ทุเรียน ขยายมากสุด มะพร้าว ราคาพุ่ง อินทผลัม ได้รับความสนใจ

ปีนี้ฝนดี เกษตรกรโดยอาชีพ และผู้สนใจทำเกษตร ต่างลงมือเพาะปลูกกัน “สาขาไม้ผล” ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีสิ่งใหม่ๆ ให้ติดตามกัน

มาดูความเคลื่อนไหวในรอบปี 2560 โดยเรียงลำดับตัวอักษร

กล้วย…เมื่อปี 2558 แล้งหนัก กล้วยราคาแพง ปี 2559 จึงขยายพื้นที่ปลูกกันมาก โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า ทำให้ปี 2560 ราคากล้วยน้ำว้าลดลงอยู่ในภาวะปกติ

กล้วยหอมทองก็เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผลิตได้ไม่เท่ากับพื้นที่แถบรังสิต เนื่องจากปัจจัยไม่เหมาะสม ไม่มีความเชี่ยวชาญ

สิ่งที่ต้องบันทึกไว้คือ บางแห่งมีการซื้อ-ขายกล้วยน้ำว้ากัน หวีละ 60-80 บาท

ปี 2559/2560 เป็นยุคทองของกล้วยน้ำว้า-กล้วยหอมทอง ซึ่งได้ผ่านไปแล้ว

กระนั้นก็ตาม ผู้ที่ยืนหยัดผลิตก็ยังอยู่ได้ ปลูกกล้วยหอมมานานติดต่อกันกว่า 20 ปี เช่น คุณวิไล ประกอบบุญกุล ที่คลองเจ็ด ปทุมธานี นอกจากปลูกเองแล้ว คุณวิไลยังมีแผงจำหน่ายอยู่ที่ตลาดไท

ขนุน…ไม่มีอะไรเคลื่อนไหวมากนัก แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่จังหวัดระยองและประจวบคีรีขันธ์ เขาผลิตเพื่อส่งออก หากต้องการขายได้ราคาดี ต้องวางแผนการผลิตให้ออกช่วงที่ล้งต้องการ รวมทั้งดูแลโดยการห่อผล

แคนตาลูป-เมล่อน…การปลูกในโรงเรือนยังขายได้ราคาสูง ผลิตตามออเดอร์ ส่วนการปลูกในแปลง ทำคุณภาพได้ดีก็มี

เนื่องจากคุณภาพของพืชชนิดนี้มีความหลากหลาย จึงมีการคัดเกรด ผลผลิตที่ความหวานสูง เขาส่งห้างสรรพสินค้า ส่วนความหวานต่ำ ขายริมถนน หรือไม่ก็ตามรถเข็น

แตงโม…เกษตรกรที่มีความชำนาญ ทำมา 8-10 ปี ยังคงทำแล้วสร้างรายได้ดีอยู่ แตงโมให้ผลตอบแทนเร็ว ผลผลิตต่อไร่สูง

ทุเรียน…ในปี 2560 พื้นที่ปลูกขยายมาก เนื่องจากราคาดี บางจังหวัดทางอีสานก็เผยแพร่ข่าวสารมาก ผู้ผลิตต้นพันธุ์รายใหญ่บางรายทางจังหวัดภาคตะวันออก บอกว่าตนเองจำหน่ายต้นพันธุ์ได้ถึง 1 ล้านต้น ในปีนี้

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี ให้ความเห็นว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนเดิม อย่างจันทบุรีและระยอง ยังคงทำได้ดีอยู่ แต่แหล่งใหม่ควรหาข้อมูลเพิ่ม…คุณชลธี แนะนำว่า แหล่งใหม่ที่ปลูกทุเรียน ควรจะมองดูตลาดท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะหากปลูกแล้วขนไปยังศูนย์กลางการรับซื้ออย่างจันทบุรี จะมีต้นทุนเพิ่ม สำหรับพันธุ์ ควรปลูกหลากหลาย ให้ทยอยออก อย่างพวงมณี หมอนทอง ก้านยาว

“พื้นที่ปลูกใหม่เรื่องการซื้อต้นพันธุ์ หากต้นเก่ารากขดการเจริญเติบโตไม่ดี ควรดูเรื่องนี้ด้วยครับ เรื่องน้ำต้องพอ เพราะหน้าแล้งต้องรักษาความชื้น อาจจะต้องปลูกไม้พี่เลี้ยงอย่างกล้วยช่วย เรื่องราคาเมื่อของมีมาก ราคาก็ถูกลงเป็นธรรมดา คาดว่าอีก 3 ปี วัฏจักรเดิมๆ จะกลับมา ถึงแม้มีการส่งออกได้ แต่ช่วงของมีมาก ทางล้งบรรจุหีบห่อไม่ทัน ของนำมากองไว้ เมื่อไม่มีการซื้อช่วงนั้น ราคาก็ไม่ดี” คุณชลธี กล่าว

ฝรั่ง…เป็นพืชที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตเร็ว ขายได้ไม่ยาก ซื้อหาได้ทั่วไป หากราคาจูงใจ ผู้ผลิตสามารถผลิตให้มีคุณภาพได้ไม่ยาก

พันธุ์ยอดนิยม ยังคงเป็นพันธุ์กิมจู แป้นสีทองลดน้อยลง ส่วนหวานพิรุณ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

มะม่วง…ผู้ผลิตเพื่อการส่งออก ตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา แล้วขึ้นกับทางสมาคม ยังคงไปได้ดี เช่นที่ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น เชียงใหม่…ที่ปลูกมากคือรอยต่อ 3 จังหวัด เพชรบูรณ์ พิจิตร และพิษณุโลก พื้นที่รวมกว่า 2 แสนไร่…เมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมา มีมะม่วงผลขนาดใหญ่ สีสวย มานำเสนอซึ่งได้รับความสนใจมาก ส่วนใหญ่พันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ

มะพร้าวน้ำหอม…เนื่องจากหนอนหัวดำระบาด ประกอบกับมีการส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มะพร้าวน้ำหอมราคาสูงมาก จากสวนบางช่วงขายได้ผลละ 20 บาท ส่งผลให้ต้นพันธุ์ขายกันสูงถึง 150 บาท ต่อต้น ช่วงปลายปีสถานการณ์คลี่คลายลง ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมมีมากขึ้น ปี 2560 ผู้บริโภคต้องจ่ายค่อนข้างแพงในการซื้อมะพร้าวน้ำหอม

มะละกอ…การตลาดมะละกอขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก ซึ่งพื้นที่เพิ่มขึ้นและลดลงเร็วมาก เนื่องจากมะละกอเป็นพืชอายุสั้น เกษตรกรบางรายปลูกแล้วเก็บเพียงคอเดียวก็ตัดทิ้งแล้ว ส่วนหนึ่งตัดทิ้งหนีโรคใบด่างวงแหวน

มะนาว...เนื่องจากมะนาวแพงช่วงแล้ง สาเหตุช่วงฝนการออกดอกติดผลไม่ดี เมื่อผู้ผลิตจับจุดได้ จึงปลูกกันในวงบ่อ แล้วทำให้ออกดอกช่วงที่ออกยาก…เพราะปลูกกันมาก ไปไหนก็พบการปลูกในวงบ่อ ด้วยเหตุนี้ราคาจึงไม่แพงดังเดิม โอกาสต่อไปความสมดุลคงมีมากขึ้น ระหว่างผลผลิตกับความต้องการบริโภค

มะเดื่อฝรั่ง…ทราบว่าปลูกได้ผลดีกว่า 10 ปีมาแล้ว แต่ผลผลิตที่นำออกจำหน่ายยังไม่เหมือนที่เกิดขึ้นกับพืชชนิดอื่น อย่างแก้วมังกร

ลิ้นจี่…ทางสมุทรสงคราม อากาศไม่หนาวเย็นพอที่จะออกดอกมา 2-3 ปีแล้ว ปี 2560 โทรศัพท์เรียนถาม คุณปัญญา พวงสวัสดิ์ (28 พฤศจิกายน 2560) ได้รับคำตอบว่า ยังไม่แน่ เพราะหนาวขยักขย่อน ไม่ต่อเนื่อง…ส่วนลิ้นจี่ทางเหนือ และอีสานอย่างนครพนม มีผลผลิตให้เก็บทุกปี อาจจะมากบ้างน้อยบ้าง

ลำไย…ทางเหนือ ผลิตลำไยปี หากผลผลิตมีมากๆ จัดการไม่ดีก็ล้นตลาดได้เหมือนกัน ส่วนที่จันทบุรี โป่งน้ำร้อน สอยดาว และสระแก้ว ยังคงผลิตกันได้ดีอยู่ อาจจะมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินบ้าง

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี ให้ข้อมูลว่า ที่จันทบุรีผลิตลำไยได้ทั้งปี แต่ช่วงปลายฝนผลผลิตมีมากเป็นพิเศษ เกษตรกรแหล่งน้ำมีน้อย ถือโอกาสผลิตโดยใช้น้ำฝน ประกอบกับทางจีนมีผลไม้บางชนิดออกมา ราคาจึงไม่สูงเท่าที่ควร แต่เมื่อถึงช่วงหลังปีใหม่ไปแล้ว จนถึงตรุษจีนราคาดีขึ้น การซื้อ-ขายกันนั้น ดูใบ หากสมบูรณ์ดี ก็ตกลงราคากันเลย

ลองกอง…เนื่องจากพื้นที่ปลูกมาก ผลผลิตมีมาก ราคาจึงไม่ดีอย่างก่อน ในบรรดาไม้ผลด้วยกัน เวลาเกษตรกรนำผลผลิตลองกองไปจำหน่าย ผู้ซื้อคัดเกรดหลายเกรดมาก แต่ที่หัวๆ ราคาดี มีไม่มากนัก

ส้มโอ…แหล่งปลูกคุณภาพดี รสชาติอร่อย มีน้อยลงไปทุกที เช่นที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แต่แหล่งใหม่ที่ปลูกได้ในเกรดส่งออกก็มีเช่นกัน อย่างอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ…ส่วนลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปลูกส้มโอทับทิมสยาม ได้รสชาติเยี่ยมยอด ขายได้ราคาดี

สตรอเบอรี่…พื้นที่กระจายไปหลายจังหวัด นอกจากเชียงใหม่ เชียงราย แล้ว ทางอีสาน อย่าง นครพนม นครราชสีมา ก็มีปลูกเช่นกัน

ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรจากเชียงใหม่มาเช่าที่ปลูก เพื่อจำหน่ายผลผลิตให้นักท่องเที่ยว ผลผลิตมีตั้งแต่เดือนธันวาคมไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ของอีกปี

ส้มโชกุน หรือสายน้ำผึ้ง…เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรครุมเร้า โดยเฉพาะกรีนนิ่ง ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างฮวบฮาบ ราคาจึงแพง แหล่งปลูกสำคัญยังอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ที่น่าแปลกใจมากนั้น ที่ตลาดพระราม 5 ซึ่งขายผลไม้คุณภาพ ติดป้ายทุกปีว่า “ส้มภูเรือ” ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านลงสำรวจพื้นที่เพื่อจัดเสวนาเกษตรสัญจร ไม่มีสวนส้มโชกุน หรือสายน้ำผึ้งเหลือแม้แต่สวนเดียวหลายปีมาแล้ว

อะโวกาโด…งานวิจัยทางวิชาการเริ่มต้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันหน่วยงานหนึ่งที่น่าสนใจมาก เป็นของกรมส่งเสริมการเกษตร อำเภอพบพระ จังหวัดตาก แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอพบพระ อำเภอเมือง จังหวัดตาก และภาคเหนือตอนบน อย่าง เชียงใหม่ เชียงราย…อะโวกาโด ไม่เป็นที่ฮือฮาหวือหวา แต่ก็พัฒนาขึ้นทีละน้อย คนเริ่มกินเป็น ผลผลิตที่มีคุณภาพยังไม่มากนัก ขณะที่ต้นพันธุ์ยังแพงอยู่ โดยเฉพาะต้นเสียบยอด ขายกัน 250-500 บาท ต่อต้น

อินทผลัมกินผล…หลังจาก โกหลัก หรือ คุณศักดิ์ ลำจวน ได้เผยแพร่อินทผลัมจนเป็นที่ฮือฮา

มาถึงปี 2560 งานปลูกพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะเรื่องของพันธุ์ ผู้ปลูกบางรายมีรายได้จากการขายผลผลิตหลายล้านบาท ทั้งๆ ที่พื้นที่ปลูกเพียง 7 ไร่

ในวงการไม้ผล ปี 2560 อินทผลัมกินผลได้รับความสนใจสูง…คุณปรีชา ธรรมชูเชาวรัตน์ เกษตรกรผู้จำหน่ายพันธุ์บอกว่า อินทผลัมกินผลพันธุ์บาฮี ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จำหน่ายต้นละ 1,500 บาท กระนั้นก็ตาม ของมีไม่พอจำหน่าย

โดยรวมแล้ว อินทผลัมกินผลที่ให้ผลผลิต อายุต้นของเกษตรกร ให้ผลมาไม่เกิน 3 ปี ตัวเลขผลผลิต 50-80 กิโลกรัม ต่อต้น ราคาขาย กิโลกรัมละ 500 บาท ผู้ปลูกเองบอกว่า ราคาสูงเพราะของมีน้อย ถึงแม้ราคาถอยลงมา กิโลกรัมละ 100 บาท ก็ยังอยู่ได้สบาย

กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้รับคำถามอยู่เสมอว่า ปลูกอะไรดี ทำอะไรดี…หาคำตอบยากมาก

ผู้ที่สนใจทำอะไรสักอย่างต้องคำนึงถึง

หนึ่ง ตัวเองชอบจริงไหม มีเวลาให้กับงานมากน้อยแค่ไหน

สอง ปัจจัยเหมาะสมมากน้อยเพียงไร ไม่ว่าที่ดิน ทุน แรงงาน

สาม เทคโนโลยีเพียงพอหรือไม่

สี่ เบื้องต้นควรมีตลาดในท้องถิ่น

หากมีปัจจัยเหล่านี้ ก็ควรพิจารณา

ส่วนท่านที่ทำเกษตรอยู่แล้ว ก็ควรจะรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้า หรือปรับปรุงเสริมแต่งให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

งานเกษตรสาขาไม้ผล เมื่อเปรียบเทียบกับทางพืชไร่ ผลตอบแทนต่อหน่ายที่ได้จะมากกว่า แต่เรื่องของทุนและเทคโนโลยีที่ลงไป ต้องใช้มากกว่า

ราคาซื้อ-ขาย ผลผลิตทางการเกษตรที่พบอยู่ ของมีน้อย ขายได้ราคาสูง ของมีมากๆ ขายได้ราคาถูก กฏเกณฑ์นี้มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะมีไปถึงอนาคต…เรื่องราคาซื้อ-ขาย ได้รับการพูดถึงและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดี ส่วนหนึ่งเพราะมีการสื่อสารสมัยใหม่เข้ามาช่วย

งานทางด้านไม้ผล ยังคงมีความสำคัญ และได้รับความสนใจ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน