คนจ.อยุธยา เก็บเห็ดตับเต่าริมรั้วช่วงหน้าฝน ขาย 4 เดือน มีรายได้เกือบ 5 แสน

ดินใต้โคนต้นโสนที่ตำบลสามเรือน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยานับเป็นสิ่งล้ำค่าราวกับขุมทรัพย์ เพราะดินจากธรรมชาติบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะเป็นที่ขึ้นของ “เห็ดตับเต่า” เห็ดที่มีหมวกลักษณะคล้ายร่มสีดำ – น้ำตาลอมเหลืองอ่อน เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 10 – 25 ซม น้ำหนักเยอะต่อ1ดอก เกือบ 2 กิโลกรัม มีขนเล็กๆ คล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาล ส่วนเนื้อของเห็ดชนิดนี้จะหนา มีความเหนียวหนึบ เมื่อนำมาต้มหรือผัด จะไม่ค่อยเละหรือแหยะเหมือนเห็ดชนิดอื่น

40740-1-713x1024

เห็ดตับเต่ามักจะขึ้นในช่วงฤดูฝน ขึ้นมากในป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าต้นสะแก ถ้าเป็นในสวนมักจะพบในสวนผลไม้ เช่น สวนไผ่ รวมถึงขึ้นมากใต้โคนต้นโสน ที่ตำบลสามเรือน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

คุณจำลอง จักรกร บ้านเลขที่ 55 หมู่ 6 ตำบลสามเรือน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หญิงสาววัย 56 ปี เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีอาชีพทำนามากว่า 100 ปี แต่ปัจจุบันเลิกทำนาแล้ว หันมาปล่อยที่นาให้คนเช่า แล้วเปิดบริษัทรับทำบัญชี รวมถึงเก็บเห็ดตับเต่าขายเฉพาะช่วงหน้าฝน ขาย 4 เดือนมีรายได้เกือบ 5 แสนบาท

คุณจำลอง เผยกับเส้นทางเศรษฐีว่า เห็ดตับเต่า เป็นเห็ดโบราณ ขึ้นเองตามทุ่งโสน บริเวณชายคลองหรือที่มีน้ำท่วมขัง ในอดีตเห็ดตับเต่าไม่มีใครสนใจ ชาวบ้านรังเกียจเสียด้วยซ้ำ เพราะลักษณะรูปร่าง สีสัน ไม่สะอาดสะอ้าน ไม่น่ารับประทานเหมือนเห็ดชนิดอื่นๆงถูกปล่อยทิ้งเน่าไปเองตามธรรมชาติ กระทั่งตอนอายุ 10 ขวบ เพิ่งรู้ว่าเห็ดชนิดนี้ คนภาคอีสานนิยมกิน อีกทั้งระยะหลังมีพ่อค้ามารับซื้อ ราคาขยับขึ้นเรื่อยๆ จากกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ปัจจุบันพ่อค้าคนกลางรับซื้อกิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนตามท้องตลาดขายกิโลกรัมละ 180- 200 บาท

ภายหลังคุณจำลองรู้ว่าเห็ดตับเต่านั้นขายได้ เธอก็เก็บขายเรื่อยมา โดยที่ไม่ได้ปลูก อาศัยเห็ดขึ้นเองบริเวณรั้วบ้าน พื้นที่ 3 ไร่ เธอจะเก็บขายเฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้น เพราะเห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นในดินที่มีความชื้นและมีน้ำชุ่มช่ำ

%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b9%87%e0%b8%94002-1024x576-728x410

“เห็ดตับเต่าชอบขึ้นในดินที่มีความชื้นสูง ดังนั้นจึงพบมากในช่วงฤดูฝน แต่อย่างไรก็ตาม เห็ดตับเต่าไม่สามารถเพาะได้เหมือนกับเห็ดชนิดอื่นๆ ปัจจัยสำคัญ คือ ดินต้องดี โดยเฉพาะบริเวณโคนต้นโสน และต้นไม้ชนิดอื่นๆ ที่โคนต้นมีดินร่วนซุย มีความชุ่มชื้นสูง ในพื้นที่ตำบลสามเรือน ซึ่งเป็นที่ลุ่มและฤดูฝนมักมีน้ำท่วมขังอยู่ตลอด ดินจึงมีความชื้นสูงและมีต้นโสนขึ้นมาก”

ปริมาณเห็ดตับเต่าที่หญิงสาวเก็บขายแต่ละครั้ง เธอบอกว่า ตลอดระยะ 4 เดือน (มิถุนายน – กันยายน) เก็บขายได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 30 – 90 กิโลกรัม และเนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง การเก็บจากธรรมชาติอย่างเดียวเริ่มไม่เพียงพอ ระยะ 2 ปีมานี้ ติดสปริงเกอร์รอบบ้าน ปล่อยน้ำวันละ 3-4รอบ เพื่อให้ดินชุ่มชื้นตลอดเวลา รวมถึงปลูกต้นโสนเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเห็ดตับเต่ามักจะขึ้นมากบริเวณภายใต้ต้นโสน

ณ ตำบลสามเรือน เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตเห็ดตับเต่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ตำบลนี้มีผู้เก็บเห็ดตับเต่าขายหลายราย เฉพาะสมาชิกกลุ่มของคุณจำลอง เธอบกว่า มีอยู่ 13 ราย แต่ละรายผลผลิตต่อรอบไม่ต่ำกว่า 1 ตัน มากสุดถึง 4 ตัน สมาชิกกลุ่มนี้จะมีรายได้จากการจำหน่ายเห็ดตับเต่ารวมกว่า 10 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

40736