ผักไฮโดรโปนิก สกลนคร สวนผักที่ไม่มีวันหลับ มีขาย 365 วัน

สวัสดีครับ แฟนพันธุ์แท้ เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับนี้จะได้นำท่านเข้าสู่พื้นที่เมือง สามธรรม ธรรมมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม คือ สกลนคร…ที่นี่มีความแตกต่างจากจังหวัดในภาคอีสาน ตรงที่มีพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ หนองหาร ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เทือกเขาภูพานที่ยาวที่สุด และมีเรื่องราวกล่าวขานตำนาน ท้าวผาแดงนางไอ่ พระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุดุม และอีกมากมาย เป็นที่พำนักของพระอาจารย์สายวิปัสสนาหลายท่าน ที่รู้จักกันดีก็ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และอีกมากที่สาธุชนให้การเคารพศรัทธาทั้งในและต่างประเทศ

ด้านอาชีพเกษตรกรรมในจังหวัดสกลนครมีหลากหลาย เนื่องมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่ทำให้เกิดผลผลิตการเกษตรมากมาย ผมจะขอพาท่านไปเที่ยวชมการผลิตผักปลอดสารแบบไฮโดรโปนิก ถือเป็นแหล่งผลิตผักที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้อย่างมาก เนื่องจากลดภาระค่าขนส่งและการจัดการอีกหลายอย่าง บทความนี้ไม่แนะนำวิธีการทำ เพราะเนื่องจากท่านสามารถค้นคว้าจากไหนก็ได้ แต่จะพามารู้จักวิธีคิดและการทำตลาดของ…อธิพงศ์ฟาร์ม…อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ผักที่ฟาร์มนี้สามารถผลิตและจำหน่ายได้ตลอดปี ไม่แพ้ที่ใด เนื่องมาจากทำเลที่ตั้งอยู่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด ซึ่งถ้านำผักมาจากที่อื่นๆ เช่น ภาคเหนือ พ่อค้าต้องใช้ระยะเวลาขนส่งนานหลายชั่วโมง นั่นคือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โสหุ้ยต่างๆ มากมาย แต่ต้องขายส่ง-ปลีก ในราคาเดียวกัน นี่เป็นเพียงข้อดีข้อแรกของ…อธิพงศ์ฟาร์ม…ยังมีอีกครับ…ความสดใหม่ไงล่ะครับ…ใกล้ตลาด…ใกล้ผู้บริโภค…สดวันต่อวัน…ตลาดและผู้บริโภคที่ไหนก็ต้องการ นี่คือความได้เปรียบข้อที่สอง ส่วนข้อที่สาม…ตรงกับบริบทของพื้นที่…เขตอีสานเหนือมีความต้องการมาก และที่สำคัญขายส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย…ขนส่งข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 มุกดาหาร-แขวงสะหวันเขต และสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 นครพนม-แขวงคำม่วน ครับที่กล่าวคือ สปป. ลาว นั่นเอง และข้อดีข้อที่สี่ เขตนี้ไม่มีใครผลิต เข้าตำราไม่มีคู่แข่ง เหมือนที่อื่นๆ

เจ้าของฟาร์ม (ซ้าย) และผู้เขียน

จากข้อดีทั้งสี่ข้อ…ทำให้การผลิตไม่มีการสะดุด…และไม่มีเกษตรกรท่านใดต้องการที่จะทำตาม…จากการสังเกตในพื้นที่ส่วนมากเกษตรกรจะทำนาและประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ที่เห็นทั่วๆ ไป ปลูกก็ผักบนดิน ก็เฉพาะฤดูต้นฝนและปลายฝน หลังจากนั้นผักจะขาดตลาด แต่ได้รับการเติมเต็มจาก…อธิพงศ์ฟาร์ม…สวนผักที่ไม่มีวันหลับ…ผลิตผักออกสู่ท้องตลาดตลอด 365 วัน เรียกว่าไปซื้อเมื่อไรได้แน่นอน (ขออภัย หมายถึง ต้องนัดหมายล่วงหน้า) ช่วงหนาวระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ จะมีผักที่ปลูกบนดินด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดเขียว ผักกาดขาว เมื่อเป็นโอกาสที่ดี การตลาดดี การผลิตก็ต่อเนื่อง การจัดการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับฟาร์ม เช่น ด้านการวางแผนการผลิต การใช้แรงงาน การพัฒนารูปแบบฟาร์ม การตลาดผลผลิต ทางอธิพงศ์ฟาร์มจัดการได้อย่างลงตัว ที่กล่าวแบบนี้ก็ได้จากการพูดคุยถึงการบริหารจัดการ แม้ว่าองค์ความรู้จะไม่มาก แต่จากประสบการณ์ยอมรับว่าเยี่ยมยอดกว่าที่ใดๆ มีวิธีคิดที่ก้าวผ่านเกษตรกรสมัยเก่า สู่การก้าวทันโลกเกษตรอย่างชาญฉลาด สมเป็นเกษตรกรที่มีการพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดพลังต้นทุนที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับท่านผู้อ่านแฟนพันธุ์แท้ของเทคโนโลยีชาวบ้าน ท่านใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมและจะลองทำหรือเปลี่ยนมาตัดสินใจทำอาชีพลักษณะนี้ ท่านต้องมีต้นทุนด้านความรู้ ผู้เขียนอยากจะบอกว่า ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากในการทำ แต่ท่านต้องมีทรัพยากรอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ สัก 60% ก็คือ มีทำเลพื้นที่ น้ำ แรงงาน ภูมิปัญญา และที่เหลือคือการยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีก 40% ที่กล่าวอย่างนี้ก็ไม่ต้องการให้ท่านตัดสินใจทำแล้วขาดทุน ที่จริงคนเรามีโอกาสคิด แต่คิดแล้วให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และที่ขาดไม่ได้คือความเชื่อถือด้านการตลาด ลูกค้ามาแล้วต้องไม่ผิดหวังกลับไป มาแล้วต้องได้สินค้ากลับไป นี่แหละคือ หัวใจหลักของการบริการ…ฉบับนี้มีภาพสวยๆ ของฟาร์มมาฝาก…พบกันใหม่ฉบับหน้า ติดตามนะครับ

ติดต่อเข้าชมฟาร์มได้ที่ งานเกษตรสัมพันธ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร โทร. (089) 245-1411