สถานการณ์ข้าวไทยและทางแก้ปัญหา มุมมองของ ดร. พยอม โคเบลลี่ กรมการข้าว

ดร. พยอม โคเบลลี่ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ มีข้อคิดเห็นกับสถานการณ์ข้าวไทยในปัจจุบันและอนาคตว่า สำหรับสถานการณ์ข้าวในปี 2560 ทางภาคอีสาน ภาพรวมดีกว่าปี 2559 แต่อาจจะประสบปัญหาในเรื่องของผลผลิตน้อย เพราะเนื่องจากปี 2560 ฝนตกชุก ส่งผลให้น้ำท่วมนาข้าวเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแถบภาคกลางเสียหายไปเป็นจำนวนมาก แต่ทางภาคอีสานพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาดอน มีส่วนน้อยจะถูกน้ำท่วม

จากที่ ดร. พยอม ได้ลงสำรวจพื้นที่ทางจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี ชาวนาส่วนใหญ่บอกว่าผลผลิตปีนี้ถือว่าพอรับได้ แต่ต่ำกว่าปีที่แล้ว ด้วยปัจจัยนี้จึงส่งผลให้ราคาข้าวขยับสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปี จากเดิม ปี 2559 กิโลกรัมละ 5-6 บาท ปี 2560 ขยับขึ้นเป็น 8-9 บาท นับว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่จะน่ายินดีกว่านี้หากราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ กิโลกรัมละ 13-15 บาท ชาวนาถึงจะอยู่ได้

สถานการณ์ข้าวในปี 2561 ในมุมองของ ดร. พยอม มีความคิดว่า ราคาข้าวอาจจะขยับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2560 อีกนิด แต่ชาวนาก็ยังคงต้องประสบกับภาวะราคาข้าวที่ผันผวน ขึ้นลง วันละ 3 ครั้ง เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดของเกษตรกรคือ การพัฒนาตนเองหันมาใช้การตลาดนำการผลิต หรือการนำนวัตกรรมด้านข้าว ในเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือตนเองมากกว่าการพึ่งภาครัฐ อยากให้เกษตรกรช่วยเหลือตนเองก่อน นี่คือวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ไม่ว่าปีไหนๆ พี่น้องเกษตรกรชาวนาก็ไม่เดือดร้อนกับราคาข้าวที่ผกผันอยู่ทุกวัน

ประชุมสัมภาษณ์เก็บข้อมูลผลผลิต

สาเหตุของปัญหาคือ พฤติกรรมการทำนาที่เปลี่ยนไป

ดร. พยอม เล่าว่า เมื่อก่อนการทำนาในสมัยรุ่นปู่ รุ่นย่า ทำโดยไม่พึ่งสารเคมี ใช้แต่ความขยันหมั่นลงแปลงทุกวัน มีการเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย นำมูลสัตว์มาใส่ไร่นา ไร่นาก็สวยงาม ปลอดสารเคมี ควายที่เลี้ยงก็นำไปไถนา ดังนั้น คนสมัยก่อนจะไม่มีต้นทุนอะไรเลย นอกจากการใช้แรงของตนเอง เราจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไม ชาวนาสมัยก่อนถึงอยู่มาได้ ต่างกับชาวนาสมัยใหม่ มีความเจริญเข้ามา ส่งผลให้ชาวนายุคใหม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการทำนา จากเมื่อก่อนใช้วิธีธรรมชาติทำลายแมลงศัตรูพืช ในปัจจุบันก็หันมาพึ่งสารเคมีกันหมด หรือยิ่งไปกว่านั้น เกษตรกรไม่ลงแปลงเอง สั่งการโดยการใช้โทรศัพท์ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาโรคระบาดจึงแก้ไม่ทัน และประกอบกับช่วงหลายปีมานี้ทางภาคอีสานเริ่มมีการปลูกยางพารา ส่งผลให้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ต้นทุนเพิ่มขึ้น ระบบการทำนาเปลี่ยนไป เมื่อก่อนปลูกข้าวปีละครั้ง เพื่อให้ดินได้พักตากแดดฆ่าเชื้อโรค การปลูกก็ใช้แรงงานคนหยอดหลุมเป็นระเบียบ เก็บเกี่ยวง่าย มีช่องว่างที่พอเหมาะ ไม่กักเก็บโรค แต่ปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่ใจร้อนอยากได้ผลผลิตมาก ทำนาปีละ 2 ครั้ง ด้วยวิธีการหว่าน วิธีนี้ทำให้ดูแลจัดแปลงยาก เมื่อเกิดโรคแมลงจะควบคุมไม่ได้

แนวทางการแก้ปัญหาช่วยชาวนา

  1. ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ตัวเกษตรกรชาวนาต้องช่วยเหลือตนเองก่อน ทางภาครัฐมีหน้าที่ให้ความรู้ สนับสนุนข้อมูล หรือคิดค้นนวัตกรรมช่วยชาวนาก็ทำอย่างแข็งขัน เจ้าของโรงสีหรือล้งรับซื้อข้าวอย่าเอาเปรียบชาวนา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่ายุทธการณ์ล่อแมงเม่าเข้ากองไฟ หมายความว่าตอนเช้าราคาข้าวสูง ชาวบ้านก็แห่กันเอาข้าวไปขาย แต่พอตกช่วงสายๆ ราคาข้าวลง เขาก็ไม่มีตัวเลือก เพราะการขนส่งถือว่ามีต้นทุนค่าน้ำมันแล้ว จะขนข้าวกลับก็ไม่คุ้ม จำใจต้องขาย ดังนั้นจึงอยากให้ร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย หากทุกฝ่ายช่วยเหลือกันสถานการณ์ข้าวไทยจะมีความเข้มแข็งและมีอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าต่างประเทศได้มากขึ้น และประโยชน์เหล่านี้ก็จะมาตกอยู่ที่ทุกฝ่าย
  2. อย่าทำตามกระแส เห็นปีนี้ราคาข้าวเหนียวดี ก็หันไปปลูกตามคนอื่นบ้าง ความคิดแบบนี้จะเกิดปัญหาวนกลับมาแบบเดิมคือ เมื่อคนปลูกเยอะ ผลผลิตล้นตลาด ดังนั้น อยากให้เกิดความคิดวิเคราะห์ก่อน หรือแนะนำให้ทำอะไรที่แปลกไม่เหมือนคนอื่น ศึกษาหรือสอบถามนักวิจัยประจำของจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ก็ได้
  3. เกษตรกรชาวนาควรจดบันทึกค่าใช้จ่ายทุกครั้ง ปัญหาคือเกษตรกรไม่มีการจดบันทึก ดังนั้น จะไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่ทำไปได้กำไร หรือขาดทุนไปเท่าไร ถ้าเกษตรกรหันมาจดบันทึกค่าใช้จ่ายในการทำนาแต่ละรอบ ก็จะสามารถรู้ต้นทุนการผลิต และเห็นจุดที่ต้องลด หรือควรแก้ปัญหาตรงไหนที่อาจฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ จุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญแต่เกษตรกรมองข้าม ถ้าหันมาใส่ใจตรงนี้สักนิดรับรองได้ว่าจะมีเงินเหลือเก็บและลดปัญหาการขาดทุนจากการทำนาได้มากกว่านี้
  4. พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ มีการส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนทางเศรษฐศาสตร์ ด้านของนวัตกรรมและการแปรรูป คือพูดง่ายๆ คือชาวนายุคใหม่ต้องมีหัวการค้า เพราะชาวนารุ่นเก่าเป็นเกษตรกรที่ไม่มีทางเลือก ทำสืบทอดจากบรรพบุรุษมา จะมีความรู้เฉพาะในเรื่องของการปลูก

ดังนั้น เราต้องผลักดันเกษตรกรรุ่นลูกเพื่อให้กลับมาพัฒนาการตลาด สามารถนำองค์ความรู้ที่เรียนมาต่อยอดผลผลิตโดยที่ไม่ต้องง้อพ่อค้าคนกลาง ตราบใดที่เกษตรกรทำตลาดเองไม่ได้ ก็ต้องประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำต่อไป