แนะใช้สารเคมี ให้ถูกวิธี นอกจากจะปลอดภัย ยังประหยัดได้มาก

เคยกล่าวมาแล้วว่า การที่เราเอาสารเคมีหลายชนิดมาผสมกัน อาจจะเป็นผลเสียในเรื่องของประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะได้ผลไม่เต็มที่ คุณสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ อดีตผู้อำนวยการกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การผสมสารเคมียังมีปัญหาอีกมากมายที่ทำให้การใช้สารเคมีไม่ได้ผล การเข้ากันไม่ได้กับวัสดุอุปกรณ์ที่เราใช้พ่นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เช่น สารเคมีที่พ่นเป็นละอองละเอียด เครื่องพ่นต้องใช้หัวฉีดพ่นรูเล็ก ถ้าเรานำสารเคมีไปผสมกับเชื้อราบิวเวอเรีย ไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นสารที่ต้องใช้หัวฉีดพ่นรูใหญ่ เมื่อเราไปผสมกันแล้วไปใช้กับถังพ่นที่มีหัวฉีดพ่นรูเล็ก พ่นไปสักพักหนึ่งหัวพ่นก็จะอุดตัน การพ่นไปที่แปลงพืชสารก็จะพ่นไปไม่ทั่วถึง เช่นนี้เรียกว่าเป็นการเข้ากันไม่ได้ทางวัสดุอุปกรณ์

 

ต้นทุนการผลิตสูง เพราะพ่นสารเคมีไม่ได้ผล

ปัญหาการใช้สารเคมีที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดในตอนที่แล้ว ทำให้การพ่นสารเคมีไม่ได้ผล การนำสารเคมีมาผสมรวมกันแทนที่จะเป็นการลดต้นทุนการผลิต ประหยัดสารเคมีและประหยัดแรงงาน กลับกลายเป็นเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้น มีเกษตรกรเคยบอกว่า เมื่อวานพ่นยาฆ่าเพลี้ยไปแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีเพลี้ยไฟหลงเหลืออยู่ เข้าใจว่าแมลงดื้อยา จึงพ่นซ้ำ จากที่เขาเคยพ่นทุก 7 วัน กลับพ่นถี่เพิ่มขึ้นเป็นทุก 3 วัน เพื่อต้องการให้เพลี้ยไฟตายให้หมด เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เกษตรกร ประมาณ 70% ที่ไม่เข้าใจในเรื่องการใช้สารเคมีและใช้สารเคมีอย่างผิดๆ ในกลุ่มพืชที่มีปัญหาเกี่ยวกับแมลงดื้อยา เท่าที่พบ ได้แก่ มะม่วง กล้วยไม้ นาข้าว เป็นต้น

สาธิตการผสมสารเคมี

“สรุปได้ว่า การที่แมลงดื้อยา ไม่ใช่เพราะสารเคมีทำให้ดื้อยา แต่การที่นำสารเคมีมาผสมกันหลายชนิดซึ่งต่างกันทางปฏิกิริยาเคมี ต่างกันทางกายภาพ ต่างกันทางชีวภาพ และใช้วัสดุอุปกรณ์การพ่นที่ไม่เข้าใจถึงความต่างกันของสาร และเมื่อสารเคมีหลายชนิดรวมกัน ต่างก็ลดฤทธิ์ ลดประสิทธิภาพลง ก็ไม่สามารถฆ่าศัตรูพืชได้ เมื่อทำลายได้ไม่หมด แมลงที่รอดชีวิตหลงเหลืออยู่ก็จะคัดเลือกพันธุกรรมขึ้นมา ทำให้เกิดการดื้อยาโดยอัตโนมัติ หรือโดยธรรมชาติ กล่าวได้ว่า การที่เกษตรกรไม่เข้าใจวิธีการผสมสารเคมีต่างหาก ที่ทำให้แมลงเกิดการดื้อยา”

สารที่ต้านฤทธิ์กันนี้ พบมากในเพลี้ยไฟ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนใยผัก เป็นต้น คุณสุเทพ บอกว่า บ้านเรามีปัญหาในเรื่องนี้มาก

 

ต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ แก่นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ก่อน

คุณสุเทพ กล่าวอีกด้วยว่า จำเป็นต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการผสมสารเคมีอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ และไม่ใช้สารเคมีอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะนักวิชาการที่อยู่ในส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้ จึงจะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรได้

 

ขั้นตอนการผสมสารเคมีให้ได้ประสิทธิภาพ

คุณสุเทพ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องทราบว่า วัตถุประสงค์ของการผลิตสารเคมีแต่ละชนิดที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช จะมีความเฉพาะเจาะจงที่แตกต่างกัน บางชนิดมีคุณสมบัติแบบสัมผัสหรือถูกตัวตาย บางชนิดมีคุณสมบัติแบบดูดซึม บางชนิดใช้กับแมลงจำพวกปากดูด บางชนิดใช้กับแมลงปากกัด หรือบางชนิดเจาะจงเฉพาะไรแดง ดังนั้น การใช้สารแต่ละชนิดควรจะแยกกันใช้จะได้ผลที่สุด แต่ถ้าจำเป็นต้องนำสารสองอย่างมารวมกัน ควรจะต้องทดสอบก่อนว่า เมื่อผสมกันแล้วจะเกิดปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้น โดยทดสอบการเข้ากันได้ทางกายภาพ คือ การใช้วิธี จาร์เทสต์ (Jartest) หมายถึงการเอาสารเคมี 2 ตัว ที่ต้องการมาผสมกัน มาทดลองผสมกันในเหยือกที่ใส่น้ำก่อน โดยเอาสารที่เป็นของแข็งใส่ลงไปก่อน สมมติว่าเราจะเอาสารเคมีที่เป็นสูตรผง (WP) ผสมกับสูตรที่เป็นของเหลว (EC) ต้องทำตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ใส่น้ำในเหยือกก่อน ต้องเอาสารที่เป็นของแข็งคือ สูตรผงใส่ลงไปในเหยือกน้ำก่อน โดยชั่งน้ำหนักตามอัตราส่วนที่ต้องคำนวณตามคำแนะนำ แล้วกวนผงให้เข้ากันกับน้ำ ทิ้งไว้สักครู่เมื่อผงละลายดีแล้ว จึงเติมสารเคมีที่เป็นสูตรเหลวลงไป กวนให้เข้ากันอีกรอบหนึ่ง ทิ้งไว้ 15 นาที ถ้าสารทั้งสองชนิดละลายเป็นเนื้อเดียวกันไม่แยกชั้น ไม่ตกตะกอน แสดงว่าสารทั้งสองชนิดเข้ากันได้ทางกายภาพ ถ้าตกตะกอนหรือแยกชั้นแสดงว่าเข้ากันไม่ได้ (Incompability), (ลำดับการผสมสารเคมีควรเรียงตามลำดับ ดังนี้ WG, SG, WP, EW, OD, SC, CS, SL, EC โดยให้ใส่สารจับใบเป็นชนิดสุดท้าย กรณีใช้ สูตร EC ไม่จำเป็นต้องใช้สารจับใบ)
  2. จากนั้นให้นำไปทดสอบดูว่า สารที่ผสมกันแล้วเข้ากันได้ดีหรือไม่ จะมีการต้านฤทธิ์กันหรือไม่ โดยนำไปพ่นกำจัดแมลงเพื่อทดสอบดูว่า ระหว่างการพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดียวกับพ่นสารที่ผสมกัน อัตราการตายของแมลงแตกต่างกันหรือไม่ จำนวนตายเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถ้าจำนวนตายเพิ่มขึ้นแสดงว่าสารทั้งสองเข้ากันได้ทางเคมีและเพิ่มฤทธิ์กัน (synergist) แต่ถ้าจำนวนตายลดลงแสดงว่าสารทั้งสองชนิดเข้ากันไม่ได้ทางเคมี (Antagonist)

ถ้าต้องการผสมสารเคมีมากกว่า 2 ชนิด ก็ต้องทำเช่นเดียวกันคือ ต้องผสมและทดสอบโดยแบ่งออกมาทดสอบเป็นส่วนน้อยก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าเข้ากันได้หรือไม่ เพื่อจะได้ใช้อย่างถูกต้อง เป็นการประหยัดสารเคมีไปในตัว

 

สารเคมีหลายชนิดผสมกัน อาจทำลายทั้งพืชและแมลง

สารเคมีที่เป็นของเหลว มีตัวทำลายต่างๆ กัน บางชนิดคล้ายสบู่ บางชนิดเป็นน้ำมัน ได้แก่ ปิโตรเลียมออยล์ ไวท์ออยล์ น้ำมันคิโลซีน เป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่จะเอาสารไปผสมกัน จึงต้องระวังเนื่องจากมีคุณสมบัติการทำลายต่างกัน

คุณสุเทพ อธิบายว่า ถึงแม้สารที่ผสมเข้ากันได้ทั้งกายภาพและทางเคมี แต่ต้องสังเกตดูด้วยว่า เมื่อพ่นไปแล้วแมลงตาย และเกิดอาการความเป็นพิษต่อพืช (phytotoxicity) ด้วย ถ้าเป็นไม้ดอก ดอกก็จะร่วงหรือกลีบดอกไหม้ ถ้าเป็นไม้ผลโดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังออกดอก ติดผลอ่อน ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตของพืช โดยเฉพาะสารที่เป็นน้ำมัน เช่น ปิโตรเลียมออยล์ เมื่อเราพ่นสารผสมไปแล้ว สารจะไปยับยั้งกระบวนการหายใจ ก็จะทำให้เกิดพิษต่อพืชได้

นอกจากนี้ สารที่เป็นน้ำมัน อาจจะไปล้างไขของพืชที่เป็นไข หรือเป็นนวล ที่เรียกว่านวลผลไม้ออกไป เช่น องุ่น น้อยหน่า เมื่อผลไม้เหล่านี้ถูกแสงแดดก็เกิดอาการไหม้ เรียกว่า เป็นพิษต่อผล หรือการใช้สารเคมีกลุ่มไวท์ออยล์ หรือปิโตรเลียมออยล์ ถ้าไปผสมกับพวกซัลเฟอร์ หรือสารองค์ประกอบของทองแดงจะเกิดปฏิกิริยาเป็นพิษต่อพืชได้ เหล่านี้ เป็นต้น

“ปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีนั้นมีมากมาย น้อยคนนักที่จะมีความรู้อย่างถ่องแท้ ผู้ที่ติดต่อสื่อสารใกล้ชิดกับเกษตรกรโดยตรง ก็คือ นักวิชาการของบริษัท หรือตัวแทนที่ออกไปส่งเสริมและจำหน่ายสารเคมี ควรจะต้องศึกษาหาความรู้ ควรทำการทดลองเสียก่อนแล้วจึงนำไปจำหน่าย เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจของเขาโดยตรง หากเกษตรกรนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและได้ผล ไม่เกิดการเป็นพิษต่อพืช เกษตรกรได้รับประโยชน์ ผลประโยชน์ทุกอย่างก็จะสะท้อนมาถึงธุรกิจของบริษัท เพราะเขาได้รับความเชื่อถือจากเกษตรกร”

กินผักและผลไม้อย่างไร จึงจะปลอดภัยจากสารพิษ

ก่อนอื่นผู้บริโภคต้องรู้เรื่องของสารเคมีที่นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราก่อน สารเคมีนำมาจำหน่ายในบ้านเรา กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยง โดยใช้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งเขาได้ทดลองและวิจัยกับหนูทดลองทางด้านพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง มีค่าที่มนุษย์สามารถบริโภคสารเคมีชนิดนั้นๆ ได้ โดยให้ทดสอบกับหนูทดลองทั้งระยะสั้นและในระยะยาว 6 เดือน ถึง 2 ปี หลังจากทดลองเสร็จก็ดูว่าระบบภายในของหนูเป็นอย่างไร แล้วเอาค่านั้นมาคำนวณสำหรับใช้กับมนุษย์ โดยเอา 100 หาร เรียกว่า ค่าเซฟตี้แฟคเตอร์ เพื่อเป็นฐานในการคำนวณหาค่าสารตกค้างสูงสุดที่มนุษย์จะสามารถบริโภคสารเคมีนั้นได้ (Maximum residue limit; MRL) ซึ่งสารเคมีหน่วยเป็น มิลลิกรัม/น้ำหนักผักหรือผลไม้ 1 กิโลกรัม ถ้าจะเกิดอันตรายก็ต่อเมื่อกินผักจำนวนมากกว่า 1 กิโลกรัม ทุกวันติดต่อกัน จึงจะมีโอกาสเกิดความเป็นพิษ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะกินผักผลไม้เกินวันละ 1 กิโลกรัม ทุกวัน คุณสุเทพ กล่าว

 

เกษตรกร เป็นต้นน้ำแห่งความปลอดภัยในการบริโภค

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า วัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในประเทศไทย ถูกกำกับดูแลโดยกรมวิชาการเกษตรอยู่แล้ว ก่อนที่ภาคเอกชนจะนำไปจำหน่ายแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นผู้สัมผัสโดยตรงกับสารเคมี ดังนั้น การนำไปใช้จะต้องมีความรู้ว่าใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ ใช้อย่างไรให้ถูกต้องและประหยัดเพื่อลดต้นทุนการผลิต และต้องปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเอง

ความปลอดภัยของผู้บริโภค ขึ้นอยู่กับเกษตรกรซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำแห่งความปลอดภัย เกษตรกรจะต้องมีจรรยาบรรณในการใช้สารเคมี จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้อย่างเคร่งครัด คือปฏิบัติตามฉลากที่ติดไว้บนภาชนะบรรจุ เมื่อพ่นสารไปแล้วจะต้องทิ้งช่วงระยะเวลาก่อนการเก็บเกี่ยวตามที่แนะนำในฉลาก ผู้บริโภคก็จะปลอดภัยในอันดับแรก แต่ถ้าผู้บริโภคมีความกังวล เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยก็มีการแนะนำในเรื่องการทำความสะอาดพืชผักผลไม้ที่จะกินดังนี้

  1. นำผักหรือผลไม้ ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อกน้ำ วิธีนี้ล้างสารเคมีได้มากที่สุด
  2. นำมาแช่ด่างทับทิม หรือเกลือ
  3. แช่ผงฟู หรือผงไบคาร์บอเนต สัดส่วนตามคำแนะนำที่มีไว้ในห่อบรรจุ
  4. แช่น้ำส้มสายชู ชนิด 5% ผสมน้ำ
  5. ผ่านความร้อนโดยวิธีลวกน้ำหรือต้มแกง

ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ สารเคมีติดอยู่ก็สลายออกไปได้มาก

คุณสุเทพ กล่าวในท้ายที่สุดว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เกษตรกร ในเรื่องของการใช้สารเคมี ถึงแม้ว่าสามารถใช้สารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อย่างถูกต้องและสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ แต่เกษตรกรมักจะมองข้ามในเรื่องของการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสารเคมีละเลยในเรื่องของการตรวจสุขภาพ การตรวจหาสารตกค้างในกระแสเลือด ทำให้สุขภาพของตนเองทรุดโทรม กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-8540 หรือ คุณสุเทพ สหายา โทร. (086) 769-6682