“5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง”

ทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้เป็น 3 ขั้นตอน ในขั้นตอนที่ 1 เป็นขั้นตอนเริ่มต้นของทฤษฎีใหม่ เป็นขั้นตอนของการผลิตทางการเกษตรโดยตรง เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารอย่างเพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัว

คุณสมเพชร พรมเมืองดี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา

คุณสมเพชร พรมเมืองดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร เล่าให้ฟังว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา ในปี 2560 โดยการนำของผู้บริหาร และพร้อมกับทีมงานเพื่อนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย หรือพนักงาน ได้ร่วมจัดงาน “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา เกษตรกลาง บางเขน ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมให้กับประชาชนหรือเกษตรกรที่มาร่วมงานได้รับความรู้และเสริมสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปใช้ในการเปลี่ยนวิถีสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน

ในงานมีเกษตรกรต้นแบบและปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาถ่ายทอดประสบการณ์และตอบข้อซักถามให้ผู้มาร่วมงาน ได้ชมการจัดแสดงนิทรรศการเกษตร ชมการสาธิตการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ หนึ่งวิถีการเพิ่มมูลค่า หรือชมกิจกรรมการเกษตรในสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา

เรือนทรงงาน

ในการดำเนินงาน “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วน เปิดตัวโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” ด้วยการ น้อมนำศาสตร์พระราชาขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่สู่เกษตรกร 70,000 ราย

5 ประสาน ประกอบด้วย

  1. เกษตรกรที่ต้องมีความพร้อมและสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ เริ่มจากการทำแบบง่าย แล้วค่อยๆ ขยายตามฐานะของตนเอง
  2. ปราชญ์เกษตรหรือเกษตรกรต้นแบบ เพื่อทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงในการสร้างแรงบันดาลใจ แนะนำให้ความช่วยเหลือ
  3. ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  4. ภาคเอกชน โดยสนับสนุนทุนเริ่มต้นหรือปัจจัยการผลิตการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียน ให้คำแนะนำ ตลอดทั้งจัดหาตลาดให้แก่เกษตรกร และ
  5. สถาบันการศึกษา โดยสนับสนุนองค์ความรู้ และเทคนิคการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกร

ในสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา ได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ศูนย์รวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพรรณไทยและศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ที่จัดให้ประชาชนหรือเกษตรกรได้เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในวิถีการดำรงชีวิตที่พอเพียง

จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำใช้เพื่อการเกษตร

เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้เป็น 3 ขั้นตอน สำหรับในขั้นตอนที่ 1 เป็นขั้นตอนเริ่มต้นของทฤษฎีใหม่ เป็นขั้นตอนการผลิตทางการเกษตรโดยตรง เพื่อให้มีอาหารอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคในครอบครัวของเกษตรกร ในขั้นนี้เกษตรกรจะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งกรรมวิธีในการขุดสระน้ำ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยการปรึกษากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยการจัดการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 สัดส่วน ในอัตราส่วน 30% 30% 30% และ 10% ดังนี้

สัดส่วนแรก พื้นที่ 30% เป็นพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการเกษตร สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนในครัวเรือน

สัดส่วนที่ 2 พื้นที่ 30% จัดเป็นแปลงนาข้าว สำหรับปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและขายในกรณีที่เหลือจากการบริโภค หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วควรปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยเพื่อบำรุงดิน เช่น พืชตระกูลถั่วหรือโสน

สัดส่วนที่ 3 พื้นที่ 30% จัดเป็นพื้นที่สำหรับปลูกพืชไร่หรือปลูกพืชสวน พืชไร่ที่ควรปลูก เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือการปลูกพืชสวน พืชที่ควรปลูก เช่น ไม้ผล พืชผัก พืชอายุสั้น ผลผลิตที่ได้เพื่อการบริโภคในครัวเรือนและขายในกรณีที่เหลือจากการบริโภค เพื่อนำรายได้มาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิต

และสัดส่วนที่ 4 พื้นที่ 10% จัดเป็นที่อยู่อาศัยของเกษตรกร และห่างออกไปจัดเป็นโรงเรือนเพื่อเก็บเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์การเกษตร หรือใช้พื้นที่ว่างบางส่วนจัดการเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ไก่ เป็ดหรือสุกร

สร้างโรงเรือนหรือยุ้งฉางเพื่อเก็บผลผลิตการเกษตร

คุณสมเพชร พรมเมืองดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร เล่าให้ฟังว่า ด้วยสัดส่วนทฤษฎีใหม่ดังกล่าวข้างต้น เกษตรกรรายย่อย ประชาชน หรือผู้สนใจทั่วไป สามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ แม้จะมีปัจจัยจากภายนอกหรือภาวะเศรษฐกิจจะผันผวนก็จะไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีพ และยังสามารถดำรงชีวิตได้ในแนวทางแห่งความพอเพียง เป็นหนึ่งวิธีการเพื่อช่วยส่งเสริมการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน

คุณสมเพชร พรมเมืองดี (ที่ 3 จากขวา) ผอ.ศูนย์ฯ พร้อมกับทีมงานเพื่อนข้าราชการทุกฝ่ายร่วมกันจัดงาน 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง

ส่วนการต่อยอดไปสู่ขั้นที่ 2 และ ขั้นที่ 3 นั้นในขั้นตอนที่ 2 เป็นการดำเนินงานต่อจากขั้นตอนที่ 1 ที่ได้ทำงานประสบผลสำเร็จสมบูรณ์แล้ว ด้วยการรวมพลังในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์เพื่อร่วมแรงร่วมใจในการทำกิจกรรมด้วยกัน จากนั้นจึงก้าวเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนที่นำไปสู่ธุรกิจชุมชน เพื่อให้สภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชุมชนดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น

สาธิตการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ หนึ่งวิถีการเพิ่มมูลค่า

และนี่ก็คือ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” เรื่องราวที่น่าสนใจน่าศึกษาเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีการยังชีพในแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืน สอบถามเพิ่มได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-0583 หรือที่คุณสมเพชร พรมเมืองดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร โทร. (081) 888-3236 ก็ได้