มองสถานการณ์ยางพาราในประเทศและทางรอดของผู้ปลูก กับ สุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการฯ คนใหม่

คุณสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร กล่าวว่า จากสถานการณ์ยางพาราในประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมา ราคาตกต่ำค่อนข้างน่าเป็นห่วง ถ้าเปรียบเทียบราคาเมื่อตอน ปี 2540-2548 ราคายางพาราจะดี แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาตก สืบเนื่องจากหลายปัจจัย แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนคือ

  1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพราะผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางทั้งหมดทั่วโลกที่เราใช้ทำมาจากยางแท้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ อีก 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือทำมาจากยางสังเคราะห์ผสมกับน้ำมัน ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขึ้นราคา ยางก็จะขึ้นตามไปด้วย ในสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นยางธรรมชาติราคาจะปรับขึ้นไปด้วย
  2. เกิดภัยทางธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้ ยกตัวอย่าง เมื่อ ปี 2554 เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางมากที่สุดในโลก แต่ผลผลิตเสียหายจากน้ำท่วม ปริมาณการส่งออกไม่พอ ต่างชาติก็ต้องไปหาจากแหล่งอื่น
  3. มีการเกร็งกำไรในตลาดล่วงหน้าของผู้ค้ายาง เปรียบเหมือนตลาดหุ้นมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันตลอด และอัตราการแลกเปลี่ยนในปีหน้ากับปีที่ผ่านๆ มาค่อนข้างจะต่างกัน ค่าเงินดอลลาร์ลดลง เงินบาทแข็งค่า ผลกลับมาจะน้อยลง ปัญหาจะอยู่แบบนี้ทุกปี มีขึ้น มีลง อีกอย่างคือ ความมั่นคงในประเทศก็มีผล
  4. มีส่วนแบ่งทางการค้าเยอะ ผลผลิตของประเทศไทยมีมาร์เก็ตแชร์ 33 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งโลก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้น แต่ตลาดมีความต้องการเท่าเดิม คือ 12 ล้านตัน ต่อปี ซึ่งทั้งโลกผลิตได้ 12.3 ล้านตัน ต่อปี
  5. พฤติกรรมของเกษตรกรเปลี่ยนไป เมื่อปี 2554 ราคายางสูง ก็เปลี่ยนมาปลูกยางกันหมด และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยที่ขยายพื้นที่การปลูก ต่างประเทศอย่าง กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ซึ่งถ้านับระยะการปลูก จากปี 2554-2560 เป็นเวลา 7 ปี เข้าปี 2561 ยางมีการเปิดกรีด ตรงนี้ผลผลิตเริ่มเข้ามา ทำให้ประเทศคู่ค้ามีตัวเลือก มีการชะลอการซื้อ เพราะรู้ว่ายังไงก็มีผลผลิตออกมาแน่นอน
คุณสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร

คาดการณ์สถานการณ์ยางพาราในปี 61

ปัจจัยมีทั้งบวกและลบ ทำไมราคายางเคยขึ้นถึงกิโลกรัมละ 180 บาท สาเหตุเกิดจากภัยทางธรรมชาติ…ในปี 2561 คาดการณ์ในระยะยาวมองว่า สถานการณ์ใกล้เคียงกับปี 2560 ถ้าจะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ รวมถึงการเมืองในประเทศต้องมีความมั่นคง และมีการส่งเสริมการใช้ที่มากขึ้น โดยการส่งเสริมดำเนินการใช้งานของหน่วยงานรัฐ ส่งเสริมการแปรรูปมากขึ้น ส่งออกยางพาราในรูปแบบผลิตภัณฑ์มากขึ้น ถ้าทำได้มองว่าสถานการณ์ราคายางจะดีขึ้น

ทางรอดของเกษตรกรผู้ปลูกยาง

  1. พฤติกรรมของเกษตรกรในเชิงเศรษฐศาสตร์ สินค้าใดราคาไม่ดีเกษตรกรจะเลิกปลูก แต่ยางต่างจากพืชอื่น ตรงที่ใช้ระยะเวลาการปลูกนานถึง 7 ปี จะให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมทันทีคงไม่ได้ เพราะมีการลงทุนสูงพอสมควร เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลา หรือเปลี่ยนจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน เมื่อราคายางพาราตก เกษตรกรจะสามารถหารายได้จากพืชอื่นที่ปลูกไว้ได้
  2. มีการรวมตัวกันเป็นสถาบัน ช่วยสร้างความเข้มแข็ง ต่อรองกับพ่อค้าได้ ที่สำคัญคือการสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐ มีการให้ความรู้ Agri Map มีการจัดโซนนิ่ง พื้นที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมควรจะปลูก
  3. การพัฒนาพันธุ์ยาง ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ปลูก อาจจะลดพื้นที่ปลูกยาง หันมาปลูกพืชอื่นแทน แต่ในความหมายคือ ผลผลิตยางต่อไร่ยังเท่าเดิมหรือสูงกว่า ในอัตราพื้นที่ปลูกที่ลดลง ตรงนี้มองว่าเกษตรกรจะอยู่ได้
  4. เปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร คือต้องขยันขึ้นกว่าเดิม คือ
  5. ขยันหาความรู้ จากเดิมที่มีความชำนาญในการปลูกอยู่แล้ว แนะนำให้ศึกษาการตลาดควบคู่ไปด้วย
  6. ขยันคิดวิธีแปรรูปด้วยตนเอง เข้าใจวิธีการบริหารความเสี่ยง เพราะยางเมื่อตัดสินใจปลูกแล้วแน่นอนว่าจะมีความเสี่ยงของเรื่องสถานการณ์ราคา พืชทุกชนิด อาชีพทุกอาชีพมีความเสี่ยงหมด เพราะฉะนั้นอาชีพปลูกยางก็มีความเสี่ยงของราคา นั่นคือ ของเกษตรกรที่ลงทุนปลูกไปแล้วต้องปรับตัว
  7. ภาคเอกชน และผู้ประกอบการยางทั้งหมดต้องเข้ามาดูแลช่วยกัน เพราะส่วนหนึ่งปัญหาเกิดจากการเสนอราคายางในต่างประเทศที่ต่ำ เพื่อนำเงินมาหมุน บางครั้งเกิดการขาดทุนในตลาดล่วงหน้า เพราะไปเสนอราคาที่ตลาดซื้อขายจริงต่ำ เมื่อเสนอราคาขายต่ำ ก็มาขยับราคาในประเทศให้สูงขึ้นไม่ได้ นี่คือปัจจัยหลัก เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการต้องมองปัญหาตรงนี้ด้วย เพียงแต่ว่าเวลาเสนอราคาในต่างประเทศที่ต่ำ ทำให้ราคาในประเทศต่ำด้วย หากภาคเอกชนและผู้ประกอบการเปลี่ยนวิธีคิดหาทางรอด แก้ปัญหาโดยการเข้าร่วมเป็นหุ้นกับประเทศจีนที่มีการนำเข้าผลผลิตยางเยอะอย่างประเทศจีน ประเทศจีนมีการนำเข้ายางพาราประมาณ 5 ล้านตัน ต่อปี

เมื่อทำแบบนี้ประเทศไทยจะมีตัวเลือกมากขึ้นในการส่งออก จะตกลงกันในข้อกำหนดหรือดีลการตลาดอย่างไรก็ว่ากันไป เพราะฉะนั้นต้องศึกษา และภาครัฐเข้าไปดูแลการซื้อขายระหว่างประเทศ การเสนอราคาที่ต่ำ ทำให้กลับมากดราคาในประเทศหรือไม่