดังนั้น จึงควรใส่ปุ๋ยพีให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันใช้ โดยใส่ครั้งแรกทั้งหมดครั้งเดียว ในส่วนของปุ๋ยเค พืชต้องการมาก สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงควรใส่ปุ๋ยเคให้เร็วที่สุด โดยใส่ครั้งแรกทั้งหมดครั้งเดียวพร้อมกับปุ๋ยพี หรือแบ่งใส่ 2 ครั้ง เท่าๆ กัน

  1. 3. ถูกวิธี คือใส่แล้วกลบ ทำให้พืชได้รับปุ๋ยเต็มที่ ลดการสูญเสียจากระเหิด ในการใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 ถ้าไม่สามารถกลบได้ ให้ใส่เมื่อดินมีความชื้น
  2. 4. ถูกปริมาณ ใส่ปุ๋ยให้มีปริมาณธาตุอาหารเอ็น พี และเค เพียงพอกับความต้องการ โดยใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร การใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอกับความต้องการของพืชไม่สามารถยกระดับผลผลิตของพืชให้สูงขึ้นได้

การผสมปุ๋ยใช้เอง โดยการนำแม่ปุ๋ย สูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 มาผสมกันให้ได้ปริมาณธาตุอาหารตามที่ต้องการ นอกจากจะทำให้เกษตรกรสามารถใส่ธาตุอาหารได้ตรงตามปริมาณที่พืชต้องการแล้ว การผสมปุ๋ยใช้เองยังช่วยให้ประหยัดค่าปุ๋ยลงได้อย่างน้อย 20-30% เมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยสูตร ช่วยลดแรงงานค่าใส่ปุ๋ย และลดค่าขนส่งได้อีกด้วย

รวงออกพร้อมกัน
รวงออกพร้อมกัน

คำแนะนำการใส่ปุ๋ย ข้าว ข้าวโพด และอ้อย ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยการผสมปุ๋ยใช้เอง ดังนี้

– ข้าว ครั้งที่ 1 ใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 5 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับปุ๋ย สูตร 18-46-0 อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ และปุ๋ย สูตร 0-0-60 อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ครั้งที่ 2 ใส่เป็นปุ๋ยแต่งหน้า โดยใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ เพียงอย่างเดียว โดยต้นข้าวที่ได้ปุ๋ยครบเพียงพอและทันเวลา จะแตกกอดี ใบแคบและตั้ง ต้นโต ไม่ล้ม รวงออกสุด สม่ำเสมอ รวงใหญ่ แน่น เมล็ดแกร่ง และน้ำหนักดี ไม่มีโรคและแมลงทำลาย ผลผลิตสูง

6

– ข้าวโพด ครั้งที่ 1 เป็นปุ๋ยรองพื้น ใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับปุ๋ย สูตร 18-46-0 อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ และปุ๋ย สูตร 0-0-60 อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ครั้งที่ 2 เป็นปุ๋ยแต่งพร้อมทำรุ่น โดยใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 17 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับปุ๋ย สูตร 0-0-60 อัตรา 7 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยต้นข้าวโพดที่ได้ปุ๋ยครบเพียงพอและทันเวลา ต้นแข็งแรง การเจริญเติบโตสม่ำเสมอตลอดทั้งแปลง ใบล่างไม่มีอาการเหลืองแห้ง ฝักข้าวโพดจะกางออกจากต้น เมล็ดเต็มฝัก และขนาดเมล็ดที่โคนฝักและปลายฝักจะมีขนาดเท่าๆ กัน น้ำหนักฝักต่อกระสอบจะสูงขึ้น และจำนวนกระสอบต่อไร่เพิ่มขึ้น

– อ้อย คำแนะนำปุ๋ยอ้อยแบ่งออกเป็นอ้อยปลูกและอ้อยตอ เนื่องจากมีระยะเวลาการเจริญเติบโตต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

อ้อยปลูก ครั้งที่ 1 เป็นปุ๋ยรองพื้นในร่องอ้อยพร้อมปลูก ใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 12 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับปุ๋ย สูตร 18-46-0 อัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่ และปุ๋ย สูตร 0-0-60 อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ครั้งที่ 2 เป็นปุ๋ยแต่งหน้าระยะแตกกอ (อายุ 2-3 เดือน) ใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับปุ๋ย สูตร 0-0-60 อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่

อ้อยตอ ใส่ครั้งที่ 1 เป็นปุ๋ยรองพื้นพร้อมตัดรากอ้อย ใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 13 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับปุ๋ย สูตร 18-46-0 อัตรา 22 กิโลกรัม ต่อไร่ และปุ๋ย สูตร 0-0-60 อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ครั้งที่ 2 เป็นปุ๋ยแต่งหน้าระยะแตกกอ ใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 26 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับปุ๋ย สูตร 0-0-60 อัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่

ต้นอ้อยที่ได้ปุ๋ยครบและเพียงพอ หน่อจะสมบูรณ์ มีขนาดใหญ่ รอดเป็นลำเยอะ การแตกกอดี โดยจะแตกกอเต็มร่องตั้งแต่อายุ 4 เดือน ลำมีขนาดใหญ่และสม่ำเสมอตลอดลำ น้ำหนักดี ต้นไม่ล้ม ต้านทานโรค และมีความหวานสูง

สำหรับคำแนะนำเรื่องปุ๋ย รวมถึงพืชชนิดอื่นๆ ผู้สนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก 61530 โทรศัพท์ (055) 311-305