ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
ถ้าไม่นับประโยชน์จากลำไผ่ที่นำมาใช้สร้างบ้าน เครื่องใช้ไม้สอยแล้ว “ใบ” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของไผ่ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นชาดื่มได้ แต่ดูเหมือนว่า ชาใบไผ่ ในยุคแรกมักจะดื่มกันอยู่ในวงจำกัด
กระทั่งเมื่อมีการศึกษาแล้วพบว่า ในใบชามีสารสำคัญที่เป็นคุณต่อร่างกาย จากนั้นจึงทำให้ผู้คนตื่นตัวหันมาดื่มชาจากใบไผ่กันเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจผลิตชาใบไผ่ที่เหมาะสม สร้างความน่าเชื่อถือนั้น เจ้าของธุรกิจควรรู้จักธรรมชาติของต้นไผ่อย่างลึกซึ้ง หรือถ้าลงมือปลูกด้วยตัวเองได้ยิ่งดี
อย่างรายของ คุณกฤษณ หอมคง ได้คลุกคลีกับไผ่มายาวนานนับหลายสิบปี เพราะมีสวนไผ่เป็นของตัวเองจนมองเห็นถึงคุณค่าที่เกิดจากไผ่ นำมาสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจชาใบไผ่ แบรนด์ “ภูมิใจ” พร้อมกับต่อยอดใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งจากต้นไผ่ทุกชนิดมาสร้างมูลค่าด้วยการผลิตเป็นผงไผ่ปรับสภาพดิน, น้ำหมักจุลินทรีย์ผงไผ่และผงไผ่หมัก แต่ก่อนที่จะไปสัมผัสกับธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากไผ่ ลองไปฟังความเห็น พร้อมมุมมองของมิติไผ่จากชายผู้นี้ก่อน
ถึงแม้ คุณกฤษณ จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่เขาก็ไม่ใช่เพิ่งรู้จักกับไผ่ เพราะครอบครัวของเขายึดอาชีพค้าขายไม้ไผ่ส่งให้ชาวประมงในชลบุรีมาตั้งแต่รุ่นคุณย่าที่จังหวัดเพชรบุรีบ้านเกิด แล้วย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่อีกครั้งที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีป่าไผ่จำนวนมาก เนื่องจากจำนวนไผ่ที่เพชรบุรีเริ่มลดลง แล้วยังคงดำเนินธุรกิจเดิมต่อไป
ความใกล้ชิดกับไผ่ของคุณกฤษณเริ่มต้นจากเมื่อได้รับมอบหมายจากคุณพ่อให้ไปตระเวนหาซื้อไผ่แถวจังหวัดทางภาคเหนือเพื่อส่งไปขายที่จังหวัดชลบุรี จากจุดนั้นเลยทำให้ต้องคลุกคลีกับต้นไผ่มาจนถึงทุกวันนี้
พอปี 2549 เริ่มเห็นทิศทางความชัดเจนของไผ่มากขึ้น ด้วยการสามารถควบคุมอายุของไผ่ในแปลงปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเดิมทีแล้วไผ่ป่ามีข้อจำกัดในเรื่องฤดูกาล เพราะหากไม่ใช่หน้าฝนก็ไม่มีผลผลิต จึงไปกระทบและไม่สอดคล้องกับการวางแผนการลงทุน
สร้างสวนไผ่ ชื่อ “ภูมิใจ”
ใช้เป็นสวนต้นแบบ เพื่อผลิตไผ่คุณภาพ
ดังนั้น คุณกฤษณ จึงมองไปถึงการส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกไผ่กันมากๆ เพื่อตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไปแล้วทำให้เหลือเพียงคนปลูกกับคนใช้เท่านั้น อีกทั้งยังชี้ว่าถ้าผลดีของการควบคุมการเจริญเติบโตของไผ่ได้ ก็สามารถชะลอหรือถ่วงเวลาการนำไผ่เข้าสู่ตลาดได้ในระยะเวลา 5 ปี หากราคายังไม่เป็นที่พอใจ โดยไม่สร้างปัญหาหรือผลกระทบแต่อย่างใด
แถมในช่วงเวลาระหว่างที่รอคอยอาจมีต้นไผ่ใหม่เติบโตขึ้นอีกหลายรุ่น ยิ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรเต็มที่ พร้อมกับยังมองต่ออีกว่าหากต้นไผ่มีจำนวนมากขึ้นแล้ว การสร้างประโยชน์ในเชิงการค้าคงไม่จำกัดเพียงการขายลำเท่านั้น แต่ควรสร้างความยั่งยืนในระยะยาวจากการใช้ประโยชน์จากไผ่ทั้งต้น
ในที่สุด คุณกฤษณ จึงตัดสินใจภายหลังที่ศึกษาความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ ตามความรู้ที่ร่ำเรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจจับมือกับเพื่อนเพื่อนำไผ่มาสร้างประโยชน์ในด้านต่างๆ พร้อมกับสร้างสวนไผ่ที่ชื่อ “สวนภูมิใจ” ขึ้น โดยสวนแห่งนี้มีการวางแผนการปลูกไผ่ด้วยแนวทางใหม่ที่แตกต่างจากชาวบ้านปลูก กล่าวคือ มีการกำหนดระยะปลูกเพื่อให้สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปทำงานในสวนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพื่อช่วยลดต้นทุนและแก้ปัญหาการจ้างแรงงาน
โดยวิธีหรือแนวทางกำหนดว่าจะต้องเว้นช่องระหว่างต้น เพื่อให้เครื่องจักรเข้าไปทำงานได้ ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกไผ่ จำนวน 44 ไร่ ของคุณกฤษณใช้แรงงานเพียง 3 คน เท่านั้น เป็นไผ่ซางหม่นราชินี และไผ่รวก โดยส่วนมากเป็นซางหม่น ส่วนไผ่รวกเป็นไผ่ที่นำมาจากน่าน ปลูกแซมไว้ จำนวน 5 ไร่ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งไปที่ชลบุรี
เจ้าของธุรกิจรายนี้มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณภาพของต้นไผ่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่ต้นไผ่ของชาวบ้านปลูกอยู่นั้น บริเวณแถวริมด้านนอกสุดมักมีความสมบูรณ์กว่ากอด้านใน เพราะได้รับแสงแดดกับกระแสลมเต็มที่ ข้อเท็จจริงเช่นนี้พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์
ดังนั้น จึงได้หยิบมาเป็นแนวทางในการนำมาใช้ในสวน จากเดิมที่เคยใช้ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร ได้ปรับให้ห่างขึ้นโดยให้จำนวนกอมีเท่าเดิม กล่าวคือ จะปลูกเป็นแถวคู่ ห่างกัน 2 เมตร แล้วเว้นไป 6 เมตร แต่ระยะต้นในแถวยังคงเป็น 4 เมตร
อีกทั้ง แถวที่ 1,2 ต้องสลับปลูกแบบฟันปลา จึงทำให้ไผ่แย่งกันเจริญเติบโต เพราะได้รับทั้งแสงและลมเข้าไปช่วย นอกจากนั้น ในร่องที่เว้นห่าง 6 เมตร ยังปล่อยให้เศษไผ่ที่ตัดกองไว้เพื่อปล่อยให้เป็นปุ๋ย ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนแรงงานขนย้าย นอกจากนั้นแล้ว กองเศษไผ่เหล่านี้จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยภายในเวลา 1 ปี เพราะฉะนั้นทฤษฎีนี้จึงถูกนำมาใช้ในสวนภูมิใจด้วยเช่นกัน
คุณกฤษณ ให้รายละเอียดการดูแลบำรุงต้นไผ่ในแปลงว่า อย่างแรกต้องไม่ใช้สารเคมีชนิดใดเลย เพราะไม่มีความจำเป็น ดูอย่างไผ่ป่ายังเจริญเติบโต แข็งแรง มีอายุยาวนาน เพียงแต่ใส่มูลวัว ใส่กอละ 1-3 กิโลกรัม ต่อปี และใส่ในช่วงต้นฝน
นอกจากนั้น ยังให้เป็นปุ๋ยน้ำไผ่หมักทางท่อเพื่อช่วยกระตุ้นธาตุอาหารในดินที่เป็นอาหารของไผ่ให้เพิ่มขึ้น และภายหลังที่ได้นำปุ๋ยน้ำไผ่หมักมาใช้ แล้วพบว่า ช่วยลดปริมาณการใช้มูลวัวลงไปได้มาก โดยในปัจจุบันใช้มูลวัวเพียงปีละไม่เกิน 500 กระสอบ
อย่าหวังเพียงแค่ขายลำ แต่ควรเพิ่มมูลค่าทั้งต้น เพื่อหวังผลระยะยาว
คุณกฤษณ มองว่า ความจริงแล้วการปลูกไผ่ทางภาคเหนือมีคุณภาพมาก ทั้งนี้ควรเน้นให้ความสำคัญกับการปลูกเพื่อขายเนื้อไม้มากกว่าการขายลำ อีกทั้งควรส่งเสริมด้านการตลาดให้ผู้ปลูกทางภาคเหนือขายเนื้อไม้ เพราะจะได้ราคาดีกว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไผ่จะใช้เนื้อไม้มากกว่าลำ และถ้าตอบโจทย์เช่นนี้ได้แล้วตลาดรับซื้อไผ่จะมุ่งไปทางภาคเหนือทันที
ภายหลังเมื่อตกผลึกทางความคิดจึงชักชวนชาวบ้านร่วมกันปลูกไผ่ ในรูปแบบสหกรณ์ มีชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกไผ่จังหวัดกาญจนบุรี” โดยวัตถุประสงค์การจัดตั้งเป็นสหกรณ์นี้เพื่อเป็นการวางฐานรากในอนาคตข้างหน้าว่า หากตลาดไผ่โตขึ้นจำนวนไผ่อาจไม่เพียงพอ อีกทั้งต้องการสร้างคุณภาพมาตรฐานของไผ่ควบคู่ไปด้วย ปัจจุบัน สหกรณ์มีจำนวนสมาชิกประมาณ 500 คน ลงมือปลูกไผ่แล้ว จำนวน 500 ไร่ ทั้งนี้ ได้ส่งเสริมให้แก่สมาชิกในเครือทางภาคเหนือด้วย เพราะที่นั่นชาวบ้านปลูกกันมายาวนานแล้ว
สำหรับสวนภูมิใจมีการวางกรอบและทิศทางเอาไว้คือ มาคิดว่า ควรนำทุกส่วนของไผ่มาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดมูลค่า จึงเริ่มต้นวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกด้วยการทำชาใบไผ่ก่อน ซึ่งการทำชาใบไผ่นั้นจะต้องเลือกใบไผ่ที่มีอายุไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากภายในระยะเวลาดังกล่าวมีความเหมาะ เพราะในใบไผ่มีไบโอซิลิก้าที่เกิดจากการสังเคราะห์แสง เป็นคุณสมบัติเด่นทำให้เกิดกลิ่นหอม
ขั้นตอนการทำชาไผ่ เริ่มด้วยการทยอยเก็บใบไผ่ที่มีอายุ 2 เดือน เก็บทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 กิโลกรัม ที่เป็นใบสด แต่เมื่อนำมาทำใบชาแล้ว จะได้น้ำหนักเพียง 4 กิโลกรัม
เมื่อได้ใบไผ่มาแล้วจัดการล้างทำความสะอาด นำมาผึ่งไว้ในร่มเพื่อให้แห้ง เป็นเวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ) นำไปหั่น ให้มีขนาด 2 เซนติเมตร จากนั้นนำไปเข้าเครื่องอบ เพื่อให้มีความชื้นไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงนำมาใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีด้วยกัน 2 แบบ คือ ชาไผ่ ที่ชงดื่มแบบต้องใช้อุปกรณ์ กับชาไผ่ชนิดซอง ซึ่งในแบบซองนี้ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและรสชาติที่ญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย
ต่อยอดด้วยผลิตภัณฑ์จากไผ่
ผลิตภัณฑ์ต่อมาเป็นสารปรับสภาพดินที่ทำจากเศษไม้ไผ่สับ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เกิดจากแนวคิดภายหลังจากที่พบว่าในแปลงปลูกไผ่ที่เสร็จจากการจัดระเบียบความสะอาดแล้ว จะเกิดเศษวัสดุจากไผ่ที่หลุดร่วงจากต้น หรือบางส่วนที่ไม่เกิดประโยชน์มีจำนวนมาก จึงได้นำมาสับแล้วผสมกับมูลวัวทิ้งไว้ให้ย่อยสลายเพื่อให้เป็นปุ๋ย
แนวทางนี้มีต้นแบบจากคราวที่คุณกฤษณได้มีโอกาสเดินทางไปดูไร่สับปะรดที่อินโดนีเซีย แล้วพบว่า ผลผลิตในไร่นี้ลดลง จึงมีการนำเศษวัสดุจากไผ่ที่ปลูกไว้เพื่อยึดดินตามแนวขอบบ่อน้ำมาผสมกับมูลวัวที่เลี้ยงไว้ จากนั้นได้นำมาใส่ในไร่สับปะรดในช่วงเตรียมดิน ด้วยการหว่านและไถสลับไป-มา เพื่อให้วัสดุจากไผ่ลงไปอยู่ในดินที่มีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นพบว่าผลผลิตสับปะรดสูงขึ้นมากทันที แล้วยังมีคุณภาพดีทุกผล ทั้งน้ำหนักและรสชาติสามารถขายได้ทั้งแบบส่งโรงงานหรือรับประทานผลสด
นอกจากนั้น เกษตรกรในกลุ่มเดียวกันนี้ยังนำปุ๋ยนี้ไปใส่ในสวนกล้วยหอม แล้วพบว่า ผลผลิตที่ได้มีจำนวนหวีต่อเครือมากกว่าเดิม กล้วยมีขนาดผลใหญ่ สวย ได้ราคาดีเมื่อส่งขายต่างประเทศ และที่สำคัญมีอายุการเก็บรักษาได้นานกว่าเดิม
แนวคิดดังกล่าวถูกมาปรับใช้ในสวนไผ่ แล้วบอกกล่าวต่อไปยังเกษตรกรในเครือข่ายที่ปลูกมันสำปะหลังอยู่ที่ยโสธรให้ลองทำดู หรือให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนำเศษไผ่สับมากองไว้ที่แปลงนาสัก 2 เดือน แล้วหลังจากนั้นให้จัดการปรับปรุงเตรียมดินเพื่อเตรียมปลูกข้าว และภายหลังทราบข่าวว่าทั้งมันสำปะหลังและข้าวได้ผลผลิตดีกว่าเดิม
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องการนำเสนอคือ น้ำหมักจุลินทรีย์ย์ผงไผ่ โดยเป็นการมองในเรื่องการสร้างความเหมาะสมในการนำไปใช้กับพืช เพราะเมื่อต้องการให้ปุ๋ยทางใบ จึงนำผงไผ่ไปผสมกับโมลาส ทิ้งไว้ 15-20 วัน แล้วนำมาผสมกับน้ำ ในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 200 ลิตร จึงนำไปพ่นทางใบ
คุณกฤษณ เผยว่า ได้ลองนำน้ำหมักจุลินทรีย์ผงไผ่ ไปใช้กับการเลี้ยงปลาทับทิมในแม่น้ำแม่กลอง โดยการใช้น้ำหมักผสมกับน้ำแล้วเทใส่ลงในอาหารปลาก่อน เพื่อให้ซึมเข้าไปในอาหารปลา จากนั้นจึงค่อยนำไปหว่านลงในบ่อหรือกระชังเพื่อให้ปลา
ผลจากการใช้พบว่า กระชังปลาที่อยู่ติดกันเกิดอาการช็อกน้ำปลาตายเรียบ แต่ปลาทับทิมในกระชังที่ใช้น้ำหมักตายเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น จึงถือว่ามีความแข็งแรง สุขภาพดี เพราะขี้ปลามีลักษณะยาว ที่สำคัญจุลินทรีย์ที่ปลาขับถ่ายออกมายังช่วยในการบำบัดน้ำเสีย
เจ้าของธุรกิจรายนี้ชี้ว่า ตลอดเวลาที่อยู่กับไผ่พบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือชาวบ้านยังมีความรู้ ความเข้าใจ ในวงแคบ อีกทั้งบางส่วนยังนิยมใช้สารเคมีอยู่ เพราะมองว่าสะดวก รวดเร็ว ดังนั้น การเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านคงต้องใช้เวลาควบคู่ไปกับการพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นถึงประโยชน์ของไผ่ที่สามารถสร้างรายได้ให้จริง มองไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก เพราะไผ่จะสร้างรายได้ไปนาน แล้วยังสามารถสร้างรายได้หลายทาง
นอกจากนั้น ยังแนะนำว่าชาวบ้านที่ต้องการปลูกไผ่เพื่อสร้างรายได้นั้นควรรวมกลุ่มกันดีกว่า เพราะสามารถสร้างฐานกำลังที่มั่นคงได้ ทั้งนี้ชาวบ้านแต่ละรายอาจปลูกกันจำนวนไม่มาก และปลูกพืชอื่นร่วมด้วย แต่เมื่อนำทุกคนในกลุ่มมารวมกันแล้ว ควรมีเนื้อที่สัก 200-500 ไร่ เพราะง่ายต่อการบริหารจัดการ
ไม่เพียงการเอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่ไผ่ยังเป็นพืชที่ช่วยอนุรักษ์โลกได้อย่างดี ปลูกเพียงแค่ 2 ปี สามารถเจริญเติบโตเป็นป่าได้ สามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าพืชชนิดอื่นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันคายออกซิเจนมากกว่าพืชชนิดอื่นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ คุณสมบัติเด่นเหล่านี้จึงจัดได้ว่า ไผ่ เป็นพืชที่รักษ์โลก
อีกทั้งยังมองว่า ไผ่ เป็นพืชทดแทนที่ยั่งยืน เพราะสามารถนำไปผลิตทดแทนพลาสติกได้ หรือนำไปใช้ทดแทนไม้ในวงการก่อสร้างได้ ดังนั้น จึงสรุปว่าไผ่เป็นพืชทดแทน แล้วสามารถขายได้ทั่วทุกแห่งทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นทางภาครัฐควรช่วยสนับสนุนและมองเห็นความสำคัญของไผ่ด้วยการยกระดับเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง พร้อมไปกับช่วยผลักดันให้พืชชนิดนี้มีอนาคตที่กว้างไกล
สนใจผลิตภัณฑ์จากไผ่ ในแบรนด์ “ภูมิใจ” สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณกฤษณ หอมคง โทรศัพท์ (092) 616-9369