จำปาดะทองตาปาน เนื้อสีเหลืองทอง รสชาติดี ปลูกง่าย เปลือกบาง ผลผลิตไม่พอขาย

จำปาดะ เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับ ขนุน หรือสาเก ภาษาอังกฤษก็ใช้คำนี้ Champedak ไม่รู้ใครลอกใคร แต่มาเลเซียเรียกอีกชื่อหนึ่ง ภาษาใต้ เรียกว่า จำดะ นิยมปลูกมากในภาคใต้ ออกผลปีละครั้ง ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมตอนต้นฤดูฝนของทุกปี ในช่วงหน้าอื่นมีผลบ้างแต่ไม่มากนัก

เปิดเนื้อลูกเล็กให้ดูครับ
เปิดเนื้อลูกเล็กให้ดูครับ

ผลของจำปาดะจะเล็กกว่าขนุน ผิวสีเข้มกว่าผิวขนุนและไม่ค่อยสวยเหมือนผิวขนุน ลักษณะผลจะเป็นทรงกระบอกยาว เนื้อในนิ่มและเหนียวไม่กรอบเหมือนขนุน รสหวานจัด เด็กเล็กและคนชราควรบริโภคอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเนื้อเหนียวจะเคี้ยวไม่ค่อยขาด ตอนกลืนจะติดคอ ครั้งตอนเด็กๆ เมื่อกินจำปาดะผู้ใหญ่จะคอยดูให้กินทีละเมล็ดกลืนเข้าไปแล้วค่อยกินเมล็ดต่อไป จริงๆ แล้วถ้าไม่มีการห้าม เด็กๆ ก็จะกินติดต่อกันหลายๆ เมล็ด เพราะความหวานหอมอร่อยของมัน ซึ่งการกินติดต่อกันหลายๆ เมล็ด โอกาสติดคอได้ง่าย กลิ่นของจำปาดะค่อนข้างแรงน้องๆ ทุเรียน สมัยก่อนที่ใช้บริการรถทัวร์เขาห้ามนำทุเรียนและจำปาดะขึ้นบนรถเด็ดขาด ดมนานๆ บางคนถึงกับเป็นลมทีเดียว

 ความเป็นมา

สวนเก่าแก่ในจังหวัดพังงาส่วนใหญ่ยังเป็นสวนประเภทสมรมอยู่ คือมีการปลูกผลไม้รวมๆ กันหลายชนิด เพื่อนฝูงที่นั่นแนะนำว่า มีจำปาดะพันธุ์หนึ่งโด่งดังมากในจังหวัด เลยพากันฝ่าฝนที่กำลังตกชุกทีเดียวไปที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ดุ่มๆ ถามไปเรื่อยจนกระทั่งเจอ คุณจรินทร์ พุทธกลับ หรือ ตาปาน ปัจจุบัน อายุ 65 ปี เจ้าของจำปาดะชื่อดัง ตาปาน เล่าให้ฟังว่า “สมัยพ่อได้สร้างสวนผลไม้ไว้ มีผลไม้หลายอย่าง รวมถึงยางพาราด้วย แต่ที่ปลูกมากที่สุดคือ จำปาดะ กับ มังคุด ส่วนปาล์มเพิ่งปลูกได้ไม่กี่ปีมานี้เอง เฉพาะในส่วนที่เป็นที่ลุ่มมีพรุน้ำ เพราะปลูกผลไม้อย่างอื่นไม่ได้ สวนผลไม้นี้สร้างมาตั้งแต่สมัยพ่อผม มีอายุหลายสิบปี เพราะลืมตามาก็เห็นสวนแล้ว ตอนนั้นพ่อได้ปลูกจำดะด้วยเมล็ดไว้มาก แต่ละต้นมีรสชาติแตกต่างกัน มีต้นหนึ่งที่มีความแตกต่างกับต้นอื่น คนมากินก็ติดใจว่าอร่อยไม่เหมือนกับจำดะทั่วๆ ไป คนซื้อก็ต้องการแต่จำปาดะต้นนี้”

ตาปานตัวจริง ต้องไม่ใส่เสื้อ
ตาปานตัวจริง ต้องไม่ใส่เสื้อ

พรรคพวกตาปานเลยตั้งชื่อจำปาดะต้นนี้ว่า “ทองตาปาน” เพราะว่าจำปาดะต้นนี้มีลักษณะแตกต่างกับจำปาดะอื่นทั่วไป ประการแรก ผิวของผลจะมีสีเหลืองอมแดงเรื่อๆ ผิวเรียบตึง หนามไม่แหลม ไม่เหมือนจำปาดะทั่วไปที่มีสีเหลืองออกน้ำตาลหนามแหลมกว่า สองคือ เนื้อในจำปาดะทองตาปานเนื้อมีสีเหลืองทอง ผลและเมล็ดมีขนาดใหญ่ รสชาติดี และเปลือกค่อนข้างบาง

ปัจจุบัน ในสวนประมาณ 30 ไร่ ที่เป็นสวนผลไม้นี้อยู่ที่บ้านในไร่ ตำบลเหมาะ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ได้ปลูกจำปาดะไว้ ประมาณ 100 ต้น แต่ละต้นมีอายุประมาณ 20 ปี ต้นที่ปลูกเป็นพันธุ์ทองตาปานทั้งหมด เนื่องจากได้เสียบยอดขยายพันธุ์ไว้ ส่วนอีกแปลงเป็นแปลงปลูกใหม่ ปลูกเฉพาะจำปาดะพันธุ์นี้ไว้ ประมาณ 200 ต้น เนื่องจากผลผลิตไม่พอจำหน่าย ส่วนต้นจำปาดะทองตาปานต้นดั้งเดิมจริงๆ ตายไปแล้ว เนื่องจากอายุมากหลายสิบปี ตาปาน บอกว่า เรามาช้าไป 15 ปี เลยไม่ได้ดูต้นจำปาดะทองตาปานต้นแรก

 วิธีการปลูกเลี้ยง

ต้นอายุ 20 ปี ดกมาก
ต้นอายุ 20 ปี ดกมาก

จำปาดะ เป็นผลไม้ที่ปลูกง่ายมากในภาคใต้ เนื่องจากชอบความชื้นและฝนตกชุก ยิ่งปลูกแซมในป่าผลไม้ด้วยกันยิ่งทำให้ปลูกง่ายไปใหญ่ เพราะได้อาศัยร่มเงาต้นอื่นตอนต้นยังเล็ก คุณสักกรินทร์ พุทธกลับ ลูกชายที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำงานสวนอยู่ในปัจจุบันบอกว่า “จำปาดะ ปลูกง่าย เพียงขุดหลุมกว้าง ยาว ลึก 30 เซนติเมตร ก็เพียงพอ ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ให้มีขนาดห่างประมาณ 6 เมตร คูณ 6 เมตร ใช้ต้นพันธุ์ที่สูงประมาณ 80 เซนติเมตร จะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือไม่ก็ได้ กลบให้แน่น ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เพราะจังหวัดพังงาในฤดูฝน ฝนจะตกชุกและไม่ขาดช่วง แต่ในจังหวัดภาคอื่นต้องดูน้ำให้หน่อย ให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 1 กระป๋องนม หว่านห่างรอบโคน เพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อต้นโต ใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี จำปาดะก็เริ่มให้ผลผลิต ในสวนไม่ได้ใช้ปุ๋ยคอกเนื่องจากหาค่อนข้างยาก ปัจจุบัน ต้นมีอายุ 20 ปี ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 เมื่อจำปาดะออกลูกขนาดหัวแม่มือ ประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อต้น โดยหว่านรอบๆ โคน”

จนผลมีขนาดเท่ากระบอกไฟฉายใหญ่ จะต้องขึ้นต้นตัดแต่งผล เอาผลที่มีความสมบูรณ์ไว้ และกิ่งไหนผลมีมากก็ให้ตัดออกบ้าง เพื่อให้มีขนาดใหญ่สมบูรณ์ และถือโอกาสตัดแต่งกิ่งที่แห้งหรือแกะกะออก เพื่อต้องการให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องถึง ไม่ให้อับลม ต้นจะไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน ส่วนกิ่งที่ถูกลมพัดฉีกขาดก็ต้องแต่งออก เพราะจะเป็นเชื้อราที่รอยแผล กิ่งที่มีผลดกจะต้องช่วยภาระเรื่องน้ำหนัก ด้วยการโยงกิ่งด้วยสายไฟฟ้ากับกิ่งอื่น

ศัตรูของผลคือ แมลงวันทอง ที่จะเจาะผลเพื่อวางไข่ ทำให้ผลผลิตเสียหายจึงต้องห่อผล ในอดีตใช้วิธีการสานใบมะพร้าวเป็นตะกร้อเพื่อห่อผล แปลกที่ว่าตะกร้อที่สานเพื่อห่อก็มีช่องว่างอยู่ เพราะเป็นลักษณะตาข่าย ไม่ได้ทึบทั้งหมด แต่ก็สามารถกันแมลงวันทองได้ แต่ในปัจจุบันได้ทดลองใช้ถุงพลาสติกสีขาวห่อ คุณสักกรินทร์ บอกว่า ผลจะออกสีเหลืองเขียวไม่ค่อยสวย คงเป็นเพราะไม่ทึบแสง จึงได้เปลี่ยนมาเป็นถุงพลาสติกสีดำห่อ ปรากฏว่าสีผลเมื่อสุกเต็มที่เหมือนกับที่ห่อด้วยใบมะพร้าว เนื่องจากทึบแสง แต่การห่อด้วยวัสดุใดๆ ก็ไม่มีผลต่อรสชาติของจำปาดะ

 การขยายพันธุ์

จำปาดะ นิยมขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด โดยใช้เมล็ดขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์นำมาเพาะเป็นต้นตอในถุงดำเล็ก ใช้ดินสวนผสมกับขี้ไก่ ในอัตรา 3 ต่อ 1 ใส่ดินในถุงดำไม่ต้องเต็ม นำเมล็ดวางไว้แล้วเอาดินกลบพอปิดเมล็ด รดน้ำทุกวัน ประมาณ 14-21 วัน ต้นก็จะเริ่มแทงขึ้นมา ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ลำต้นจะมีขนาดปากกา สูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก็จะเริ่มเสียบยอด และพันด้วยพลาสติกกันน้ำ หาถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่สามารถใส่ต้นที่เสียบยอดในถุงดำได้ 10 ต้น แล้วมัดปาก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แผลของรอยเสียบยอดจะติดสนิทกันดี ก็จะนำออกจากถุงพลาสติกใส เพื่อเปลี่ยนขนาดถุงดำให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 1 ปี จะได้ต้นจำปาดะ สูงประมาณ 60-80 เซนติเมตร สามารถนำไปปลูกได้

 ผลผลิตขายเฉพาะในจังหวัด

ขายริมทาง
ขายริมทาง

ผลจำปาดะที่แก่จะต้องตัดก่อนสุก 3-5 วัน ถ้าปล่อยให้สุกคาต้นเนื้อจะแข็งไม่อร่อย วิธีเลือกตัดจำปาดะแก่คือ เลือกลูกที่ผิวตึง ก้านเปลี่ยนจากเหลืองเป็นเจือสีส้มอ่อนๆ ใบเลี้ยงจะเป็นสีเหลือง ผลผลิตของสวนตาปานได้จำปาดะปีละประมาณ 7 ตัน เฉลี่ยผลละ 3 กิโลกรัม ปีนี้เริ่มได้ผลผลิตตั้งแต่มิถุนายนถึงสิงหาคม ราคาขายส่งจากสวนปีก่อน 30 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ปีนี้ผลไม้แพง ราคาส่งจากสวนพุ่งถึง 45 บาท ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งเคยซื้อจำปาดะลูกละ 4 กิโลหน่อยๆ ในราคาลูกละ 240 บาท แถวริมถนนสายกะปง เขาขายปลีกกัน กิโลละ 50-60 บาท ส่วนการรับซื้อส่วนใหญ่จะเป็นแม่ค้าในท้องถิ่นและจังหวัดอื่นทางภาคใต้ ไม่มีโอกาสถึงกรุงเทพฯ ก็หมดเสียแล้ว

จำปาดะทอด ของโปรด

จำดะทอดของแท้
จำดะทอดของแท้

แถวพังงาสมัยก่อนไม่มีกล้วยแขกทอดกิน ส่วนใหญ่พอหน้าจำปาดะสุกก็มีโอกาสกินจำปาดะทอดกันอย่างมีความสุข แป้งที่ใช้ก็จะเป็นแป้งอะไรไม่รู้ แต่คงคล้ายกล้วยแขก เอาเมล็ดจำปาดะทั้งเมล็ดทั้งเนื้อชุบแป้งให้ห่อหุ้มเนื้อไว้ทั้งหมด แล้วนำมาทอดในน้ำมันร้อนๆ ขอบอกว่าอย่ากินตอนขึ้นจากกระทะใหม่ๆ เด็ดขาด เพราะเนื้อของจำปาดะอมความร้อนไว้มาก ขนาดฟันปลอมยังละลาย คายแทบไม่ทัน ส่วนเมล็ดที่อยู่ข้างในก็จะสุกกินอร่อยมาก สนนราคาอยู่ที่ เมล็ดละ 5 บาท มีโอกาสได้ซื้อริมถนนกะปง 3 ถุง พวกเพื่อนบอกเบื่อไม่กินกัน พอเข้าไปสัมภาษณ์ตาปานในสวน จำปาดะทอดไม่รู้หายไปไหนหมด ขากลับออกมาจะซื้อกินอีก แม่ค้าบอกมีคนเหมาหมดแล้ว เจ็บใจจริง มากินที่กรุงเทพฯ 3 เมล็ด 20 บาท เมล็ดเล็กนิดเดียว

จำปาดะ เป็นผลไม้พื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่คนขาดความสนใจ คนมาสนใจขนุนสายพันธุ์ต่างๆ ว่ามีความอร่อยกว่า เหมือนกับเราละทิ้งไก่บ้านหาว่าเหนียว มากินไก่ฟาร์มกัน คนจึงเลิกเลี้ยงไก่บ้าน ปัจจุบัน ราคาไก่บ้านกลับมีราคาสูงกว่าไก่ฟาร์ม จำปาดะก็เป็นเช่นเดียวกัน คงเป็นเพราะเราลืมรากเหง้าของตัวเองเที่ยววิ่งตามกระแสนิยมจนหัวปั่นอยู่ในขณะนี้

อยากเข้าไปชมสวน ติดต่อผ่านผู้เขียน โทร. (081) 909-8117

ผิวสวยครับ
ผิวสวยครับ