กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ รวมกลุ่มปลูกพริกป้อนโรงงาน สร้างรายได้ 60,000-100,000 บาท ต่อไร่ (ตอนจบ)

คุณเล็ก เกตุนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เลขที่ 70/3 หมู่ที่ 3 บ้านหนองโสน ตำบลเขาคิริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โทร. (061) 684-1969

. คุณเล็ก เกตุนาค กับแปลงปลูกตะไคร้ที่ปลูกเอาไว้เป็นรายได้เสริมจากการปลูกพริก

ชนิดของแมลงศัตรูที่พบ แมลงศัตรูที่พบระบาดในแปลงที่สำคัญ มี 2 ชนิด คือ เพลี้ยไฟ และหนอนกระทู้หอม โดยเริ่มพบแมลงทั้งสองชนิด เมื่อพริกอายุประมาณ 35 วัน หลังปลูกกล้า

เพลี้ยไฟ เพลี้ยไฟ เป็นแมลงประเภทปากดูด ดังนั้น จึงมักพบเพลี้ยไฟอาศัยอยู่บนยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกของต้นพืช เนื่องจาก เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก สังเกตได้ยากด้วยตาเปล่า แต่สังเกตอาการพืชที่ถูกทำลายได้ง่าย ใบพืชบนยอดอ่อนจะหงิกงอเสียรูปทรง ต้นพืชที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายจะชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้น เพลี้ยไฟที่พบในแปลงทดสอบจึงไม่อาจจำแนกชนิดได้

แต่จากรายงานการศึกษา เพลี้ยไฟที่พบในพริก มักเรียกว่า เพลี้ยไฟพริก เพลี้ยไฟมีวงจรชีวิตสั้น แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ชอบหลบในที่ซ่อน ตัวเมียวางไข่ภายใต้เนื้อเยื่อของพืช การควบคุมด้วยสารเคมีจึงค่อนข้างยาก หากเริ่มต้นการฉีดพ่นช้า ประชากรเพลี้ยไฟจะมีหลายระยะปนกันบนต้นพืช

การเลือกใช้สารเคมี จึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะมีรายงานการศึกษาว่า เพลี้ยไฟ ดื้อยาต่อสารเคมีหลายชนิด ใช้สารฆ่าแมลงคาร์บาริลฉีดต้นพริกเมื่อพบการระบาดของเพลี้ยไฟจำนวนมาก โดยพ่นทุก 7-10 วัน และหยุดพ่นยาก่อนเก็บเกี่ยว 3 วัน

หนอนกระทู้หอม เป็นแมลงประเภทปากกัด เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของพืชผักหลายๆ ชนิด มักทำความเสียหายรุนแรง โดยหนอนจะเข้ากัดกินยอดอ่อน ใบอ่อน หรือเจาะเข้าทำลายผลผัก เช่น พริก มะเขือ มะเขือเทศ ผีเสื้อจะวางไข่เป็นกลุ่มบนใบพืช หนอนที่ฟักออกจากไข่วัยแรก จะอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ต่อ

เมื่อหนอนโตขึ้นจะแยกย้ายกระจัดกระจายออกไปหากินเดี่ยวๆ หนอนที่โตเต็มวัยจะเข้าดักแด้ในดิน ดังนั้น การควบคุมหนอน จึงต้องเริ่มฉีดพ่นสารเคมีตั้งแต่ต้น ก่อนที่แมลงจะเจริญเติบโตจนครบวงจร และเพิ่มปริมาณประชากรได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะดักแด้ที่อยู่ในดิน จะรอดพ้นจากการพ่นสารเคมี

เนื่องจากเป็นแมลงปากกัด ความเสียหายจากการทำลายของหนอนกระทู้จึงมีมาก การเริ่มต้นพืชจะชะงักการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตผักลดลง โดยเฉพาะกับการปลูกผักที่ต้องการเมล็ดพันธุ์ คุณภาพเมล็ดจะเสียไป เกษตรกรให้ฉายาหนอนชนิดนี้ว่า “หนอนหนังเหนียว” มีรายงานการศึกษาว่า หนอนกระทู้หอม มักจะดื้อยาต่อสารเคมีหลายชนิด


คุณนิพนธ์ ดิษฐ์กระจาน ผู้จัดการส่งเสริมการเกษตร ของ บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด โทร. (081) 850-6200 เล่าว่า ตอนนี้ทางบริษัทนอกจากรับซื้อพริกจากเกษตรกรแล้ว ยังรับซื้อพืชผักเครื่องแกง คือ ขิง ข่า ตะไคร้ ขมิ้น มะกรูด (ใบและผล) กะเพรา โหรพา มะขามอ่อน (เอาไปตากแห้งทำมะขามผง เนื่องจากลูกค้าทางเวียดนามนิยมรับประทาน นำความเปรี้ยวของมะขามไปประกอบอาหาร ซึ่งทางเวียดนามไม่นิยมรับประทานมะนาว)

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทจะถูกส่งออกเกือบ 70% และอีก 30% ก็จำหน่ายในประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทจะมีเยอะมาก ทั้งเครื่องแกงสำเร็จรูปสูตรต่างๆ และซอสพริก
ปริมาณการใช้พริกในแต่ละปีค่อนข้างมาก

ทางบริษัทหรือทางโรงงานก็ต้องออกมาส่งเสริมการปลูกพริกกับเกษตรกร โดยเป็นระบบ “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” มีการเข้ามาส่งเสริมการปลูก ให้ความรู้ และรับซื้อผลผลิตคืน ในราคาประกัน ที่จะตกลงเอาไว้กับเกษตรกร เป็นราคาตายตัวทั้งปีหรือในช่วงที่พริกมีราคาสูงมากๆ ในท้องตลาดก็อาจจะปรับขึ้นให้ตามความเหมาะสมในแต่ละปี ซึ่งทางเราก็ต้องช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ด้วยทางบริษัทหรือโรงงานก็จะอยู่ได้เช่นกัน

ซึ่งการประกันราคารับซื้อมีข้อดีที่เกษตรกรไม่ต้องกังวลกับตลาดรับซื้อเลย เพียงแต่ผลิตพริกให้ได้คุณภาพตามที่โรงงานต้องการ ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทก็เข้าไปส่งเสริมในหลายๆ จังหวัด เพื่อให้มีพริกป้อนเข้าสู่โรงงานอย่างเพียงพอ เขาไปส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจและเป็นแหล่งปลูกพริกมาก่อน เนื่องจากเกษตรกรจะมีความรู้และประสบการณ์การปลูกพริกมาบ้างก็จะง่ายในการเข้าไปส่งเสริม เช่น จังหวัดกำแพงเพชร หนองคาย ชัยภูมิ เป็นต้น

สายพันธุ์พริกนั้นมีความสำคัญมาก ต้นทางคือทางบริษัทจะต้องถูกต้อง นำพันธุ์พริกที่มีคุณลักษณะเรื่องของสีสัน (สีแดง สีส้ม สีเขียว) ความเผ็ด (เผ็ดมาก-น้อย) เป็นที่เหมาะสมที่เราจะนำมาใช้ แล้วก็ต้องคัดสายพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตที่ดี แข็งแรง ทนโรค ให้เกษตรกรด้วยประกอบกันไป ก็ต้องเป็นพันธุ์ที่จำเพาะที่เราต้องการ

การส่งเสริมนั้นนอกจากความรู้เรื่องของการปลูก ดูแลรักษา โรคและแมลง สิ่งที่เราต้องเข้ามาสร้างความเข้าใจและเป็นข้อห้ามคือ เรื่องของการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง ทางบริษัทจะควบคุมให้ใช้สารเคมีที่ถูกต้องและเหมาะสม ให้ใช้สารเคมีที่ทางบริษัทระบุเท่านั้น


ทางบริษัทเรารับซื้อพวกพืชผักที่เกี่ยวกับเครื่องแกงเกือบทั้งหมด เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่จะต้องนำไปใช้แปรรูปในเรื่องของน้ำพริก อย่างพริกเองเป็นวัตถุดิบที่ใช้มากเป็นพิเศษ อย่างเกษตรกรรวบรวมผลผลิตส่งโรงงานเสร็จ

หลังการตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสารพิษตกค้างผ่าน ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำความสะอาดแล้วนำไปแช่แข็งเป็นสต๊อกเพื่อสำรองเอาไว้ในช่วงที่วัตถุดิบขาดแคลน ทางโรงงานก็ไม่มีปัญหาในการหาวัตถุดิบแต่อย่างใด

คุณนิพนธ์ ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจก็ติดต่อมาได้ทั้งตัวคุณนิพนธ์เองและ คุณเล็ก นาคเกตุ ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มดูแลในเขตจังหวัดกำแพงเพชร โดยอย่างน้อย รวมกลุ่มกันสัก 30 ไร่ เพื่อให้มีผลผลิตมากพอที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานและง่ายต่อการจัดการ


“ตะไคร้” หนึ่งในพืชสวนครัวที่มักจะต้องมีปลูกกันทุกบ้าน ตะไคร้นำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารนานาชนิด ทั้งพวกต้มยำ ยำ แกง เป็นส่วนผสมในน้ำพริกหรือพริกแกงต่างๆ นอกจากนั้น ถ้ามีตลาดรับซื้อจากโรงงานอุตสาหกรรมพริกแกง น้ำพริก ตั้งแต่อุตสาหกรรมในครัวเรือนถึงโรงงานขนาดใหญ่ ปริมาณของการใช้ตะไคร้จึงเกิดความต้องการอย่างต่อเนื่อง อาชีพการปลูกตะไคร้จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นตามความต้องการของตลาด

คุณเล็ก เล่าว่า สืบเนื่องจากทางบริษัทหรือโรงงานมีการใช้พืชผักเครื่องแกง “ตะไคร้” จึงเป็นอีกพืชหนึ่งที่ทางโรงงานมีความต้องการ หลังปลูก 8-12 เดือน คล้ายๆ เป็นเงินออม ปลูกไว้ราว 1 ปี ตัดขาย 1 ครั้ง เกษตรกรหรือสมาชิกกลุ่มก็จะเหมือนได้เงินปี ใครมีที่ว่างก็จะปลูกตะไคร้ไว้ เพราะไม่ต้องดูแลอะไรเลย ซึ่งทางโรงงานก็รับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท สร้างรายได้เฉลี่ย ไร่ละ 30,000-40,000 บาท


ปลูกตะไคร้เป็นพืชแซมทำรายได้ดี คุณเล็ก เล่าว่า การปลูกตะไคร้ของที่นี่ จะปลูก “ตะไคร้พื้นบ้าน” คือ มีกลิ่นหอมฉุนเหมาะต่อการนำไปทำน้ำพริกหรือเครื่องแกง ผลผลิตต่อไร่สูง ประมาณ 3-4 ตัน (ขึ้นอยู่กับการบำรุง) ใช้เวลาปลูกจนเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 8 เดือน ก็จะสามารถขุดขายได้

คุณเล็กกล่าวว่า ตะไคร้ มีจุดเด่นที่ “มีการดูแลน้อย โรคแมลงไม่ค่อยมี ปุ๋ยใส่น้อย รายได้หลักหมื่นต่อไร่ ผลตอบแทนก็พออยู่ได้สบาย ดีกว่าปล่อยที่ให้ว่างเปล่า”

ตะไคร้ปลูกง่าย แต่ต้องรู้เทคนิค การปลูกตะไคร้ที่ถูกต้อง จะต้องปักต้นลงดินให้มีลักษณะเอียง 45 องศา โดยปักให้รอบเป็นวงกลมบริเวณขอบหลุมปลูก หลุมละ 4-6 ต้น ที่คุณเล็ก ปลูกตะไคร้หลายๆ ต้น ต่อหลุมเพราะมีต้นพันธุ์เอง หลายท่านที่เคยปลูกตะไคร้เอง อาจจะเคยปักต้นตะไคร้ลงกับดินตรงๆ บริเวณกลางหลุมเลย

ตามธรรมชาติของการเจริญเติบโต ตะไคร้ก็จะแตกกอจากตรงกลางหลุมแล้วขยายกอออกไปหาขอบหลุมปลูก เมื่อตะไคร้แก่และสามารถเลือกเอาไปทำอาหารได้ ตะไคร้แก่ก็จะต้องอยู่กลางๆ กอ

เวลาเราจะเก็บตะไคร้เพียง 2-3 ต้น ก็ต้องเก็บจากตรงกลางกอก่อน ทำให้การเก็บตะไคร้ยาก เพราะใบตะไคร้จะคอยบาดแขนบาดมือคนเก็บ แถมยังทำให้ต้นตะไคร้ใกล้เคียงบอบช้ำจากการดึงต้นตะไคร้อีก

แต่วิธีปลูกที่ถูกต้องคือ การปักต้นตะไคร้ให้เฉียง 45 องศา บริเวณขอบหลุมปลูก การแตกกอของตะไคร้ก็จะแตกจากขอบหลุมไปยังกลางกอ ทำให้การเก็บตะไคร้บริเวณขอบหลุมหรือริมกอก็ย่อมง่ายกว่า เพื่อบางท่านนำวิธีดังกล่าวไปปลูกตะไคร้เองที่บริเวณบ้าน

ซึ่งปกติแล้วแปลงที่จะปลูกพืชจะต้องไถพรวนดินให้เรียบร้อย จากนั้นก็เตรียมหลุมโดยพรวนดินเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร หากมีปุ๋ยคอกก็สามารถใส่พร้อมกับการพรวนดินได้เลย ระยะห่างที่เหมาะสมคือ 1×1 เมตร หากปลูกระยะชิดกว่านี้ ลำต้นตะไคร้จะไม่ค่อยอวบอ้วน ต้นจะผอมสูง ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ราว 1,600 กอ แต่จำนวนกออาจจะน้อยลงหากปลูกตะไคร้เป็นพืชแซม

มัดเข้ากำให้เรียบร้อย ก่อนนำขึ้นรถขนส่งไปยังโรงงานน้ำพริก

ก่อนการปลูกต้องเตรียมต้นพันธุ์เอาไว้ล่วงหน้า คือ เลือกกอตะไคร้ที่มีอายุเกิน 8 เดือน ขึ้นไป เพราะถือว่าตะไคร้มีความแก่พอที่จะนำไปขยายพันธุ์ปลูกต่อได้ ใช้จอบขุดยกทั้งกอแล้วนำมาแยกต้นออกจากกัน ใช้มีดตัดส่วนรากและใบทิ้ง ก็สามารถนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมหลุมปลูกไว้แล้วได้เลย หรืออีกวิธีคือมัดต้นพันธุ์ตะไคร้เป็นกำพอที่จะตั้งได้ นำไปแช่น้ำลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ประมาณ 5-7 วัน สังเกตว่ารากตะไคร้จะงอกออกมา เมื่อรากที่งอกออกมาแก่เต็มที่ คือมีสีเหลืองเข้มก็ให้นำไปปลูกได้ การปลูกก็ให้ปักต้นพันธุ์เอียง 45 องศา ปักลึกประมาณ 5 เซนติเมตร นิยมปักต้นพันธุ์ 4 ต้น ต่อหลุม ปักเป็นลักษณะสี่ทิศ

ดูแลตะไคร้อย่างไรให้งาม “ตะไคร้มีนิสัยชอบน้ำ” หากขาดน้ำหลายๆ วัน ใบตะไคร้ก็จะเหี่ยวอย่างเห็นได้ชัด การให้น้ำในพื้นที่นี้ในฤดูแล้งนิยมปล่อยน้ำเข้าแปลงปลูก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากปลูกใหม่ควรจะต้องปลูกในช่วงฤดูฝน เพื่อไม่ต้องมีภาระในการให้น้ำ และต้นตะไคร้จะแตกกอเร็ว ตะไคร้จะงามมากในช่วงฤดูฝน

การใส่ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น สูตร 15-15-15, 16-16-16 ยืนพื้น โดยใส่ครั้งแรกหลังจากปลูกตะไคร้ลงดินแล้ว 1 เดือน และจะให้ทุกๆ 3 เดือน โดยดูจากความสมบูรณ์ของกอตะไคร้เป็นหลัก แต่เท่าที่สังเกตหากใส่ปุ๋ยบ่อยมากเท่าไร ต้นตะไคร้ก็จะโตเร็ว วิธีดังกล่าวมักจะใช้เร่งต้นตะไคร้ให้เจริญเติบโตขายในช่วงที่มีราคาแพง หรือช่วงฤดูแล้งของทุกปี การใส่ปุ๋ยตะไคร้จะให้โดยวิธีการหว่านเหมือนกับหว่านปุ๋ยในนาข้าว อัตราการใช้ ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะใช้ปุ๋ยเคมี ประมาณ 25 กิโลกรัม ต่อการให้ 1 ครั้ง

การกำจัดวัชพืช มักจะทำในช่วงแรกๆ ของการปลูก ก็สามารถกำจัดวัชพืชได้ ทั้งใช้แรงงานคนหรือใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะตะไคร้ช่วงแรกถ้ามีหญ้าหรือวัชพืชขึ้นคลุมมักจะไม่ค่อยเจริญเติบโตหรือตาย แต่เมื่อต้นตะไคร้โตมีใบคลุมดินปัญหาวัชพืชก็จะน้อยลง

ขุดตะไคร้ขายได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน ถึง 1 ปี ในช่วงเวลานี้เกษตรกรก็จะต้องขุดตะไคร้ทยอยขายเรื่อยๆ หากอายุของกอตะไคร้เกินกว่านี้ ลำต้นก็จะเริ่มฝ่อเสียไป การขุดเพื่อจำหน่ายก็ทำเช่นเดียวกับการเตรียมต้นพันธุ์คือ ขุดตะไคร้ทั้งกอโดยน้ำหนักที่ได้ต่อตะไคร้ 1 กอ จะประมาณ 6-10 กิโลกรัม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการบำรุงดูแล

ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า

จากนั้นนำมาตัดแต่งรากและใบออก ล้างต้นให้สะอาด ใช้มีดตัดให้ต้นตะไคร้มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มัดเป็นกำๆ ใส่กระสอบหรือใส่ถุงพลาสติก บรรจุน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะนำส่งขายแบบไหน เช่น ตลาดทั่วไป ก็ใส่ถุงขนาดบรรจุ 10 กิโลกรัม แต่หากเป็นโรงงานน้ำพริกหรือพริกแกง ก็จะชั่งขึ้นรถเป็นกำๆ ขึ้นรถขนส่งได้เลย

มะขามอ่อน ทางโรงงานก็รับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท
ผลมะกรูดที่ทางโรงงานรับซื้อสมาชิกในกลุ่ม กิโลกรัมละ 10 บาท