เคล็ดลับการจัดการสวนมังคุด GAP ควบคู่การปลูกผักเหลียง สร้างรายได้ทุกสัปดาห์

ปัจจุบันหลายประเทศได้นำ “มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ( SPS)” มาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจำหน่ายในตลาดโลก  ดังนั้น  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้สนับสนุนและขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางอาหาร” (Food Safety) มาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาแหล่งผลิตพืชผักและผลไม้เข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP) โดยมีการตรวจสอบและรับรองแปลูกพืชตามมาตรฐาน GAP ทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง

“ลุงปลึ้ม จันทุง” เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ในพื้นที่ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสวนผลไม้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP)  จนได้รับรางวัล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ประจำปี 2558

ลุงปลื้ม จันทุง

ลุงปลื้ม จันทุง เริ่มทำสวนบนเนื้อที่ 14 ไร่มาตั้งแต่ปี 2520 โดยแรกเริ่มปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง แต่พอทุเรียนจะให้ผลผลิตก็ประสบปัญหาโรครากเน่า-โคนเน่า ทำให้ต้นทุเรียนตายเกือบทั้งสวน เหลือเพียง 3 ต้น จึงเปลี่ยนมาปลูกมังคุดแทน จำนวน 265 ต้น ลองกอง 120 ต้น และปลูกพืชแซมอีกหลายชนิด อาทิ สะตอ มะพร้าว จำปาดะ ส้มแขก เงาะ และสละ เป็นต้น ขณะที่มังคุดยังไม่ให้ผลผลิตได้ทำธุรกิจยางแผ่นรมควัน แต่ต้องต่อสู้กับความผันผวนของราคายางพารา ทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวจึงต้องขายอุปกรณ์ทั้งหมด กลับมาทุ่มเทเวลาให้กับการปรับปรุงสวนใหม่ในปี 2545 กระทั่งยืนหยัดได้อีกครั้ง

ปัจจุบันสวนผลไม้ของลุงปลื้ม ปลูกมังคุดเป็นพืชหลัก และปลูกผักเหลียงใบใหญ่หรือผักเหนียงเป็นพืชร่วม ประมาณ 2,500 ต้น โดยใช้หลักการเกื้อกูลกัน ส่วนลองกองได้ทยอยตัดโค่นออกไปเหลือไม่กี่ต้น เนื่องจากต้องใช้เวลาและแรงงานในการดูแลมากกว่าพืชอื่น แต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า

เกษตรกรรายนี้เน้นผลิตมังคุดและผักเหลียงที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยป้อนตลาด โดยเลิกใช้ปุ๋ยเคมีภายในแปลง เน้นใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงในการปรับปรุงบำรุงดิน ทั้งยัง ไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดศัตรูพืช และมีการผลิตน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เองด้วย สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างมาก ที่สำคัญยังได้ผลผลิตที่ปลอดภัย 100 % และทำให้ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP ตามโครงการความปลอดภัยอาหารด้านพืช

สวนมังคุด GAP แห่งนี้ มีการผลิตมังคุดในฤดูและนอกฤดู โดยยึดหลัก “ดินดี น้ำดี คุณภาพดี ภูมิปัญญาดี ตลาดดี” ส่วนใหญ่เป็นมังคุดนอกฤดูซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ขายได้ราคาดี ซึ่งมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ กิโลกรัมละกว่า 100 บาท ขณะที่ผลผลิตมังคุดในฤดูราคาอยู่ที่ ประมาณ 20-30 บาท/กิโลกรัม   ที่ผ่านมา ลุงปลื้มมีกำไรจากการจำหน่ายมังคุดคุณภาพรวมไม่ต่ำกว่าปีละ 700,000 บาท

ปลูกต้นเหลียงในสวน

นอกจากนี้  ลุงปลื้มยังมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตผักเหลียงทุกสัปดาห์ โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 70 บาท สร้างรายได้จากการจำหน่ายผักเหลียงไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000-7,000 บาท ตอนกิ่งพันธุ์ผักเหมียงจำหน่าย  กิ่งละ 100 บาทสร้างรายได้กว่าเดือนละ 4,000 บาท เฉพาะรายได้จากการขายผักเหมียงเพียงอย่างเดียว มีรายเดือนละกว่า 10,000 บาท เพราะ ผักเหมียงหรือผักเหลียง เป็นผักใบเขียว กินใบ มีรสชาติดี มีรสอร่อยโดยนิยมบริโภคใบที่ไม่อ่อน หรือแก่จนเกินไป สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผัด ต้มหรือกินสดๆ ร่วมกับน้ำพริกต่างๆ ขนมจีน และอาหารอื่นๆ

ลุงปลื้มบอกว่า ขั้นตอนสำคัญของการผลิตมังคุดนอกฤดูเริ่มในช่วงเดือนมีนาคมต้องทำการตัดแต่งกิ่งมังคุด ใส่ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงบำรุงต้นให้สมบูรณ์ที่สุด และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอไปจนถึงปลายเดือนเมษายน พอถึงเดือนพฤษภาคมก็หยุดให้น้ำ เดือนมิถุนายนปล่อยให้กระทบแล้ง ช่วงเดือนกรกฎาคมมังคุดจะออกดอก ต้องทำการตัดแต่งดอก เดือนกันยายนทำการตัดแต่งผล และใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงผล

กิ่งตอน
ทรงพุ่มโปร่งแดดส่องถึง

เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนดูแลเรื่องแมลงศัตรูพืชที่เข้ามารบกวน และต้องจัดการเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี  ช่วงปลายเดือนธันวาคมก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ไปจนถึงเดือนมกราคม ที่ผ่านมาได้ผลผลิตมังคุดนอกฤดูไม่น้อยกว่า 10 ตัน และผลผลิตมังคุดในฤดู ประมาณ 2  ตัน

สภาพสวนร่มรื่น

การนำแปลงปลูกพืชเข้าสู่มาตรฐาน GAP ทำได้ไม่ยาก  หากเกษตรกรมีความสนใจและตั้งใจจริง ทั้งการจัดการแปลงและการบันทึกข้อมูลฟาร์ม ซึ่งการผลิตพืช GAP สามารถช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้มาก ทำให้ต้นทุนลดต่ำลงและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังไม่เกิดปัญหาดินเสื่อม ที่สำคัญ คือ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ และขายได้ราคาสูงขึ้นด้วย จึงอยากให้เพื่อนเกษตรกรปรับปรุงการผลิตและนำแปลงปลูกพืชเข้าสู่มาตรฐาน GAP จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้

ด้วยผลการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มีความโดดเด่น ส่งผลให้ ลุงปลื้มได้รางวัลเชิดชูเกียรติยศมากมาย เช่น  รางวัล “เกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน” ประจำปี 2556 ของจังหวัดพัทลุง และเป็น “เกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบ”  (Smart Famer) ของอำเภอป่าพะยอม รวมทั้งได้รับรางวัล “คนดีแทนคุณแผ่นดิน” ประจำปี 2556 จากเครือเนชั่น และรางวัล “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ประจำปี 2558” ซึ่งถือเป็นสุดยอดรางวัลแห่งชีวิต และสุดยอดรางวัลแห่งอาชีพเกษตรกรรมที่น้อยคนนักจะได้รับ

“ผมรักในอาชีพทำสวนและภูมิใจที่เป็นเกษตรกร และดีใจอย่างยิ่งที่ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2558  หากมีโอกาส ผมยินดีถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนเกษตรกรและผู้สนใจเต็มที่  จนกว่าจะหมดแรง  ” ลุงปลื้มกล่าวในที่สุด