ผู้เขียน | นวลศรี โชตินันทน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รณรงค์ให้ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นไปเพื่อการส่งออก และความปลอดภัยของผู้บริโภคประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตโดยลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง แต่ลืมนึกไปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย นั่นคือ ความปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีเอง เกษตรกรบางคนหวังแต่เพียงว่า ทำอย่างไร จะสามารถลดต้นทุนการผลิตให้ได้มาก ทำอย่างไร ที่จะประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การทำการเกษตรของประเทศไทยก็ยังหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูไม่ได้อยู่ดี เพียงแต่ว่านักวิชาการทั้งของทางราชการและของบริษัทธุรกิจสารเคมีผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกรจะสามารถให้ความรู้ในการใช้สารเคมีแก่เกษตรกรอย่างถูกต้องและปลอดภัยได้แค่ไหน รวมทั้งทำอย่างไร เกษตรกรจะลดต้นทุนการผลิตได้อย่างแท้จริง
ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสุเทพ สหายา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ที่คลุกคลีอยู่กับงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้สารเคมีมาตั้งแต่ ปี 2530 ผู้เขียนได้ติดตามเรื่องการศึกษาวิจัยการใช้ป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูมะพร้าว โดยวิธีเจาะเข้าลำต้นจนประสบความสำเร็จ และได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกไปแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวปฏิบัติก่อนที่จะปล่อยศัตรูธรรมชาติหรือแตนเบียนตามออกไปทำลายศัตรูมะพร้าวในภายหลัง
คุณสุเทพ เริ่มรับราชการในกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี 2530 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 30 ปี เริ่มจากการเป็นนักวิจัยที่กรมวิชาการเกษตร ปี 2530-2532 ต่อมาได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ กทม. ปี 2532-2534 แล้วย้ายกลับมารับราชการที่กรมวิชาการเกษตรอีกครั้ง ในปี 2535
เมื่อปี 2530 เริ่มทำงานเกี่ยวกับสารเคมีในฝ้าย หม่อน และพืชเส้นใย ทำการทดสอบประสิทธิภาพในฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ทานตะวัน มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด ข้าว และมะพร้าว? สำหรับพืชผักสวนครัว ได้แก่ ต้นกะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง งา ผลไม้ ได้แก่ น้อยหน่า และฝรั่ง นอกจากนั้นได้ศึกษาหาสารเคมีที่ปลอดภัยมาใช้ในการเจาะเข้าลำต้นมะพร้าวเพื่อกำจัดศัตรูมะพร้าวในเบื้องต้น ก่อนที่จะปล่อยแตนเบียนศัตรูธรรมชาติตามในภายหลัง
ทำไม ยังต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช
คุณสุเทพ ตอบคำถามนี้ว่า การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน แต่มนุษย์ก็ยังไม่สามารถเอาชนะศัตรูพืชได้ กลับมีปัญหาต่างๆ ตามมาและทวีความรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่ปัญหาพิษตกค้างของสารเคมีในผลผลิตของเกษตรกร ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ศัตรูธรรมชาติและแมลงที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะตัวเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีเอง
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่พืชอาหารยังผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคของมนุษย์ หรือกรณีที่แมลงที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์ หากไม่มีการใช้สารเคมีมาควบคุม อาจเกิดโรคระบาดรุนแรงต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ได้ หรือการเกิดศัตรูพืชชนิดใหม่ที่ใช้วิธีป้องกันกำจัดในหลายๆ วิธีไม่ได้ผล ซึ่งทำให้ผลผลิตเสียหาย สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ เพียงแต่ว่าจะต้องรู้จักใช้สารให้ถูกต้องและเหมาะสมกับชนิดของพืชและศัตรูพืช ใช้ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ลดความฟุ่มเฟือยในการใช้เพื่อไม่ให้มีผลกระทบและผลข้างเคียงต่อมนุษย์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่เป้าหมายและสภาพแวดล้อม
ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการ นักส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนและตัวเกษตรกรเองจะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบ และมีจรรยาบรรณในการใช้ ซึ่งจะต้องรณรงค์ให้ใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย
คุณสุเทพ อธิบายว่า การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและโรคพืชนั้น กรมวิชาการเกษตร ได้ให้ความสำคัญหลักๆ อยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง คือ
- การใช้สารเคมีให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร มีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารเคมี และเข้มงวดในการนำเข้าสารเคมี โดยมีขั้นตอนการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรอย่างเข้มงวด มีการตรวจสอบข้อมูลของพิษวิทยาซึ่งสารเคมีแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ต่อจากนั้นกรมวิชาการเกษตรต้องตรวจสอบเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารที่ขอขึ้นทะเบียน สามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชและโรคพืชหรือไม่ โดยให้บริษัทนำสารที่ขอขึ้นทะเบียนไปทดสอบโดยอยู่ในความควบคุมกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร เมื่อผ่านขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแล้วยังต้องติดตามกำกับควบคุมไปถึงการจำหน่ายอีกด้วย
- เนื่องจากสารเคมีเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ทำอย่างไร จะให้เกษตรกรใช้สารเคมีให้ปลอดภัยกับเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี
คุณสุเทพ บอกว่า เราพยายามทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เขารู้ว่า เขาทำงานใกล้ชิดที่สุดกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร เขารับพิษจากสารเคมีมากกว่าผู้บริโภคเสียอีก เท่าที่เราไปสัมผัสกับเกษตรกร ส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่า ตนเองไม่กินพืชผักที่ใช้สารเคมี คงไม่มีอันตราย แต่ความจริงแล้วสารเคมีไม่ได้เข้าสู่ร่างกายเฉพาะทางปากอย่างเดียว สารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้ถึง 3 ทาง
ทางปาก คือ กินพืชผักที่มีพิษตกค้าง
ทางผิวหนัง ขณะที่เกษตรกรพ่นสารเคมี ไม่ว่าจะพ่นในนาข้าว ในแปลงผัก หรือพืชไร่และสวนผลไม้ เกษตรกรมีโอกาสสูงมากที่ละอองสารจะฟุ้งกระจายมาสัมผัสผิวหนังของตนเอง ซึ่งอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ชำระล้างความสะอาดร่างกายแล้วก็จะปลอดภัย แต่ความจริงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะสารไม่ได้ออกฤทธิ์แบบเฉียบพลัน ผู้ที่ได้รับสารก็ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันเช่นเดียวกัน เกษตรกรได้รับพิษทีละน้อยๆ ซึ่งปรากฏผลในอนาคตโดยไม่รู้ตัว และจะค่อยๆ เกิดเป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เป็นต้น
ทางระบบหายใจ ในการพ่นสารเคมีถ้าไม่สวมหน้ากากป้องกันในขณะพ่น หรือใช้หน้ากากที่ไม่มีคุณภาพ ก็จะได้รับพิษเข้าทางระบบหายใจ สารเคมีจะเข้าไปสู่ปอดและสะสมอยู่ในปอด ซึ่งนานเข้าก็จะมีสารสะสมทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน
คุณสุเทพ อธิบายต่อว่า ในกรณีที่เกษตรกรพ่นสารเคมีบางกลุ่มที่เป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต สารตัวนี้จะไปทำลายเอนไซม์คูลีนในตัวของแมลง ซึ่งในกลุ่มก็มีเอนไซม์ชนิดนี้ ถ้าใช้สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บอเนตติดต่อกันไปนานๆ เอนไซม์ในเลือดของมนุษย์ก็จะลดต่ำลงถึงขั้นวิกฤต อาจถึงเสียชีวิตได้ อาการเริ่มต้นอาจจะรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
ดังนั้น เกษตรกรควรจะตรวจเลือดเป็นประจำทุกปี โดยให้แพทย์ตรวจระดับเอนไซม์ชนิดนั้นๆ ในร่างกายว่าอยู่ในระดับผิดปกติหรือไม่ ถ้าลดต่ำกว่าปกติ ต้องงดพ่นสารเคมีชั่วคราว และต้องหยุดพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายก็จะกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นการตรวจเลือดเป็นประจำเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่เกษตรกรไม่ควรละเลย เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตัวเกษตรกรเอง
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ต้องสวมชุดป้องกันเวลาพ่นสารเคมี ชุดป้องกันต้องเป็นชุดที่รัดกุมมิดชิด สามารถป้องกันละอองสารเคมีได้ สวมถุงมือ ใส่หน้ากากป้องกันละอองของสารที่จะเข้าทางจมูก สวมหมวกและแว่นตา หน้ากากควรจะเป็นหน้ากากที่มีชั้นของผงถ่าน ซึ่งจะป้องกันละอองสารเคมี
“ไม่ควรใช้ผ้าปิดจมูกชนิดป้องกันไข้หวัด เพราะเมื่อละอองสารเคมีซึ่งเป็นของเหลวปลิวไปจับผ้าปิดจมูกจำนวนมาก ทำให้ผ้าเปียกชื้น เราก็จะหายใจเอาสารเข้าไป ดังนั้น ควรใส่หน้ากากที่ป้องกันสารเคมีได้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไม่ควรมองข้าม” คุณสุเทพ บอก
ใช้สารเคมีอย่างไร จึงจะลดต้นทุนการผลิต
ในประเด็นของการประหยัดหรือลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร นอกจากการใส่ปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดินที่ได้รับการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินอย่างถูกต้องแล้ว การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไปได้มาก
“เกษตรกรเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ผสมสารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง เข้าใจว่าการนำสารเคมีหลายๆ ชนิดมาผสมกัน จะเป็นการประหยัดต้นทุนและแรงงาน โดยเข้าใจว่าการใช้สารกำจัดแมลง สารกำจัดเชื้อรา ปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน และอื่นๆ เมื่อเอามาผสมกันแล้วพ่นครั้งเดียวจะเป็นการประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา และแรงงาน”
ความจริงเป็นการเข้าใจผิด คุณสุเทพ บอก การที่เราเอาสารเคมีหลายชนิดมาผสมกันนั้น อาจจะเป็นผลเสียในเรื่องของประสิทธิภาพ แทนที่จะได้ประสิทธิภาพเต็มที่ กลับกลายเป็นประสิทธิภาพของสารลดลง เพราะเมื่อสารเคมี 2 ชนิดมาผสมกัน จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีทันที ปฏิกิริยาทางเคมีจะส่งผลได้ 3 รูปแบบ ด้วยกันคือ
- เกิดปฏิกิริยาทางเคมี เมื่อสาร 2 ชนิด มาผสมกัน อาจจะเสริมฤทธิ์ในทางบวกทันที คือทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชดีขึ้น ตัวอย่าง เช่น สารฆ่าแมลง 2 ชนิด ถ้าใช้ชนิดแรกจะได้ผลประมาณ 60% ชนิดที่สองจะได้ผลประมาณ 70% ถ้านำสาร 2 ชนิด มารวมกันถ้าเกิดปฏิกิริยาเคมีเสริมฤทธิ์กัน จะได้ผล 90% ลักษณะนี้เรียกว่าลักษณะของการเสริมฤทธิ์ทางเคมี
เมื่อสาร 2 ชนิด มาผสมกัน อาจเกิดปฏิกิริยาในทางลบ คือปฏิกิริยาต่อต้านฤทธิ์ ชาวบ้านเรียกว่า เป็นอริกัน เมื่อผสมกันแล้วแทนที่ประสิทธิภาพจะได้ 90% กลับกลายเป็นสารทั้งสองเกิดต้านฤทธิ์กัน ผสมกันแล้วประสิทธิภาพอาจเหลือเพียง 40% เท่านั้น
- การเข้าไม่ได้ทางกายภาพ สารเคมีส่วนมากจะต้านฤทธิ์กัน คือสารเคมีเมื่อผสมกันแล้วอาจเข้ากันไม่ได้ทางกายภาพ สารกำจัดแมลง กำจัดโรคพืช และสารกำจัดวัชพืช จะมีสูตรต่างๆ เช่น สูตรผง (wp) สูตรเม็ดเล็กๆ (wg) สูตรแต่ละสูตรจะมีสูตรที่แตกต่างกัน การนำสูตรที่ต่างสูตรมาผสมกันมักจะมีปัญหา บางครั้งสูตรสองสูตรเกิดเข้ากันไม่ได้ เรียกว่า เข้ากันไม่ได้ทางกายภาพ คือเมื่อนำสารสูตรที่แตกต่างกันมาผสมกันจะต่อต้านกัน คือเกิดการแยกชั้นหรือตกตะกอน หรือเรียกว่า การเสริมฤทธิ์ทาง กายภาพ สูตรดังกล่าวถ้าจะนำมาผสมกันต้องนำมาละลายน้ำก่อนใช้
- การเข้าไม่ได้ทางชีวภาพ หมายถึง สารที่เป็นสิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราไมโครราเซียม ไส้เดือนฝอย เป็นต้น สารเหล่านี้มาจากสิ่งมีชีวิต ถ้าเราเอาสารที่เป็นสิ่งมีชีวิตมาผสมกับสารเคมีกำจัดโรคพืช หรือสารกำจัดศัตรูพืช สารเคมีดังกล่าวก็จะฆ่าหรือทำลายเชื้อราต่างๆ หรือไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตก็จะตายอยู่ในถังพ่นยา
เรื่องของการผสมสารเคมียังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่ทำให้การใช้สารเคมีไม่ได้ผล ซึ่งจะนำมาเล่าในตอนหน้า
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-8540 หรือ คุณสุเทพ สหายา โทร. (081) 425-0889