รับโชคปีทอง “มันสำปะหลังไทย”

มันสำปะหลัง นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย เช่นเดียวกับ ข้าว ยางพารา อ้อย และปาล์มน้ำมัน แต่สถานการณ์ราคามันสำปะหลังในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เกษตรกรขายหัวมันสดได้ในราคาต่ำมาก ไม่ถึงบาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจำนวนมากจึงปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ส่งผลให้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังปรับตัวลดลงถึง 5 ล้านไร่ จากเดิมที่เคยมีปริมาณผลผลิตประมาณปีละ 32-35 ล้านตัน เหลือแค่ 27-28 ล้านตัน

ก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเคยคาดการณ์ผลผลิตมันสำปะหลังของไทย ปี 2560/61 ว่ามีผลผลิตมันสำปะหลังสดเข้าสู่ตลาด ประมาณ 28.57 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 7.69% แต่เนื่องจากปีนี้เกิดปัญหาฝนตกอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเสียหาย ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เช่น สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย คาดการณ์ว่า ผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้อาจลดต่ำกว่า 28 ล้านตัน

ผลกระทบจากปัญหาฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่ชะลอการขุดมันสำปะหลังออกไป ทำให้มันสำปะหลังในฤดูการผลิต 2560/2561 เข้าสู่ตลาดล่าช้ากว่าทุกปี โดยมีผลผลิตทยอยเข้าสู่ตลาดประมาณช่วงเดือนธันวาคม 2560 เป็นต้นไป และมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ประมาณช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2561 โดยคาดว่า ผลผลิต 2560/2561 จะปรับตัวลดลงประมาณ 10% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 28 ล้านตัน

 

สถานการณ์การส่งออกมันสำปะหลังของไทย มีแนวโน้มเติบโตสดใส โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ เหตุเพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายเพิ่มการใช้เอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิง (E10) กว่า 10 ล้านตัน ภายในปี 2563 เพื่อลดมลพิษภายในประเทศ จากเดิมที่ใช้เอทานอลเฉลี่ยปีละ 2.6 ล้านตัน ในปี 2560 ส่งผลให้จีนเพิ่มปริมาณการนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลสำหรับใช้ภายในประเทศ

ทั้งนี้ สถานการณ์การส่งออกมันสำปะหลังของไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2560 พบว่า มียอดส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลัง โดยรวม 8.117 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 68.782 พันล้านบาท  นอกจากไทยผลิตมันสำปะหลังได้เองแล้ว ยังนำเข้ามันสำปะหลังส่วนหนึ่งจากประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 2.530 ล้านตัน มูลค่า 11.375 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 เล็กน้อย

ส่วนสถานการณ์ราคามันสำปะหลัง ปี 2560/61 คาดว่า จะมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง สังเกตได้จากราคามันสำปะหลังในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งเป็นต้นฤดูการเก็บเกี่ยว เกษตรกรสามารถขายหัวมันสดได้ในราคาสูงกว่า 2 บาท ต่อกิโลกรัม  คาดว่าสถานการณ์ราคาจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีไปจนถึงช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2561

เนื่องจากปีนี้ (2560) ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงกว่า กิโลกรัมละ 2 บาท ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศได้รับผลกำไรจากการขายหัวมันสดสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรจำนวนมากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ต่างเร่งลงมือปลูกมันสำปะหลังรอบใหม่ทันที เพื่อให้มีผลผลิตออกขายในฤดูกาลถัดไปอย่างต่อเนื่อง

 

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

แม้ว่าปีนี้ ราคามันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านการผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงิน 551.659 ล้านบาท สำหรับใช้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2560/61 จำนวน 14 โครงการ 14 มาตรการ เช่น

โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลัง โดยเน้นผลักดันให้มีการแปรรูปมันเส้นคุณภาพดีและมันเส้นสะอาด โดยสนับสนุนเครื่องสับมันสำปะหลังให้วิสาหกิจชุมชน จำนวน 500 เครื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขายได้ราคาดีจากการทำมันเส้นสะอาด โดยขอความร่วมมือทางจังหวัด คัดเลือกจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตมันสำปะหลังและจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการให้บริการแก่สมาชิก ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด แหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ และสายด่วน กรมการค้าภายใน 1569

โครงการกำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหามันเส้นด้อยคุณภาพเข้าสู่ประเทศไทย โดยจัดทำความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อยกระดับมาตรฐานมันเส้นที่นำเข้าให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน  นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีชายแดนติดกับกัมพูชา และ สปป. ลาว เช่น สระแก้ว จันทบุรี ตราด ฯลฯ กำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

และเมื่อ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. … โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกเป็นประกาศกระทรวงพาณิชย์ เพื่อบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ภาครัฐบาลคาดหวังว่า มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถจำหน่ายผลผลิตมันสำปะหลังได้ในราคาที่เป็นธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่กำลังสดใสอยู่ในขณะนี้

 การบ้านฝากถึงรัฐบาล

เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2560 เกิดการแพร่เชื้อไวรัส ศรีลังกา คาซาวา โมซาอิก ไวรัสหรือโรคใบด่างในมันสำปะหลัง สร้างความเสียหายให้กับผู้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศเวียดนามเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการนำเข้ามันสำปะหลังจากเวียดนามโดยตรง แต่มีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป. ลาว และกัมพูชา ประมาณ 10 ล้านตัน ต่อปี และล่าสุดเชื้อไวรัสนี้ได้กระจายมาสู่มันสำปะหลังของกัมพูชาแล้ว

เชื้อโรคใบด่างในมันสำปะหลัง นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องใส่ใจดูแลกำหนดมาตรการป้องกันโรคระบาดชนิดนี้อย่างเข้มงวด ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าจากบริเวณชายแดน เน้นตรวจใบอนุญาตนำเข้า การตรวจสอบโรคพืช เป็นต้น เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ามันสำปะหลัง รวมทั้งป้องกันปัญหาการแพร่เชื้อไวรัสจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย

คุณเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สิ่งที่สภาเกษตรฯ ห่วงกังวลก็คือ อยากให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการด้านสุขอนามัยพืชเรื่องการตรวจสอบรับรองมันสำปะหลังที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อโรคใบด่างในมันสำปะหลัง จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแพร่หลายในไทย เพราะหากได้รับเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดความเสียหาย 80-100% ของผลผลิตมันสำปะหลังทั้งประเทศ และเสี่ยงทำให้ไทยหมดโอกาสส่งออกมันสำปะหลังไปขายต่างประเทศด้วย

“แม้ว่าการระบาดโรคใบด่างของมันสำปะหลังในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ยังไม่มีการแพร่เชื้อกระจายมาสู่มันสำปะหลังไทย แต่อยากฝากให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรการตรวจสอบการนำเข้ามันสำปะหลัง รวมทั้งพืชตระกูลแตง ประเภทแตงกวา แตงโม มะเขือเทศ ฯลฯ จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพราะพืชตระกูลแตงเป็นพืชอาศัยของโรคใบด่างด้วยเช่นกัน เพื่อให้ปกป้องอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น” คุณเติมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้พบว่า โรคใบด่างในมันสำปะหลัง มีการแพร่ระบาดในทวีปเอเชีย กลุ่มประเทศศรีลังกา อินเดีย และแอฟริกา โดย “แมลงหวี่ขาว” เป็นพาหะสำคัญของการแพร่เชื้อโรคใบด่างในมันสำปะหลังแล้ว ปัญหาการลักลอบนำเข้ามันสำปะหลังที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโดยไม่ถูกตรวจสอบโรคพืช ยังเป็นจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เชื้อไวรัสดังกล่าวมีโอกาสแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทยได้เช่นกัน

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กำหนดให้โรคใบด่างเป็นศัตรูพืชกักกันตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดศัตรูพืชเป็นสิ่งต้องห้าม ตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2550 ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในประเทศไทย เช่น การเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้ามันสำปะหลังตามแนวชายแดน พร้อมเฝ้าระวังสำหรับพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังตามแนวชายแดน และหากพบว่ามีการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติกักพืช ห้ามนำเข้า ยกเว้นหัวมันสดและมันเส้น