ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
ประเด็นร้อนในการถกเถียงเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมายของภาคเกษตร ตลอดปี 2560 เห็นจะไม่พ้นเรื่องที่กรมวิชาการเกษตร หยิบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. … มาปัดฝุ่นเตรียมใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เดิม
โดยกรมวิชาการเกษตร ให้เหตุผลว่า ข้อกฎหมายเดิมติดขัดทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการปฏิบัติงาน รวมถึงไม่สามารถให้ความคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างเพียงพอ
กรมวิชาการเกษตร นำร่างกฎหมายดังกล่าวเผยแพร่ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ แต่กลับเกิดข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวาง ประเด็นที่ดูเหมือนไม่มีอะไร ถูกจุดประกายให้หลายฝ่ายคิดไปถึงขั้นว่า กฎหมายนี้หากผ่านความเห็นชอบ จะเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้เกษตรกรรายย่อยจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูก แต่จะถูกกินรวบจากกลุ่มนายทุนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ชนิดไม่ได้ลืมตาอ้าปาก
เมื่อมีข้อโต้งแย้งและประเด็นมีการถกเถียง ทำให้กรมวิชาการเกษตรไม่สามารถดำเนินการอย่างไรต่อไปได้ จึงขยายระยะเวลาการรับฟังความเห็นออกไป จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 20 ตุลาคม เป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ในครั้งแรก และเมื่อกระบวนการรับฟังความเห็นไม่จบ จึงขยายระยะเวลารับฟังความเห็นออกไปอีก 90 มีผลสิ้นสุดในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561
แต่ระหว่างนี้ ข้อเท็จจริงในการผ่านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. … เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง จะเป็นอย่างไร
สำหรับข้อเท็จจริง เรื่องพันธุ์พืชคุ้มครองนั้น ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ในปัจจุบัน มีพันธุ์พืชคุ้มครอง 455 ทะเบียน โดยเป็นพันธุ์พืชคุ้มครองของภาคเอกชน 68% ภาคราชการ 15% เกษตรกร 11% และสถาบันการศึกษา 6%
กรมวิชาการเกษตร โดย ดร. สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช 3 ระบบ ประกอบด้วย ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงทรัพย์สินทางปัญญา ให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ให้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของกับชุมชน และระบบการแจ้งและอนุญาตให้ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า
ทั้งนี้ เพื่อการศึกษา ทดลอง วิจัย และปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการบริหารจัดการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน
แต่เมื่อพบข้อติดขัดในการบังคับใช้กฎหมาย และขาดสาระสำคัญบางประการที่ไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างเพียงพอ รวมถึงไม่ดึงดูดการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและธุรกิจเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแนวทางของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (อนุสัญญา UPOV 1991) จึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับที่บังคับใช้อยู่ โดยคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
ในมุมของเกษตรกร คุณธีระ วงษ์เจริญ ประธานคณะกรรมการด้านเกษตรตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นกระบอกเสียงแทนเกษตรกร โดยแสดงความเห็นในประเด็นการแก้ไขปรับปรุงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. … ไว้ดังนี้
กรมวิชาการเกษตร อ้างว่า การแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ดังกล่าว ดำเนินมานานแล้ว ถึงเวลาที่ต้องรีบทบทวนให้แล้วเสร็จ และการกำหนดระยะเวลาในการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ แม้จะเป็นการอ้างว่า คือการเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนแล้ว แท้จริงไม่ใช่ เนื่องจากการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ไม่ได้ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนมาก่อน
ดังนั้น สภาเกษตรกร ในฐานะตัวแทนของเกษตรกรทั้งประเทศ ขอปฏิเสธไม่รับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชทั้งหมด และขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งคณะกรรมการทบทวนการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชขึ้นใหม่ โดยมีผู้มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ สภาเกษตรกร กรมวิชาการเกษตร นักวิชาการปรับปรุงพันธุ์พืช เป็นต้น
“สิ่งที่น่ากังวลที่สุด หากร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบไป จะเกิดการผูกขาดในเรื่องของพันธุกรรมพืช เมล็ดพันธุ์พืชทั้งระบบ เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพันธุ์ แม้ว่าจะยังคงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ได้ แต่ไม่สามารถขยายพันธุ์หรือจำหน่ายได้ มีเพียงบริษัทนายทุนด้านเมล็ดพันธุ์ที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย”
สิ่งที่สภาเกษตรกรออกมาเรียกร้องเป็นกระบอกเสียงแทนเกษตรกร คือ การขอให้กรมวิชาการเกษตรออกมารับฟังความเห็นของเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาขอให้มีเวทีแสดงความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสิน เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบและควรเป็นผู้ที่ได้สิทธิ์จากการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง คือ เกษตรกร แต่ถึงปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรไม่ตอบรับหรือดำเนินการใดๆ ตามข้อเรียกร้องที่ให้ไป
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณา จากวันนี้ ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 สภาเกษตรกรฝากความหวังไว้ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อาจมีนโยบายไปทางใดทางหนึ่ง ที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์อันอึมครึม และเปิดใจรับฟังเกษตรกรไทยอย่างเต็มเสียง
บทสรุปของการแก้ไขปรับปรุงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. … จะเป็นอย่างไร ในท้ายที่สุด ขั้นตอนหลังจากนี้หากเห็นชอบผ่านร่าง จะนำไปสู่ขั้นตอนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จะส่งร่างไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขั้นตอนสุดท้าย แต่…หากร่างนี้ต้องยุติลงในขั้นตอนใดก็แล้วแต่ ก็ถือเป็นการคว่ำร่าง ไม่ผ่านการบังคับใช้ กลับไปใช้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ตามเดิม