ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง กาฬสินธุ์ ปลูกข้าวขายพันธุ์ สร้างรายได้

มีโอกาสไปเยี่ยมชมการทำนาแบบผสมผสาน ของศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นำโดย ครอปไลฟ์ เอเชีย ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐาน (GAP) ที่สร้างรายได้สูงกว่าข้าวเปลือกธรรมดา ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบวกกับแนวทางการปลูกพืชแบบผสมผสาน (IPM)

ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2554 เพื่อผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้เพียงพอในชุมชน เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เมื่อปี พ.ศ. 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คัดเลือกให้เป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ และยังได้เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และผลิตภัณฑ์เมล็ดข้าวหอมมะลิชุมชน ยังได้รับการรับรองมาตรฐานจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

(คนที่ 3 จากซ้าย) คุณพ่อสมัคร สมรภูมิ และเพื่อนๆ สมาชิกกลุ่ม

คุณพ่อสมัคร สมรภูมิ อายุ 70 ปี สมาชิกกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 5 ไร่ แบ่งปลูกข้าว 4.2 ไร่ ที่เหลือก็จะขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชผสมผสานไว้กินในยามที่ไม่ได้ปลูกข้าว ก่อนที่คุณพ่อสมัครจะหันมาทำนา เป็นอดีตข้าราชการกรมพัฒนาชุมชน หลังเป็นข้าราชการบำนาญจึงได้มาใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มต้นทำนาจริงจัง ระยะเวลาเพียง 5 ปี เรียนรู้การทำนาจากปู่ ย่า ตา ยาย ประกอบกับคำแนะนำในการเข้าร่วมอบรมจากหลายหน่วยงานผ่านศูนย์ส่งเสริมฯ และได้นำมาประยุกต์ใช้ในนาของตน ในรูปแบบเกษตรผสมผสาน การทำนาของคุณพ่อสมัคร ทำได้ปีละ 2 ครั้ง

ขั้นตอนการทำนาปี

มีการเตรียมดินไถกลบตอซังข้าว 1 สัปดาห์ ก่อนไถแปร และพร้อมลงปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเร่งการย่อยสลายจุลินทรีย์ในดินรองพื้นก่อนเพาะปลูก มีการปล่อยน้ำเข้านาช่วยเร่งการย่อยสลาย ระบายน้ำออกเพื่อไถปรับดิน หลังจากนั้นให้รถดำของกลุ่มฯ มาดำเนินการปักดำ เมื่อต้นข้าวมีอายุ 7 วัน จะมีการฉีดยาคุมและฆ่าหญ้า หลังจากนั้นจะปล่อยน้ำเข้านาในระดับน้ำไม่เกิน 15 เซนติเมตร สังเกตดูศัตรูพืช เช่น หอยเชอรี่ ปู หากมีการระบาดขั้นรุนแรง จะฉีดยาฆ่าหอย เมทัลดีไฮด์ ต้นข้าวอายุ 3 เดือน หมั่นสังเกตโรคและแมลง ใช้ปุ๋ยบำรุงต้นข้าว สูตร 46-0-0 รักษาระดับน้ำที่ 15 เซนติเมตร

นาของคุณพ่อสมัคร สมรภูมิ

หมั่นดูโรค หนู และแมลงศัตรูพืช พวกหนอนม้วนใบ หนอนกอ หากมีการระบาดตั้งแต่เริ่มต้น จะใช้สารประเภทฟิโปรนิล หรือสารเบนซัลแทป แต่ที่ผ่านมา นาของคุณพ่อสมัครยังไม่มีการระบาด ต้นข้าวอายุ 4 เดือน จะใส่ปุ๋ยบำรุง สูตร 15-15-15 เมื่อเข้าระยะตั้งท้อง จะให้ฮอร์โมนรับรวงข้าวบำรุงโดยฉีดพ่น

 

สารเคมี ใช้เมื่อจำเป็น

การใช้สารเคมีในระหว่างทำนาของสมาชิก จะสังเกตจากการระบาดของโรคและแมลง ว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด จึงจะมีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัด

“ผมทำไม่ได้หรอกที่จะมาเก็บปู เก็บหอย ถ้ามันมีมากจริงๆ หรือหากสังเกตว่าช่วงก่อนตั้งท้อง ต้นข้าวขาดความสมบูรณ์ เขาแนะนำให้เสริมฮอร์โมนไข่ ผมก็ใช้หรือเพิ่มฮอร์โมนบางตัว เพราะเสี่ยงไม่ได้เด็ดขาด” คุณพ่อสมัคร บอก

ในการใช้สารเคมีกำจัด ทางกลุ่มได้มีการเรียนรู้จากอารักขาพืช ในเรื่องของการเลือกใช้สารให้ถูกต้องเหมาะสมกับแมลงและโรคต่างๆ ในการอ่านฉลาก การปฏิบัติตนขณะฉีดพ่น การเก็บซากบรรจุภัณฑ์ จนถึงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัย เพื่อให้ได้สินค้าตามมาตรฐานที่ต้องการ

เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านดงลิง

ผลตอบรับจากข้าวเปลือก

ผลผลิตที่ได้ในการทำนาปี 2559/2560 จากพื้นที่ 4.2 ไร่ ได้ข้าวเปลือก จำนวน 700 กิโลกรัม ต่อไร่ รวม 2,940 กิโลกรัม คิดต้นทุนการผลิต อยู่ที่กิโลกรัมละ 5.10 บาท ราคาขายเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกหอมละลิในกลุ่ม จะขายกิโลกรัมละ 15 บาท หากขายให้คนภายนอก จะขายในราคา กิโลกรัมละ 25 บาท ในขณะที่ราคาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิในตลาดอยู่ที่ กิโลกรัมละ 9 บาท และคาดว่าในอนาคตมีแนวโน้มราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวจะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่

โรงสีชุมชน

ในการทำนาของสมาชิกกลุ่ม จะเป็นการทำนาแบบผสมผสานระหว่างเคมีกับอินทรีย์ เพราะว่าต้องการที่จะได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตควบคู่กัน และมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน

ปัจจุบัน เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถคัดเลือกและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวภายใต้ตรารับรอง GAP และมีเครื่องจักรทางการเกษตรเป็นของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น รถดำนา รถเกี่ยวข้าว โรงสีชุมชน และยังมีเงินหมุนเวียนจากกองทุนหมู่บ้าน จึงมั่นใจว่าสมาชิกในชุมชนไม่มีปัญหาหนี้นอกระบบแน่นอน

ผู้ที่สนใจ สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง ได้ที่ อาคารศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านดงลิง หมู่ที่ 11 ตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ โทร. (096) 775-3922, (083) 343-4288