พลิกผืนป่าให้มีคุณค่า ด้วยผักหวานป่า อาหารของคนอีสาน หายากขึ้นทุกวัน

เตรียมต้นผักหวานพร้อมที่จะตอนกิ่ง

คุณบุญ แก้วภิภพ เกษตรกรเจ้าของสวนผักหวานป่า เล่าว่า มีพื้นที่ทั้งหมด 49 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่นา 30 ไร่ อ้อย 14 ไร่ และพื้นที่ป่าซึ่งมีพื้นที่ป่าเต็งรังเป็นป่าไม้ผลัดใบ ประมาณ 5 ไร่

คุณบุญ แก้วภิภพ เจ้าสวนผักหวานป่า
คุณบุญ แก้วภิภพ เจ้าสวนผักหวานป่า

             ในช่วงปี 2551 เริ่มมีแนวความคิดอยากทำการเกษตรที่นอกเหนือจากทำนาข้าว จึงมาพิจารณาสวนผืนป่าเต็งรังที่มีอยู่ หากทำไร่ก็ต้องถางป่า ตัดต้นไม้ออก เกิดความเสียดายต้นไม้ และยังเป็นการทำลายแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ทั้งพืชผักท้องถิ่น ทั้งเห็ดป่า และสัตว์ป่า ดังนั้น จึงปรึกษากับครอบครัว หาข้อมูล สรุปว่า ผักหวานป่า เหมาะที่สุด เนื่องจากในพื้นที่ป่ามีต้นผักหวานป่าอยู่เดิมแล้ว และเป็นอาหารของคนอีสานที่ชอบรับประทาน ประกอบกับช่วงนั้นต้นผักหวานป่าตามธรรมชาติเริ่มลดลง หายาก จึงมีแนวคิดอยากลองปลูก ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ป่าไปในตัว สวนกระแสของคนท้องถิ่นที่ถางป่าทำไร่ในขณะนั้น จึงถูกมองว่าเป็นคนสวนกระแส ปลูกในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะผักหวานป่าปลูกยาก มีคนในพื้นที่ลองปลูกมาแล้วหลายคนก็ไม่สามารถดูแลรักษาให้รอดได้ ยิ่งทำให้อยากลองเพื่อพิสูจน์ตนเองให้คนอื่นๆ เห็นว่า ทำได้ 

             จึงตัดสินใจหาข้อมูล เดินทางหาเมล็ดผักหวาน ต้นกล้าผักหวาน มาลองปลูก โดยมีแนวคิดที่ว่า ปลูกไว้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้นครั้งแรก ปลูกไปประมาณ 200 ต้น แซมกับป่าธรรมชาติ อาศัยร่มเงาจากต้นไม้เต็งรังในป่า มีการดูแลรักษามาเรื่อยๆ ก็มีต้นที่ตายไปบ้าง บางต้นเติบโต บางต้นไม่เติบโต ปีถัดมาจึงสั่งกิ่งตอนจากสระบุรีมาลองปลูก และเริ่มสังเกต/ทดสอบวิธีการปลูก เพื่อให้เหมาะสมกับสวนป่า ซึ่งในขณะที่ปลูกผักหวานป่า ก็มีการเลี้ยงมดแดงในต้นไม้ผล ไม้ยืนต้น (ต้นสะเดา) ไว้ด้วย เนื่องจากมองว่า ผักหวานป่าต้องแกงใส่ไข่มดแดง จึงดูแลควบคู่กันมา โดยมีวิธีการปลูกผักหวานป่าในสวนป่าเต็งรังทั้งแบบเพาะเมล็ดเอง ซื้อต้นกล้ามา และกิ่งตอน ปะปนกันไป

 

ทดลองเพาะเมล็ด 2 แบบ

  1. เพาะเมล็ดเอง แล้วนำลงอนุบาลในถุงดำ เมื่อต้นมีขนาดความสูง 3-5 เซนติเมตร นำลงหลุมปลูก
  2. เพาะเมล็ดเอง เมื่อรากงอก ประมาณ 1 เซนติเมตร เอาลงหลุมปลูก
เพาะเมล็ดผักหวานป่าไว้จำหน่าย
เพาะเมล็ดผักหวานป่าไว้จำหน่าย

             พบว่า แบบที่ 2 ได้ผลดี เติบโตดี เนื่องจากรากไม่ได้รับความกระทบกระเทือน ผักหวานป่ารากมีความเปราะบางมาก เนื่องจากเป็นรากสะสมอาหาร หากขาดหรือหักจะชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด จึงได้ค้นพบตามวิธีการของตนเองว่า รักษารากไม่ให้ขาดและไม่ให้เสียหาย ผักหวานป่าจะรอดและเติบโตได้ดี

 

ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง

  1. เลือกกิ่งตอนขนาดพอประมาณ ไม่แก่เกินไป ตอนกิ่งโดยสังเกตตุ้มตอนสม่ำเสมอ หากตุ้มตอนแห้งให้เติมน้ำในตุ้มตอน เมื่อตอนได้ 1-2 เดือน จะเริ่มเห็นรากสีขาว เมื่อรากมีปริมาณมากขึ้นและมีสีเขียว ประมาณ 4 เดือน สามารถตัดไปแช่น้ำยาเร่งราก และปลูกได้เลย ซึ่งในสวนไม่มีการชำในถุงดำ จะปลูกลงหลุมจริงทันที เพื่อป้องกันรากไม่ให้เกิดความเสียหาย (ตอนกิ่งในช่วงต้นฝน รากจะมีความสมบูรณ์กว่าตอนกิ่งในช่วงฤดูแล้ง)
  2. สำหรับการปลูกด้วยกิ่งตอน สามารถเก็บผลผลิตได้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง ซึ่งการเจริญเติบโตของผักหวานป่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้ง ดิน น้ำ อากาศ ให้ท่านสังเกตและพิจารณาตามพื้นที่เป็นกรณีไป
  3. การตอนกิ่งในช่วงต้นฝน ใช้เวลา 4 เดือน สามารถนำกิ่งไปปลูกได้ แต่หากเป็นช่วงฤดูหนาว ใช้เวลา 5-6 เดือน จึงสามารถตัดกิ่งไปปลูกได้ เนื่องจากฤดูหนาวรากจะออกช้ากว่าการตอนกิ่งในฤดูกาลอื่นๆ
ผักหวานป่ากิ่งตอนตัดมาเพื่อชำถุง
ผักหวานป่ากิ่งตอนตัดมาเพื่อชำถุง

 

ผักหวานป่าในสวน

  1. ใบมนใหญ่ ยอดเหลือง แตกยอดดี โตเร็ว
  2. ใบแหลมใหญ่ ยอดเหลือง แตกยอดดีโตเร็ว
  3. ใบแหลมเล็ก ยอดเขียว แตกยอดไม่ดี โตช้า

            ซึ่งสวนตาบุญ เน้นการเลือกพันธุ์/ขยายพันธุ์ จากต้นที่ใบมนใหญ่และใบแหลมใหญ่ เท่านั้น ส่วนใบแหลมเล็กเป็นผักหวานที่เกิดเองตามธรรมชาติ เราเก็บไว้เป็นการศึกษาแก่ผู้มาเยี่ยมเยียน ไม่ขยายพันธุ์เพิ่มเติม เนื่องจากไม่ค่อยแตกยอด ให้ผลผลิตไม่ดี ยอดแข็ง แกงไม่อร่อย

            ในปี 2558 ในสวนมีผักหวานป่าที่ปลูกโดยเพาะเมล็ดและกิ่งตอน รวมแล้วประมาณ 1,000 กว่าต้น (ปลูกมา 7 ปี) ในปี 2559 คาดว่าจะปลูกขยายเพิ่มโดยเมล็ดและกิ่งตอนที่ได้จากสวนตนเองอีก (ในฤดูกาลนี้ ผักหวานป่ากิ่งตอนบางต้นได้ติดผลแล้ว อายุ 7 ปี)

 

เทคนิคทำสวน

  1. คัดเลือกผักหวานป่าสายพันธุ์ดี เนื่องจากผักหวานป่ามีหลายแบบ หากได้พันธุ์ไม่ดีทำให้เสียเวลาในการปลูกและดูแลรักษา ต้องพิจารณาในรอบคอบ หาซื้อพันธุ์ในแหล่งที่เชื่อถือได้
  2. ทดลองวิธีการปลูกที่เหมาะสมสำหรับสภาพดิน อากาศ ของสวนตนเองในปริมาณน้อยๆ ก่อน เมื่อพบวิธีที่ดีที่สุด ค่อยขยายเพิ่มขึ้น
  3. ต้องมีความสม่ำเสมอในการดูแลรักษา การให้น้ำ การให้ปุ๋ย ทั้งทางดินและทางใบ รวมทั้งสังเกตการเจริญเติบโตของแต่ละต้น แต่ละชนิด เฝ้าระวังศัตรูพืชด้วย
  4. ปลูกปีละไม่เกิน 200 ต้น เพื่อให้สามารถดูแลได้ทั่วถึง เมื่อต้นผักหวานป่าสามารถหาอาหารเองได้แล้วค่อยเพิ่มปริมาณ หากปลูกปริมาณมากครั้งเดียว ดูแลไม่ทั่วถึง อาจทำให้เราเสียเวลา ต้นผักหวานตายได้ โดยเฉพาะฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำ
  5. ปลูกด้วยเมล็ด ใช้เวลา 4 ปีขึ้นไป สามารถเก็บผลผลิตได้ (แต่ต้นยังไม่โตเท่าที่ควร) สำหรับปลูกด้วยกิ่งตอน 1 ปีครึ่ง สามารถเก็บผลผลิตได้ ผลผลิตส่วนใหญ่ในสวนปัจจุบันได้จากต้นกิ่งตอนเป็นหลัก (กิ่งตอนเติบโตได้ดี ได้ผลผลิตเร็ว โตเร็ว ยังไม่พบข้อเสียของกิ่งตอน)
  6. ปลูกพืชอื่นผสมผสานด้วย เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้มีกินตลอดปี ให้สามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน สำหรับการขยายพันธุ์กิ่งตอนจำหน่าย ในปี 2558 เป็นปีแรกที่ทางสวนเปิดจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ (กิ่งตอนส่วนหนึ่งได้เก็บไว้ขยายในสวนตนเอง) พร้อมแนะนำวิธีการปลูกให้ได้ผลดี สำหรับ ปี 2559 คาดว่าจะสามารถผลิตกิ่งตอนได้ในปริมาณ 600-1,000 กิ่ง จำหน่ายในราคากิ่งละ 150 บาท และ 200 บาท ตามขนาดของกิ่ง

            สำหรับการขยายพันธุ์แบบเพาะเมล็ด ทางสวนได้เพาะเมล็ดผักหวานป่าพันธุ์ยอดเหลือง พันธุ์ดีจำหน่ายทุกปี โดยใช้ถุงขนาด 12.5x4 นิ้ว (ถุงเพาะกล้ายางพารา) เพื่อรักษารากผักหวานป่าไม่ให้ขาดและขดในถุงมากเกินไป เมื่อนำไปปลูกแล้วเจริญเติบโตได้ดี ต้นกล้าที่เปิดจำหน่ายอายุจะไม่เกิน 4 เดือน เพื่อให้ลูกค้าได้ต้นกล้าที่พอเหมาะกับการปลูก และสามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ต่อไปต่อไต่อได้ด

คุณสุธาริน แก้วภิภพ ลูกสาวกำลังเตรียมกิ่งตอนไปชำ
คุณสุธาริน แก้วภิภพ ลูกสาวกำลังเตรียมกิ่งตอนไปชำ

            ท่านใดสนใจสอบถาม/สั่งซื้อ กิ่งตอนผักหวานป่า ต้นกล้าผักหวานป่า หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปลูกผักหวานป่าภาคอีสาน ติดต่อได้ที่ สวนตาบุญผักหวานป่า คุณบุญเลิศ แก้วภิภพ บ้านโต่งโต้น หมู่ที่ 7 ตำบลโนนสะอาด อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู โทร. (092) 941-4941 และ (093) 513-4668 หรือ เฟซบุ๊ก Sutharin kaewphipho

            สวนผสมผสานตามแนวคิด “อยากกินอะไรก็ปลูก” ในสวนนี้ ไม่ได้มีแต่ผักหวานป่าเพียงอย่างเดียว สวนนี้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งพืชปลูกบริโภคและไม้ป่าท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์ คือในป่าปลูกผักหวานป่าและพืชอาหารป่าท้องถิ่น เช่น ดอกกระเจียว อีรอก ผักสาบ และเห็ดป่าตามฤดูกาล ในพื้นที่บริเวณโดยรอบก็มีการปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้น เช่น แก้วมังกร กล้วย มะม่วงชนิดต่างๆ น้อยหน่า ไม้ผลตามฤดูกาล ไผ่บงหวานกินสดได้ ไผ่เลี้ยง สะเดาทะวายออกดอกตลอดปี หวายหนามขาว เพกาเตี้ย และพืชผักตามฤดูกาล รวมทั้งเลี้ยงมดแดง เพื่อบริโภค หากเหลือก็จำหน่ายในตลาดชุมชน ถือเป็นผืนป่าเล็กๆ ที่สามารถเรียกว่า “คลังอาหารของครอบครัว” มีกินได้ตลอดปี และยังเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี