กระแสกินแมลง ทั่วโลกมาแรง วิสาหกิจฯ ใบหม่อน ฟาร์ม เลี้ยงจิ้งหรีดพร้อมแปรรูป

ภายในฟาร์ม

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ในทวีปใดต่างหันมากินแมลงกันมากขึ้น เพราะมีงานวิจัยระบุชัดเจนว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีและราคาถูก ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติเองก็ส่งเสริมให้กินกัน สำหรับประเทศไทย แมลงที่นิยมนำมาทอดกินมี 7 ชนิด อาทิ ดักแด้หนอนไหม ตั๊กแตน หนอนไม้ไผ่ แมงดานา แมลงกระชอน จิ้งโกร่ง และจิ้งหรีด

มองเห็นช่องทางการตลาด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนใบหม่อน ฟาร์ม ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ที่มี คุณพรพรรณ พรรณราย อายุ 30 ปี เป็นประธาน เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นช่องทางการตลาดอันสดใสของธุรกิจแมลง จึงได้ลงทุนเลี้ยงจิ้งหรีดและนำมาแปรรูป เพื่อให้ครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

คุณพรพรรณ เล่าว่า ปี 2560 ได้ทำธุรกิจส่วนตัว นั่นคือ การผลิตและแปรรูปจิ้งหรีดทองแดง ชื่อแบรนด์คือ เฟิร์สคลาส (First Class) แมลงอบกรอบ ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใบหม่อน ฟาร์ม ซึ่งมีสมาชิก 7 คน และมีลูกฟาร์มอีก 20 ราย

สาเหตุที่มาทำธุรกิจแมลง เธอแจกแจงว่า จุดเริ่มต้นจากคุณพ่อนำจิ้งหรีดมาเลี้ยง 2 กรง ประกอบกับทางครอบครัวชอบกินแมลงกันอยู่แล้วด้วย และได้สืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตพบว่า จิ้งหรีด จัดอยู่ในแมลงเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ โดยมีการจัดอบรมร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และผู้แทนจากสหภาพยุโรป ได้มีการกำหนดมาตรฐานฟาร์ม (GAP) และพัฒนาคุณภาพแมลงให้มีการยอมรับเป็นสินค้าอาหารที่กำลังนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาถูก ต้นทุนต่ำ

อาคารแปรรูปจิ้งหรีด

จึงจัดตั้งกลุ่ม ชื่อว่าวิสาหกิจชุมชนใบหม่อน ฟาร์ม ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังหันมาทดลองเลี้ยงจิ้งหรีด โดยใช้ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารเสริม เพื่อลดต้นทุน

แรกเริ่มนั้นทางกลุ่มจะจัดอบรมเกษตรกรที่สนใจ พร้อมให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสายพันธุ์จิ้งหรีด ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงการดูแล วิธีการลดต้นทุนด้านอาหาร โดยกลุ่มจะเป็นผู้รับซื้อจิ้งหรีดจากผู้ผ่านการอบรมจากกลุ่มทั้งหมด

 

เลี้ยงจิ้งหรีด 3 สายพันธุ์

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใบหม่อน ฟาร์ม อธิบายว่า จิ้งหรีดมี 3 สายพันธุ์ ด้วยกัน คือ จิ้งหรีดทองแดง (Teleogryllus mitratus) เป็นจิ้งหรีดขนาดใหญ่ ลำตัวจะมีสีน้ำตาล จะมีขาหลังค่อนข้างใหญ่และแข็งแรง ใช้กระโดดได้ไกล ขาคู่หน้ามีขนาดเล็ก ใช้สำหรับเดินและเขี่ยอาหาร มีหนวดยาว 2 เส้น ชอบอากาศเย็น หากินเวลากลางคืน มีนิสัยดุร้าย ดังนั้น จึงไม่นิยมเลี้ยงในปริมาณมากในบ่อเดียวกัน เพราะจะทำให้กัดกันตาย ใช้เวลาเลี้ยง 60-70 วัน จุดเด่นของพันธุ์นี้ จะตัวใหญ่กินอร่อย เนื้อหอมหวาน

ส่วน จิ้งหรีดทองดำ (Gryllus bimaculatus) เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง ลำตัวมีสีดำหรือสีน้ำตาลปนดำ ขาคู่หลังแข็งแรง ใช้สำหรับกระโดด ขาคู่หน้ามีขนาดเล็ก ใช้สำหรับเดินและเขี่ยอาหาร มีหนวดยาว 2 เส้น ชอบอากาศร้อนชื้น นิสัยไม่ดุร้ายและไม่กัดกัน หากินเวลากลางคืน ใช้เวลาเลี้ยง 30-40 วัน จุดเด่นคือ เลี้ยงง่าย เป็นที่นิยมมากในตลาด

อีกพันธุ์คือ จิ้งหรีดบ้าน (สะดิ้ง), (Acheta domestica) เป็นจิ้งหรีดขนาดเล็ก ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ขาคู่หลังจะเล็ก แต่ใหญ่กว่าขาคู่หน้า มีหนวดยาว 2 เส้น ชอบอากาศร้อนชื้น ไม่ชอบบิน สามารถเลี้ยงได้ในปริมาณมากๆ ในบ่อเดียวกัน เนื่องจากนิสัยไม่ดุร้าย ระยะเวลาเลี้ยง 40-45 วัน จุดเด่น อยู่ที่การเลี้ยงง่ายและอดทน

ภายในฟาร์ม

ทั้งนี้ ราคารับซื้อจิ้งหรีดแต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกัน จิ้งหรีดทองแดง ราคาส่งอยู่ที่ 120-170 บาท ต่อกิโลกรัม จิ้งหรีดทองดำ ราคาส่ง 70-90 บาท และจิ้งหรีดบ้าน ราคาส่ง 70-90 บาท โดยช่วงหน้าฝนและหน้าหนาวราคาจะแพงกว่าปกติ

สำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดทางกลุ่มเลี้ยงแบบธรรมชาติ เน้นการให้พืชผักใบไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และระบบการให้น้ำแบบน้ำค้างบนใบหญ้า คือให้น้ำโดยระบบฉีดน้ำด้วยเครื่องแรงดันเป็นละอองน้ำ โดยให้ช่วงเช้ากับเย็น ในส่วนฟาร์มที่เลี้ยง ใช้ในพื้นที่ 300 ตารางวา ขณะที่สมาชิกแต่ละรายใช้พื้นที่เลี้ยงโดยประมาณ อยู่ที่คนละ 100 ตารางวา

 

พันธุ์ทองแดง เลี้ยงยากที่สุด

หากเปรียบเทียบการเลี้ยงจิ้งหรีด 3 สายพันธุ์ ดังล่าว คุณพรพรรณ ให้ข้อมูลว่า พันธุ์ทองแดงเลี้ยงยากที่สุด และถือเป็นผลิตภัณฑ์เด่น เนื่องจากมีรสชาติอร่อย และเป็นจิ้งหรีดที่ตัวใหญ่ ไม่ชอบอากาศร้อนจัด เย็นจัด ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิที่ดี ไม่ให้เกิน 33 องศาเซลเซียส และไม่ต่ำกว่า 22 องศาเซลเซียส ใช้เวลาเลี้ยง 50-60 วัน และการให้น้ำก็ต้องไม่ให้แบบใส่ภาชนะ ต้องมีผักหญ้าใบไม้ประกอบในการเลี้ยงด้วย เพราะต้องทำให้จิ้งหรีดที่มีอยู่จำนวนมากไม่กัดกันจนตายหมด ที่สำคัญอาหารจิ้งหรีดมีรสชาติเค็ม จึงต้องให้กินผักช่วยในการลดความเค็มของอาหาร

ผลิตภัณฑ์ของเฟิร์สคลาสแมลงอบกรอบ มีหลากหลายแบบ อาทิ ตัวสดแช่แข็ง ถุงละ 1 กิโลกรัม ตัวสดแช่แข็งขายปลีก จิ้งหรีดทองแดง กิโลกรัมละ 200 บาท ราคาส่ง 150-170 บาท จิ้งหรีดทองดำ กิโลกรัมละ 120 บาท ราคาส่ง 90-100 บาท และจิ้งหรีดบ้านหรือสะดิ้ง กิโลกรัมละ 120 บาท ราคาส่ง 90-100 บาท นอกจากนี้ ยังมีจิ้งหรีดอบกรอบปรุงรส รสบาร์บีคิว, รสต้มยำ, รสสมุนไพร โดยรสต้มยำขายดีที่สุด ซึ่งกลุ่มลูกค้ามีทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่ทอดขายตามตลาด พ่อค้าแม่ค้าคนกลางจากตลาดไท กรุงเทพฯ ระยอง เชียงใหม่

 

คาด 1 ปี คืนทุนได้แน่นอน

นอกจากนี้ เฟิร์สคลาสแมลงอบกรอบ ยังมีจุดเด่นในส่วนที่เป็นจิ้งหรีดสายพันธุ์ใหม่ที่ตัวใหญ่ มีรสชาติที่หวานมันและนิ่ม อร่อยกว่าจิ้งหรีดทั่วไป ซึ่งผ่านการเลี้ยงโดยระบบธรรมชาติ คือการเลี้ยงปลอดสารพิษและปลอดสารเคมีต่างๆ จิ้งหรีดของฟาร์มและลูกฟาร์มจะกินพืชผักผลไม้ที่หาให้ ทำให้มีรสชาติที่อร่อยกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารล้วนๆ เช่น ฟักทอง มะละกอ กล้วยน้ำหว้า กล้วยหอม ใบหม่อน ผักบุ้ง ใบมันสำปะหลัง และพืชผักปลอดสาร ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าปลอดภัยในการบริโภคแมลงเพื่อสุขภาพ

ในการเลี้ยงจิ้งหรีดและแปรรูปนั้น เธอเล่าว่า เจอปัญญาอุปสรรคของการทำตลาด รวมทั้งการผลิต เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะจิ้งหรีดทองแดง ซึ่งเลี้ยงและดูแลค่อนข้างยาก อีกทั้งใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าจิ้งหรีดทั่วไป 1 เท่าตัว ทำให้บางช่วงมีจิ้งหรีดทองแดงไม่เพียงพอต่อการแปรรูป

คุณพรพรรณ บอกว่า ที่ผ่านมาลงทุนสร้างโรงเรือนในการเลี้ยงและอาคารในการแปรรูปพร้อมอุปกรณ์การผลิต 2,500,000 บาท โดยตั้งเป้าว่า จะคืนทุนภายในไม่เกิน 1 ปีแน่นอน ปัจจุบัน ผลผลิตของฟาร์มต่อเดือน อยู่ที่ 1 ตัน ฟาร์มมีกำลังผลิต 1,200 กิโลกรัม ต่อรอบ นอกนั้นรับซื้อของลูกฟาร์ม ส่วนการแปรรูปต่อวัน อยู่ที่ 60 กิโลกรัม

สนใจเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีด หรือซื้อ-ขาย กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใบหม่อน ฟาร์ม ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. (094) 347-5040 และ (061) 887-6853 

…..

 

ขั้นตอนการเตรียมเลี้ยง

  1. ต้องมีสถานที่หรือโรงเรือนสำหรับเลี้ยง หรือมีหลังคาป้องกันแดดและฝน หรือป้องกันเชื้อโรคต่างๆ
  2. ปรับพื้นที่ที่กำจัดมดและศัตรู เช่น มด จิ้งจก แมงมุม ฯลฯ
  3. ติดแผ่นเทปกาวบนขอบบ่อ เพื่อป้องกันจิ้งหรีดหนีออกจากบ่อ
  4. หาพันธุ์จิ้งหรีด โดยหาซื้อได้จากการคัดเลือก พ่อ-แม่พันธุ์ ที่ตัวโต แข็งแรง โดยสามารถจัดซื้อจากฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด
  5. อาหารจิ้งหรีด
  6. แผงไข่
  7. ตาข่ายเขียว สำหรับคลุมบ่อเพื่อป้องกันจิ้งจก แมงมุม เข้าไปกินจิ้งหรีด
  8. คลิปหนีบผ้า

ขั้นตอนการเลี้ยง

  1. ใส่วัสดุรองพื้น เช่น ดิน แกลบ รองก้นบ่อ
  2. การอนุบาลจิ้งหรีดเกิดใหม่ นำไข่จิ้งหรีดใส่ไว้ในกรงที่เรียงแผงไข่เรียบร้อยแล้ว จิ้งหรีดจะฟักจากไข่ ประมาณ 7-10 วัน เมื่อฟักออกมาเป็นตัวเล็กๆ ดำๆ ก็โรยอาหารให้ทั่วกรง หรือนำอาหารใส่ถาดวางให้ทั่วกรง แล้วใส่ใบไม้ เช่น ใบกล้วย ใบมะละกอ ใบมันสำปะหลัง ฉีดพ่นน้ำบริเวณใบไม้ จิ้งหรีดจะไปเกาะกินน้ำที่ค้างอยู่
  3. เมื่อจิ้งหรีดอายุครบก็รองไข่เพื่อให้ได้ไข่ไว้ในการเลี้ยงรุ่นต่อไป โดยใน 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 6 รอบ

 

ขั้นตอนการวางไข่

เตรียมดินหรือขุยมะพร้าว ชุบน้ำให้ชื้นพอประมาณแล้วนำใส่ภาชนะหรือขันอาบน้ำ แล้วเอาไปวางในกรงจิ้งหรีดที่พร้อมวางไข่หลังจากผสมพันธุ์ 2-3 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่ โดยวางไข่ไว้ใต้ดินที่มีความชื้น ดินมีความร่วนซุย โดยใช้อวัยวะวางไข่ลักษณะเรียวแหลมคล้ายเข็ม แทงลงในดิน ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้มากกว่า 1,000 ฟอง

ไข่จะฟักเป็นตัวหลังจากวางไข่ได้ประมาณ 7-10 วัน ทิ้งขันวางไข่ไว้ 1 วัน แล้วนำออกจากกรงจิ้งหรีด