เทคนิค “ปลูกมะพร้าวแกงอย่างมืออาชีพ”

“มะพร้าวใหญ่หรือมะพร้าวแกง” เป็นมะพร้าวที่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้อย่างมากไม่แพ้มะพร้าวน้ำหอม สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล เพราะทนต่อทุกสภาพอากาศทุกอย่าง มีอายุยืนนับร้อยปี ฉะนั้น ถ้าปลูกมะพร้าวแกงครั้งเดียวแล้วดูแลเอาใจใส่อย่างดีก็ถือว่าคุ้มไปตลอดยาวนาน

มะพร้าวแกงมีประโยชน์ต่อวงการอาหารและขนมหลายชนิด อาทิ ถ้านำเนื้อมะพร้าวมาคั้นน้ำกะทิเพื่อไว้ประกอบอาหาร หรือทำขนมหวาน เป็นเมนูต่างๆ ที่คุณอยากจะสร้างสรรค์ เมื่อผลยังอ่อนก็สามารถดื่มน้ำมะพร้าวแก้กระหายได้ ส่วนผลที่กำลังจะแก่ก็นำมาขูด หรือนำไปขายเป็นมะพร้าวทึนทึก

การปลูกมะพร้าวแกงถึงแม้ดูแล้วจะไม่ยุ่งยากมากนัก แต่การปลูกเชิงพาณิชย์ก็ควรมีการใส่ใจอย่างเต็มที่ เนื่องจากในปัจจุบันอุตสาหกรรมมะพร้าวแกงเติบโตอย่างก้าวกระโดดซึ่งไปไกลถึงต่างประเทศและทั่วโลก จึงอาจสร้างเม็ดเงินได้อย่างมาก

คุณวิชาญ บำรุงยา ปราชญ์มะพร้าว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นอีกคนที่ประสบความสำเร็จกับอาชีพปลูกมะพร้าวแกงมาเป็นเวลายาวนาน เป็นผู้ที่สะสมความรู้ ทักษะ ตลอดจนภูมิปัญญาสร้างคุณภาพมะพร้าวแกงจนเป็นที่ยอมรับในวงการมะพร้าว จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

คุณวิชาญ บำรุงยา

ดังนั้น ในเวทีสัมมนามะพร้าวคราวนี้ คุณวิชาญตั้งใจเดินทางนำองค์ความรู้ทุกเรื่องมาถ่ายทอดให้ผู้ร่วมสัมมนาตลอดจนผู้อ่านเทคโนโลยีชาวบ้านในประเด็น “ปลูกมะพร้าวแกงอย่างมืออาชีพ”

คุณวิชาญ กล่าวว่า สำหรับมะพร้าวที่ปลูกในสวนเน้นเฉพาะมะพร้าวแกงที่มีลักษณะต้นสูง ซึ่งตัวเองได้คลุกคลีมะพร้าวมาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวและบรรพบุรุษยึดอาชีพนี้สืบทอดต่อกันมา ถ้าเป็นมะพร้าวหมูสีจะปลูกไว้ใช้ในครัวเรือน ยิ่งสมัยเด็กไม่มีน้ำอัดลมก็ต้องดื่มน้ำมะพร้าวหมูสี ที่มีรสหวานหอม

ราคาจำหน่ายมะพร้าวแกงที่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอบางละมุง ราคาลูกละ 16 บาท โดยเจ้าของสวนมะพร้าวไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่คอยนับจำนวนเท่านั้น เพราะผู้รับซื้อจะมาสอยและลำเลียงขึ้นรถเอง

การเลือกทำเลปลูกมะพร้าวนับเป็นปัจจัยแรกสำหรับผู้ที่เริ่มต้นปลูก หลักทั่วไปในการคัดเลือกสถานที่ปลูกมะพร้าวควรคำนึงถึงเรื่องดิน ควรเป็นดินร่วน หรือร่วนปนทราย อุ้มน้ำได้ดี แต่ถ้าเป็นดินเหนียวต้องมีการระบายน้ำดี สภาพดินเป็นกลาง หรือเป็นกรดเพียงเล็กน้อย pH ระหว่าง 6-7 หน้าดินมีความลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ระดับน้ำใต้ดินไม่ควรตื้นกว่า 2 เมตร และควรมีระยะห่างของต้นมะพร้าวระหว่างต้น 8.70 เมตร ระหว่างแถว 9 เมตร ก็จะได้จำนวนต้นมะพร้าวต่อไร่ประมาณ 22-25 ต้น

สภาพต้นมะพร้าวที่โดนหนอนหัวดำเข้าทำลาย

หลังจากที่ได้พันธุ์มะพร้าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้แล้วควรจัดการขุดหลุมปลูก ถ้าต้องปลูกในหน้าแล้งขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร แยกดินส่วนบนไว้ต่างหาก ตากหลุมอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ถ้ามีปลวกให้เผาเศษไม้ใบไม้แห้งหรือขยะในหลุม อาจจะใช้ยากันปลวกโรยก้นหลุมแทนการเผาก็ได้ ให้ใช้กาบมะพร้าวรองก้นหลุมโดยวางกาบมะพร้าวให้ด้านที่มีเส้นใยหงายขึ้นด้านบน วางซ้อนกัน 2-3 ชั้น เพื่อช่วยเก็บความชื้นในดิน

ในกรณีไม่มีกาบมะพร้าวจะใช้วัสดุอื่นๆ เช่น ฟางข้าว ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ฯลฯ แทนก็ได้ใส่ดินบนที่ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 1:7 รองก้นหลุม ส่วนดินล่างผสมด้วยปุ๋ยร็อกฟอสเฟตหลุมละครึ่งกิโลกรัม (ประมาณ 2 กระป๋องนม) และใส่ฟูราดาน 1 กระป๋องนม เพื่อป้องกันปลวกกินผลพันธุ์มะพร้าว เอาดินใส่ลงในหลุมให้เต็ม ทิ้งไว้จนถึงฤดูปลูก

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเคยขุดหลุมตามหลักวิชาการคือ กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และลึก 1 เมตร ปรากฏว่ามะพร้าวเน่าเพราะพื้นที่เป็นดินปนทราย จึงได้ปรับแนวหาความเหมาะสมของพื้นที่ด้วยการจำกัดความลึกแค่พอฝังลูกมะพร้าวได้เท่านั้น แต่เปลี่ยนมาเป็นความกว้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วกลบเหยียบให้แน่น แล้วให้ดูสภาพอากาศตามจริงว่าร้อนหรือแล้งเพื่อให้น้ำตามความเหมาะสมในสถานการณ์นั้น”

แต่ถ้าให้ได้ผลควร ปลูกในฤดูฝน ขุดดินบนหลุมปลูกที่เตรียมไว้ ให้เป็นหลุมขนาดเล็กเท่าผลมะพร้าว เอาหน่อที่คัดเลือกแล้วมาตัดรากที่หักช้ำออก ใช้ปูนขาวหรือยากันราทาตรงรอยตัด วางหน่อลงในหลุม ให้หน่อตั้งตรง ตัดหน่อไปในทิศทางเดียวกัน เอาดินกลบอย่างน้อย 2/3 ของผล เพื่อให้พอดีมิดผลมะพร้าว แต่ระวังอย่าให้ดินทับโคนหน่อ เพราะจะทำให้หน่อถูกรัด ต้นจะโตช้า

กองล่อด้วงแรดมะพร้าว

เมื่อมะพร้าวโตขึ้นก็ควรจะกลบดินให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันโคนลอย เอาไม้ปักเป็นหลักผูกยึดกับต้นให้แน่น เพื่อป้องกันลมโยก เหยียบดินรอบโคนหน่อให้แน่น ควรทำร่มให้ในระยะแรก เพื่อลดอัตราการตายเนื่องจากถูกแดดจัดเกินไป ในบริเวณที่ปลูกถ้ามีสัตว์เลี้ยง ให้ทำรั้วป้องกันสัตว์มาทำลาย ปลูกมะพร้าวให้ต้นตั้งตรง มัดหลักยึดต้นกันลมโยก ทำร่มบังแดดให้ในระยะแรกหลังปลูก

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการทดลองปลูกในแนวทางของสวนผลไม้ด้วยการวางระบบน้ำ จากนั้นสัก 6 เดือน ให้ดูว่าต้นเป็นอย่างไร ตายหรือแตกยอด ถ้ารอดก็เริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 สักกำมือ หรือ 13-13-21 โดยให้โรยรอบโคน อย่าให้ชิดโคนในช่วงต้นฝน

การใช้แตนเบียนบราคอนควบคุม

แต่ก่อนหน้านี้ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอก ให้ใส่รองพื้นก้นหลุม แต่สำหรับสูตรตัวเองจะใส่เกลือสักกำมือลงไปในหลุมด้วย เพื่อช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของมะพร้าว พอมะพร้าวมีต้นโตขึ้นให้เพิ่มปุ๋ยเป็น 2 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ต้นฝน 1 กิโลกรัม และก่อนหมดฝนอีก 1 กิโลกรัม แล้วควรโรยให้ห่างจากต้นสัก 1 เมตร หรือให้ขุดรอบโคนลึกประมาณหน้าจอบแล้วใส่ปุ๋ยลงไปกลบร่อง

หนอนหัวดำมะพร้าว

นอกจากนั้นแล้ว การเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสด ก็เป็นแนวทางที่ช่วยในเรื่องการสร้างคุณภาพผลผลิต เพราะมีอินทรียวัตถุช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ดินร่วนซุย การระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดี รากของมะพร้าวสามารถชอนไชไปหาอาหารได้อย่างกว้างขวาง การเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินสามารถกระทำได้หลายแบบ เช่น การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง แล้วทำการไถกลบ

ปุ๋ยที่มะพร้าวแกงต้องการก็เหมือนกับพืชทั่วไปคือ NPK แต่ต้องเสริมด้วยโดโลไมท์บ้างเพื่อช่วยให้ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้วมีผลผลิตดีมีคุณภาพ

นอกจากนั้นแล้ว แสงแดดมีส่วนสำคัญกับมะพร้าว ซึ่งในแต่ละวันต้นมะพร้าวควรได้รับแสงแดดไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง ต่อวัน หากได้รับแสงแดดน้อยมะพร้าวจะไม่ค่อยออกดอกติดผล หรือติดผลแต่เนื้อบาง

ขณะนี้มีแปลงสาธิตไว้สำหรับทดลองปลูกมะพร้าวในแนวทางและวิธีการต่างๆ อย่างตอนนี้ได้นำแนวทางการปลูกด้วยการใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศของทางกรมวิชาการเกษตร เป็นการนำมูลสัตว์มาผลิตปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการเพื่อกำจัดเชื้อโรคที่เป็นศัตรูของมะพร้าว เพื่อให้เหลือแต่สิ่งที่มีประโยชน์ล้วนๆ

การเจาะฉีดสารเคมีเข้าลำต้นในอัตราเพียงต้นละ 30 ซีซี.

นอกจากนั้น ยังนำปุ๋ยสั่งตัดมาใช้ด้วย แต่ก่อนนำมาใช้ต้องนำตัวอย่างดินในสวนไปวิเคราะห์หาค่าอาหารที่ขาดไปเพื่อจะได้ใช้ปุ๋ยที่จัดไว้อย่างเหมาะสมต่อดินในแปลง อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งหลายที่ได้รับการแนะนำจากภาคราชการถือเป็นหนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำ รวมถึงยังช่วยในเรื่องการลดต้นทุนได้จำนวนมากด้วย

ผลผลิตมะพร้าวจะต้องใช้เวลาถึง 6 ปีกว่าจะเกิดรายได้ ดังนั้น ระหว่างทางควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้วย ผู้ปลูกมะพร้าวแกงไม่ควรรออาศัยประโยชน์จากมะพร้าวเพียงอย่างเดียว ควรนำพืชชนิดอื่นมาปลูกเพื่อสร้างรายได้ อย่างที่ปลูกเป็นสับปะรดกับมันสำปะหลัง เพราะมะพร้าวจะได้รับปุ๋ยไปพร้อมกับพืชแซมเหล่านั้น

ทั้งนี้ หากบางท่านไม่ได้ปลูกพืชแซมแล้วต้องการปรับปรุงดิน แนะนำให้ใช้ผาลพรวนที่มีหลายแถว เพราะหากใช้อุปกรณ์ชนิดอื่นอาจจะทำลายรากมะพร้าวเสียหายได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ขณะที่การกำจัดวัชพืชควรใช้วิธีตัดเพียงอย่างเดียว แล้วหมั่นตัดอย่าปล่อยให้มีมาก

ส่วนโรค/ศัตรูที่พบกับมะพร้าวมักเป็นพวกด้วงแรด ด้วงงวง แต่พอหลังจากปี 2540 เป็นต้นมาพบว่าหนอนหัวดำและแมลงหนามดำเข้ามาสร้างปัญหากับมะพร้าวเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ ที่ศูนย์ได้ผลิตแตนเบียนบราคอนเพื่อไว้กำจัดหนอนหัวดำ เนื่องจากหนอนชนิดนี้มักกินใบแก่ของมะพร้าวจากด้านล่างขึ้นไปที่ยอดจนทำให้ใบมะพร้าวเสียหาย มีผลต่อจำนวนผลผลิตที่ลดลง

อีกแนวทางนอกจากแตนเบียนคือการฉีดสารเคมีที่ทางราชการแนะนำ เป็นการฉีดเข้าไปในลำต้นเพื่อให้ใบดูดซึมแล้วเมื่อหนอนกินใบจะตาย โดยแนวทางนี้จะเหมาะกับต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร แต่วิธีนี้ยังติดขัดอยู่เพราะค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น ตอนนี้คงใช้แตนเบียนมาช่วยก่อน

ด้วงงวงมะพร้าว

ศัตรูอีกชนิดคือแมลงดำหนามที่มักกินยอดใบทำให้มะพร้าวแห้ง โดยแนวทางป้องกันคือใช้ยาปราบซึ่งอาจมีอันตรายอยู่บ้าง แต่เท่าที่ทำกันตอนนี้คือตัดใบแล้วนำมาเผา หรือใช้แตนเบียนอีกสายพันธุ์มาช่วยกำจัด ส่วนด้วงแรด ด้วงงวงจะใช้วิธีทำลายด้วยการเจาะเปิดแผล จากนั้นด้วงงวงจะเข้าไปที่ยอดมะพร้าวเพื่อวางไข่ พอไข่เจริญเติบโตจะเป็นหนอนเจาะกินยอดมะพร้าวตายแล้วหักออก

สำหรับแนวทางแก้ไขคือจะทำกองล่อที่ผลิตจากมูลสัตว์ขุยมะพร้าว เศษวัชพืช สร้างกองไว้ 2 แห่ง อีกแนวทางคืออย่าปล่อยให้สวนมะพร้าวรก ไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตาม เพราะจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชนิดต่างๆ ทุกอย่าง

ในต้นมะพร้าวแกงผมทดลองใส่กากน้ำปลาลงไป พบว่าให้ผลผลิตดี ดก ผลใหญ่ เพราะกากน้ำปลามีส่วนผสมของเกลืออยู่แล้ว รวมถึงเศษจากตัวปลาด้วย

หลักและวิธีปลูกมะพร้าวจะต้องใส่ใจอย่างมาก ต้องทุ่มเทอย่างหนัก ไม่ควรปลูกแบบปล่อยเหมือนสมัยก่อนที่ให้เทวดาเลี้ยง ในสมัยนี้ทำเช่นนั้นคงไม่ได้แน่ เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป การแข่งขันทวีความเข้มข้น ทุกปัจจัยเป็นตัวแปรต่อรายได้ที่เกิดขึ้น

“การดำรงอยู่ในอาชีพนี้จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขัน เพราะทุกสวนที่ปลูกได้มีการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่เพื่อจะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วให้ความช่วยเหลือทุกเรื่อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างกัน มีการช่วยเหลือพึ่งพากันละกัน ท้ายนี้หากท่านสนใจข้อมูลการปลูกมะพร้าวขอเรียนเชิญได้ที่ศูนย์” คุณวิชาญ กล่าว

บทสรุปของคุณวิชาญในเรื่องการปลูกมะพร้าวแกงอย่างมีคุณภาพจึงฟันธงไปตรงที่การเข้าถึงกระบวนการปลูกในทุกขั้นตอน เพราะในทุกระยะของการเจริญเติบโต มะพร้าวต้องการความเอาใจใส่ ขณะเดียวกัน การมีเป้าหมายที่ชัดเจนต่อผลผลิตมะพร้าวเพื่อการค้าย่อมทำให้ผู้ปลูกยิ่งหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น หากเริ่มลงมือปลูกมะพร้าวแกงในวันนี้อย่างมีคุณภาพ ในวันข้างหน้าคุณคงไม่พลาดที่จะมีรายได้อย่างงาม…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า