ดีแทคมอบรางวัล โครงการประกวด “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ปีที่9

ดีแทค ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้าน พร้อมประกาศผลการประกวดโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2560 ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่9 ณ ดีแทคเฮ้าส์ ตึกจามจุรีชั้น32 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560

โดยมี นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค นางสาวภาณี บุณยเกื้อกูล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร และนายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด เป็นกรรมการผู้ทรงเกียรติร่วมในงาน พร้อมทั้งเผย 3 แนวโน้มสำคัญเกษตรไทยชูกลยุทธ์ เกษตรเชิงข้อมูล – พลังงานหมุนเวียน – ชีววิธี ขับเคลื่อนเกษตรครบวงจร ปูทางสู่ เกษตรกร 4.0

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง กล่าวถึงแนวโน้มสำคัญของเกษตรไทยยุคใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 เทรนด์ ได้แก่ เกษตรเชิงข้อมูล (Data-driven farming) เกษตรกรนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้ในการวางแผนการทำงาน เพื่อ ทำให้เกิดความแม่นยำในการทำการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพของผลผลิต และสอดคล้องต่อความต้องการของตลาด พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) คิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือที่ทำให้เกิดการนำพลังงานมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต ควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี (Bio-pesticides) ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับงานวิจัยที่เกษตรกรคิดค้นขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัยและลดต้นทุนจากสารเคมีได้

ทางด้าน นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ยังกล่าวว่า โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดเกษตรแบบครบวงจร โดยเน้นการใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ Thailand 4.0

เกษตรกรต้นแบบที่เข้ารอบทั้ง 10 คนในปีนี้ มีคุณลักษณะโดดเด่นในเรื่องทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน แรงงาน ทุน ตลอดจนการเพาะปลูกและแปรรูปสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อยู่บนพื้นฐานการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์การเกษตรให้มีคุณภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีทักษะความเป็นเกษตรกรมืออาชีพ สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และนำมาใช้ในการบริหารจัดการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ รู้จักการวางแผนธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างการตลาดนำการผลิต พร้อมทั้งแบ่งปันบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์แก่เกษตรกรทั่วไป

มูลนิธิฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะปีนี้ นอกจากเราจะได้เกษตรกรต้นแบบ 10 ท่านที่เป็นคนเก่งแล้ว เรายังได้เกษตรกรที่มีความภูมิใจในการเป็นเกษตรกรอย่างยิ่ง รวมทั้งเป้นผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดีในการคำนึงถึงคุณภาพสินค้า ความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนความใส่ใจในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สำหรับผู้ได้รับรางวัล โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2560 คณะกรรมการได้ตัดสินให้เกษตรกรหัวคิดแบบนักวิจัย นางสาวจิราวรรณ คำซาว เกษตรกรผู้เพาะเห็ดถั่งเช่าจากปุ๋ยชีวภาพ จากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายพิเชษฐ์ กันทะวงศ์ เกษตรกรผู้เพาะปลูกเมล่อน ภายใต้แบรนด์โอโซนฟาร์ม จากจังหวัดเชียงราย และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวสิริพร เที่ยงสันเที้ยะ เกษตรกรยุคดิจิทัล ผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่จากไร่พวงทรัพย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

นางสาวจิราวรรณ คำซาว เกษตรกรผู้เพาะเห็ดถั่งเช่าจากปุ๋ยชีวภาพ จากจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ชนะเลิศโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2560  โดยชูจุดเด่นด้านนวัตกรรม พัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยนำความรู้ที่เรียนในระดับปริญญาเอก มาต่อยอดพัฒนาปุ๋ยชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี สร้างแบรนด์ของตัวเอง ทั้งยังใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด ทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบที่มาของสินค้าได้ นอกจากนี้ ยังรวมกลุ่มกับวิสาหกิจชุมชนกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ทั้งนี้ เกษตรกรยุคใหม่ที่เข้าร่วมการโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดทุกคนล้วนได้รับความรู้เรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่เพื่อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เป็นการเพิ่มรายได้ในช่องทางออนไลน์ที่อาจจะไม่ต้องพึ่งการมีหน้าร้าน นับว่าโครงการประกวดนี้สามารถสร้างเกษตรกรที่มีคุณภาพเข้าใจสื่อยุคใหม่และสามารถนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ