ปลูกพริกสลับผักชี อาศัยน้ำฝน ได้ผลดี ผลักดันก้าวสู่การผลิตแบบชีวภาพ

สภาพแปลงปลูกพริกที่ใช้สารอินทรีย์ชีวภาพมาช่วยในการผลิต

พริก กับคนไทยเป็นของคู่กันมาช้านาน ในสำรับกับข้าวของคนไทยจึงไม่เคยขาดอาหารจานเผ็ด ไม่ว่าจะเป็น ต้ม ผัด แกง แม้แต่ของทอดยังต้องมีน้ำจิ้มรสเผ็ดเป็นของคู่กัน แต่ในวันนี้วันที่คนกินหวาดหวั่นพรั่นพรึงกับสารเคมีที่ปะปนอยู่กับผลผลิตเกษตร

ที่กาญจนบุรี สวนพริกที่นี่พยายามจะใช้สารอินทรีย์ชีวภาพให้มากขึ้น ลดสารเคมีให้น้อยลง อยู่ในระดับที่สมดุลเพื่อไม่ให้ตกค้างมาถึงคนกินอย่างเราท่าน เกษตรกรผู้ปลูกพริกที่นี่มีดีอย่างไร

ปลูกพริกอาศัยน้ำฝน

คุณสมยศ นิลเขียว
คุณสมยศ นิลเขียว

คุณสมยศ นิลเขียว เกษตรกรผู้ปลูกพริกที่บ้านโป่งกะอิฐ ตำบลหนองขาว อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี คุณสมยศ เล่าว่า มีพื้นที่ปลูกพริกอยู่ 3 ไร่ ในแต่ละปีจะปลูกพืชหมุนเวียนคือ ปลูกผักชีสลับกับพริก โดยจะหว่านผักชีก่อนในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากหว่านแล้ว 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผักชีได้ จากนั้นจึงตัดหญ้าโดยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพาย ตัดหญ้าออกให้หมดก่อนที่จะปลูกพริกต่อไป สำหรับพริกที่คุณสมยศปลูกจะใช้พริกพันธุ์ดวงมณี ซึ่งเป็นพริกพันธุ์เบา ข้อดีของพริกพันธุ์นี้คือ ออกผลผลิตได้ก่อนพันธุ์อื่นๆ มีต้นเตี้ย แต่มีปัญหาอยู่บ้างคือ พริกพันธุ์นี้ไม่ค่อยทนต่อโรค คุณสมยศ บอกว่า การปลูกพริกของเกษตรกรในเขตนี้จะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยจะเริ่มต้นปลูกพริกช่วงเดือนเมษายน เกษตรกรจะใช้ต้นกล้าพริกที่เพาะไว้ ซึ่งมีอายุประมาณ 1 เดือน ปลูกเป็นแถว ระยะห่างประมาณ 30×30 เซนติเมตร หลังจากปลูกแล้วจะให้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ที่มีสูตร ขี้หมู น้ำหมักหมู (ขี้หมู ผสมน้ำแช่เศษผัก 1 คืน) ฉีดพ่น ในส่วนวัชพืช หญ้าต่างๆ ก็จะใช้วิธีถอนเอา แทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช

ใช้เคมีผสมอินทรีย์ เก็บผลผลิตได้เกือบ 7 เดือน

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
การเก็บเกี่ยวผลผลิต

คุณสมยศ เล่าต่อไปว่า ผมพยายามเรียนรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรในเขตนี้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพให้มากขึ้น โดยตัวของผมเองได้พยายามนำมาใช้ก่อน เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นผล ใช้อินทรีย์ชีวภาพผสมกับปุ๋ยเคมีซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

วิธีการดูแลแปลงพริกของคุณสมยศมีดังนี้ ก่อนพริกออกดอกจะให้ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หรือ ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอก็ได้ ให้ในอัตรา ไร่ละ 5 กิโลกรัม โดยโรยปุ๋ยใต้ทรงพุ่มพริก ส่วนสารเคมีฆ่าหญ้า กำจัดวัชพืชนั้น คุณสมยศจะไม่ใช้ แต่ใช้การถอนเป็นหลัก พริกที่ปลูกคุณสมยศจะเก็บครั้งแรกหลังจากปลูกไปได้ประมาณ 3 เดือน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปได้จนถึง 7 เดือน คือสิ้นสุดที่เดือนธันวาคม ผลผลิตก็จะลดลงจนไม่คุ้มค่าจ้างเก็บเกี่ยว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝนด้วย หากปีไหนฝนดีก็อาจจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานกว่านั้นด้วย

ผลผลิต ไร่ละ 1 ตัน

ผลผลิตโดยรวม ประมาณ ไร่ละ 1 ตัน ต่อครอป
ผลผลิตโดยรวม ประมาณ ไร่ละ 1 ตัน ต่อครอป

คุณสมยศ บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเก็บได้น้อยหน่อย แต่หลังจากนั้นผลผลิตจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การเก็บเกี่ยวจะเลือกเก็บเฉพาะพริกเมล็ดแดง หรือแบบที่ชาวบ้านเรียกว่า มันปู หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกแล้วก็จะเก็บเกี่ยวได้อีกทุกสัปดาห์ ปริมาณผลผลิตที่เก็บได้คือ ครั้งละประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ในช่วงที่พริกให้ผลผลิตคุณสมยศจะฉีดน้ำหมักหมูทุกสัปดาห์ และจะต้องหมั่นตรวจสอบโรคระบาดในแปลงพริกอย่างสม่ำเสมอ จะต้องคอยตรวจดูว่ามีโรคระบาดในแปลงข้างเคียงหรือไม่ ระบาดในแปลงของเราหรือไม่ หากมีโรคแอนแทรกโนสระบาดให้ใช้เคมีป้องกันกำจัด แต่คุณสมยศบอกว่าเรื่องโรคระบาดของพริกในพื้นที่โซนนี้มีไม่มากนัก โรคระบาดไม่หนัก ในส่วนแมลงศัตรูพืชก็ยังมีน้อย มีปัญหาไส้เดือนฝอยระบาดอยู่บ้าง แต่ก็แก้ไขได้โดยต้องทิ้งดินไว้สักระยะก่อนจะปลูกใหม่ ไส้เดือนฝอยก็จะหายไป ส่วนหนอนมีการระบาดบ้างแต่ยังไม่ถึงกับเสียหายมากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากมีการปลูกพืชหมุนเวียนหลายชนิดในพื้นที่ จึงทำให้ศัตรูพืชต่างๆ ยังไม่รุนแรง สำหรับปริมาณผลผลิตพริกของคุณสมยศ ตั้งแต่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จนถึงต้นพริกตาย จะได้ผลผลิตประมาณ ไร่ละ 1 ตัน

เกษตรกรปรับตัวขานรับอินทรีย์ชีวภาพ

คุณสุกัญญา อำนวย
คุณสุกัญญา อำนวย

คุณสุกัญญา อำนวย เกษตรกรผู้ปลูกพริกอีกท่านหนึ่งที่หันมาสนใจการผลิตพริกแบบอินทรีย์ชีวภาพ ควบคู่กับการใช้เคมีในแบบที่เหมาะสม

คุณสุกัญญา เล่าว่า หันมาใช้ปุ๋ยแบบอินทรีย์ชีวภาพ ควบคู่กับการใช้เคมีมาหลายปีแล้ว พบว่าปริมาณผลผลิตก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และยังลดต้นทุนได้อย่างดี ก็เพราะเราปลูกพริกแบบอาศัยน้ำฝน หากปีใดฝนดี ผลผลิตเราก็ดีไปด้วย หากช่วงที่ฝนหมดไปยังมีความชื้นสูง พริกของเราก็ยังได้ความชื้นจากน้ำค้างมาช่วย แต่หากปีไหนฝนน้อย ความชื้นต่ำ ผลผลิตพริกก็มีน้อย ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนของลมฟ้าอากาศที่เรากำหนดไม่ได้ แต่เรายังสามารถกำหนดต้นทุนได้จากการปรับเปลี่ยนไปใช้สารอินทรีย์ชีวภาพเพิ่มขึ้น ก็เป็นการลดต้นทุนลงได้เป็นอย่างดี

เพิ่มการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพลดต้นทุนลงได้ 60%

คุณสมยศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับผลผลิตพริกในเขตนี้จะมีคนซื้อคือ พ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะมาพร้อมคนงานเก็บผลผลิต ผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งไปที่ตลาดไทและส่งโรงงาน ราคาผลผลิตจากไร่แต่ละปีจะต่างกันไป ตั้งแต่ราคาค่อนข้างต่ำ ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ไปจนถึงราคาสูงที่สุดที่เคยขายได้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท คุณสมยศนั้นปลูกพริกมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ขายผลผลิตรวมได้ไร่ละประมาณ 50,000 บาท ต่อปี ตัวเลขนี้คุณสมยศยืนยันว่ามาจากการที่พยายามใช้สารอินทรีย์ชีวภาพให้มากขึ้น ผสมผสานกับการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี เท่าที่จำเป็น

คุณสมยศ บอกว่า จากการทดลองทำอย่างนี้มาหลายปี พบว่าผลผลิตพริกที่ได้มีปริมาณไม่แตกต่างจากการผลิตแบบใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี อย่างเดียว แต่ต้นทุนการผลิตแบบใช้สารอินทรีย์ชีวภาพต่ำกว่ามาก นอกจากนั้น เมล็ดพันธุ์ที่ใช้คุณสมยศยังเลือกใช้พริกสายพันธุ์ธรรมชาติ ไม่ใช้พันธุ์ลูกผสม จึงสามารถเก็บเมล็ดตากแห้งไว้ทำพันธุ์ได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

1469335866เป็นวิถีการเกษตรของคนรุ่นใหม่ที่สนใจในความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ รอบตัว ใครอ่านแล้วสนใจใคร่เรียนรู้ อยากสอบถามพูดคุยกับ คุณสมยศ นิลเขียว โทร.ไปได้ที่ (087) 082-9088

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559