เป๊ปซี่-โคล่า จับมือ กรมวิชาการเกษตร ผลิตมันฝรั่ง ลดนำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับในเมืองไทยแล้ว ขนมขบเคี้ยวนับเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยม คงไม่มีใครไม่รู้จัก “มันฝรั่งทอดกรอบเลย์” ของ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หนึ่งในผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบของไทย ที่มีฐานการผลิตมันฝรั่งอยู่ในไทยมานานแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยกลับนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งเป็นจำนวนมากถึง 4,700 ตัน ต่อปี ส่งผลต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง

คุณชวาลา วงศ์ใหญ่ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในไทยมีต้นทุนผลิตสูงกว่า 40% ซึ่งเป็นต้นทุนค่าหัวพันธุ์มัน บริษัทจึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนภายใต้สัญญาข้อตกลงการผลิตที่มีการประกันราคารับซื้อที่แน่นอน” ซึ่งเป็นนโยบายหลักของบริษัทในการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ ที่ผ่านมามีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมกว่า 6,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 28,000 ไร่ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย

photo-release-01

นอกจากนี้ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ยังได้ร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโครงการ “พัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่งภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินธุรกิจระยะยาวของบริษัท เพื่อเพิ่มอัตราการใช้หัวพันธุ์มันฝรั่งภายในประเทศให้สูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในไทย มีหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพดี และขยายตลาดการส่งออกมันฝรั่งสู่อาเซียนในอนาคตอีกด้วย

ด้าน คุณสนอง จรินทร ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าว่า “โครงการพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่งภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า” นี้ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทางกรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว ในการพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่ง รุ่น G0 และได้จัดทำแปลงสาธิตการปลูกมันฝรั่ง และกระจายมันฝรั่งพันธุ์ดีให้เกษตรกรนำไปปลูก จนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่ง จนถึงรุ่น G3 มีราคาขายที่ กิโลกรัมละ 25-26 บาท”

Potato farmers in their fields in the Mae Sot region.

ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร ได้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยใช้พันธุ์มันฝรั่งแอตแลนติกมาพัฒนา จนได้หัวพันธุ์มันฝรั่ง รุ่น G0 โดยกรมวิชาการเกษตร มีกำลังการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง รุ่น G0 ประมาณ 50 ตัน ต่อปี ด้าน บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้นำหัวพันธุ์มันฝรั่งดังกล่าวไปขยายผลต่อยอด พัฒนาเป็น รุ่น G1 และทดลองปลูกต่อเนื่อง จนได้หัวพันธุ์มันฝรั่ง รุ่น G3 ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันฝรั่งพันธุ์ดังกล่าว ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน พบว่าได้ผลผลิตคุณภาพดี เป็นที่น่าพอใจ

เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่า การปลูกมันฝรั่งในไทยนั้น พบว่า มีผลผลิตเสียหาย ประมาณ 30% เพราะผลกระทบจากภาวะภูมิอากาศแปรปรวนของไทย ที่อยู่ในพื้นที่เขตร้อนชื้น ประกอบกับสายพันธุ์มันฝรั่งที่สามารถปลูกได้ในเขตร้อนชื้นมีสายพันธุ์ที่ค่อนข้างจำกัด และอ่อนแอต่อโรค ทำให้การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งมีราคาสูง เกษตรกรจึงเลือกที่จะนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศมากกว่า

Potato farmers in their fields in the Mae Sot region.

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร และ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศ จากเดิมปีละ 5,000 ตัน ให้เหลือแค่ปีละ 2,500 ตัน และช่วยลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีผลกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต