“สวทช ” เร่งวิจัยคัดพันธุ์ข้าวเพื่อเกษตรกร-ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินหน้าวิจัยพืชมุ่งเป้า BIO-ARCHITECTURE: Opportunity for Thai Agricultural Industry ได้พันธุ์ข้าวทนต่อสภาพแวดล้อม ต้านทานโรค และแมลงศัตรูพืชได้ดีเยี่ยม ช่วยเพิ่มผลผลิตสร้างรายได้ ตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกร และยังให้โภชนาการสูงตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ

ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า การปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรผู้ทำการเพาะปลูกในยุคปัจจุบัน ซึ่งเกษตรกรทุกคนควรรู้เรื่องราว รู้จักการเลือกใช้เมล็ดพืชพันธุ์ดี และเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลิตผลทางการเกษตรที่ดี

โดยฐานข้อมูลด้านเชื้อพันธุกรรมพืช (Germplasm) ตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรม (Genotype) คุณลักษณะของพืช (Phenotype) ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างและปรับปรุงพืชสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต้องมีฐานข้อมูลของพืชที่หลากหลายมิติ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การประเมินเพื่อให้ทราบลักษณะดีเด่นในแต่ละพันธุ์ เพื่อปรับปรุงพันธุ์ทั้งในแง่การเพิ่มผลผลิต และการปรับตัวได้ดีในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค

ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.

ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการปรับปรุงพันธุ์พืช ยกตัวอย่างเช่น ข้าว ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับ IRGSP (โครงการนานาชาติว่าด้วยการหาลำดับเบสจีโนมข้าว (International Rice Genome Sequencing Project: IRGSP) เพื่อถอดรหัสจีโนมข้าว และนำไปสู่การนำเสนอข้อมูลจีโนมข้าวในปี 2545 จากความสำเร็จในครั้งนั้นทำให้นักวิจัยไทยนำข้อมูลจีโนมข้าวมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูง และมีคุณลักษณะตรงต่อความต้องการ เช่น ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกร มีโภชนาการสูง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ หรือมีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำเป็นแป้งจากข้าว เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ไบโอเทค สวทช. มีตัวอย่างการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และสามารถตอบโจทย์ทั้งภาคเกษตร และกลุ่มคนรักษ์สุขภาพได้ อาทิ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกร

• ข้าวหอมชลสิทธิ์ ทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวพันธุ์นี้มีการหุงต้มแบบข้าวขาวดอกมะลิ เมล็ดข้าวมีกลิ่นหอม และเป็นสายพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ทำให้ปลูกได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปี และสามารถทนอยู่ใต้น้ำได้นาน 2-3 สัปดาห์ จึงเหมาะกับพื้นที่นาภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่าย มีผลผลิตข้าวเปลือกในระดับ 900 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

• ข้าวพันธุ์ กข51 ทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวพันธุ์แรกที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก ที่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว ซึ่งข้าวพันธุ์นี้มีลักษณะคุณภาพเมล็ดทางกายภาพ เคมี การหุงรับประทานใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 และสามารถทนน้ำท่วมฉับพลันในระยะเจริญเติบโตทางลำต้นได้ 12 วัน ผลผลิตในสภาวะน้ำท่วมฉับพลับสูงกว่าพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 736 กิโลกรัมต่อไร่

• ข้าวพันธุ์ กข73 ทนดินเค็มและต้านทานโรคไหม้ เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีกลิ่นหอม กับข้าวสายพันธุ์ที่มีความทนต่อดินเค็มและต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนทนเค็มและต้านทานโรคไหม้และคุณภาพหุงต้มในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน โดยเริ่มผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี กรมการข้าว และใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก จากนั้นนำกลับไปปลูกทดสอบการให้ผลผลิต การปรับตัว และความทนเค็ม และต้านทานโรคไหม้ จนได้พันธุ์ข้าวเจ้าทนดินเค็มและต้านทานโรคไหม้ เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ดินเค็มและมีการระบาดของโรคไหม้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

• ข้าวเหนียวธัญสิริน ต้านทานโรคไหม้ เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ กข 6 และพันธุ์เจ้าหอมนิลที่มีความต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนต้านทานโรคไหม้และคุณภาพในการคัดเลือก ร่วมกับเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ส่งผลให้ได้พันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณลักษณะในการต้านทานโรคไหม้ พร้อมกับยังคงลักษณะที่ดีของพันธุ์ กข6 เดิม ทั้งเรื่องความหอม คุณภาพในการหุง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 500-600 กิโลกรัมต่อไร่

• ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง เป็นข้าวนาปีที่มีความไวต่อช่วงแสง สามารถต้านทานต่อโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง มีขนาดลำต้นสูงเฉลี่ย 130 เซนติเมตร ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายด้วยเครื่องจักร มีการแตกกอดี ลำต้นมีความแข็งแรง จึงมีความทนทานต่อลมแรง ลดปัญหาการหักล้ม เมล็ดเรียวยาว เมื่อนำมาหุงต้ม มีคุณภาพและความเหนียวนุ่มคล้ายพันธุ์ กข6 มีผลผลิตข้าวแห้งเฉลี่ย 700-800 กิโลกรัมต่อไร่

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ลักษณะเป็นข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม รูปร่างเมล็ดเรียวยาว ข้าวกล้องมีความนุ่มนวลมาก สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตต่อปานกลาง ต้านทานต่อโรคไหม้ ไม่ต้านทานโรคหลาว

เกษตรกรจึงควรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกรอบการปลูก คุณสมบัติเด่นทางด้านโภชนาการของข้าวไรซ์เบอรี่ คือมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ เบต้าแคโรทีน, แกมมาโอไรซานอล, วิตามินอี, แทนนิน, สังกะสี, โฟเลตสูง, มีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง นอกจากนี้รำข้าวและน้ำมันรำข้าว ยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดีเหมาะสำหรับใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารเชิงบำบัดอีกด้วย

โดยข้าวพันธุ์นี้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการปลูกและจำหน่ายเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ แบบเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งยังมีการสีข้าวแบบข้าวกล้องจากโรงสีข้าวที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์อีกด้วย

ทั้งนี้การปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพนอกจากจะทำให้ได้พืชในรูปแบบที่ต้องการแล้ว ยังสามารถช่วยลดระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์จากปกติใช้เวลา 6-10 ปี เหลือเพียง 3-5 ปีเท่านั้น ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการบริโภค ซึ่งพืชถือเป็นแหล่งอาหารหลักของประชากรโลก นอกจากนี้เทคโนโลยีชีวภาพยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบเอกลักษณ์ของพืช ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสินค้าด้านการเกษตร และการอนุรักษ์พันธุ์พืชได้อีกด้วย

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่  ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไบโอเทค (คุณไพรัช) โทร 0 2564 6700 ต่อ 3330 อีเมล: [email protected] ประชาสัมพันธ์ สวทช. โทร. 02-564-7000 หรือ [email protected]