แนะรับมือไรกำมะหยี่ลิ้นจี่

ระยะนี้อุณหภูมิสูงขึ้น และมีหมอกในตอนเช้ามืด กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ให้เฝ้าระวังไรกำมะหยี่ลิ้นจี่ เพราะเป็นไรศัตรูลิ้นจี่ที่มีความสำคัญมาก สามารถพบได้ในระยะใบเพสลาดและระยะเริ่มแตกใบอ่อนชุดที่สาม มักพบไรชนิดนี้ชอบดูดทำลายตาดอก ใบอ่อน ยอด และผลของลิ้นจี่ ทำให้ตาดอกไม่เจริญ

ใบที่ถูกไรเข้าทำลายจะมีลักษณะอาการหงิกงอ และโป่งพองขึ้นเป็นกระเปาะ ผิวใบบริเวณที่ไรดูดกินจะสร้างขนสีน้ำตาลขึ้นและสานเป็นแผ่นติดต่อกัน ซึ่งไรจะใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวอยู่ในขนที่สร้างขึ้นที่ผิวใบนี้ โดยจะมีลักษณะนุ่มหนาคล้ายพรม เมื่อเริ่มในระยะแรกจะมีสีเหลืองหรือเขียวอ่อน และกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มในเวลาต่อมา

จากนั้นไรจะเริ่มเคลื่อนย้ายหาใบใหม่เพื่อดูดทำลายต่อไป ใบและยอดที่ถูกทำลายจะแห้งและร่วง ต้นที่ถูกไรทำลายรุนแรง จะแคระแกรน และไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร บางครั้งจะพบปื้นขนสีน้ำตาลเกิดขึ้นที่ช่อดอกและผลอ่อนด้วย

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจส่องดูไรกำมะหยี่ลิ้นจี่ในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบมีการระบาดของไรรุนแรงจนมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมี ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งที่ใบและยอดถูกไรทำลายนำไปเผาทิ้งนอกแปลงปลูกก่อน

แล้วจึงพ่นสารกำจัดไรในครั้งแรกด้วยสารอะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งพบว่าสารกำจัดไรชนิดนี้ใช้ได้ผลดีในการกำจัดไร หรือพ่นด้วยกำมะถัน 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งหน้าใบและหลังใบ

นอกจากนี้ ในการพ่นสารกำจัดไรครั้งที่ 2 ให้เกษตรกรพ่นสารกำจัดไรเมื่อลิ้นจี่เริ่มแตกใบอ่อน จากนั้นให้พ่นซ้ำอีก 2 ครั้ง ห่างกัน 4 วัน สำหรับการปลูกต้นลิ้นจี่ในแปลงที่ปลูกใหม่ ให้เกษตรกรเลือกใช้ลิ้นจี่พันธุ์ต้านทาน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย มีความต้านทานต่อการทำลายของไรกำมะหยี่ได้ดีกว่าพันธุ์โอเฮี๊ยะ