ข้าวพันธุ์ กข 10 ดีอย่างไร

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ข้าวไทยมีหลายสายพันธุ์ ผมมีความสนใจอยากปลูกข้าวเหนียวไว้บริโภคและเพื่อจำหน่าย บางส่วนมีเพื่อนที่รู้จักกันบอกว่า ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 10 เป็นข้าวที่มีคุณภาพดี ผมมีความสนใจข้าวพันธุ์ดังกล่าว แต่ยังขาดข้อมูลรายละเอีดดว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ผมจึงส่งคำถามมาสอบถามคุณหมอเกษตรช่วยให้คำแนะนำด้วยครับ

ขอแสดงความนับถือ

สุรวิทย์ บรรชามีสุข

จังหวัดอุตรดิตถ์

ตอบ คุณสุรวิทย์ บรรชามีสุข

ข้าวพันธุ์ กข 10 ก่อนอื่นผมขออนุญาตอธิบายของพันธุ์ข้าวตระกูล กข ก่อนเป็นอันดับแรก กข ย่อมาจาก กรมการข้าว ส่วนเลขคู่หมายถึงข้าวเหนียว และเลขคี่หมายถึงข้าวเจ้า ดังนั้น ข้าว กข 10 คือพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวพัฒนาข้าวเหนียวมาเป็นพันธุ์ที่ 5 แต่ความเป็นจริงแล้วกรมการข้าวพัฒนาพันธุ์ข้าวมามากกว่าจำนวนตัวเลขดังกล่าว ด้วยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการจัดระบบการตั้งชื่อตามสถานที่ปรับปรุงพันธุ์เป็นผลสำเร็จ เช่น ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 นั่นคือ พันธุ์ข้าวที่มีการพัฒนาพันธุ์จนประสบความสำเร็จ ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ข้าวพันธุ์ กข 10 มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 660 กิโลกรัม เมล็ดยาว ไม่ร่วงง่าย คุณภาพหุงต้มอ่อนนุ่ม ใกล้เคียงกับข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง ประการสำคัญยังเป็นข้าวประเภทไม่ไวแสง หรือไม่ตอบสนองต่อช่วงแสง หมายความว่าจะปลูกในฤดูใดก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 130 วัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าข้าวพันธุ์อายุ ข้าวพันธุ์นี้มีความสูงเฉลี่ย 115 เซนติเมตร ทรงต้นตั้งตรง มีใบสีเขียวเข้ม ใบค่อนข้างกว้าง ประมาณ 2.3 มิลลิเมตร ยาว 7.6 มิลลิเมตร และหนา 1.8 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 30.25 กรัม แหล่งปลูกที่เหมาะสมกับข้าวพันธุ์ กข 10 อยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้อควรระวัง ข้าวพันธุ์ กข 10 ไม่ต้านทานต่อโรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและแมลงมั่ว

อย่างไรก็ตาม การจะปลูกข้าวพันธุ์ใดๆ ให้ได้ผลดีนั้น ต้องเตรียมเมล็ดปลูกที่มีคุณภาพดี คือการได้มาของเมล็ดพันธุ์ ต้องเชื่อถือได้ ไม่มีการปนเปื้อนจากเมล็ดข้าวแดงหรือข้าววัชพืช แหล่งจำหน่ายพันธุ์ ต้องมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ถุงที่ใช้บรรจุเมล็ดพันธุ์ต้องระบุชื่อที่อยู่ของบริษัทผู้ผลิตผู้จำหน่ายอย่างชัดเจน การผนึกปากถุงต้องเรียบร้อย สถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ต้องสะอาด ไม่มีนก หนู และศัตรูอื่นๆ เข้ามารบกวนได้ มีแผ่นไม้รองกระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์ ไม่ควรวางลงที่พื้นซีเมนต์ ให้อากาศถ่ายเทได้ดี ก่อนนำไปปลูกต้องมีความงอกไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทำได้โดยนำเมล็ดข้าวเปลือก จำนวน 100 เมล็ด มาเพาะความงอกด้วยวิธีหุ้มด้วยผ้าขาวบางที่ชุบน้ำพอชุ่ม เก็บในที่ร่มครบ 2 คืน จึงนำออกมานับ ถ้าเมล็ดงอกอย่างสมบูรณ์ 80 เมล็ด นี่คือความงอก 80 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น การเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่ดี นับว่าประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง