แนะทำลำไยนอกฤดู ไม่ต้องง้ออากาศหนาว หมดปัญหาดอกออกเว้นปี

ลำไย เป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยชนิดหนึ่ง เนื่องจากลำไยสามารถชักนำการออกดอกได้ ลำไยเป็นไม้ผลที่ไม่จำเป็นต้องห่อผล เพียงแต่ต้องมีการตัดแต่งช่อผลบ้าง เมื่อลำไยติดผลต่อช่อมากจนเกินไปเพื่อให้ผลลำไยมีขนาดผลใหญ่และผลมีขนาดสม่ำเสมอ ลำไยนอกจากจำหน่ายในรูปผลสดแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง ลำไยกระป๋อง เป็นต้น

ลำไยดอ จากสวน คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าจากทางภาคเหนือขึ้นมารับซื้อทั้งหมด
ลำไยดอ จากสวน คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าจากทางภาคเหนือขึ้นมารับซื้อทั้งหมด

การผลิตลำไยนอกฤดู

ลำไย จัดเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย สามารถทำรายได้จากการส่งออกปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท แหล่งผลิตลำไยที่สำคัญอยู่ในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา เป็นต้น และทางภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี ระยอง เป็นต้น การผลิตลำไยในอดีตเกษตรกรต้องรับภาระความเสี่ยงเกี่ยวกับการให้ผลผลิตของลำไย เนื่องจากการออกดอกติดผลขึ้นอยู่กับความหนาวเย็น หากปีใดที่มีอุณหภูมิต่ำและหนาวเย็นยาวนาน ลำไยจะออกดอกติดผลมาก

ในขณะที่บางปีอากาศไม่หนาวเย็นพอ ต้นลำไยจะออกดอกติดผลน้อย ทำให้ลำไยถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม้ผลที่มีนิสัยการออกดอกติดผลเว้นปี นับตั้งแต่มีการค้นพบ สารโพแทสเซียมคลอเรต ด้วยความบังเอิญของคนทำดอกไม้ไฟว่ามีคุณสมบัติสามารถชักนำการออกดอกของลำไย โดยไม่ต้องพึ่งพาความหนาวเย็น ทำให้ปัญหาการออกดอกเว้นปีลดความสำคัญลง และหมดไป

สารโพเเทสเซียมคลอเรต สามารถเร่งหรือบังคับให้ลำไยออกดอกได้ตามกำหนด
สารโพเเทสเซียมคลอเรต สามารถเร่งหรือบังคับให้ลำไยออกดอกได้ตามกำหนด

วิธีการใช้

การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อเร่งลำไยให้ออกนอกฤดู นิยมทำก่อนหน้าฤดูลำไยจะออกดอกในทุกปี โดยนำสารโพแทสเซียมคลอเรตละลายน้ำรดหรือฉีดพ่นบริเวณโคนหรือรอบทรงพุ่มต้นลำไย หลังจากนั้นประมาณ 20-30 วัน ลำไยจะแทงช่อดอกออกมา

 

ทำไม ต้องผลิตลำไยนอกฤดู

มีหลายเหตุผล ตัวอย่าง เช่น

เหตุผลด้านราคา เกษตรกรชาวสวนลำไยทราบดีว่าเป้าหมายการผลิตลำไยนอกฤดู คือราคาผลผลิต ซึ่งถ้าจะเทียบไปแล้ว ช่วงเวลาจำหน่ายผลผลิตที่ราคาดีที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากตรงกับเทศกาล เช่น วันคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ และวันตรุษจีน ช่วงที่ผลผลิตมีราคาถูกที่สุดคือ ลำไยในฤดูช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เนื่องจากมีผลผลิตจำนวนมากเข้าสู่ตลาดพร้อมกัน ดังนั้น เกษตรกรจึงพยายามบังคับให้ลำไยออกดอกใน 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เพื่อให้เก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนถึงต้นกุมภาพันธ์ และช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพื่อเก็บเกี่ยวก่อนฤดูคือ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

การบังคับให้ออกดอกในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เกิดปัญหาค่อนข้างมาก เพราะตรงกับฤดูฝน ต้นลำไยจะตอบสนองต่อสารโพแทสเซียมคลอเรตไม่ดีเหมือนการให้สารนี้ในฤดูหนาว ในขณะที่ลำไยที่ออกดอกในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนจะกระทบอากาศหนาวทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ ผลอ่อนมักร่วงเสียหายได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมต้นให้สมบูรณ์ การกำหนดอัตราสารให้เหมาะสมและศึกษาถึงเทคนิคการผลิตลำไยนอกฤดูในแต่ละขั้นตอน ตลอดจนการเลือกช่วงเวลาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและให้เหมาะสมกับพื้นที่จึงจะประสบผลสำเร็จ

ใบลำไยที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์พร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตนอกฤดูกาล
ใบลำไยที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์พร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตนอกฤดูกาล

ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิต

ผลกระทบจากการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมหนักและการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากออกจากภาคเกษตรเข้าสู่ในเมือง ทำให้การเกษตรทั้งระบบขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อการผลิตลำไยโดยเฉพาะแรงงานด้านเก็บเกี่ยว ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้น การลำเลียงผลผลิตสู่โรงเรือนหรือที่ร่ม การคัดเกรด การบรรจุตะกร้า ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยแรงงานที่มีความชำนาญจำนวนมาก ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากในช่วงการผลิตลำไยในฤดู

 แนวโน้มการแข่งขันในตลาดนานาชาติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ลำไยจากประเทศไทยมีคู่แข่งที่สำคัญในตลาดโลก ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและเวียดนาม ซึ่งจีนเป็นทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จีนเพิ่มพื้นที่การผลิตถึง 3 ล้านไร่ ผลผลิตลำไยของจีนออกสู่ตลาดในช่วงเดียวกับของไทย คือกรกฎาคมถึงกันยายน ทำให้ประสบปัญหาคล้ายกับไทย คือผลผลิตในฤดูล้นตลาด ราคาตกต่ำ ด้วยเหตุนี้แนวทางการพัฒนาลำไยของไทยจึงควรมุ่งเน้นที่การกระจายตัวของช่วงฤดูการผลิตตลอดปี การลดต้นทุนการผลิตและปรับปรุงผลผลิตให้ได้คุณภาพ ในขณะที่การปลูกลำไยของจีนยังไม่ประสบผลสำเร็จในการกระจายฤดูกาลผลิตหรือการผลิตลำไยนอกฤดู เนื่องจากมีความหนาวเย็นเกินไปในบางช่วงของปี ทำให้ไม่สามารถผลิตลำไยตลอดปีเหมือนไทยได้ นอกจากนี้ เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญอีกประเทศหนึ่งยังขาดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ประเทศไทยจึงควรพัฒนาลำไยนอกฤดูบนจุดอ่อนเหล่านี้ของคู่แข่ง

 

การผลิตลำไยดอนอกฤดู

ที่บ้านรักไทย ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง บ้านเลขที่ 42/2 หมู่ที่ 9 บ้านรักไทย ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์ (081) 037-2734 เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ คลุกคลีและผลิตลำไยนอกฤดูมานานกว่า 15 ปี คุณพิสุทธิ์ เล่าว่า ตอนนี้พื้นที่ปลูกและผลิตลำไยของสวนตัวเองมี จำนวน 400 ต้น อายุลำไยได้ 20 ปีแล้ว (ลำไยจะมีอายุยืนมาก) เกษตรกรโดยมากจะปลูกและถือครองพื้นที่ปลูกลำไยกันเฉลี่ยครอบครัวละ 20-50 ไร่ ถ้าปลูกมากกว่านี้ก็ไม่สามารถทำได้ไหว เพราะแหล่งน้ำไม่พอ การจัดการสวนจะยากขึ้น มีการลงทุนสูง

คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง กับประสบการณ์ในการผลิตลำไยนอกฤดูมานานกว่า 15 ปี
คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง กับประสบการณ์ในการผลิตลำไยนอกฤดูมานานกว่า 15 ปี

คุณพิสุทธิ์ อธิบายต่อไปว่า ที่นี่จะใช้ระยะปลูกลำไย 8×8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 25 ต้น จะเหมาะสมเมื่อต้นมีอายุมาก แต่ในช่วงแรกๆ ชาวสวนลำไยจะปลูกระยะชิดก่อน คือระยะปลูก 4×4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกลำไยได้ 100 ต้นก่อน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสปล่อยให้พื้นที่ว่าง เพราะลำไยอายุที่เหมาะสมที่จะบังคับราดสารให้ออกนอกฤดูคือต้นอายุสัก 5 ปี กำลังเหมาะสม ต่อมาเมื่อต้นลำไยเริ่มมีอายุ ตัดแต่งบังคับทรงพุ่มได้ยากขึ้น ทรงพุ่มชนกัน การทำงานลำบาก ใบลำไยเกิดการบังแสงแดดกัน ก็จะตัดต้นลำไยทิ้งแบบ “ต้นเว้นต้น” ก็จะเหลือระยะปลูก 8×8 เมตร พอดี ซึ่งเกษตรกรบางท่านอาจจะทำใจยาก เนื่องจากต้นลำไยที่จะตัดออก ต้นกำลังโตและงาม แต่ก็ต้องตัด อย่าเสียดาย

ต้นลำไยดอ อายุ 20 ปี ใช้ระยะปลูก 8x8 เมตร
ต้นลำไยดอ อายุ 20 ปี ใช้ระยะปลูก 8×8 เมตร

ส่วนการคุมทรงพุ่มของต้นลำไยมีความสำคัญมาก มันจะเกี่ยวข้องตั้งแต่ผลผลิต การจัดการ การฉีดพ่นสารเคมี การเก็บเกี่ยว ฉะนั้น อย่างหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็จะมีการตัดแต่งกิ่งในส่วนของความสูง ตัดส่วนยอดของต้นไม่ให้มีความสูงเกิน 3 เมตร ซึ่งจะเน้นให้ต้นลำไยมีทรงพุ่มที่แผ่กว้างมากกว่าที่จะปล่อยให้ทรงพุ่มสูง หลังจากตัดแต่งควบคุมทรงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ก็จะปล่อยให้ต้นได้พักฟื้นแตกใบตามธรรมชาติ 2-3 ชุด ก่อนที่จะตัดแต่งกิ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการราดสารต่อไป

ลำไยดอ พื้นที่บ้านรักไทย จะเน้นการผลิตออกก่อนฤดูกาล
ลำไยดอ พื้นที่บ้านรักไทย จะเน้นการผลิตออกก่อนฤดูกาล

การผลิตลำไย ที่บ้านรักไทย

จะผลิตลำไยก่อนฤดูกาล

คุณพิสุทธิ์ เล่าว่า ซึ่งจะทำให้ลำไยออกสู่ตลาดก่อนลำไยในฤดูจะออกเล็กน้อย โดยผลผลิตจะออกช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งลำไยในฤดูจะออกช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม สาเหตุที่เกษตรกรแถบนี้ต้องทำให้ออกก่อนฤดูนั้น เพราะถ้าผลิตให้ออกช่วงหลังฤดูกาล จะมีปัญหาเรื่องค้างคาว ถ้าทำลำไยไม่พร้อมกับเจ้าอื่น เนื่องจากแถบนี้จะมีถ้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมาก ก็จะมีอุปสรรคเรื่องความเสี่ยงที่ค้างคาวจะมาทำลายผลผลิต ความรู้เรื่องการผลิตลำไย ก็จะเอาจุดดีของทางเชียงใหม่ ที่เน้นการผลิตลำไยในฤดูกาล และทางจันทบุรี ที่เน้นการผลิตลำไยนอกฤดูกาล ก็นำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง เพราะเรามีข้อจำกัดและเสียเปรียบในเรื่องของน้ำ เพราะอยู่ในพื้นที่สูง

“การผลิตลำไยนอกฤดูกาล เรื่องน้ำสำคัญที่สุด อย่างที่นี่ก็ต้องวางแผนให้ดี อย่างผมจะเริ่มต้นคือตั้งแต่การตัดแต่งกิ่งช่วงเดือนกันยายน ดึงใบอ่อน สะสมอาหาร อย่างการราดสาร ผมจะเริ่มราดสารในเดือนพฤศจิกายน เก็บเกี่ยวเดือนมิถุนายน ถ้าเราไม่ชิงราดสารช่วงเดือนพฤศจิกายน พอเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศหนาวจัด ลำไยมันจะออกดอกมาในฤดูหมด ผลผลิตก็จะไปตรงกับลำไยของทางภาคเหนืออีก ข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่มีต่างกัน อย่างที่นี่ ถ้าทำเร็วเกินเจอแล้ง ถ้าทำช้าก็จะออกในฤดู เกษตรกรทุกคนจะรู้ดี แต่ถ้าสวนใครโชคดีอยู่ในพื้นที่มีแหล่งน้ำดีก็จะผลิตออกสู่ตลาดเร็วกว่าสวนอื่นเพื่อให้ได้ราคาสูง เก็บขายช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม หรือช่วงราวๆ วันตรุษจีน แต่อย่างที่อธิบายไป ก็ต้องระวังค้างคาว อาจจะทำพื้นที่ขนาดเล็กได้เท่านั้น ไม่สามารถผลิตพื้นที่ใหญ่ได้ ค้างคาวเป็นปัญหาใหญ่มาก”

 

การเริ่มต้น ก็คือ การตัดแต่งกิ่ง

ก่อนที่จะตัดแต่งกิ่ง ก็ต้องบำรุงต้นให้ใบมีความสมบูรณ์ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมี คือปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 = 1 ส่วน ผสมกับปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 = 1 ส่วน ใส่ให้ ต้นละ 1 กิโลกรัม พร้อมใส่ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด หว่านให้ ต้นละ 5 กิโลกรัม ปกติชาวสวนจะใส่ปุ๋ยกันล่วงหน้า  1 วัน หรือใส่กันวันแต่งกิ่งเลย เพราะจะแต่งกิ่งลำไยคลุมโคนและคลุมปุ๋ยเลย ไม่มีการขนย้ายกิ่งออกจากสวน เพราะต้องการให้ใบและกิ่งคลุมโคนต้น เพื่อรักษาความชื้น ทิ้งไว้ให้ย่อยสลายช่วยปรับโครงสร้างของดิน และช่วยลดการสูญเสียไม่ให้ปุ๋ยหายไปกับน้ำ ปุ๋ยมันจะติดกับกิ่งและใบลำไยที่เราตัดแต่งคลุมโคนเอาไว้

ต้นลำไยจะถูกจำกัดความสูงด้วยการตัดแต่งควบคุมทรงพุ่ม
ต้นลำไยจะถูกจำกัดความสูงด้วยการตัดแต่งควบคุมทรงพุ่ม

 

หลังตัดแต่งกิ่งลำไยได้ 7 วัน ก็ต้องฉีดพ่น

ปุ๋ยเพื่อดึงใบอ่อนให้ออกมาเสมอกันทั้งต้น

แต่เนื่องจากสวนมีขนาดใหญ่ จึงเลือก ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ที่เป็นปุ๋ยทางดิน เอามาประยุกต์ฉีดพ่นทางใบแทนปุ๋ยทางใบที่มีสูตรตัวหน้า (ไนโตรเจน) สูงๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต จากการใช้ปุ๋ยยูเรีย ก็ใช้ได้ผลดีพอสมควร อัตราที่ใช้ คือ ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0  จำนวน 5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (สามารถผสมสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงฉีดพ่นไปพร้อมกันได้เลย) แต่ถ้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้น แนะนำว่า บวกกับฮอร์โมน “จิบเบอเรลลิน” (Gibberellin ) ฉีดพ่นเพื่อกระตุ้นให้ต้นลำไยแตกใบอ่อนออกมาพร้อมสม่ำเสมอกันทั่วทั้งต้น แตกใบเร็วขึ้น ออกมารุ่นเดียวกันทำให้ง่ายต่อการดูแล นั่นมีความสำคัญมากในการทำใบลำไยให้ออกมาเป็นชุดๆ ระวังหนอนและแมลงกัดกินใบอ่อน เช่น หนอนคืบกินใบ หนอนมังกร หนอนหนาม ด้วงกินใบ ด้วงกุหลาบและแมลงค่อมทอง

การป้องกันกำจัด ให้ฉีดสารเคมี เช่น คลอไพรีฟอส 50% + ไซเพอร์เมทริน อัตรา 20-30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

การผลิตลำไยนอกฤดู สิ่งสำคัญคือ เรื่องของน้ำ
การผลิตลำไยนอกฤดู สิ่งสำคัญคือ เรื่องของน้ำ

หลังจากแตกใบอ่อนได้ราวๆ 10 วัน คือเมื่อใบลำไยเริ่มคลี่แผ่ออก ก็จะต้องเริ่มฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยและฮอร์โมนทางใบ ปุ๋ยที่ใช้ก็จะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 0-52-34 อัตรา 5 กิโลกรัม ผสมกับน้ำตาลทางด่วน 1 ลิตร ผสมกับแม็กนีเซียมเดี่ยว (Mg) อัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (บวกสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามสถานการณ์ไปได้พร้อมกันเลย) การฉีดสะสมอาหารจะฉีดพ่นด้วยสูตรนี้ทั้ง 3 ครั้ง ห่างกันทุกๆ 10 วัน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามการทำลายหรือคาดการณ์แมลงศัตรูที่อาจจะมาทำลาย โดยต้องเน้นการฉีดเพื่อป้องกัน

สนใจ กิ่งพันธุ์ลำไยจัมโบ้ ติดต่อที่ สวนคุณลี โทร. (081) 901-3760