ข้าวโพดตักหงาย ข้าวโพดพื้นเมือง จ.เลย พันธุ์ที่ควรอนุรักษ์

             “เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม” คำขวัญประจำจังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีหลายคนอยากมาเยี่ยมเยือนสัมผัสความหนาวเย็น และธรรมชาติที่สวยงาม ภูกระดึง เมื่อเอ๋ยชื่อต่างรู้จักทั้งชาวไทยและต่างชาติ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ จังหวัดเลย ด้วยความที่จังหวัดเลยยังคงมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดได้ผลดี และพร้อมที่จะกลายเป็นของฝากให้กับผู้มาเยือนได้

1469417728

               พืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดเลย ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มะม่วง ข้าวเปลือกเหนียวนาปี อ้อยโรงงาน มะขามหวาน มันสำปะหลัง ขิง และกล้วยน้ำว้า จึงทำให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเลย เข้ามาพัฒนาพันธุ์พืช ให้มีความแข็งแรง ปราศจากแมลงศัตรูพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร

               ข้าวโพดตักหงาย เป็นข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง เป็นข้าวโพดข้าวเหนียวเมล็ดสีม่วงที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดเลย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ เช่น อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว และมีปลูกกันบ้างในอำเภอท่าลี่และอำเภอเมือง

               ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวมกันมากกว่า 2,000 ไร่ ลักษณะเด่นของข้าวโพดตักหงาย คือ จะมีกลิ่นหอม นุ่มเหนียว และเคี้ยวไม่ติดฟัน จึงเป็นที่นิยมรับประทานของคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นที่ได้ไปเยี่ยมเยือนจังหวัดเลย นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นอีกอย่างคือ จะมีจำนวนฝักตั้งแต่ 2-6 ฝักต่อต้น ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดพันธุ์นี้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

1469417740

           แม้เกษตรกรจะมีความต้องการปลูกมากขึ้นแต่ก็ทำได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคราน้ำค้างมาก บางพื้นที่เกิดการระบาดของโรคราน้ำค้างทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 100 เปอร์เซ็นต์ สถานีทดลองพืชไร่เลยซึ่งรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาพืชไร่ในท้องถิ่น จึงได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดตักหงายให้สามารถต้านทานต่อโรคราน้ำค้างให้ผลผลิตสูง และยังคงมีรสชาติเหมือนเดิม ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถปลูกได้ในทุกท้องที่และทุกเวลาที่ต้องการปลูก อันจะทำให้มีผลผลิตข้าวโพดตักหงายออกขายตลอดทั้งปี เป็นการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร และสนับสนุนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของรัฐบาล

               ข้าวโพดตักหงาย มีราก เป็นระบบรากแขนง พบอยู่ในความลึกไม่เกิน 75 เซนติเมตร  การเจริญเติบโตเป็นไปในทางขนานกับพื้นดิน มีระบบรากอากาศ(เจริญออกมาจากข้อที่อยู่เหนือดิน) ที่ดีมาก ซึ่งรากอากาศนี้จะช่วยพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม พบมากในดินที่มีความชื้นสูงหรือแฉะน้ำ  ลำต้นตั้งตรงมีข้อและปล้องถี่ ลำต้นมีสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ และบางครั้งพบมีลำต้นสีม่วง และไม่ว่าลำต้นจะมีสีอะไรเมล็ดเมื่อแก่จัดจะสีม่วงเข้มทั้งนั้น ใบมีสีเขียวสด ใบเล็กสั้นตั้งชัน 45 องศา

              ลักษณะของดอก แบ่งออกเป็น ดอกตัวผู้ สีขาวอมเหลือง ก้านชูดอกสั้นจนดูเหมือนว่าดอกตัวผู้ออกข้างๆใบธง และถ้ามองไปยังแปลงปลูกข้าวโพดตักหงาย จะแทบไม่เห็นดอกตัวผู้เลย ส่วนดอกตัวเมีย ไหมสีขาวอมเหลือง เมื่อผสมเกสรแล้วไหมจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ อายุออกดอก 52-90 วัน ขึ้นกับฤดูปลูก เช่น ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน จะมีอายุออกดอกประมาณ 52 วัน แต่ถ้าปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งมีอากาศเย็น จะมีอายุออกดอกประมาณ 74-90วัน ขึ้นกับปีนั้นๆ จะมีอุณหภูมิต่ำขนาดไหน ฝักมีขนาดเล็ก ความยาวฝักประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีจำนวนฝักต่อต้น 4-5 ฝักและเมื่อเล็กฝักจะมีสีขาว เริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงหลังออกดอกตัวเมียไปแล้วประมาณ 20 วัน เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม

1469417754

             การปลูกและดูแลรักษา ให้เตรียมดิน ไถดะโดยใช้ผาน 3 หรือ ผาน4 แล้วตากดินไว้ประมาณ 7 วัน แล้วไถพรวน อีกครั้งเพื่อย่อยดินให้ละเอียด ส่วนการปลูกมี 3 ระยะ คือ 75x75x3 (ระหว่างแถวxระหว่างต้นxต้นต่อหลุม) หรือ 8,533 ต้น/ไร่ และ 75x75x3 หรือ 12,800 ต้น/ไร่ หรือ 75x30x1 หรือ 7,111 ต้น/ไร่

             ธาตุไนโตรเจน สำคัญต่อข้าวโพดตลอดอายุการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะต้นอ่อนจนถึงระยะสร้างเมล็ด ระยะที่ข้าวโพดต้องการธาตุไนโตรเจนมากที่สุดคือ ระยะที่ข้าวโพดออกดอกตัวผู้และดอกตัวเมียธาตุฟอสฟอรัส พบว่า ข้าวโพดต้องการฟอสฟอรัสตลอดฤดูปลูกเช่นกัน แต่ต้องการมากในระยะแรกของการเจริญเติบโต ในระยะที่ข้าวโพดแตกรากจะมีการดูดใช้ธาตุฟอสฟอรัสจากปุ๋ยมากกว่าจากดิน จนกระทั่งรากเจริญเติบโตเต็มที่จะดูดฟอสฟอรัสจากดินมากขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำให้ใส่หมดตั้งแต่ปลูก  ธาตุโพแทสเซียม มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตและความแข็งแรงของลำต้น และสร้างเมล็ด แต่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่จะมีธาตุโพแทสเซียมเพียงพอในดิน ดังนั้นจึงควรใช้ ปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 ใช้อัตรา 1 ช้อนแกงต่อ 1 หลุม เมื่อข้าวโพดอายุ 15 วัน 1 เดือน และช่วงข้าวโพดออกดอก

             เมื่อเมล็ดเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ เมื่อหลังออกดอกตัวเมีย 20 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ส่วนข้อควรระวังในการปลูกนั่นก็คือ ให้คลุกเมล็ดด้วยสารเอพรอน 7% อัตรา 7 กรัมต่อข้าวโพด 1 กิโลกรัม เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง และควรหาพื้นที่ปลูกใกล้แหล่งน้ำเพราะข้าวโพดต้องการน้ำมากในเฉพาะช่วงออกดอก ให้ถอนต้นที่เป็นโรคแล้วเผาทำลาย รวมทั้งควรทยอยปลูกเป็นช่วงๆ เพื่อให้มีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดตลอดปีและไม่มากจนล้นตลาด และควรผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองเพราะเมล็ดพันธุ์ราคาแพง

1469417718

            วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ตักหงายว่า ให้ปลูกก่อนหรือหลังข้าวโพดชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงประมาณ 1 เดือน ให้คัดเลือกต้นที่สมบูรณ์ และเก็บฝักจากต้นที่แห้งแล้ว โดยเลือกฝักที่มีเมล็ดสีม่วงเข้มทั้งฝักนำเมล็ดมากะเทาะแล้วตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้น คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง แล้วเก็บไว้ในที่ร่ม

            เนื่องจากข้าวโพดพันธุ์ตักหงายเป็นพันธุ์ที่ปลูกในท้องถิ่น พื้นที่ที่เพาะปลูกไม่มากนัก แต่โดยคุณสมบัติและลักษณะของข้าวโพดพันธุ์นี้ สามารถจะพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ สถานีทดลองพืชไร่เลย จึงได้มีแนวทางการวิจัยข้าวโพดพันธุ์นี้ไว้ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานโรคราน้ำค้าง ศึกษาระยะปลูกที่เหมาะสมที่ให้ผลผลิตสูง ศึกษาหาวิธีการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด ศึกษาหาช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเพื่อให้ผลผลิตและคุณภาพสูง หาวิธีการปลูกข้าวโพดตักหงายเพื่อให้มีผลผลิตสู่ตลาดตลอดปี